1. มนุษย์

‘วิกฤตวัยกลางคน ความสับสนต่อเป้าหมายชีวิตและคุณค่าของตัวเองในปัจจุบัน’ คือคำถามข้อสำคัญที่ Homo Finishers ใช้เป็นแก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ นิ้วกลมถ่ายทอดวิถีชีวิตของมนุษย์ที่กิจวัตรประจำวันไม่ใช่เรื่องท้าทายอีกต่อไป พฤติกรรมที่ทำซ้ำมาตลอดหลายปีของทุกคนออกดอกออกผลเป็นความจำเจ น่าเบื่อ และเรื้อรังจนกลายไม้ตายซาก รอวันเหี่ยวเฉาไปในที่สุด 

สุดท้ายนิ้วกลมเลือกเปิดประตูบานใหม่ พาตัวเองไปรู้จักการวิ่ง กิจกรรมที่ทำให้หัวใจพองโตอีกครั้งผ่านบทแรกๆ ของเล่ม ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของชีวิตและการวิ่งในบทต่อไป 

สำหรับผู้เขียนเองแล้ว มองว่าปฐมบทเรื่องราวก่อนที่จะสวมรองเท้าวิ่งนั้นคือส่วนสำคัญใน Homo Finishers เพราะหากถอดคำว่าวิ่งออกจากหนังสือเล่มนี้ การต่อสู้กับชีวิตที่แห้งเฉาจะกลายเป็นประเด็นหลักแทน ซึ่งแน่นอนว่าอาวุธที่ทุกคนสามารถเลือกรับมือไม่ได้มีแค่การวิ่ง อาจรวมไปถึงกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจแต่ไม่เคยลอง หรืออะไรก็ตามที่คิดเคยคิดว่าไม่สามารถทำได้ก็ตาม เหล่านี้คือความท้าทายที่จุดประกายชวนให้ฮึดสู้ เพื่อตามหาความหมายของชีวิตอีกครั้ง 

‘เส้นชัยของชีวิตและความสำเร็จของเผ่าพันธ์มนุษย์มีหลายแบบ เพียงแต่ขอให้เริ่มลงมือทำ’ ใจความสำคัญตรงนี้มากกว่าที่หนังสือเล่มนี้จะทำงานกับ ‘มนุษย์’ ทุกคนมากที่สุด ช่วยให้เวลาอ่านบันทึกการวิ่งของนิ้วกลมในบทต่อไปสามารถรู้สึกร่วมได้ง่าย เข้าใจว่าการได้เข้าเส้นชัยของการวิ่งมันไม่ต่างกับความสำเร็จของมนุษย์ในแง่มุมอื่นๆ แต่อย่างใด 

 

2. เป้าหมาย

สำหรับการวิ่งซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ ส่วนตัวผู้เขียนมองว่านิ้วกลมไม่ได้คุยกับผู้ที่เริ่มวิ่งครั้งแรกเสียเท่าไร แต่กลับเป็นนักวิ่งมือสมัครเล่นที่เข้าสู่เข้าสู่วงการวิ่งได้สักพักแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงที่วัฏจักรของชีวิตการวิ่งถึงช่วงหมดไฟไร้เป้าหมาย 

หลายๆ ปีศาจที่นิ้วกลมยกตัวอย่างผ่านประสบการณ์วิ่ง ตั้งแต่การเอาชนะความง่วงไปวิ่งตอนเช้า ต่อสู้กับการวิ่งกิโลเมตรที่ 30 ที่ต้องใช้แรงใจมากกว่าแรงขา ไปจนถึง DNF (Did not finish) วิ่งไม่จบการแข่งขัน หรืออาการที่นักวิ่งเบื่อหน่ายแล้วเริ่มตั้งคำถามว่าเราวิ่งไปทำไม หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายไว้ว่า ทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนมุมมอง และเลือกเป้าหมายให้ถูกที่ถูกเวลา

หากร่างกายยังพร้อม Homo Finishers สอนให้รู้จักการตั้งเป้าหมายอย่างเป็นระบบ 5 กิโลเมตรแรก 10 กิโลเมตรแรก ฮาฟล์มาราธอนแรก ฟูลมาราธอนแรก เหล่านี้คือขั้นบันไดที่ชวนให้นักวิ่งก้าวมาสู่ดินแดนที่ไม่เคยรู้จัก ชวนให้ลองท้าทายขีดจำกัด สร้างเป้าหมายใหม่ๆ เสมอ ทำให้ทุกวันที่ตื่นมาวิ่งในตอนเช้ามีความหมายมากยิ่งขึ้น ทำได้ต่อเนื่อง และเห็นพัฒนาการของตัวเองอย่างก้าวกระโดด

แต่หากร่างกายไม่ไหวอีกต่อไปแล้วสำหรับการวิ่งที่ไกลและเร็วขึ้น หนังสือเล่มนี้ก็แนะนำให้มองเป้าหมายที่เล็กลง เช่น การรู้จักดื่มด่ำกับความสำเร็จที่ตัวเองคว้ามาครองได้แล้ว ดั่งที่ปรากฎในบท เราต่างวิ่งไปข้างหน้า เพื่อตามหาเพซนั้น หรือหากร่างกายแข็งแรงไม่พอสำหรับระยะมาราธอนจนต้อง DNF ในบท ดอกไม้งามแด่ผู้รู้จักรอ ก็ชวนให้นักวิ่งตามหาเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างกำลังใจต่อไป เช่นการออกกำลังกายรูปแบบอื่น เสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อมาวิ่งอีกครั้งพร้อมกับร่างกายแข็งแรง และผลลัพธ์การวิ่งที่ดีกว่าเดิม

รวมไปถึงประโยค “อย่าถามตัวเองว่าจะไปวิ่งมาราธอนทำไม แต่จงบอกตัวเองว่าจะไปวิ่งมาราธอน” ที่ปรากฏในเล่ม ซึ่งผู้เขียนมองว่ามีความหมายต่อจิตใจนักวิ่งอย่างมหาศาล เพราะสุดท้ายแล้วการจะพิชิตอะไรสักอย่าง หัวใจคือเรื่องใหญ่และสำคัญไม่แพ้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา หากใจยังสู้ ไม่ย่อท้อ และยังคงก้าวขาไปข้างหน้าอยู่ตลอด วันหนึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะถูกพิชิ จะออกดอกผล กลายเป็นความสุข เป็นรางวัลที่ทำให้ในอนาคตข้างหน้านักวิ่งอยากจะมีเป้าหมายต่อๆ ไป

 

3. ความสุข

ส่วนตัวผู้เขียนได้เคยลิ้มรสชาติและเสพความความสุขกับการเอาชนะอยู่บ้าง จึงไม่ใช่สิ่งที่รู้สึกตื่นตาตื่นใจเท่าไรนักในบันทึกการวิ่งของนิ้วกลม แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลับเป็นอะไรง่ายๆ อย่าง ‘การสอนให้นักวิ่งรู้จักความสุข รู้จักพึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้มาอยู่ตลอด’

เชื่อว่านักวิ่งที่มีประสบการณ์สักระยะหนึ่งจะเจอปัญหาเดียวกันคือ บ้าพลังจนร่างกายแตะขีดจำกัดตัวเอง แต่หัวใจยังดันทุรังจะข้ามกำแพงไปต่อ สุดท้ายหลายคนลงเอยด้วยอาการบาดเจ็บทางร่างกาย และความเจ็บช้ำทางใจที่ตัวเองไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ซึ่งหากจะบอกว่านักวิ่งกลุ่มนี้กำลังลุ่มหลงกับการคว้าเป้าหมายข้างหน้าจนเกินตัว ก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะพวกเขาลืมไปแล้วว่าตัวเองก้าวมาไกลจากวันแรกมากเพียงใด ลืมไปแล้วว่ากี่เป้าหมายที่เขาสามารถบรรลุได้ ดังนั้นการมองย้อนกลับไปยังความสำเร็จในอดีต และชื่นชมกับความสำเร็จที่ตัวเองสร้างดูบ้าง ก็เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ไฟในการวิ่งทุกเช้ายังคงลุกโชนอย่างต่อเนื่อง และจะไม่พยายามดันทุรังจะคว้าเป้าหมายข้างหน้าอย่างเดียวจนเกินไป

ที่สำคัญคือพวกเขาจะรู้จักการเสพสุขจากเป้าหมายระหว่างทาง เช่น ในบท คนข้างหน้าและคนข้างๆ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของสังคมนักวิ่ง เพื่อนที่ก้าวอยู่ข้างๆ ชวนปรับวิธีคิดใหม่ว่าความสุขของนักวิ่งอาจไม่ใช่ New PB (สถิติการวิ่งดีที่สุดของตัวเอง) อย่างเดียว แต่คือการได้กินหมูกระทะหลังวิ่งกับเพื่อนๆ หน้าใหม่ที่มาร่วมก๊วนก็ได้ เหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งความสุข จากอีกหลายๆ ความสุขที่เกิดขึ้นได้ในกิจกรรมที่เรียกว่าการวิ่ง 

สุดท้ายแล้ว Run Your Own Pace Just Keep Going จากหน้าแรกของหนังสือนั่นแหละ คือบทสรุปที่ผู้เขียนตามหาจากหนังสือเล่มนี้จริงๆ หลังจากนี้ My Own Pace หรือจังหวะในการวิ่งของผู้เขียน ที่เคยพูดถึงการเพิ่มความเร็วตามเป้าหมายข้างหน้าอยู่ตลอด ก็จะถูกปรับเพิ่ม-ลด ให้เข้ากับเสียงที่ร่างกายเปล่งออกมาตามกล้ามเนื้อน่องและหัวใจมากยิ่งขึ้น ถูกปรับตามจังหวะชีวิตและกิจวัตร 

เพื่อให้การวิ่งมีความสุข สนุก และตอบสนองเป้าหมายชีวิตไปได้พร้อมๆ กัน

Fact Box

Homo Finishers : สายพันธุ์เข้าเส้นชัย, ผู้เขียน นิ้วกลม, สำนักพิมพ์ KOOB, ราคา 329 บาท

Tags: , ,