(1)

‘เขาเล่าว่า’ เชื่อว่าหลายคนคุ้นเคยกับประโยคนี้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนฝูงรวมตัวพูดคุยกันทีไร ประโยคดังกล่าวนี้มักจะลอยตามลมมาเสมอ บางครั้งเพื่อความสนุกสนานไม่ได้มีแก่นสารสาระให้ใส่ใจ แต่บ้างกลับมีที่มาน่าเชื่อถือ จับต้นชนปลายกันตามแต่ละจุดประสงค์ของผู้เล่าเรื่องเป็นเรื่องราวน่าสนใจ จนหลายครั้งผู้ฟังก็อนุมานไปว่านั่นคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง นำไปสู่การเล่ากันปากต่อปาก เปลี่ยนจากเรื่องเล่าในวงเพื่อนเล็กๆ ผ่านการบีบสีตีไข่จนกลายเป็นข่าวลือที่แพร่ออกไป ยิ่งไปไกลมากก็ยิ่งเปลี่ยนเรื่องเล่าธรรมดาให้มีพลังที่ยิ่งใหญ่ตามมา

ยกตัวอย่างพลังอำนาจของข่าวลือที่เคยเปลี่ยนโลกมาแล้ว เช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนในหลายประเทศกำลังทุกข์ร้อนจากภัยสงครามส่งผลให้มีปัญหาตามมามากกมายเป็นหางว่าว จนในที่สุดข่าวลือการเสียชีวิตของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทำให้ประชากรโลกสงบใจและค่อยๆ ฟื้นชีวิตกลับมา เพราะเชื่อว่าสงครามจะสิ้นสุดในเร็ววัน หรือแม้แต่ในบ้านเราก่อนจะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ย่อมมีข่าวหนาหูออกมาก่อนเสมอ ซึ่งผู้เป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์ในเกมการเมือง หากจะเดินหน้าต่อหรือเดินหมากอะไรย่อมต้องสยบข่าวลือให้ได้เสียก่อนเป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่หลายครั้ง ประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกเราว่าข่าวลือหรือเรื่องเล่าเหล่านี้เริ่มต้นที่ใดกันแน่

เรื่องเล่า หรือข่าวลือ เมื่อออกจากปากของผู้เล่าเรื่อง ผ่านผู้คนมากมาย จนไม่อาจนับได้ว่าใครคือผู้เล่าเรื่องตัวจริง และเรื่องราวที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อไรกับใคร และคงไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นต้นกำเนิดหรือใครจะเป็นจุดจบของเรื่องเล่า ยกเว้นเสียแต่พระเจ้าหรือคนที่รู้ทุกความเป็นไปของโลกใบนี้

หากพระเจ้าของโลกใบนี้ คือสิ่งสูงสุดตามแต่ละความเชื่อที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือทรงเป็นผู้ลิขิตขีดเขียนเส้นทางและชะตาชีวิตของทุกสรรพสิ่งบนโลกให้เป็นเช่นไร ผู้เขียนคงพออนุมานว่าหน้าที่ในการกำหนดเส้นทางผู้ทรงควบคุมคือพระเจ้า งั้นคงกล่าวได้ว่าพระเจ้าของบทละครสักเรื่องก็คงเป็นผู้กำกับและหากพระเจ้าของวรรณกรรมสักเล่มคงเป็นผู้เขียนที่จรดหมึกปลายปากกาลงบนหนังสือเล่มนี้ และนี่คือจุดกำเนิดของเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ ของชายชราผู้มากด้วยบารมีเงินทองที่บั้นปลายและความปรารถนาสุดท้ายคือการเอาชนะเรื่องเล่าของกะลาสีที่ไม่มีมูลสายปลายเหตุให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา และ THE IMMORTAL STORY ตำนานนิรันดร์ ก็เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางข่าวลือและเรื่องเล่าเหล่านี้

 

(2)

เรื่องราวของมิสเตอร์เคลย์ เศรษฐีชราพ่อค้าชาผู้ร่ำรวยมหาศาลที่อาศัยอยู่ในกวางเจา ทั้งชีวิตของเขาจดจ่ออยู่กับตัวเลขในสมุดบัญชี เขาชื่นชอบเงินทองและสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มากกว่าสิ่งใดในโลก รวมถึงเรื่องของความสัมพันธ์ต่างๆ รอบตัว เขาไม่มีเพื่อน พี่น้อง หรือครอบครัว จนบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต เขาได้รับฟังเรื่องเล่าที่เขาไม่เคยได้ยินและไม่เคยสนใจมาก่อน จากเสมียนบัญชีชื่อว่า เอลีชามา ที่เขาจ้างไว้เพื่อให้อ่านตัวเลขในบัญชีให้ฟังทุกค่ำคืน

เรื่องเล่านี้แตกต่างออกไปจากบัญชีที่มีเพียงตัวเลข แต่เรื่องนี้คือเรื่องเล่า ที่ตกทอดกันมาผ่านลมปากในแต่ยุคสมัย โดยเรื่องแรกเป็นเรื่องของศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ ผู้ทำนายอนาคตของโลกที่ยังไม่เกิดขึ้น พ่อค้าชราไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้คนต้องเชื่อถือคนโกหกที่บอกเล่าเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริง มากกว่าการบันทึกความจริงลงสมุดบันทึก เช่น สมุดบัญชีของเขา

“พยากรณ์สิ่งที่ผ่านไปแล้วเป็นพันปีก็ยังไม่เกิดขึ้น คนเราควรบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วต่างหาก” เขากล่าวกับเสมียนบัญชี

ส่วนตำนานอีกเรื่องที่ทำให้เขาต้องโกรธเป็นฟืนไฟเพราะไม่เข้าใจในเจตนาของผู้เล่าที่ยกเมฆขึ้นมา คือ เรื่องกะลาสีกับเงินห้ากินี (สกุลเงินตรา) เรื่องราวว่าด้วยเศรษฐีชราผู้ร่ำรวยซึ่งมีภรรยาสาวแสนสวย แต่กาลเวลาทำให้เขาไม่สามารถมอบความสุขบนเตียงนอนให้กับเธอได้อีก จึงต้องออกไปตระเวนหากะลาสีเรือที่แข็งแรงและสามารถปรนเปรอรับใช้เธอได้ในค่ำคืนนั้น เขาท้าทายว่าข่าวลือเรื่องเล่านี้จะต้องมีจุดเริ่มต้นและไม่ใช่เรื่องยกเมฆหลอกลวงอีกต่อไป

“เรื่องนี้จะกลายเป็นความจริง กะลาสีเรือคนหนึ่งบนโลกจะเล่าเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบพร้อมรายละเอียดทุกประการตามที่ได้เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ”

ด้วยความเชื่อมั่นในความร่ำรวย ในอำนาจและอิทธิพล ชายชราจึงคิดจะใช้เงินของเขาที่มีมากมายมหาศาลเพื่อเปลี่ยนตำนานที่เล่าขานกันในหมู่กะลาสีเรือให้กลายเป็นความจริง โดยเลียนแบบตำนานที่เล่าต่อๆ กันมา โดยให้เสมียนหนุ่มของมิสเตอร์เคลย์ เป็นผู้รับบัญชาให้ดำเนินการจัดฉากครั้งนี้ เขาได้ติดต่อหญิงสาวชื่อ เวอร์จินี ให้มารับบทบาทสำคัญเป็นนางเอกของเรื่อง  และพอล กะลาสีเรือหนุ่มร่างใหญ่ผอมติดกระดูก ผมเผ้าเป็นกระเซิงให้กลายมาเป็นพระเอกของเรื่อง ด้วยการตัดสินใจเข้าร่วมเล่นละครจัดฉากอันยิ่งใหญ่ขึ้น การนำเรื่องเล่ามาสร้างให้เป็นจริงอย่างที่เศรษฐีชราทำนั้น บทสรุปอาจไม่สวยหรูและจบแบบจัดวางได้เหมือนสมุดบัญชีที่เขาหวัง แต่อย่างน้อยที่สุดเขาก็บรรลุความปรารถนาสุดท้ายเสียที 

 

(3)

‘ความทะยานอยากคือสิ่งที่ทำให้เรื่องเล่ามีชีวิต’

ในหนังสือเล่มนี้ทุกตัวละครดำเนินชีวิตโดยมีความเชื่อเรื่องของพรหมลิขิตที่ชี้ชะตาพวกเขาแทบทั้งสิ้น ตัวละครทุกตัวต่างดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นของความทะเยอทะยาน ที่จะทำเช่นไรก็ได้ให้ตนเองไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ ทั้งที่บทละครเรื่องนี้ทุกคนต่างรับรู้กันผ่านต่อปากอยู่แล้ว ไม่ต่างจากข่าวลือที่แพร่สะพัดไปตามลมฤดูกาล

มิสเตอร์เคลย์ คือตัวแทนของผู้ที่ลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของเงินทองและกิเลส เขาเชื่อว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็นผู้กุมอำนาจการค้าขายและครอบครองผู้คนด้วยอำนาจของเงินตราได้ดั่งใจนึก และการที่มีอะไรอยู่เหนือไปกว่าสิ่งที่เขาควบคุมได้นั่นคือสิ่งที่ผิดพลาด เรื่องเล่าเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มาท้าทายอำนาจและความทะเยอทะยานของเขา

อย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่เขาต้องแบกรับไปตลอดกาล การนำเรื่องเล่ามาสร้างให้เป็นความจริงอย่างที่เศรษฐีชราทำ แทนที่จะนำความจริงไปถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าดังเช่นนักเล่าเรื่องทั่วไปนั้นก็เหมือนการบวกเลขกลับทาง คือแทนที่จะบวกจากหลักหน่วยซึ่งอยู่ทางขวามาก่อน กลับไปเริ่มจากทางด้านซ้าย ผลลัพธ์ก็คือ “เขาจะพบว่าผลรวมที่ได้ออกมานั้นผิดพลาดและสมุดบัญชีของเขาก็จะไร้ค่า”

ส่วน เอลีชามา คือภาพของผู้คนที่ใช้ชีวิตรับรู้ทุกสิ่ง แต่ไม่เคยคิดเปลี่ยนแปลงสิ่งใดให้ดีขึ้น เพราะส่วนหนึ่ง เขากำลังได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ และอีกนัยหนึ่ง คือเขาไม่สนใจเรื่องอื่นใดนอกจากสิ่งที่ตัวเองจะทำ ในทุกคืนวันเขาเชื่อว่าตนเองคือเชื้อสายยิวที่ถูกสาปให้ต้องเร่ร่อนไปยังสถานที่ต่างๆ การมาถึงและเป็นเสมียน ควบหน้าที่ผู้จัดการโรงละครที่มิสเตอร์เคลย์จะสร้างให้เกิดขึ้นจริง โดยเขาคิดว่าสักวันนึงหากหน้าที่ของเขาจบลง เขาย่อมต้องโยกย้ายไปหาหน้าที่ต่อไป และใช้แรงทั้งชีวิตในการทำงานให้บรรลุหน้าที่เหล่านั้น ทั้งหมดจะกล่าวอยู่ในหนังสือบทที่ 5 ภารกิจของเอลีชามา

ส่วนพระเอกที่มารับบทคือ พอล กะลาสีเรือวัยหนุ่มที่เพิ่งติดเกาะร้างมาแรมปี เขาฝันว่าชีวิตจะต้องมีการผจญภัยยิ่งใหญ่ มีเรือและลูกเรือเป็นของตนเองให้ได้ในสักวัน โดยเขาถูกชักนำมาเล่นบทละครด้วยค่าตอบแทนเป็นความฝันที่จะได้ทั้งเงิน ไปซื้อเรือ และสาวงามผู้เลอโฉมบนห้องคฤหาสน์หลังใหญ่

สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือนางเอกของเรื่องอย่าง เวอร์จินี คือทายาทสาวชาวฝรั่งเศสของพ่อค้าที่ตกอับล้มละลายด้วยน้ำมือของ เศรษฐีเฒ่าผู้ครอบครองทุกสิ่ง เธอเชื่อว่าสักวันหนึ่งจะกลับไปอยู่ในคฤหาสน์หลังโต พร้อมกับใส่รองเท้าอันงดงามที่ราชินีมอบให้กับเธอในครั้งที่ยังเป็นเด็ก เพียงแต่ชะตากำลังเล่นตลกกับเธอ ให้ต้องมากลายเป็นภรรยาลับๆ ของชายหนุ่มในเมือง เพื่อจะได้มีชีวิตที่งดงามไม่ต่างจากในวัยเยาว์ที่เธอวาดฝันไว้ เธอจึงต้องทำทุกสิ่งเพื่อกลับไปอยู่ในที่เดิมของเธออีกครั้ง

“บางครั้งลายเส้นบนแบบผ้าก็วิ่งสลับทางกับสิ่งที่คุณคาดเดาไว้ เหมือนในกระจกเงา” และ “ทางที่ตัดผ่านมหาวิหารนอตเทรอดาม ก็อยู่ในแบบแผนนี้ เพียงแต่ในแบบแผนนี้มันย้อนกลับเท่านั้นเอง”’

 

(4)

*ได้โปรดอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบเสียก่อนที่จะอ่านบทความนี้ต่อไป

บทสุดท้าย จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เฉลยถึงสาเหตุที่ทำให้เรื่องเล่าต่างทรงพลังและมีความหมาย แพร่สะพัดออกไปได้ไกลกว่าใจนึก ข้ามทุกโพ้นห้วงทะเลมากับกะลาสี หรือแม้แต่กับคณะเดินทางผู้อับโชคที่ทุกคนกำลังหมดแรงและตายท่ามกลางผืนทะเลทรายของศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ สิ่งที่เขาเขียนคือความคาดหวังที่อยากจะให้ทุกคนมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต โดย นักพยากรณ์กำลังเล่าเรื่องราวของอนาคตที่พวกเขาจะได้รับหากพวกเขาทำดีและไม่หวาดหวั่นต่อปัญหาที่ถาโถม โดยสิ่งตอบแทนจะอยู่บนชั้นฟ้าในอาณาจักรของพระเจ้า

และกลับกัน หากทำไม่ดีจะพบกับภัยพิบัติที่จะมา ส่วนเรื่องราวของกะลาสีคือการจินตนาการถึงความคาดหวังเมื่อพวกเขาถึงท่าเรือที่เมืองถัดไป กะลาสีคืออาชีพที่ไร้เงินและเนื้อตัวเต็มไปด้วยกลิ่นคาวปลา แต่กลับมีเศรษฐีที่เดินทางมายังตลาดปลาเพื่อมอบเงินและสาวงามที่สุดของเมืองให้แก่เขา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นเพียงเรื่องเล่าที่จะส่งต่อ ‘ความหวัง’ และเป็น ‘พลังใจ’ ให้กับกะลาสีทุกคนในท้องทะเลกว้างใหญ่เพื่อให้อดทนและทำตามหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

สำหรับบรรดาหนอนหนังสือ เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะมัดใจผู้อ่านได้ไม่ยาก ด้วยสำเนียงภาษา การบรรยายเรื่องราวที่ซ้อนเรื่องเล่าและซ้อนกันอีกทีจนกลายเป็นความสละสลวยของภาษาตลอดจนการเล่าเรื่อง (storytelling) และการเดินเรื่องเป็นเส้นตรง ไม่ซับซ้อน ค่อยๆ คลี่ปมปัญหาพร้อมดึงเสน่ห์ของตัวละครออกมาได้อย่างถึงรส จึงไม่แปลกใจที่มีผู้กำกับนำผลงานชิ้นโบว์แดงของ ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) ไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครดังมากมายมาแล้วทั่วโลก

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเล่า ข่าวลือ หรือคำบอกเล่า เมื่อผ่านลมปากของพวกเรา ก็สุดแท้แต่ว่าจะใช้ให้เป็น ‘ความหวัง’ หรือเป็นสิ่งที่เลวร้ายกว่า นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้พลังอำนาจไปในทิศทางใด หรืออย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่าความเป็นนิรันดร์ที่แท้จริงคือเรื่องเล่าที่ทิ้งไว้ให้คนข้างหลัง หาใช่ชื่อเสียง เกียรติยศหรือเงินทองค้ำฟ้า สุดท้ายหากผมจะบอกพวกคุณว่า ‘เขาเล่าว่า’ คุณจะเชื่อผมอีกหรือเปล่า

 

Fact Box

THE IMMORTAL STORY ตำนานนิรันดร์, ผู้เขียน ISAK DINESEN, แปล อรจิรา โกลากุล, จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม, จำนวน 125 หน้า, ราคา 195 บาท 

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่รวมอยู่ในหนังสือ Anecdotes of destiny และผู้เขียน ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) เป็นนามปากกาของบารอนเนส คาเรน บลิกเซน (Baroness Karen Blixen) นักประพันธ์ชาวเดนมาร์ก ผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเธอคือ Out of Africa หรือ พรากจากแสงตะวัน ที่เคยฝากผลงานให้นักอ่านประทับใจและนำผลงานมาดัดแปลงเป็นภาพยนต์ละครมาแล้วทั่วโลก

Tags: , ,