สภาพจิตใจของคุณตอนนี้เริ่มถูกความ(ซึม)เศร้าเข้ามารุกรานแล้วหรือยัง ?
การกักตัวที่ดำเนินมาพักใหญ่จากโรคระบาด คงทำให้คนจำนวนไม่น้อยประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปีที่ผ่านมา ผลวิจัยหลายชิ้นก็ออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ตัวเลขผู้เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ตามปกติแล้ว สาเหตุของ ‘โรคซึมเศร้า’ มักถูกอธิบายด้วยคำประเภทว่า ‘อาการซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาตามที่จิตแพทย์จัดให้ ด้วยการบำบัด หรือการเข้าถึงบริการสุขภาพทั่วไป’
แน่นอน นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่ง แต่หนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ จะชวนเราตั้งข้อสังเกตว่า การที่โรคซึมเศร้าเป็นปรากฏการณ์หมู่ไม่แพ้โรคระบาด ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสารเคมีในสมองคนบนโลก ‘บังเอิญ’ พร่องสมดุลพร้อมๆ กัน หากสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอย่าง ‘ทุนนิยม’ ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ
ทุนที่มอมเมาเราด้วยภาพวาดฝันถึงชีวิตสวยหรู
ทุนที่ทำให้เราเชื่อว่าความล้มเหลวทั้งหมดทั้งมวลมาจากการพยายามไม่เพียงพอ
ทุนที่กดหัวให้เราต้องตกเป็นทาสยุคใหม่ ไร้งาน ไร้เงิน ไร้ชีวิต
และทุนที่กำลังกลืนกินใครหลายคนในรูปแบบของ ‘โรคซึมเศร้า’ พร้อมกับกลืนกิน ‘โลก’ ใบนี้ในคราเดียว
ทุนนิยมตัวร้าย
“ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่เผชิญหน้ากับทุนนิยม เป็นได้เพียงการเลี้ยงไข้หรือทำให้อาการแย่ลง”
คงไม่เป็นการเหมารวมไปนัก หากจะเอ่ยว่า ‘ใดๆ ในโลกล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง’ แม้กระทั่งโรคซึมเศร้าที่เราคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนที่ มาร์ก ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) กล่าวว่า ‘เรื่องส่วนตัวไม่เคยใช่เรื่องส่วนตัวจริงๆ’
ฟิชเชอร์เป็นนักทฤษฎีวัฒนธรรมและอาจารย์ประจำ Goldsmiths College ที่ใช้แนวคิดเรื่องโลกสัจนิยมแบบทุน (Capitalist Realism) มาวิพากษ์วิจารณ์เชื่อมโยงกับอาการป่วยทางจิตของผู้คน โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการยกแนวคิดโลกสัจนิยมแบบทุนของฟิชเชอร์มาขยายความ และเสริมน้ำหนักด้วยทฤษฎีหรือแนวคิดของคนอื่นๆ
ระหว่างที่ทุกคนทำงานขยันขันแข็ง เอาแรงกาย แรงสมอง แลกค่าแรงมาจับจ่ายใช้สอย ราวกับมันคือสัจธรรมของความเป็นมนุษย์ บทแรกของหนังสือกระตุกเราให้ตื่นจากภวังค์ ด้วยการบอกว่า ‘ทุนนิยม’ ไม่ได้มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แท้จริงเพิ่งเกิดเพียง 500-600 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าสั้นมากหากเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และระยะที่ขยับมาเป็น ‘สัจนิยม’ ก็เพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อไม่กี่ทศวรรษนี้เอง
ฟิชเชอร์อธิบายเอาไว้ว่า สิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ทุนนิยมปีกกล้าขาแข็งระดับครอบงำโลกได้ลึกไปจนถึงทัศนคติของคนนั้น ประการแรกมาจากสำนึกรู้ทางชนชั้นถูกทำให้อ่อนแอลง ชนชั้นไม่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์และเปลี่ยนแปลงสังคมอีกต่อไป เหมือนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับระบบชนชั้นและทุนนิยมเลย ประการที่สอง ทุนนิยมปิดกั้นโอกาสใดๆ ก็ตามที่จะก่อให้เกิดโลกรูปแบบแตกต่างออกไปจากนี้ จนคนไม่สามารถจินตนาการได้ว่าเรามีโลกรูปแบบอื่นด้วยหรือ
เมื่อประการแรกกับประการที่สองมารวมกัน จุดสนใจอย่างเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ ‘ปัจเจกต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต’ ไม่ว่าจะดีหรือเลว
ทัศนคติของโลกสัจนิยมแบบทุนจึงรุกล้ำเข้าไปครอบงำความรู้สึก ความปรารถนา และจินตนาการทางจิตใจ ดึงให้เราจมจ่อมอยู่กับภาวะเศร้าโศกและการมองโลกในแง่ร้าย ไม่แปลกเลย หากคนจะเห็นพ้องต้องกันว่าพวกเขา ‘ไร้อนาคต’ เพราะมันไม่มีอนาคตจริงๆ
ทุกความไม่พอใจและความโกรธที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่รอคอยวันปะทุใส่โลก แต่ระเบิดเวลากลับถูกทำให้เดินช้าลงในรูป ‘ความเพ้อฝัน’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปิดหูปิดตาไม่ให้รับรู้ความเป็นจริงว่าโลกห่วยแตกแค่ไหน
สังคมแห่งการลงโทษตัวเอง
เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมอยู่ๆ จิตวิทยาการพัฒนาตัวเองถึงได้เบ่งบานขึ้นมา แถมเราเองยังพยายามฝักใฝ่หาความรู้ด้านนี้มาใส่ตัวอยู่เสมอด้วย นั่นอาจเป็นเพราะว่า มันคือวิธีชั้นเลิศในการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนออกไปจากปัญหาทุนนิยม เพื่อทำให้การเมืองเพื่อการปลดแอกเป็นเรื่องไม่จำเป็น และมอมเมาปล่อยให้เราหลงผิด คิดว่าสามารถกุมชะตาชีวิตตัวเองได้อย่างเสรี ทั้งที่ความจริงทุกคนต้องทนทุกข์กับการถูกเอาเปรียบและถูกครอบงำ ยกเว้นแต่นายทุนที่ได้ผลประโยชน์จากความเจ็บปวดนี้ไปเต็มๆ
เนื้อหาบางส่วนในหนังสือได้บอกกับเราว่า ‘ภาวะไม่ดีพอ’ ที่เกิดขึ้นกับคนหมู่มาก ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไร้ต้นสายปลายเหตุ แต่เป็นสังคมแห่งทุนอีกนั่นแหละ ที่นำเสนอผ่านการโฆษณาชวนเชื่อว่า ทุกคนสามารถมีชีวิตในฝันได้ มีเงิน มีบ้าน มีรถ มีครอบครัวอันสมบูรณ์ เพียงแค่คุณพยายาม เพียงแค่คุณขยัน เพียงแค่คุณรู้จักเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ แล้วถ้าเกิดคุณล้มเหลว ก็เพราะคุณพยายามไม่มากพอเท่านั้นเอง
เรากลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของตัวเอง
การต่อสู้ทางชนชั้นในยุคเลิกทาสถูกปรับเปลี่ยนมาสู่การคัดเลือกหา ‘ผู้แพ้’ และ ‘ผู้ชนะ’ ในสังคม เหมือนวาทกรรมประเภท ‘โลกนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับคนที่อ่อนแอ’
ซึ่งผู้เขียนได้เรียกกระบวนการนี้ว่า ‘การป้ายสีให้เป็นปีศาจ’ (demonization) ที่ยิ่งทำให้คนกล่าวโทษตัวเองและซึมเศร้ามากขึ้นไปอีก และการรับเอาความคิดนี้มาใช้ ในทางหนึ่ง เรากำลังเป็นตัวแปรค้ำจุนระบบทุนนิยมให้ดำรงอยู่ต่อไปด้วยเหมือนกัน
“การแบ่งกลุ่มทางสังคมที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้มีแค่ผู้ชนะกับผู้แพ้ ไม่ว่าจะนายทุนแรงงาน คนที่เอาเปรียบคนอื่นหรือถูกเอาเปรียบ ก็ไม่มีแล้วทั้งนั้น มันมีแต่ว่าถ้าไม่แข็งแกร่งและหัวไวก็สมควรก้มหน้ารับกรรมไป”
นอกจากการโยนความรับผิดชอบไปให้ปัจเจกในรูปแบบของการเฟ้นหาผู้แพ้ผู้ชนะ อีกวิธีที่มักทำกันโดยทั่วไปก็คือ ‘การคิดบวก’
การคิดบวกที่ดูจะไม่มีพิษมีภัย แท้จริงเป็นเพียงความพยายามลืมว่า สังคมมีความเหลื่อมล้ำรุนแรงแค่ไหน หรือลืมไปว่าคนเราเกิดมาด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม (ทักษะและการศึกษา) ทางสังคม (เส้นสายส่วนตัวและการเข้าถึงเครือข่ายที่มีอิทธิพล) และทางเศรษฐกิจ (เงิน) ไม่เท่ากัน ทุนในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อโอกาสในการก้าวหน้าในชีวิตใหญ่หลวง ซึ่งต่อให้พยายามอย่างหนักหรือคิดบวกมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ
ภายในหนังสือยังมีเนื้อหาอีกหลายส่วนที่พูดถึงแนวคิดหรือทฤษฎีอื่นๆ ที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าในบริบทปัจจุบันได้กว้างกว่าที่รู้ทั่วไป ไม่ว่าจะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเปราะบางทางสังคม ความเหลื่อมล้ำระหว่างอำนาจของนายทุนและอำนาจของแรงงาน ที่น่าสนใจคือ รายละเอียดทั้งหมดในเชิงวิชาการถูกย่อยให้เข้าใจง่ายผ่านการยกภาพยนตร์ต่างๆ มาประกอบ แต่หนังเรื่องสำคัญก็คือ ลัดดาแลนด์ (2011) ที่ผู้เขียนเผยให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าทุนนิยมน่ากลัวยิ่งกว่าผีเสียอีก
“ทุนนิยมเป็นหนังเลือดสาด (splatter film) ที่น่าขนลุก น่าขยะแขยงที่สุดที่เราจะได้เห็น… เราทุกคนต่างอยู่ในหนังเลือดสาดเรื่องเดียวกัน และเราก็ควรรังเกียจมันถึงที่สุด”
Fact Box
เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์, ผู้เขียน สรวิศ ชัยนาม, ผู้แปล สุชานาฎ จารุไพบูลย์, สำนักพิมพ์ Illuminations Edition, ราคา 250 บาท