สร้างปรากฏการณ์ถล่มถลายในงานหนังสือเมื่อสามปีก่อน เมื่อ เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind) วางจำหน่าย กลายเป็นหนังสือที่แทบทุกบูธนำมาขาย และเป็นหนังสือที่เชื่อว่าหลายคนมีติดบ้านในวันนี้

นอกจากเซเปียนส์แล้ว ผลงานอื่นๆ ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ก็เป็นที่กล่าวขานไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ฮโมดีอุส: ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้ และ 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ดูเหมือนไม่ว่าเขาจะเขียนหนังสือเล่มไหนออกมา ก็สร้างปรากฏการณ์ได้ทั้งนั้น

ครั้งนี้กับผลงานล่าสุด ‘เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์ฉบับกราฟิก’ (Sapiens: A Graphic History) ก็เช่นกัน มองเผินๆ นี่อาจเป็นเพียงหนังสือที่ถอดความจากหนังสือตั้งต้น ปรับเป็นฉบับการ์ตูนกราฟิก หากแท้จริงแล้ว แนวคิดเบื้องหลัง กระบวนการจัดทำ และเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้นั้น เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนหลายวงการ และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผลงานเล่มอื่นของยูวัลที่ออกมาก่อนหน้า  

 

เซเปียนส์ ฉบับกราฟิกนี้ เป็นผลงานระหว่างยูวัลร่วมกับเดวิด แวนเดอร์มิวเลน (David Vandermeulen), แดเนียล คาสซาเนฟ (Daniel Casanave) สองนักวาดการ์ตูนฝีมือฉกาจจากยุโรป และผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาที่ช่วยกันรังสรรค์ผลงานเล่มนี้ขึ้นมา 

การทำงานข้ามศาสตร์ (Trans-disciplinary) ไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการทำงาน หากยังสะท้อนแก่นแท้ใจความของ เซเปียนส์ ฉบับกราฟิก อย่างมีนัยสำคัญ เพราะแม้หนังสือเล่มนี้จะขึ้นชื่อว่าด้วย ‘ประวัติศาสตร์’ หากความจริงของสรรพสิ่งใดล้วนกอปรด้วยสหวิทยา หลากสาขา ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา ธรณีวิทยา นิเวศวิทยา สังคมวิทยาด้วยกันทั้งนั้น หรือแม้กระทั่งการประกบศาสตร์เข้ากับศิลป์ที่เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์ฉบับกราฟิกนี้ขึ้นมา 

ศิลปะที่ไม่ใช่แค่เพียงการออกแบบ วาดภาพกราฟิก หากเมื่อได้อ่านแล้วต้องประหลาดใจในการ์ตูนแต่ละช่องถึงศาสตร์และศิลป์แห่งการแปลงข้อความให้เป็นภาพ ถอดนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ในการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยการตีโจทย์ให้แตกชัด ไม่สามารถตีความผิวเพิน ไม่สามารถเหลือพื้นที่ให้ความกำกวมได้เลย ทุกอย่างล้วนต้องชัดเจน ในการจะทำให้ความรู้ปรากฏเห็นเป็นภาพขึ้นมาได้

ยกตัวอย่าง ในตำราวิชาการอาจเขียนถึงการผสมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างเซเปียนกับนีแอนเดอทัล แล้วจบประโยคลงเพียงเท่านั้น แต่การจะวาดภาพนี้ออกมา ต้องอาศัยความชัดเจนในข้อเท็จจริงนั้นอย่างถ้วนถี่ มีคำถามในช่องว่างที่มองไม่เห็นที่ต้องตอบมากมายไปหมด เช่น คุณจะวาดเซเปียนและนีแอนเดอทัลเป็นเพศอะไร ใครจะเป็นหญิง ใครจะเป็นชาย หรือถ้าเป็นเพศเดียวกันทั้งสองสายพันธุ์เลยได้ไหม ไหนจะสีผิวอะไรอีก การนำเสนอเหตุการณ์ห้วงเวลาประวัติศาสตร์เช่นนี้ในการ์ตูนไม่กี่ช่องต้องอาศัยการค้นคว้าข้อมูลอย่างลึกซึ้ง ต้องชัดเจนกับข้อมูลอย่างกระจ่าง จะเว้นช่องว่าง เหลือพื้นที่ความไม่แน่ใจไม่ได้เลย

ภาพ: https://www.sciencefocus.com/planet-earth/a-graphic-introduction-to-human-history/ 

 

ความกระจ่างชัดที่ไม่ใช่เพียงเพื่อให้หนังสือ ‘การ์ตูน’ เล่มนี้อ่านง่ายผ่านภาพที่ปรากฏเท่านั้น แต่ใจความสำคัญของกระบวนการแปลงความรู้มาสู่ภาพนี้ยังเรียกร้องให้ ‘ข้อเท็จจริง’ ต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ต้องได้รับการพิสูจน์อย่างสิ้นสงสัย ต้องไร้ข้อกังขา เพื่อให้แน่ใจได้ว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกต้อง เพราะหากมีความกำกวมใดเหลืออยู่ จะไม่มีทางถอดความออกมาเป็นรูปได้เลย

การรักษาไว้ซึ่งความจริงนั้นสำคัญในตัวมันเองไม่ว่าจะต่อศาสตร์ใด หากสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกในยุคสมัยนี้ที่ ‘ความจริง’ เป็นสิ่งหายากเต็มที ในยุคสมัยที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ปนเปื้อนไปด้วยข่าวลวง โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) หรือทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ที่ไม่เรียกร้องความกระจ่างชัดในการพิสูจน์หลักฐาน อีกทั้งเราต่างก็แทบไม่เคยได้รับภูมิต้านทานในการแยกแยะความจริงออกจากความลวง

‘ความจริง’ ไม่ได้สำคัญเพียงแค่เป็นจรรยาบรรณของคนทำงาน ‘ศาสตร์’ ต่างๆ เท่านั้น หากความจริงยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อความอยู่รอดของมนุษย์ ดังที่ยูวัลเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ในเซเปียนส์ว่า หนึ่งในความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ทำให้เราต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ คือความสามารถในการ ‘เล่าเรื่อง’ (Storytelling) การเล่าเรื่องที่ทำให้เราสามารถเชื่อมโยง และร่วมมือกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ อย่างที่สายพันธุ์อื่นใดไม่สามารถทำได้ การร่วมมือที่ต้องอาศัยความ ‘ไว้ใจ’ ในเรื่องเล่าที่ได้รับฟังมา ไม่ว่าจะเป็นความไว้ใจในอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตรา การไว้ในใจแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างชาติ ศาสนา ฯลฯ ความไว้ใจเท่านั้นที่แปรเปลี่ยนเรื่องเล่าให้กลายเป็นความจริงได้ 

คำถามคือ อนาคตของมนุษยชาติจะเป็นอย่างไร หากเรื่องเล่านั้นถูกบิดเบือน ปนเปื้อนด้วยเจตนาร้าย เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยมากกว่าคนกลุ่มใหญ่ แม้เรื่องเล่านั้นอาจเสมือนจริงจนจูงใจผู้คนได้ในตอนแรก แต่หากสุดท้ายผู้คนพบว่าเรื่องเล่าที่เคยถูกทำให้ไว้ใจนั้นเป็นเพียงคำปด สุดท้ายแล้วอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสาร-รับสาร หรือถึงที่สุดแล้ว อนาคตของมนุษยชาติจะเป็นอย่างไร หากเราอยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วย ‘เรื่องเล่า’ ที่ไว้ใจไม่ได้เลย

ความน่าสนใจอีกประการคือรูปแบบของการเล่าเรื่องผ่าน ‘การ์ตูน’ ของฉบับกราฟิกนี้ ที่อาจทำให้หลายคนสงสัยว่าจะ ‘น่าเชื่อถือ’ เท่าการเล่าผ่านหนังสือได้หรือ ยูวัลยืนยันว่า การเล่าเรื่องในรูปแบบนี้นั้นไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ถูกลดทอนน้อยหายลงไป ตรงกันข้าม นี่คือการสะกัด คัดเนื้อเน้นๆ ออกมา และเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่เท่านั้น การเล่าเรื่องแบบใหม่ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงาม หากมีพันธกิจชัดในตัวของมัน นั่นคือการทำให้สารนั้นเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น กว้างขึ้น ซึ่งยูวัลมองว่าเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งของนักวิทยาศาสตร์ในการทำให้ ‘ความรู้’ ที่ค้นพบนั้นกระจายออกไปในวงกว้าง ให้ความรู้เป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว 

การนำศิลปะมาสร้างสรรค์จึงทำหน้าที่เป็นดั่งห่อขนมหวาน ชวนให้คนหยิบหนังสือประวัติศาสตร์หนักอึ้งขึ้นมา หยิบขึ้นมาค่อยๆ ละเลียดความจริง และเริ่มตั้งคำถามกับความ ‘ไม่จริง’ ใดๆ ที่ครอบงำเราอยู่ ซึ่งหลายครั้งกลับถูกห่อหุ้มอย่างแยบยลในความจริงจัง ดั่งว่ามันจริงแท้ หากไม่ใช่เลย

ศาสตร์การ ‘เล่าเรื่อง’ ที่เป็นหนึ่งในบทสำคัญของเซเปียนส์เล่มก่อน ถูกนำมาใช้สร้างสรรค์ฉบับกราฟิกนี้อย่างมหัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ตัวละคร ลูกเล่นฉากตอนต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมาใช้จำลองวิวัฒนาการนับแสนปีของมนุษยชาติ อย่างเช่น ตัวละคร ‘นักสืบโลเปซ’ ที่เดินทางไปทั่วโลก พยายามจับกุมฆาตกรต่อเนื่อง ราวกับเป็นนิยายฆาตกรรมระทึกขวัญ, ‘ดร.ฟิกชัน’ ผู้มีพลังพิเศษในการเล่าขานตำนานปรัมปรา หรือการจำลองเล่าฉากการแข่งขันของมนุษย์หลายสายพันธุ์ผ่านรูปแบบรายการโทรทัศน์ ฯลฯ 

ภาพ: สำนักพิมพ์ยิปซี 

 

เป็นการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ที่ให้รสชาติไม่คุ้นเคย อ่านไปต้องเลิกหูเลิกตาตลอดเวลาด้วยความฉงน ปนอัศจรรย์ใจว่าประวัติศาสตร์สนุกขนาดนี้ได้อย่างไร (และไปอยู่ที่ไหนมา!) หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่เคยอ่านมาแล้วในเซเปียนส์ พอเป็นการ์ตูนก็ได้อรรถรสอีกอย่าง ที่ต่างไปคือข้อความเหล่านั้นดูจะซึมซับง่าย ด้วยความที่อาหารจานนี้ถูกย่อยมาให้แล้วตามความตั้งใจของผู้จัดทำ

ความตั้งใจของยูวัลและทีมงานที่ปรารถนาให้ เซเปียนส์​ ประวัติศาสตร์โดยย่อฉบับกราฟิก เป็นหนังสือที่เข้าถึงผู้คน ไม่ว่าจะคนที่ไม่เคยสนใจ ไม่มีความรู้พื้นฐาน หรือแม้กระทั่งเคยหลับในวิชาประวัติศาสตร์มาก่อนก็ตาม 

เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการสรุปย่อประวัติศาสตร์ หากการได้เห็นจุดกำเนิด และวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เผยให้เราเห็นว่าปัจจัยอะไรทำให้เซเปียนส์กลายเป็นสายพันธุ์ที่ส่งผลมหาศาลต่อโลกใบนี้ ทั้งที่ก่อนหน้าไม่ถึงแสนปี เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่งท่ามกลางสรรพชีวิต เรากลายเป็นมนุษย์สายพันธุ์เดียวที่รอดพ้นภัยอันตราย เอาตัวรอดมานานขนาดนี้ได้อย่างไร และที่สำคัญคือ เราจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของเราเองมาประยุกต์ใช้กับยุคสมัยที่เรากำลังเผชิญหน้าต่อภัยคุกคามความอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของธรรมชาติ (จากการบริโภคเกินขนาดของเรา) โรคระบาด หรือแม้แต่ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ที่เราคิดค้นขึ้นมาที่กำลังจะล้ำหน้าความสามารถในการคิดของเราเองได้อย่างไร

ใช่ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์’ แต่ไม่เลย หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สรุปทวนสิ่งที่ผ่านมาเท่านั้น หากบอกใบ้คำตอบสำคัญว่าเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร โดยใช้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ของเราเอง 

 

*ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษกับ ยูวัล โนอาห์ แฮลารี ได้ทาง The MOMENTUM ในเดือนพฤษภาคมนี้

Fact Box

Tags: , ,