“หญิงสาวคนนั้นสวยเกินกว่าจะยืนอยู่ในร้านนี้
กลางฤดูร้อนแท้ๆ แต่ผิวของเธอก็ยังขาวจนใส
ผมไม่เคยเจอผู้หญิงที่มีกลิ่นอายเช่นนี้มาก่อน”
ประโยคข้างต้นนี้หากเป็นนิยายโรแมนติกทั่วไป หลายคนคงนึกถึงจุดเริ่มต้นของการเผยความประทับใจที่พระเอกมีต่อนางเอก ชวนให้ละเมอเพ้อพกไปถึงเหตุการณ์ต่อไปว่าน่าจะเต็มไปด้วยเรื่องราวสดใสและลึกซึ้ง หลังบรรจงแกะห่อพลาสติกหุ้มหนังสืออย่างนุ่มนวล ก่อนเอนกายอ่านครั้งแรก ในใจผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน
ทว่าเมื่อลองอ่านหนังนิยายเล่มนี้ตั้งแต่หน้าแรกจวบจนหน้าสุดท้าย ผมกลับได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของเรื่องที่ผู้เขียน ‘ยาสึชิ คิตากาวะ’ (Yasushi Kitagawa) ต้องการจะสื่อว่านอกจากความรักอันบริสุทธิ์และน่าทะนุถนอมในวัยหนุ่มสาวแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่ถูกสอดแทรกเข้ามาทั้งปณิธานความฝัน ความหวัง ก่อนชีวิตจะก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่กร้านโลกในอนาคต
สำหรับนิยายเรื่องที่ผมกำลังพูดถึงนี้มีชื่อ หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งไม่มีวางขาย (Kimi To Aeta Kara)
พานพบในช่วงฤดูร้อน
นิยายเรื่องหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งไม่มีวางขายเป็นการเล่าเนื้อหาผ่านมุมของตัวเอกที่มีชื่อว่า ‘โยสุเกะ’ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ผู้ใช้ชีวิตไร้แก่นสาร ทุกวันของเขาล่องลอยไปกับกาลเวลา และถึงแม้ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนนี้เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันกำลังขะมักเขม้นเปิดตำราอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ตัวโยสุเกะที่ยังค้นหาเส้นทางชีวิตวันข้างหน้าไม่เจอ เขาเลือกที่จะอยู่เฉยๆ เฝ้ากิจการร้านขายหนังสือเล็กๆ ของพ่อ และนั่งจับเจ่าชมการแข่งขันกีฬาเบสบอลผ่านหน้าจอโทรทัศน์
กระทั่งวันหนึ่ง โยสุเกะได้พบกับลูกค้าที่จะเปลี่ยนชีวิตอันจืดชืดไร้สีสันของเขาไปตลอดกาล ลูกค้าคนนั้นมีชื่อว่า ‘ฮารุกะ’ เด็กสาวผู้มีบุคลิกใสซื่อบริสุทธิ์ เธอเลือกเดินเข้ามาในร้านพร้อมตามหาหนังสือเล่มหนึ่ง ด้วยความน่ารักสดใสนี้เองทำให้โยสุเกะตกหลุมรักฮารุกะและอยากทำความรู้จักกับเธอผ่านหนังสือเล่มนั้น ก่อนเวลาจะล่วงเลยผ่านไป ทั้งคู่เริ่มสนิทสนมจนกลายเป็นเพื่อนที่คอยมอบแรงบันดาลใจให้กันและกัน ไม่ต่างจากการหยิบหนังสือเล่มใหม่ขึ้นมาอ่าน แต่ไม่ใช่หนังสือหรือตัวอักษรบนหน้ากระดาษทั่วไป หากเป็นหนังสือแห่งชีวิต
ช่วงเวลาแห่งความสุขของคนเรามักเกิดขึ้นและผ่านไปอย่างรวดเร็วเสมอ เรื่องราวความสัมพันธ์ของโยสุเกะกับฮารุกะก็เฉกเช่นบทสุดท้ายของหนังสือนิยายเล่มนี้ที่สอนให้รู้จักกับคำว่า ‘สัจธรรมชีวิต’ ได้อย่างเที่ยงตรง ขึ้นอยู่กับว่าจะยอมรับได้หรือไม่ และนั่นเป็นสิ่งที่จะพาผู้อ่านได้ขบคิดหลังอ่านนิยายเล่มนี้จบ
Give List & Take List
หากคุณเป็นผู้หลงใหลไปกับการอ่านหนังสือ ก็น่าจะเคยมีโมเมนต์อยากแบ่งปันเรื่องราวและข้อคิดดีๆ ที่ได้จากหนังสือเล่มนั้นให้กับเพื่อนหรือคนรู้ใจได้ฟัง นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียน ยาสึชิ คิตากาวะ จงใจใส่เข้ามา แม้ฟังดูเล็กน้อยแต่กลับแฝงไปด้วยความอบอุ่น
Give List & Take List คือข้อคิดระหว่าง ‘ผู้ให้’ และ ‘ผู้รับ’ ผ่านตัวละครทั้งสองซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่น ฮารุกะนำลิสต์ข้อคิดที่ได้จากหนังสือมาแบ่งปันโยสุเกะ ชักนำให้เด็กหนุ่มให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ตราบใดที่หัวใจยังเปี่ยมไปด้วยความฝัน การหกล้มไม่ใช่เรื่องหน้าอาย และหนทางชีวิตย่อมมีมากกว่าหนึ่งเสมอ แม้หากประสบความสำเร็จก็ยังสามารถมอบความสุขส่งต่อแก่ผู้อื่นได้ ตัวอย่างเช่น เด็กชายอยากเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีเครื่องซักผ้า ในมุมกลับกันเขาจะกลายเป็นผู้แบ่งเบาภาระให้กับการซักผ้าให้แก่ครอบครัวได้อีกหลายครอบครัว ดูเหมือนจะฟังดูตลกแต่กลับสัมผัสได้ถึงความคิดใสซื่อบริสุทธิ์ ที่ทุกสิ่งล้วนเปี่ยมด้วยความฝันและจินตนาการ
ส่งต่อพลังใจ เพื่อเดินหน้าต่อในวันพรุ่งนี้
“เพราะตอนนี้คุณยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าฝันยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ย่อมประสบความสำเร็จได้”
เป็นคำกล่าวของผู้เขียน ‘ยาสึชิ คิตากาวะ’ ที่ต้องการมอบพลังใจให้กับผู้ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผ่านข้อคิดทั้ง 7 ข้อ ได้แก่
1. รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองต้องการอะไร
2. รู้วิธีทำฝันให้เป็นจริง
3. รู้ความจริงเกี่ยวกับความสำเร็จในแง่ความมั่งคั่ง
4. เป็นคนเปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์
5. ไม่นำวิธีการมาเป็นเป้าหมาย
6. ละทิ้งอคติที่ว่าเราทำไม่ได้
7. ไม่มีอะไรในชีวิตนี้ที่เราทำไม่ได้
เนื้อเรื่องทั้งหมดถูกสอดแทรกด้วยหลักวิธีจิตวิทยา โดยใช้หน้าฉากเป็นความทรงจำสีจางช่วงฤดูร้อนของตัวละครเอก ด้วยความที่ผู้แต่งเรื่องเป็นทั้งนักเขียนและครู ยิ่งทำให้เขาเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อไปถึงคนหนุ่มสาววัยหัวเลี้ยวหัวต่อ พวกเขาต้องการกำลังใจและคนช่วยชี้นำไปยังเป้าหมาย เพราะฉะนั้น ‘หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งไม่มีวางขาย’ จึงเป็นมากกว่านิยายรักทั่วๆ ไป
ในวันที่คุณท้อแท้ สับสนภายในใจ อยากให้คุณหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านสักครั้ง แล้วใช้เวลาทบทวนว่า ‘การมีชีวิตอยู่’ นั้นมีคุณค่ามากเพียงใด ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กวัยมัธยม วัยทำงาน วัยไม้ใกล้ฝั่ง ทุกคนสามารถอ่านได้และลองค้นให้เจอว่าคุณยังมีความฝันใดหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะตราบใดที่ยังมีความฝัน นั่นหมายความว่าชีวิตยังมีวันพรุ่งนี้ให้ลงมือทำเสมอ
ไม่แน่ว่าเมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบ อาจจะเสียน้ำตาออกมาโดยไม่รู้ตัวก็ได้…
Fact Box
หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งไม่มีวางขาย (Kimi To Aeta Kara)
เขียน: ยาสึชิ คิตากาวะ (Yasushi Kitagawa)
แปลโดย: หนึ่งฤทัย ปราดเปรียว
สำนักพิมพ์: Piccolo
พิมพ์ครั้งแรก: กันยายน 2564
ราคา: 225 บาท