คุณคิดว่าสาเหตุความจนคืออะไร?

การหมดเงินไปกับการดื่มเหล้าและการพนัน การวางแผนการเงินแบบคิดหน้าไม่ถึงหลัง ขาดโอกาสทางการเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งการที่นิยามว่าสังคมส่วนใหญ่ของคนจนนั้นเป็นสังคมที่เสื่อมโทรม 

อาจจะฟังดูโหดร้ายไปเสียหน่อย แต่การมองโลกของคนจนผ่านเลนส์สายตาของคนรายได้ปกติอย่างพวกเรานั้น เป็นการมองปัญหาจากหอคอยงาช้างที่ไม่ได้เข้าใจถึงปัญหาและบริบทโลกของคนจนจริงๆ 

ช่างน่าตลกร้าย เพราะเหล่าผู้ออกนโยบายเกี่ยวกับการ ‘แก้จน’ นั้นมักจะมาจากผู้ที่อาศัยอยู่บนหอคอยงาช้างอีกนั่นแหละ ทำให้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ‘ความยากจน’ ยังคงเป็นศัตรูตัวฉกาจที่เรายังไม่สามารถที่จะเอาชนะมันลงได้เลยแม้แต่น้อย

หนังสือ เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economic) เกิดจากการที่หนึ่งในผู้เขียนได้เข้าไปทำการอยู่อาศัยและคลุกคลีกับคนจนเหล่านี้ เพื่อต้องการที่จะทราบว่า แท้ที่จริงแล้วต้นตอของปัญหาของความยากจนนั้นคืออะไร

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้คำตอบว่า ‘ความจน’ นั้นเป็นอะไรที่น่ากลัวกว่าที่เราคาดไว้มากนัก เพราะจากการที่ได้เข้าคลุกคลีกับคนจนทั่วโลกเพื่อหาคำตอบ เขาพบว่าปัญหาต้นตอของความยากจนนั้นไม่ได้อยู่เพียงแค่รายได้หรือวิธีการใช้ชีวิตที่ต่ำ แต่ยังอยู่ในทุกๆ มิติของการใช้ชีวิตของคนยากไร้ในสังคมดังกล่าว

นอกจากหนังสือจะบอกเล่าให้เราต้องปรับแนวคิดต่อความยากจนเสียใหม่ ยังทำให้เราเห็นได้อีกว่า

‘ความยากจนคือการไร้ความสามารถที่จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของมนุษย์คนหนึ่ง’

ความยากจนนั้นแสนจะน่ากลัวและยากที่จะแก้ไข มันทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องสูญเสียโอกาสในการได้รับสติปัญญาในระดับที่ยอมรับไม่ได้ ความยากจนนั้นเหมือนกับกรงขังแคบๆ ที่คอยปิดกั้นผู้คนไม่ให้สามารถไปไหนภายในสวนเอเดนของพระเจ้าที่อุดมสมบูรณ์

เด็กผู้หญิงยากจนคนหนึ่งในแอฟริกาจะไปโรงเรียนทำไม ในเมื่อมีความเป็นไปได้สูงที่ในอีกไม่กี่ปีเธออาจจะเสียชีวิตจากการขาดสารอาหาร แม้ว่าเธอจะฉลาดเฉลียวสักเพียงใด และหากเด็กผู้หญิงคนดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับทุนการศึกษาในการย้ายไปยังในอีกซีกโลกเพื่อเริ่มต้นใหม่กับชีวิตที่ดีกว่า แล้วอะไรคือข้อแตกต่างที่จะมาหยุดยั้งให้เด็กคนอื่นๆ ไม่ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับเธอล่ะ?

อีกหนึ่งปัญหาที่สุดแสนจะคลาสสิกคือเรื่องการศึกษาของคนจน หากท้องคุณยังคงหิวโหยในทุกๆ วันที่ยังคงลืมตาตื่นมา การลงทุนสำหรับการศึกษาพื้นฐาน 13 ปี จะเป็นไปได้อย่างไร และการที่บอกว่าพวกเขานั้นไร้ความอดทนและไร้วิสัยทัศน์ คงจะเป็นคำพูดที่ใจจืดใจดำต่อกลุ่มคนที่ทุกมิติของการใช้ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหาความต้องการขั้นพื้นฐานที่ยังคงแก้ไม่ตก

หนังสือเศรษฐศาสตร์ความจนจึงเป็นหนังสือที่คุณควรที่จะหามาติดไว้ในบ้าน เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าโลกของคนจนนั้นเป็นอย่างไร และจะได้ทราบว่าปัญหาเรื่องความยากจนนั้นยิ่งใหญ่กว่าที่คุณคาดไว้มากนัก โดยเฉพาะสำหรับ ‘ชนชั้นกลาง’ หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณเห็นได้ว่า ช่องว่างระหว่างคุณและคนยากไร้นั้นสูงใหญ่มากเพียงใด

Fact Box

เศรษฐศาสตร์ความจน เขียนโดย อภิชิต บาเนอร์จี (Abhijit V. Banerjee) และ เอสแตร์ ดูโฟล (Esther Duflo) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล แปลโดย ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ สำนักพิมพ์ Salt Publishing ราคา 360 บาท

Tags: , , ,