‘ตื่นเช้าขึ้นเพื่อวิ่งออกกำลังกาย’

‘จัดตารางงานเพื่อทบทวนสิ่งที่ต้องทำ’

‘ฟังพอดแคสต์เพื่อเพิ่มพูนทักษะ’

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของแนวคิดโปรดักทีฟ (Productive) หมายถึง การบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดเรียงลำดับความสำคัญก่อน-หลัง นิยมใช้ทั้งแวดวงการบริหารเวลางานและเวลาชีวิต

แนวคิดโปรดักทีฟมีที่มาจากโลกทุนนิยมที่บีบให้รู้สึกต้องขยันเรียน ใช้เวลาให้คุ้มค่า สมัครคอร์สเรียนเสริมระยะสั้น จบออกไปพร้อมเกียรตินิยมเพื่อเป็นใบเบิกทางสู่โอกาสในอนาคต แต่เมื่อออกไปเผชิญโลกภายนอกก็ค้นพบความจริงว่า บนโลกนี้มีคนเก่งกว่าเราอีกเยอะแยะ ถ้าหากไม่พยายามให้มากขึ้นกว่านี้ คงไม่เป็นอย่างที่ฝัน จนนำไปสู่คำถามที่พร่ำบ่นกับตัวเอง ‘เราเก่งพอหรือยัง’ ‘เรายังพยายามไม่มากพอใช่ไหม’ และ ‘ถ้าเรากลับไปทำแบบนั้น ทุกอย่างจะดีกว่านี้ใช่ไหม’

ทุนนิยมไม่เคยสนใจใครนอกจากตัวเอง ยามใดที่คุณรู้สึกพ่ายแพ้ แหลกสลาย ล้มเหลว มันจะยิ่งตอกย้ำว่าคุณไร้ค่า เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ภายในระบบที่มีคนอื่นรอต่อคิวพร้อมเข้ามาแทนที่คุณได้ทุกเมื่อ ผู้คนจึงพยายามฉุดตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นฟันเฟืองที่สมบูรณ์แบบ

หากคุณมีโอกาสแวะเข้าไปร้านหนังสือ ลองสังเกตบนชั้นที่เต็มไปด้วยหนังสือประเภทจิตวิทยาการพัฒนาตัวเองที่ยังคงครองอันดับขายดีทุกเดือน ถึงแม้คุณไม่เคยเหลียวหันกลับไปมอง แต่เชื่อว่า ถ้าพูดชื่อหนังสือ คุณต้องเคยรู้จักผ่านตาแน่นอน โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับการบริหารเวลาและการลงทุนที่มีเกลื่อนตลาด

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอะไร

เรากำลังถูกหลอกให้เชื่อว่า ยิ่งโปรดักทีฟมากเท่าไร ก็ยิ่งใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ยังไม่รวมถึงต้องบริหารเวลาว่าง เพื่อไปทำงานเสริมสร้างประสบการณ์เพิ่มเติม เพื่อที่จะเก่งขึ้น หาเงินได้มากขึ้น รวยขึ้นไวๆ และภาพสุดท้ายของทุกคน คือชีวิตวัยเกษียณที่นอนนับเงินบนกองเงินกองทอง มีชีวิตที่ไม่ต้องคอยระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย ได้ทำอะไรที่อยากทำ นี่คือสิ่งที่ทุนนิยมพร่ำกรอกหูเรามาตั้งแต่เด็ก

แต่จะมีสักกี่คนที่ไปถึงฝันนั้น ระยะทางไม่ใช่แค่ 10-20 ปี มันคือแผนระยะยาวในอนาคตที่ไม่มีใครสามารถกำหนดเส้นชัยได้ แล้วก็ไม่แน่นอนด้วยว่า ถ้าเราไปถึงจุดนั้นแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไร แค่ไหนต้องพอ แค่ไหนต้องหยุด เราหลอกตัวเองด้วยสัญญาที่ไม่มีทางทำได้ เราทำเป็นกลัวชีวิตจะไม่คุ้มค่าถ้าไม่ได้ลองทำอย่างนี้อย่างนั้น เราทำเหมือนการใช้เวลาว่างโดยไม่คิดเรื่องงานเป็นเรื่องผิด เราเมินเฉยต่อการนอนพักผ่อนในวันหยุด เหมือนที่ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ‘เราใช้ชีวิตราวกับถ้าเราหยุดพัก เราจะถูกส่งไปลงนรกเมื่อเราตายไป’

ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์เป็นหนังสือที่ขัดแย้งกับหนังสือบริหารเวลาเล่มอื่นๆ โดยชี้ให้เผชิญหน้ากับความจริงที่เรากำลังหลงลืมว่าเวลาของเรามีจำกัด จากอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์คือ 80 ปี หมายความว่าเราจะมีชีวิตอยู่ราว 4,000 สัปดาห์ แต่เราใช้ชีวิตราวกับมีเวลาอีกมากมายเพียงพอที่จะทำอะไรหลายอย่าง

การทำตัวให้ยุ่งเรื่องงานกลายเป็นเทรนด์ที่นิยมไปทั่วโลก เป็นเครื่องหมายที่ใช้อวดบนโซเชียลฯ ด้วยความภาคภูมิใจว่า เป็นบุคคลตัวอย่างที่ถวายตัวให้งานและเงิน เหล่านักธุรกิจ คนดัง อินฟลูเอนเซอร์ให้สัมภาษณ์ราวกับเป็นเรื่องปกติที่ใน 1 วันต้องมีตารางงานยาวเหยียดจนถึงเวลาเข้านอน เราซึมซับแนวคิดเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว จากนั้นพยายามดำเนินรอยตามเพื่อหวังจะเป็นหนึ่งในคนที่ประสบความสำเร็จก่อนวัย แต่ความจริงก็สะท้อนกลับมาว่า ยิ่งเราพยายามควบคุมเวลามากเท่าไร เราก็ยิ่งควบคุมเวลาได้น้อยลงเท่านั้น เช่นเราเขียนตารางสิ่งที่ต้องทำ แต่ก็พบว่าในหนึ่งวันมีอะไรแทรกเข้ามาอย่างไม่มีกำหนด จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทำสิ่งที่วางแผนไว้

ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องความจำกัดของเวลา แต่คือการที่เราวิ่งหนีปัญหาและไม่ยอมรับความจริงว่า ‘เรามีเวลาจำกัด’ เราพยายามยัดทุกอย่างให้อยู่ภายใต้ตารางเวลาเพื่อความสำเร็จตามเป้าหมาย แต่เราหลงลืมไปว่า ไม่มีอะไรที่สามารถควบคุมได้ เมื่อไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราก็กังวลกับอนาคตไปจนถึงขั้นรู้สึกผิดกับตัวเอง คำถามคือ ทำไมเราจึงสนใจกับอนาคตที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากกว่าปัจจุบัน

โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) พาไปสำรวจและให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทฤษฎีกับดักของความมีประสิทธิภาพ โดยให้แง่คิดที่น่าสนใจคือ อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์สั้นเกินกว่าต้องมานั่งกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เราไม่ควรหวาดกลัวที่จะใช้ชีวิตไม่คุ้มค่า ความจริงมันคือเหตุผลที่ควรโล่งใจ เพราะเราได้รับโอกาสในการแก้ไขข้อผิดพลาด ยอมแพ้ และเริ่มต้นใหม่เสมอ นั่นคือเทคนิคสำคัญของคนที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งยังทิ้งท้ายข้อแนะนำ โดยการใช้ปรัชญามาช่วยเปิดใจรับข้อจำกัด แน่นอน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และสามารถนำมาใช้เตือนสติในชีวิตประจำวัน

  1. ใช้วิธีกำหนดปริมาณที่แน่นอนสู่การมีผลิตภาพ: มีรายการสิ่งที่ต้องทำ 2 ชุด ชุดที่ 1 คือสิ่งที่ต้องทำ และชุดที่ 2 คือสิ่งที่ทำเสร็จแล้ว เพื่อบริหารเวลาให้กับสิ่งที่จำเป็นต้องใส่ใจจริงๆ
  2. จัดลำดับ จัดลำดับ จัดลำดับ: ให้ความสนใจกับงานเพียงงานเดียว เมื่อจัดการเรียบร้อยจึงมุ่งความสนใจไปยังงานถัดไป
  3. ตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะล้มเหลวเรื่องอะไร: เรียนรู้ที่จะล้มเหลวและบอกกับตัวเองว่า ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จตอนนี้ แต่วันข้างหน้าจะต้องมีโอกาสที่เป็นของเราแน่นอน
  4. มุ่งเน้นไปยังสิ่งที่ทำเสร็จแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำให้เสร็จ: จัดทำรายการสิ่งที่ทำเสร็จแล้วของทุกวัน โดยเริ่มจากหน้าที่ว่างเปล่าในตอนเช้า จากนั้นค่อยๆ เติมจนเต็มหน้ากระดาษ ถือเป็นการเขียนชัยชนะเล็กๆ ของวัน
  5. รวบยอดความใส่ใจ: บนโซเชียลมีเดียมีเรื่องน่าสนใจล้านเรื่อง จึงต้องเลือกทุ่มเทความสนใจที่มีในปริมาณจำกัดไปที่บางเรื่องเท่านั้น
  6. โอบรับเทคโนโลยีที่น่าเบื่อและมีวัตถุประสงค์เดียว: ลบแอปพลิเคชันที่รบกวนสมาธิในการทำงาน เพื่อลดสิ่งรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์อันน่าเย้ายวนใจ
  7. แสวงหาความแปลกใหม่ในความจำเจ: จดจำรายละเอียดทุกช่วงเวลาของชีวิต เพื่อค้นพบประสบการณ์ใหม่เมื่อมีสถานการณ์อื่นเข้ามาแทรก
  8. เป็นนักวิจัยในความสัมพันธ์: ทำความเข้าใจกับคนรอบข้างเพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกัน
  9. บ่มเพาะการทำความดีโดยไม่รั้งรอ: ชื่นชมคนรอบข้างทันทีที่รู้สึก อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
  10. ฝึกที่จะอยู่เฉยๆ: ฝึกต้านแรงกระตุ้นต่อการจัดการอะไรสักอย่าง ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่มันเป็น

Fact Box

ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ แปลจากหนังสือ Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals ผู้แต่ง: Oliver Burkeman, ผู้แปล: วาดฝัน คุณาวงศ์, สำนักพิมพ์: AMARIN HOW-TO, จำนวน 226 หน้า, ปีที่พิมพ์: พฤศจิกายน 2565

Tags: , , ,