สำหรับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ‘มนุษย์’ นับเป็นภัยคุกคามขั้นสูงสุด ภาพน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ป่าแอมะซอนถูกถางจนราบเป็นหน้ากลอง สัตว์ป่านานาชนิดที่ทยอยสูญพันธ์ ล้วนเป็นร่องรอยที่มนุษย์กระทำต่อโลกในฐานะ ‘ผู้รุกราน’ จนอดนึกไม่ได้ว่า ถ้าวันหนึ่งมนุษย์ทุกคนบนโลกหายตัวไป ธรรมชาติจะดีขึ้นเพียงใด

คำถามที่ฟังดูคล้ายพล็อตหนังวันสิ้นโลก กลายมาเป็นโจทย์ของหนังสือชื่อ เมื่อโลกไม่มีเรา (The World Without Us) โดย แอลัน ไวส์แมน (Alan Weisman) นักข่าวมือรางวัลชาวอเมริกัน ที่จะพาผู้อ่านไปสำรวจโลกที่ปราศจากมนุษย์ในลักษณะสารคดีเชิงบรรยาย ผ่านการสัมภาษณ์ตั้งแต่นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการและนักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุศาสตร์ ไปจนถึงนักโบราณคดีและนักอนุรักษ์ศิลปะ ด้วยความพยายามจะร่างภาพโลกที่ไร้มนุษย์ให้ออกมาชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนเผยให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่า ‘โลกที่ปราศจากมนุษย์จะยังดำรงอยู่ต่อไป แต่มนุษย์ไม่อาจอยู่ได้โดยปราศจากโลก’

จากป่าดึกดำบรรพสู่มหานครนิวยอร์ก  

ก่อนมนุษย์จะถูกดีดนิ้วให้หายไป ไวส์แมนได้เปิดบทแรกด้วยการพาเดินทางไปสำรวจป่าดึกดำบรรพ์แห่งสุดท้ายในยุโรป นามว่า ‘เบียวอวีแยซา ปุชตชา’ ตั้งอยู่ที่ประเทศโปแลนด์ หากนึกภาพไม่ออกว่าผืนป่านี้หน้าตาเป็นอย่างไร ไวส์แมนบอกให้ลองนึกภาพป่าลึกลับหม่นมัว มีหมอกปกคลุม เหมือนยามที่เราหลับตาฟังเทพนิยายกริมม์ตอนเด็กๆ ต้นไม้ยักษ์สูงใหญ่เกือบ 45 เมตร เห็ดขนาดใหญ่เท่าจาน อากาศเย็นและมืดทึบอยู่เสมอ ซึ่งการที่ป่าแห่งนี้สามารถเหลือรอดได้มาจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวโยงกับการพยายามอนุรักษ์ไว้ของชนชั้นปกครองจากรุ่นสู่รุ่น แต่ความพยายามดังกล่าวเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อยในยุค 1991 หลังโปแลนด์เปลี่ยนผ่านการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย 

จากป่าโบราณ ไวส์แมนพาเราลัดฟ้าไปยังมหานครนิวยอร์ก และเข้าเรื่องทันทีว่า หนึ่งวันหลังมนุษย์หายไป เมืองที่ขึ้นว่าเป็น​ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกแห่งนี้จะเป็นอย่างไร เริ่มด้วยสิ่งก่อสร้างที่เราเรียกว่า ‘บ้าน’ ทั้งรา น้ำ ฝน และหิมะ จะทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรสังหารย่อยชิ้นส่วนต่างๆ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาทีละน้อย กระทั่งสลายไปภายใน 50-100 ปีให้หลัง มีเพียงกระเบื้องห้องน้ำที่จะไม่ค่อยเปลี่ยนสภาพนัก เนื่องจากคุณสมบัติทางเคมีของเซรามิกที่ไม่ต่างจากฟอสซิล 

ในสถานการณ์ปกติ ‘นักการเมือง’ คงนับว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุด เหมือนในหนังหลายเรื่อง ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องคุ้มกันนักการเมืองเป็นอันดับแรก ทว่าความจริง คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างคนดูแลท่อระบายน้ำและคนดูแลนอตบนสะพานต่างหากที่สำคัญ หากไม่มีพวกเขา นิวยอร์กอาจต้องล้มสลายกันไปเลย 

หากไม่มีใครเดินเครื่องสูบน้ำ อุโมงค์รถไฟใต้ดินของนิวยอร์กจะถูกเติมน้ำจนเต็มภายใน 36 ชั่วโมง หรือสะพานจอร์จ วอชิงตัน น้อยคนจะรู้ว่าเหล็กกล้าจะขยายตัวเมื่ออากาศอุ่นขึ้น และหดตัวเมื่ออากาศเย็นลง เลวร้ายที่สุดอาจถึงขั้นนอตหลุด คานเขยิบออก ลงท้ายด้วยสะพานตกลงไปสู่ผืนน้ำ ถ้าไม่มีคนคอยเฝ้าระวัง 

ด้านตึกระฟ้าที่ตั้งสถาบันการเงินชั้นนำของโลก ไม่นานมันจะล้มลงมาไม่ต่างอะไรจากต้นไม้ใหญ่ แต่เงินในตู้นิรภัยจะยังคงปลอดภัยไปจนกว่าใครจะมาพบ ต่างจากงานศิลปะล้ำค่า ที่เมื่อไม่มีไฟฟ้า ระบบป้องกันจะหยุดลง ความชื้นกับเจ้าเชื้อราตัวร้ายจะปู้ยี้ปู้ยำภาพเขียนจนลบความงามเดิมไปจนหมดสิ้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าอารยธรรมที่เราหวงแหนนั้นเปราะบางได้เพียงไหน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของกรณีนิวยอร์กคือ การล้มหายตายจาก หรือกลายรูปร่างของพันธุ์ไม้ต่างถิ่น ปล่อยให้พันธุ์ไม้ดั้งเดิมได้กลับมาทวงคืนพื้นที่ที่เคยเป็นเจ้าของ เช่น แคร์รอตหวานจากเอเชียในสวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์ก จะวิวัฒนาการไปสู่แคร์รอตป่าที่กินไม่ได้อย่างรวดเร็ว หรือต้นแอปเปิลที่ถูกนำเข้ามาจากรัสเซียและคาซัคสถาน เมื่อไม่มีคนฉีดยาฆ่าแมลง หนอนและแมลงวันจะเข้ามาชอนไช ลำต้นกิ่งก้านเปลี่ยนรูปไปเป็นตะปุ่มตะป่ำ หรือไม่ก็ล้มตายไป

ส่วนประเทศไทยที่จัดอยู่ว่าในเขตอบอุุ่น ทว่า 5,000 ปีผ่านไป ป่าจะรุกคืบเข้ามาแทนที่แทบบริเวณชานเมือง จนเริ่มเหมือนสภาพเดิมก่อนมนุษย์จะเข้ามาบุกเบิก แต่ท่ามกลางป่ารกจะมีบรรดาเครื่องครัวสแตนเลสนอนแอ้งแม้งอยู่ เพราะมันสามารถอยู่ได้นับพันปีด้วยคุณสมบัติที่คงทน

สรุปง่ายๆ คือ แทบทุกพื้นที่ของโลกจะถูกธรรมชาติกลับมาทวงคืน มันจะแทรกตัวผสานไปกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และค่อยๆ คืนโลกในสภาพครั้งเมื่อเคยเป็นสวนอีเดนกลับคืนมา

ของขวัญจากมนุษย์ ที่ยาวนานกว่าจะลบเลือน 

บทหนึ่งของหนังสือเน้นย้ำว่า ถ้ามนุษย์หายไปโดยไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อีกเลยแม้แต่โมเลกุลเดียว ชั้นบรรยากาศของโลกที่ถูกทำลาย จะยังเป็นคงของขวัญชิ้นสำคัญที่ฝากทิ้งไว้ให้แก่โลกไปอีกยาวนาน เนื่องจากทุกวันนี้ คาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมีมากกว่าตลอดระยะเวลา 6.5 แสนปีที่ผ่านมา หมายความว่าการปรับสมดุลของชั้นบรรยากาศจึงต้องใช้เวลามากไปด้วยเช่นกัน แต่เบื้องต้น พื้นผิวมหาสมุทรจะซึมซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็ว กระทั่งมันเริ่มอิ่มตัว อัตราซึมซับจะช้าลง และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่สิ่งมีชีวิตที่สังเคราะห์แสง โดยคาดว่าอาจใช้เวลาประมาณ 1,000 ปี กว่ามหาสมุทรจะพลิกกลับมาสมบูรณ์ ณ ตอนนั้น มหาสมุทรอาจช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ล้นเกินได้ถึง 90% จนเหลือคาร์บอนไดออกไซด์ทิ้งไว้ในบรรยากาศเกินจากระดับ 280 ส่วนต่อล้านส่วนในช่วงยุคอุตสาหกรรมเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์

นอกจากคาร์บอนไดออกไซต์ ‘ขยะพลาสติก’ นับเป็นของขวัญอีกชิ้นหนึ่งที่มนุษย์ฝากไว้แทบทุกหนแห่งบนโลก โดยพลาสติกที่ถูกฝังในที่ที่มีน้ำ แดด และออกซิเจนน้อย จะใช้เวลายาวนานมากกว่าจะย่อยสลาย ส่วนพลาสติกที่จมลงในมหาสมุทรแล้วถูกทับถมด้วยตะกอนก็จะตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ยิ่งพลาสติกในก้นทะเล คาดว่าอาจใช้เวลาย่อยสลายยาวนานตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นปี แต่ท้ายที่สุดพลาสติกจะสามารถย่อยสลายได้ เพียงแค่ต้องรอให้กระบวนการวิวัฒนาการตามให้ทันวัสดุที่มนุษย์ผลิตขึ้นมา และในกระบวนการทางธรณีก็อาจมีแนวโน้มทำให้พลาสติกที่สะสมเข้มข้นมากๆ กลายสภาพไปเป็นอย่างอื่นได้ด้วย 

การจบสิ้นของมนุษย์ที่ไม่ไกลเกินกว่าเรื่องจินตนาการ

มากไปกว่าการพูดถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างน่าทึ่ง ไวส์แมนยังเอ่ยการที่มนุษย์สามารถล้มตายได้เป็นจำนวนมากจากเชื้อไวรัส หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อปี 2007 และการมาของไวรัสโควิด-19 คงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราสูญเสียไปมากขนาดไหน ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ไม่มีไวรัสตัวใดที่จะสามารถกำจัดประชากรโลก 7 พันล้านคนได้ในพริบตาเดียว ตรงกันข้าม โรคระบาดยังช่วยให้เผ่าพันธุ์เข้มแข็งขึ้นด้วย และถ้ามีเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงระดับล้างบางมนุษย์ได้จริง ภายใน 5 หมื่นปี เราอาจสามารถเพิ่มจำนวนกลับมาเท่าเดิมได้อย่างรวดเร็ว 

ทว่า ต่อให้มนุษย์จะไม่สูญพันธุ์เพราะเชื้อไวรัส เราก็ไม่อาจหนีพ้นกับชะตากรรมที่ว่า 5 พันล้านปีจากนี้ไป ดวงอาทิตย์จะขยายเป็นดาวยักษ์สีแดง ที่ไม่ได้หมายถึงการสูญพันธุ์เฉพาะมนุษย์ แต่รวมถึงการสูญสิ้นโลกด้วย สิ่งสำคัญกว่าคือ มนุษย์จะอยู่อย่างไร ในโลกที่ธรรมชาติกำลังย่อยยับเพราะน้ำมือเราต่างหาก 

เหล่านักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสาขาวิชาต่างชี้ตรงกันว่า โลกกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ และหากมนุษย์ไม่เร่งแก้ไข มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าที่เคยพบเจอมา ถึงขั้นบางพื้นที่ของโลกอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้เลย ดังนั้น ในเวลาอันใกล้ มนุษย์อาจจะยังไม่ล้มหายตายจากเพราะโรคระบาด แต่จะตายเพราะภัยธรรมชาติที่กำลังคืนสนอง

Fact Box

เมื่อโลกไม่มีเรา (The World Without Us), ผู้เขียน: Alan Weisman, ผู้แปล: สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ , สำนักพิมพ์: Salt Publishing ,จำนวนหน้า 448 หน้า, ราคา 480 บาท

Tags: , ,