บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ

คุณเชื่อในความดีไหม? เชื่อในการให้อภัยเหรือเปล่า?

แล้วถ้าเราต้องเผชิญหน้ากับนักโทษประหารที่ก่อคดีฆ่าข่มขืน เราสามารถสลัดความเกลียดชัง ความหวาดกลัวออกไปได้หรือไม่ แล้วโทษประหารชีวิตเหมาะสมกับคนเหล่านี้จริงหรือ?

กงจียอง หนึ่งในนักเขียนนิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาหลีได้เขียนนิยายเรื่อง เราต่างหลงทางในความเปลี่ยวว้าง (우리들의 행복한 시간) ขึ้นมา ด้วยความเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า ในการต่อสู้กับความเกลียดชัง มีแต่ต้องใช้ความรักเท่านั้นเป็นสิ่งเยียวยา และต้องให้อภัยเป็นจุดเริ่มต้นแก่ตัวเอง เธอเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนมีความดีซ่อนอยู่ คนเลวใช่ว่าจะต้องมีความคิดเลวๆ เสมอไป และคนที่เราเรียกว่าคนดีใช่ว่าจะกระทำดีเสมอไป

“ผมไม่มีทั้งความหวัง หรือความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ ถ้าคุณมีเรี่ยวแรงพอจะทำเรื่องทำนองนั้น ก็เก็บไว้ใช้กับคนอื่นเถอะ ผมเป็นฆาตรกร ก็สมควรแล้วที่ต้องตายในนี้” 

หนังสือเล่มนี้ลำดับเรื่องเป็นไดอารีของคนสองคน โดยสลับกันระหว่าง ‘ยุนซู’ นักโทษประหารชีวิตคดีข่มขืนและฆาตกรรม และ ‘ยูจอง’ หญิงสาวฐานะดี มีหน้ามีตาในสังคม แต่กลับพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วสามครั้ง 

คำโปรยปกหลังของหนังสือเล่มนี้แนะนำไว้ว่า ‘ในห้วงเป็นห้วงตายของชีวิต ชายหนุ่มและหญิงสาวได้มาพบกันและเปิดใจกัน ความสัมพันธ์จึงก่อตัวขึ้นในสถานการณ์ที่แปลกเอามากๆ แต่ความรักจะช่วยเขาได้หรือไม่’

แต่สำหรับเราแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่านิยายรัก

ยุนซู

“ผมเคยคิดว่าชีวิตช่างไม่ยุติธรรมเอาซะเลย เคยโทษสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ตัวเองเป็นอย่างนี้ และไม่ว่าใครคงจะทำแบบเดียวกันหากต้องมาอยู่ในสภาพอย่างผม แล้วผมก็อยากจะพูดใส่หน้าทุกคนว่า คอยดูแล้วกันว่าพวกแกจะทำได้ดีแค่ไหน 

ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องของครอบครัวที่เก่งแต่ทำลายล้าง ที่มีเสียงกรีดร้อง เสียงแผดด่า การเฆี่ยนตี ความสับสนวุ่นวายและคำสาปแช่งเป็นดั่งเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต มันเป็นเรื่องของคนน่าสงสารที่ไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนน่าสงสาร และนี่คือเรื่องราวของผม — ยุนซู”

บ้านเกิดของยุนซูเป็นหมู่บ้านยากจน เขาเล่าว่าบ้านของเขามักจะหนาวเหน็บอยู่เสมอ และนั่นคือสิ่งที่เขาพอจะอธิบายบ้านในความทรงจำอันขมขื่นขึ้นมาได้ ยุนซูตั้งคำถามกับตัวเองว่าแท้จริงแล้วเขาเคยมีบ้านจริงๆ หรือเปล่า ยุนซูมีน้องชายชื่ออึนอู เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อติดเหล้า ชอบทำร้ายทุบตีผู้เป็นแม่

“เราสองคนพี่น้องต่างรอคอยแม่ซึ่งหนีออกจากบ้าน ความทรงจำของผมที่มีต่อแม่จะมีเพียงหน้าบวมเป่งรอยฟกช้ำตามเนื้อตัวจากการทุบตีของพ่อ แต่ผมก็ยังอยากให้แม่กลับพร้อมรอยฟกช้ำดำเขียว และฆ่าพ่อผู้ซึ่งจะทุบตีเราต่อทันทีที่ตื่นจากความเมา ผมรอให้แม่มาช่วยชีวิตเราสองพี่น้อง”

ยุนซูและอึนซูใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ยุนซูเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาในขณะที่อึนซูไม่มีแม้แต่โอกาสได้รับการศึกษา ในทุกวันที่โรงเรียนจะมีการจัดสรรขนมปังให้นักเรียนเป็นอาหารกลางวัน ยุนซูมักเก็บขนมปังชิ้นนั้นโดยไม่กินแม้แต่คำเดียว แม้ว่าเด็กคนอื่นในโรงเรียนจะกินมันอย่างเอร็ดอร่อยแค่ไหนก็ตาม แต่เขาเก็บเพื่อเอามาแบ่งกินกับน้องชายของเขา 

ไดอารีบันทึกเรื่องราวของยุนซูจึงเต็มไปด้วยเส้นทางแห่งความขมขื่น ตั้งแต่การที่พ่อฆ่าตัวตาย น้องชายตาบอด เขาต้องออกมาเร่ร่อนขอทานเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและน้อง จนถึงการเข้าร่วมกับกลุ่มคนที่ยุนซูเรียกว่า ‘คนเลว’ ทั้งยังเข้าออกคุกเป็นว่าเล่น ยุนซูอธิบายว่า 

“คุกเป็นสถานที่ให้การศึกษาแบบเบ็ดเสร็จแก่ผม ผมเรียนอาชญากรรมศาสตร์เป็นวิชาเอก โดยมีความเกลียดชังและการแก้แค้นเป็นวิชาโท

“ผมรู้สึกโล่งใจอย่างประหลาด เมื่อเราสองพี่น้องถูกจับไปสถานพินิจ พอมานั่งนึกดูผมว่ามันแปลกออกซะหน่อย แต่ในตอนนั้นผมคิดว่าจะได้ไม่ต้องเค้นสมองหาวิธีให้มีชีวิตรอดอยู่ไปวันๆ กังวลว่าจะนอนที่ไหนต่อไป”

เมื่อทางเลือกของเขามีไม่มากพอ จริงๆ ไม่อาจเรียกว่าทางเลือกด้วยซ้ำ หนังสือเล่มนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และสิ่งที่เราไม่อาจมองข้ามได้เลยคือ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ยุนซูเขียนในไดอารีว่า เขามีความรัก แต่หญิงสาวที่เขาตกหลุมรักบอกกับเขาว่า เธอไม่ชอบคนเลว ถ้าหากอยากจะคบและแต่งงานกัน เขาต้องออกจากแก๊งอันธพาล เลิกหาเลี้ยงชีพด้วยการลักขโมย ทำสิ่งผิดกฎหมาย เขาต้องชั่งใจระหว่าง ‘เงิน’ และ ‘ความรัก’

การชั่งใจของเขาในที่นี้หมายถึง เขาได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถม การทำงานรับจ้างเป็นกรรมกรไม่สามารถเลี้ยงดูภรรยาและลูกเมียได้ แม้ว่าเขาจะทุ่มเทให้การทำงานทั้งชีวิตก็ไม่อาจมีบ้านที่เป็นของตัวเองสักหลังอยู่ดี สิ่งนี้เหมือนตอกหน้าเราว่า หรือความรักไม่มีพื้นที่ให้กับความยากจน

ไม่สิ ‘ความจน’ ต่างหากที่ไม่มีพื้นที่ในสังคมและโลกใบนี้

แม้ว่ายุนซูจะเลือกความรัก แล้วหันไปประกอบอาชีพสุจริต แต่โชคชะตากลับบีบบังคับให้เขาต้องกลับสู่เส้นทางอันดำมืดอีกครั้ง เมื่อหญิงสาวคนรักต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิต แต่ไร้สวัสดิการขั้นพื้นฐานในการรักษา วิธีหาเงินอย่างเร่งด่วนที่สุดก็หนีไม่พ้นเส้นทางการก่ออาชญากรรม จนนำไปสู่เหตุการณ์ฆ่าข่มขืน และทำให้ยุนซูถูกตัดสินโทษประหารชีวิต

“เบื้องหลังการก่ออาชญากรรมที่คาดไม่ถึงทุกคน คือผู้ใหญ่ที่กระทำความรุนแรงต่อพวกเขาสมัยยังเป็นเด็ก ความรุนแรงเป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรง และความรุนแรงนั้นก็เป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เวลาพ่อแม่ของเขาขู่ว่า ‘จะฟาดซะให้เข็ด’ ไม่เคยมีใครพูดเลยว่า ‘เอาเลย ฉันใช้ประโยชน์จากการทุบตีได้’ ผมพูดจริงนะ ว่าความรุนแรงไม่อาจหยุดยั้งความรุนแรงได้ ไม่เคยมีสักครั้งในประวัติศาสตร์มนุษย์”

“คุณลุงคิดว่ามีเด็กคนไหนเลวมาแต่กำเนิดไหมคะ อย่างที่คนมักพูดกันราวกับว่ามีปีศาจอยู่ในตัว”

“ไม่ ไม่มีทาง นี่แหละมนุษย์ เราไม่ได้เกิดมาสมบูรณ์ พอเราเอาคนที่ถูกทารุณสมัยเป็นเด็กไปสแกนสมอง จะพบว่าสมองของคนเหล่านั้นเสียหายไปถึง 10% เลยทีเดียว จึงคล้ายกับว่าพวกเขาขับรถที่เครื่องยนต์เสียหายมาตั้งแต่เป็นเด็ก พวกเขาจึงไม่สามารถควบคุมแรงกระตุ้นที่สมองได้รับความเสียหายนั้น

“ผมไม่มั่นใจอีกต่อไปแล้ว รอบตัวเรามีแต่สิ่งที่ผมอธิบายไม่ได้ผ่านสิ่งที่เราเรียกว่าวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ มนุษย์เป็นสิ่งลึกลับโดยแท้ และมีเพียงจักรวาลเท่านั้นที่รู้คำตอบ ผมคิดว่าสำหรับมนุษย์แล้ว หลายครั้งหลายหนที่ความรักเพียงอย่างเดียวสามารถเยียวยาพวกเขาได้ แต่เราก็ตองมานั่งคิดกันอีกนั่นแหละว่าความรักคืออะไร…”

และนี่คือบทสนทนาระหว่างยูจองและลุงที่เป็นนักจิตแพทย์

ยูจอง

“นี่เป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ผมได้รู้ว่า คนที่ได้เรียนโรงเรียนในประเทศน่าทึ่งอย่างฝรั่งเศส ร่ำเรียนศิลปะ กลับมาเป็นครูบาอาจารย์ แถมยังเกิดในตระกูลร่ำรวยแต่ไม่มีความสุข” 

ยูจองเกิดในตระกูลร่ำรวย เธอมีพี่ชาย 3 คน แต่ละคนประกอบอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคม แต่เธอกลับถูกมองว่าเป็น ‘ตัวปัญหา’ ของบ้าน สร้างเรื่องให้ครอบครัวไม่จบไม่สิ้น แม่ผู้ให้กำเนิดบอกกับเธอตลอดว่า ไม่น่าให้เธอเกิดลืมตามาเลย

หญิงสาวผู้เติบโตมาในครอบครัวที่พรั่งพร้อม แต่เธอถูกข่มขืนโดยญาติผู้พี่ บ้านที่เธอเรียกว่าบ้านหัวหน้าตระกูล ผู้มีชื่อเสียง เงินทอง และอำนาจ สิ่งที่เธอถูกกระทำจึงเป็นเรื่องต้องห้ามที่คนในครอบครัวไม่พูดถึง ภายหลังการพบเจอกันระหว่างยุนซูและยูจอง เธอเดินหน้ารณรงค์การยกเลิกโทษประหารชีวิต

“ไม่ใช่ฆาตกรรม แต่เป็นการประหาร!”

“มัน–เป็น–การฆาตกรรม”

“การประหาร!”

“แต่ก็ถือเป็นการฆาตกรรมนั่นแหละ”

“ใช่ ฉันอยากฆ่ามัน มากกว่าครั้งหนึ่งด้วย ฉันอยากถือมีดไปที่บ้านของไอ้ญาติผู้พี่คนนั้น แต่ฉันไม่กล้า แล้วถ้าฉันทำขึ้นมาจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฉันคิดว่ามันสมควรตายแล้วเป็นกากเดนสังคม แล้วแขวนคอมันซะ นั่นจะเรียกว่าการฆาตกรรมไหม และถ้าฉันถูกจับและถูกแขวนคอเนื่องจากฆ่าคนตาย นั่นเรียกว่าความยุติธรรมหรือเปล่า ทั้งสองกรณีคือการที่มนุษย์คนหนึ่งฆ่ามนุษย์อีกคน กรณีแรกถือเป็นการฆาตรกรรม ส่วนอีกกรณีเป็นการประหาร คนหนึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตรกร และตายเพราะอาชญากรรมที่เขาก่อ ในขณะที่อีกคนได้เลื่อนขั้น นั่นเหรอคือความยุติธรรม”

บทสนทนาข้างต้นเป็นการพูดคุยระหว่างยูจองกับพี่ชายที่เป็นผู้พิพากษา เธอตั้งคำถามว่า แม้นักโทษเหล่านั้นจะรอดพ้นจากโทษประหาร แต่อย่างไรเขาก็ถูกจองจำ และเราทุกคนก็ต้องตายอยู่ดี ตอนนี้เธออายุ 30 ปี อย่างเต็มที่ชีวิตเธอคงอยู่ได้อีก 50 ปี เธอถามกับพี่ชายว่า 

“พี่รักชีวิตตัวเองมากขนาดนั้นเลยเหรอ มากจนทำให้พี่หวงแหนที่จะไว้ชีวิตเขาขนาดนั้นเลยเหรอ”

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการพูดถึงความล้มเหลว ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การกดทับจากโครงสร้างทางสังคม ความช่วยเหลือจากภาครัฐ การล่วงละเมิดทางเพศ และการตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว

หากใครบางคนกำลังอ่านบทความชิ้นนี้อยู่ และใครบางคนที่เคยหยิบจับหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เราอยากถามว่า คุณเชื่อในความดีที่ถูกซ่อนในตัวมนุษย์แบบกงจียองหรือไม่?

ความดีคืออะไร? นี่คงเป็นคำตอบของเรา หรือความดีคือสิ่งที่ไม่ขัดกับบรรทัดฐานของสังคม คือสิ่งที่ได้รับการยอมรับ คือสิ่งที่ทุกคนเรียกว่าดี สิ่งนี้เรียกว่าความดีจริงหรือ? เราคงไม่กล้าไปนิยามคำพูดอันสูงส่งนั้นได้

เมื่อความดีในภาพจำค่อนข้างเลือนราง สิ่งที่แจ่มชัดในความรู้สึกหลังจากพลิกหน้ากระดาษกว่า 239 หน้า เราก็ได้ข้อสรุปว่า

“โลกใบนี้ต่างหากที่มันเลว…”

Fact Box

  • เราต่างหลงทางในความเปลี่ยวว้าง, ผู้เขียน กงจียอง, ผู้แปล ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, สำนักพิมพ์เอิร์นเนส, จำนวน 240 หน้า, ราคา 240 บาท
Tags: