1 ใน 5 คน บนโลกกำลังทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าในบางช่วงชีวิต โรคซึมเศร้ากลายมาเป็นความปกติอย่างหนึ่งของโลกที่ไม่ปกติ แม้จะมีทฤษฎีมากมายอธิบายเกี่ยวกับต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าใจความสลับซับซ้อนของโรคนี้ได้อย่างลึกซึ้ง

แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to Stay Alive) บทบันทึกความทรงจำของ แมตต์ เฮก (Matt Haig) นักเขียนชาวอังกฤษ ที่ผลงานอีกเล่มอย่าง มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน (The Midnight Libary) กำลังได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

เฮกในวัย 39 ปี พาย้อนกลับไปรู้จักเขาอีกคนเมื่อครั้งที่เคยทนทุกข์ทรมานจากปีศาจร้ายที่ชื่อว่า ‘โรคซึมเศร้า’ ประกบคู่ด้วย ‘โรควิตกกังวล’ ปีศาจสองตนนี้กลืนกินเขาอยู่หลายปี บางครั้งมันหลบหายไปคล้ายจะไม่พบเจอกันอีก แต่ไม่นานก็กลับมาเยี่ยมเยือนราวไม่เคยจากไปไหน ส่วนเสี้ยวแห่งคืนวันที่ต่อกรกับปีศาจในใจของเขา ถูกถ่ายทอดเพื่อให้ใครก็ตามที่แหลกสลายแบบเดียวกัน ได้มองเห็นแสงริบหรี่ในโลกอันมืดมิด 

หนังสือเล่มนี้อาจถูกจัดอยู่ในหมวดพัฒนาตัวเอง แต่เหนือไปกว่าการบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนที่รู้อยู่แล้วว่าตอนจบเขาจะก้าวผ่านความเจ็บปวดไปได้ ระหว่างทางเราจะเห็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เรื่องนั้นมันอาจจะเล็กน้อยเพียงการไปซูเปอร์มาร์เก็ต การพรีเซ็นต์งานหน้าห้อง หรือกระทั่งการนั่งอยู่เฉยๆ ก็ตาม ซึ่งสามารถถ่ายทอดอารมณ์เบื้องลึกของผู้มีภาวะซึมเศร้าให้คนทั่วไปรับรู้ได้อีกระดับหนึ่ง จน ‘แด่ผู้แหลกสลาย’ ติดหนังสือขายดีในสหราชอาณาจักรนานกว่า 46 สัปดาห์

ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าที่ยังเป็นปริศนา 

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคซึมเศร้านั้นเต็มไปด้วยปริศนา ตัวเฮกเองก็พยายามไขปริศนานั้นผ่านทั้งจากประสบการณ์ตัวเอง และการค้นข้อมูลเพิ่มเติม ข้อค้นพบอย่างหนึ่งของเขาคือ ‘จิตใจคนเรานั้นมีเอกลักษณ์ ความผิดปกติของมันจึงไม่ซ้ำใคร’ 

ในทางการแพทย์มีการตีกรอบไว้กว้างๆ ว่า เมื่อรู้สึกท้อแท้ เศร้า นอนน้อยหรือมากจนเกินไป น้ำหนักขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็ว และมีความรู้สึกอยากตาย นี่เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากการความผิดปกติในการหลั่งสารเคมีของสมอง

สำหรับเฮกเขามองว่าโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป ความเจ็บปวดเองก็มีหลายรูปแบบ หลายระดับ ผู้ป่วยจึงไม่ได้มีประสบการณ์เหมือนกันไปเสียทั้งหมด เหมือนบทหนึ่งของหนังสือที่ว่า

“ยิ่งคุณหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากเท่าใด ก็ยิ่งระลึกได้ว่าเราอธิบายมันด้วยความไม่รู้มากกว่าความรู้ กว่าร้อยละ 90 ของโรคนี้ยังเป็นปริศนา”

นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นถึงทฤษฎีว่าด้วยสาเหตุของโรคซึมเศร้ากับสารเคมีในสมองอย่างโดปามีนหรือเซโรโทนินยังไม่แน่นหนักพอ เพราะบรรดานักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้เห็นพ้องต้องกันทั้งหมด การศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีบางชนิดในสมองจึงสามารถมอบคำตอบให้เราได้เพียงแค่บางส่วน ดังนั้นสิ่งเดียวที่ผู้ป่วยจะทำได้ก็คือ ‘ฟังเสียงของตัวเอง’ 

“ถ้าจะรักษาตัวเอง อย่างเดียวที่สำคัญคือหาอะไรก็ตามที่ใช้ได้ผลกับเรา แล้วเมื่อไม่ได้ผลแล้ว ก็ไม่ต้องใส่ใจว่าทำไมมันถึงไม่ได้ผล” 

เฮกเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าและอาการแพนิกเข้าอย่างจังในช่วงอายุ 24 ปี ระหว่างทำงานที่เกาะอิบิซา ประเทศสเปน ดินแดนสวรรค์ที่ขึ้นชื่อเรื่องปาร์ตี้ เขามีอาการหวาดกลัวทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่เงาตัวเอง ไปจนความรู้สึกไร้ค่าถึงขั้นไปยืนบนขอบหน้าผาหมายมุ่งจะฆ่าตัวตาย และเช่นเดียวกับคนอื่น ที่ต่อให้มีความอยากฆ่าตัวตายมากเพียงใด แต่ความกลัวตายไม่ได้ช่วยให้กล้าลงมือ

บันทึกการเดินทางในโลกอันมืดหม่นของเฮกจึงถูกเดินเรื่องตั้งแต่ช่วงอยู่เกาะอิบิซา ค่อยๆ ไล่เรียงไปสู่ช่วงกลับอังกฤษ ที่เขาพยายามหาทางรักษาตัวเอง โดยสอดแทรกข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและอาการแพนิกเป็นระยะๆ ผ่านงานวิจัยบ้าง ผ่านถ้อยคำของนักคิด นักเขียน ที่เขาจดจำมาจากหนังสือเล่มโปรดบ้าง และแน่นอนว่าผ่านประสบการณ์ของเขาด้วย 

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เฮกบอกกับเราคือ ‘มิติทางเพศกดทับทุกคนได้อย่างไม่เลือกหน้า’ สถิติจากทั่วโลกเผยว่าผู้ชายมีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า อาจด้วยขนบทางสังคมคาดหวังความแข็งแกร่งจากผู้ชาย โรคทางจิตเวชที่เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอจึงไม่สมควรเกิดขึ้นกับพวกเขา ทั้งที่ความเป็นจริงโรคซึมเศร้าล้วนเป็นประสบการณ์หนึ่งของมนุษย์ สามารถเกิดได้กับทุกคนไม่ว่าเพศอะไร อายุเท่าไร หรือโด่งดังขนาดไหน 

เราไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง และโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้เป็นฝันร้ายเสมอไป

ตามปกติผู้ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าจะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก คิดว่าไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่ แต่แท้จริงแล้วคุณอยู่ในดินแดนมืดมิดที่มีเพื่อนเป็นประชากรหลายล้านคน หนึ่งในนั้นเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ไม่ว่าจะสายนักแสดง นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ จิตรกร และอีกหลากหลายอาชีพ ที่ยิ่งตอกย้ำว่าโรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ 

“ว่ากันว่าความไม่ปกติของจิตใจเป็นการตอบสนองที่สมเหตุสมผลต่อโลกอันบ้าคลั่ง บางทีโรคซึมเศร้าอาจเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองต่อชีวิตที่เราไม่เข้าใจถ่องแท้… เพียงแต่สิ่งที่น่ารำคาญของโรคซึมเศร้าคือ เราหลีกเลี่ยงการคิดถึงชีวิตไม่ได้ เพราะโรคซึมเศร้าทำให้เรากลายเป็นนักคิดที่คิดมากกว่าใครๆ”

เฮกยกตัวอย่าง อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ที่เผชิญวิกฤตสุขภาพจิตจากโรคซึมเศร้าถึง 2 ครั้ง และ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อยู่กับ ‘หมาดำ’ ของเขาเกือบทั้งชีวิต ทั้งสองคนเป็นผู้นำคนสำคัญ ลินคอล์นแสวงหาทางแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลิกทาส ส่วนเชอร์ชิลล์พาอังกฤษก้าวผ่านวิกฤตช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

จอห์น เกรย์ (John Gray) นักปรัชญาการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า ความเปิดกว้างหาใดเทียบต่ออารมณ์อันรุนแรงของเชอร์ชิลล์ทำให้เขาสัมผัสได้ถึงอันตรายที่กลุ่มอนุรักษนิยมยิ่งกว่ามองข้าม เพราะสำหรับนักการเมืองและวิจารณ์ที่ต้องการเอาใจฮิลเลอร์ มองว่าพรรคนาซีเพียงแสดงออกถึงความคลั่งชาติแบบสุดโต่งเท่านั้น จึงต้องใช้จิตใจที่ไม่ปกติ ชี้ให้เห็นภัยที่ไม่ปกติ สำหรับการพยากรณ์เรื่องร้ายที่จะมาถึง 

ดังนั้น บางครั้งเราจึงหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงโรคซึมเศร้ากับประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ เห็นได้จากภาพเขียน  The Scream อันเลื่องชื่อของ เอ็ดเวิร์ด มุนก์ (Edvard Munch) หรืองานหลายชิ้นของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ก็มาจากการวิเคราะห์อาการซึมเศร้าของตัวเอง

เฮกปิดจบบทนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้โรคซึมเศร้าเพื่อบริหารประเทศหรือสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกหรอก เราแค่ใช้มันในชีวิตก็พอ เหมือนที่เขาใช้เพื่อระลึกว่า การหมกหมุ่นอยู่กับความตายทำให้เขามุ่งมั่นจะใช้ชีวิตให้เป็นสุขขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  

“เมื่อเรามีอาการดีขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง เราจะมองชีวิตด้วยดวงตาคู่ใหม่ สรรพสิ่งจะชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วเราจะตระหนักรู้ในประเด็นที่มองข้ามมาตลอด” 

บทสรุปของสิ่งที่ดึงเฮกกลับมาจากปากเหวนั้น ไม่ใช่การรักษาทางการแพทย์ แต่เป็นอะไรที่เล็กน้อยอย่างวรรณกรรม ความรัก การวิ่ง โยคะ การเดินทาง และท้ายที่สุดคือ ‘เวลา’ หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่สูตรสำเร็จของการรักษาโรคซึมเศร้า เป็นเพียงประสบการณ์ของชายคนหนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าพร้อมๆ กับทำความเข้าใจชีวิต โดยหวังว่าผู้ที่อ่านจะได้รับความหวัง เช่นที่เขาเคยได้รับมา

Fact Box

แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to Stay Alive), ผู้เขียน Matt Haig , ผู้แปล ศิริกมล ตาน้อย, สำนักพิมพ์ Bookscape, จำนวนหน้า 320 หน้า, ราคา 295 

Tags: , , , ,