1

ถ้าเราพูดถึงประวัติศาสตร์ไทย ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ในช่วงยุค 2510-2540 นั้น ไม่เคยถูกบันทึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะและเป็นทางการเท่าไรนัก และหากไม่ใช่เหตุการณ์ใหญ่อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 ความสนใจในเรื่องอื่นๆ ก็ลดน้อยลงตามลำดับ เพราะประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นเกี่ยวพันกับบุคคลหลายคน หลายกลุ่ม และ หลายคนนั้นก็ไม่อาจแพร่งพรายเรื่องที่ตัวเองรู้ได้ ต้องเก็บวีรกรรมตัวเอง ต้องเก็บเรื่องเหล่านั้นเอาไว้จนตัวตาย และบางคน ถึงตายแล้ว จะเขียนบันทึกไว้ บันทึกก็ไม่ได้ถูกเก็บอย่างเป็นระบบ ไม่เคยมีการรวบรวม เรียบเรียง เรื่องหลายๆ เรื่อง จึงยังคงเป็นปริศนา และถูกถ่ายทอดผ่านความรู้ ความเข้าใจ ของแต่ละคนเท่านั้น 

แล้วในช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์ใหญ่อะไรเกิดขึ้นบ้าง? ก็ต้องบอกว่ามีตั้งแต่ สงครามเวียดนาม สงครามลับในลาว การเปิดความสัมพันธ์ระหว่าง ไทยจีน ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ 3 ครั้ง การรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จ (ที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ) 3 ครั้ง และที่ไม่ถูกบันทึกไว้เป็นทางการ อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง

เพราะฉะนั้น เมื่อมีความพยายามเติมเต็มประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ผู้อาวุโสรวม 7 คน ได้แก่ พิชัย รัตตกุล, อานันท์ ปันยารชุน, เตช บุนนาค, คณิต ณ นคร, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา และ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ซึ่ง 6 ใน (เว้น เตช) อายุเกิน 80 ทั้งหมดแล้ว ด้วยฝีมือของมือสัมภาษณ์ ของพิธีกรวัย 75 ปี ซึ่งร่วมสมัยและร่วมเหตุการณ์หลายๆ อย่างกับ 7 คนเหล่านี้ บทสัมภาษณ์ของสุทธิชัย จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวชิ้นสำคัญ

จากปากคำประวัติศาสตร์ เป็นบทสัมภาษณ์ที่ถอดความจากรายการ Deep Talk ‘ฝากไว้ในแผ่นดินซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2562 ผ่าน YouTube Kafedam Channel ของสุทธิชัย กลั่นกรองออกมาเป็นตัวหนังสือ สำหรับนักอ่านที่ชอบเวอร์ชันตัวหนังสือมากกว่า และสำหรับคนที่อาจไม่ ถูกใจบางคนใน 7 คนนี้ การอ่านในรูปแบบหนังสืออาจลดทอนความไม่ถูกใจนั้นลงได้บ้าง

และสำหรับคนที่ต้องทำหน้าที่สัมภาษณ์บ่อยๆ อย่างผม นักข่าว หรือนักเรียนนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ บทสัมภาษณ์นี้จะทำให้เข้าใจความ เก๋าของสุทธิชัย ว่ามีส่วนสำคัญอย่างไรในการตีประเด็น และทำให้บทสนทนานั้นกลมกล่อม คู่สนทนาได้พูดในเรื่องที่ตัวเองอยากพูด และมีความรู้มากพอ และคนถาม ก็ได้ถามในเรื่องที่ตัวเองอยากรู้

 

ฉากหนังตัวอย่างบางเรื่องใน จากปากคำประวัติศาสตร์ หากใครสนใจในเรื่อง การต่างประเทศของไทย จะทราบดีว่าในห้วงเวลา 20 ปีนั้น ถือเป็นยุคทองของการต่างประเทศ ที่ทำให้ กระทรวงต่างประเทศ โดดเด่นมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทนำในการตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไม่ว่าจะเป็นการทูตของไทยในยุคสงครามเวียดนาม ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาอย่างหนัก และการเลือก ยูเทิร์นเต็มสูบ หลังจากสหรัฐฯ ถอยทัพกลับบ้าน จากความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม

เรื่องนี้ พิชัยบันทึกไว้ว่า ในปี 2519 ในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช มีความพยายามจะไปเปิดสัมพันธ์กับเวียดนาม ซึ่งในเวลานั้น แสนยานุภาพกว้างไกล และมีความพร้อมที่จะสามารถยึดประเทศไทย หรือใช้คำที่ว่าสามารถยึดครองกรุงเทพฯ ในระยะเวลาไม่กี่วันได้ ซ้ำยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

พิชัย เล่าว่า เขานั่งรถ ข้ามเข้าเวียดนามผ่านชายแดนเขมร ซึ่งในเวลานั้น ก็อยู่ใต้อิทธิพลของ พอลพต เหมือนกัน กับ อานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้น 2 คน เพื่อขอเจรจากับ เหงียนดวยจิล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเวียดนาม เพื่อเปิดสัมพันธ์อันดีกับไทย

ต้องไม่ลืมว่า ในเวลาเดียวกันนั้น วิทยุยานเกราะ และ ฝ่ายขวาของไทย ยังคงเรียกเวียดนามว่า พวกแกว พวกญวน พวกกินหมา และไทยเอง ก็ไม่สามารถเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเวียดนามอย่างเป็นทางการได้ เพราะในรัฐบาลหม่อมเสนีย์ ก็มีพวก ขวานั่งอยู่เต็มรัฐบาล หนึ่งในนั้นก็คือ พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งค้านหัวชนฝา 

ผลสุดท้ายคือ นายกฯ เสนีย์ เห็นด้วย แต่ไม่สามารถผ่าน เกราะของคณะรัฐมนตรี ที่ฝ่ายขวา มีส่วนผสมอยู่ครึ่งหนึ่งได้ โดยเฉพาะฝ่ายของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทย

“ผมก็โทรศัพท์ไปบอกคุณเล็ก (เล็ก นานา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น) ผมทำงานเหนื่อยนะนี่ เราทำงานเพื่อช่วยชาติ เราต้องสถาปนาความสัมพันธ์กับเขาให้ได้ ไม่อย่างนั้น มันจะมีปัญหาแยะ คุณเล็กไปบอกอาจารย์เสนีย์อย่างนี้ บอกท่านนายกฯ ถ้าหากท่านนายกฯ ไม่กล้าตัดสินใจ โอเค ไปบอกว่าท่านบัดซบ อย่านั่งเป็นเบื้อ ใช้อำนาจบ้าง” 

จนในที่สุด ผ่านไปอีก 1 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี ก็อนุมัติให้เปิดความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย เวียดนาม และ พิชัย ก็บินกลับไทยทันที 

 

3

อีก เรื่องเล่าที่น่าสนใจก็คือ การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 หน้าฉากนั้น คนไทยรู้กันดีว่าการรัฐประหารในเวลานั้น รสช. ระบุเหตุผลว่าด้วยการเป็น บุฟเฟต์คาบิเน็ตของ รัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่หลังฉากที่ซับซ้อนกว่านั้น คือความขัดแย้งระหว่าง นักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 7 ซึ่งอยู่ในรัฐบาลชาติชาย และ จปร.5 ซึ่งดำรงตำแหน่งในเหล่าทัพต่างๆ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีความสับสนอลหม่าน หลังการรัฐประหารใหม่ๆ

เรื่องนี้ อานันท์ ปันยารชุน นายกฯ หลังการรัฐประหาร บอกว่า แทบจะ ถูกบีบให้เป็นนายกฯ โดยถูกเสนอชื่อ ตั้งแต่ยังไม่ได้ตอบรับกับ พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น อย่างเป็นทางการ แต่สุดท้าย ก็มีการเสนอชื่อเขาเป็นนายกฯ ไปเรียบร้อย พร้อมกับบอกว่าจะ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ชื่ออานันท์ เป็นนายกฯ โดยที่เงื่อนไขหลายๆ อย่าง กลับไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้แต่แรก เช่น การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยกันไม่ให้รัฐบาลเข้าไปยุ่ง ซึ่งพลเอกสุจินดาบอกว่า ตัวเขาเองก็ไม่รู้เรื่องว่าจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น

“จุดนั้นเลยทำให้ผมตัดสินใจว่าถ้าปล่อยไปอย่างนั้นนะ มือซ้ายทำอะไร มือขวาไม่รู้ คือคุณสุจินดาก็เป็นคนทำที่ทำเรื่องรัฐประหารใช่ไหม แต่ว่าเขาก็ไม่รู้ แสดงว่ามีความสับสนมาก ในระบบของ รสช. ตอนนั้นว่า ไม่รู้ว่าใครมีอำนาจ หรือมีอำนาจในการใช้อำนาจมากน้อยแค่ไหน ผมก็คิดอยู่ในใจบอกอู้หู คืออย่างนี้ ถ้าปล่อยไปนะ ไม่มีรัฐบาลนะ ยุ่งแน่” 

ความ เละ ในระบบ ทำให้อานันท์ ตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 รอบ คือระหว่างปี 2534 – 2535 และช่วงสั้นๆ หลังเหตุการณ์ความรุนแรง พฤษภาฯ 2535 ซึ่งถึงแม้ชื่อเสียงของ รสช. จะพังเละเทะ หลังเหตุการณ์ พฤษภาฯ แต่ชื่อเสียงของอานันท์ ก็ไม่ได้พังไปด้วย 

อานันท์บอกผ่านสุทธิชัยว่า ครั้งที่เป็นนายกฯ รอบ 2 นั้น เขาแทบไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่าจะเสนอชื่อเขา โดยรู้ตัวในเวลาที่ไปกราบพระบรมราชโองการ และในเวลานั้น ซึ่งจะเป็นนายกฯ นานเท่าไรก็ได้ ก็ตัดสินใจเป็นนายกฯ เพียงแค่ 4 เดือน ให้รีบจัดการเลือกตั้งใหม่ให้ได้ทันที จนได้ ชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นนายกฯ คนต่อมา

เกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านปากคำของ อานันท์ ก็น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะมุมมองของ อานันท์ ที่มีต่อทหาร โดยยกคำของพลเอกชาติชาย ซึ่งถูกรัฐประหารไปก่อนหน้าว่า หากยังคงเป็นทหาร ไม่ถูกย้ายไปเป็นทูตทหารที่อาร์เจนตินา และเริ่มเส้นทางนักการทูต ก็คงจะถูกปิดตา เป็นเหมือน ม้าลำปางคือถูกปิดตา เดินสายตรง

“ระหว่างที่ผมเป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ นี่ ผมก็ต้องเรียนรู้ทหารด้วย คือถ้าเราไปบอก โอย ทหารทำอะไรผิดหมด ทหารโง่ไม่ได้” 

 

4

เรื่องเล่าจากปากคำของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน หลายคนอาจรู้ว่าสุลักษณ์เรียนจบเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ ที่สำนัก มิดเดิลเทมเปิล (Middle Temple) กรุงลอนดอน แต่อาจไม่รู้ว่า ความฝันที่ทำให้สุลักษณ์ ต้องไปเรียนถึงมิดเดิล เทมเปิล คือความฝันว่าด้วยการเป็น นายกรัฐมนตรี

“ผมถึงไปเรียนกฎหมายต่อไง ไปมิดเดิลเทมเปิลเพราะว่า นายกฯ เมืองไทย ต้องเป็นนักกฎหมายด้วย เสนีย์ ปราโมช ก็นักกฎหมายใช่ไหมฮะ สัญญา ธรรมศักดิ์ นี่นักกฎหมาย ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็นักกฎหมาย ก็นึกว่า เอ พวกนี้ ฝีมือเราก็ไม่แพ้เขา เป็น นายกฯ ได้ ทีนี้ผมเปลี่ยนใจ…”

สุลักษณ์บอกว่า เขาเปลี่ยนใจ เพราะความ รักเจ้าของเขา ในเวลานั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาพระองค์ที่ห้าในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  และภริยาของ หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล ซึ่งทรงเปิดร้านอาหารไทยร้านแรกนอกประเทศคือร้าน สยามไรซ์บอกว่า ความฝันของพระองค์คืออยากเป็นผู้หญิงที่นั่งหน้าส้วมอังกฤษ แล้วนั่งถักนิตติ้งไปเรื่อยๆ

“ผมบอก โห พระองค์หญิงสี่ห้าพระองค์นี่ ท่านเป็นลูกสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 7 มีอำนาจล้นเหลือ เสร็จแล้วท่านก็ต้องหนีไปอยู่ชวา นี่เจ้าฟ้าชั้นสูงท่านยังไม่เห็นอนาคตเลย แล้วพ่อท่านทำบุญคุณมาเยอะแยะกับบ้านเมือง คนก็ลืมไปหมดแล้ว แล้วผมเป็นใคร จะไปทำเทียบท่านได้อย่างไร ผมว่าไม่คุ้มหรอกกับการไปหาอำนาจ มันต้องแย่งกันมีอำนาจ ผมก็เลยตัดสินใจเลิกเลย ไม่คิดจะมีอำนาจ” 

หลังจากนั้น ก็เป็นอย่างที่เรารู้กันก็คือ สุลักษณ์ ปฏิเสธการรับตำแหน่งราชการ ไม่ยอมเป็นมือเขียนสุนทรพจน์ให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้จะเคยทำงานอยู่ที่ BBC ประเทศอังกฤษมาแล้ว และจะได้รับเงินเดือนสูงถึง 6,000 บาท แต่เบนเข็มไปทำงานภาคเอกชน ทำวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง มีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง รวมถึงยังคงการเป็น ปัญญาชนสยามมาถึงวันนี้ วันที่อายุ 88 และทยอยทำคลิปลงยูทูป เพื่อบันทึก ความรู้ของตัวเองในช่วงบั้นปลายชีวิต

เพราะรู้ว่าวันหนึ่ง ตัวเองจะถูกลืม… และเมื่อถูกลืม ก็คงไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการถ่ายทอดความรู้ ความทรงจำ ที่มีประโยชน์ ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

 

5

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในหนังสือ ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นทางของ การทูตปิงปองแบบที่เราเห็นกันในหนัง Forrest Gump ต่อเนื่องไปถึงการเปิดสัมพันธ์ระหว่าง ไทย และ จีน ผ่านความทรงจำของอดีตนักการทูต อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เตช บุนนาค เบื้องหลังการตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และการเฟดตัวออกจากพรรคของ คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด หรือการตัดสินใจเบนเข็มเข้าสู่วงการสื่อ หรือการถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา 

หากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่ขาดหาย จะถูกเติมเต็มอย่างสมบูรณ์มากขึ้น อาจไม่ต้องถึงจุดที่สุทธิชัยบอกว่าคนเหล่านี้ ได้ทำการ แทนคุณแผ่นดินแบบที่สุทธิชัยอธิบายไว้หนังสือ แต่ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ในห้วงเวลาหนึ่ง คนเหล่านั้นคิดอะไร ทำอะไร และเข้าใจเบื้องหลัง เข้าใจบริบทมากขึ้นว่าเพราะเหตุใด คนเหล่านี้ ถึงได้ตัดสินใจกระทำการบางอย่างขึ้น

และแน่นอน ประวัติศาสตร์เหล่านี้ ไม่สามารถอ่าน หรือฟัง ด้านเดียวได้ เมื่อไปค้นต่อ ก็จะทำให้ได้อรรถรสมากขึ้น และเติม จิ๊กซอว์ในประวัติศาสตร์ที่หายไป ให้สมบูรณ์ได้ ใกล้เคียงกับภาพความเป็นจริง ในที่สุด

Fact Box

จากปากคำประวัติศาสตร์, ผู้เขียน สุทธิชัย หยุ่น, จำนวน 324 หน้า, ราคา 350 บาท

Tags: , ,