ผมรู้จัก ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ผู้เขียนหนังสือ Earth’s Cry การต่อสู้และความหวังในวิกฤตสิ่งแวดล้อม ครั้งแรกในฐานะนักเรียนค่ายสารคดี โครงการฝึกอบรมนักเขียนและช่างภาพ ที่ผลิตสื่อมวลชนมาหลายต่อหลายรุ่นของนิตยสารสารคดี โดยฐิติพันธ์หรือ ‘พี่เต้ย’ เป็นหนึ่งในครูผู้สอนการเขียนสารคดี

อีก 1 ปีให้หลัง ผมได้รู้จักฐิติพันธ์อีกครั้งในฐานะรุ่นพี่สื่อมวลชน และประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ผมเคยร่วมลงพื้นที่ทำงานกับเขาในประเด็นโครงการผันน้ำยวม โครงการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่พุระกำ และโครงการเหมืองหินฝั่งอันดามัน

ฐิติพันธ์ในฐานะรุ่นพี่มักให้คำแนะนำ และแนวทางในการเขียนงานข่าวสารคดีด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผมในฐานะสื่อมวลชนรุ่นใหม่ให้การยอมรับและนับถือ

งานสารคดีเชิงข่าวสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้เป็นงานที่หาได้ยาก ในความหมายที่กองบรรณาธิการสื่อไทยไม่มีใครอยากลงทุนให้นักข่าวตัวเองไปลงพื้นที่ห่างไกล เพื่อพูดคุยถึงปัญหาโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและคนในพื้นที่

รวมทั้งงานสารคดีเชิงข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นงานที่ขายยาก และประเด็นสิ่งแวดล้อมนั้นยากที่จะเขียนออกมาให้คนอ่านที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองมีความรู้สึกร่วมไปได้ เราอาจจะเห็นนักข่าวสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่อย่าง พลอยธิดา เกตุแก้ว ที่เลือกการนำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อมในรูปแบบช่องทางที่เป็นเอกลักษณ์แบบฉบับของตัวเธอผ่านรายการ HEAT UP 

อย่างไรก็ดีผมคิดว่า หนังสือ Earth’s Cry ของฐิติพันธ์ก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วม ที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวความเป็นมนุษย์ กับข้อมูลที่ผ่านการย่อยทำความเข้าใจมาจากผู้เขียน ฐิติพันธ์เป็นสื่อมวลชนที่ทำงานลงพื้นที่อย่างเข้มข้น ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงงานสื่อสารทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไว้สำหรับการขึ้นหิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ตีพิมพ์ออกมาให้คนทุกคนอ่าน และสามารถเข้าใจเรื่องยากที่จับต้องไม่ได้อย่างสิ่งแวดล้อม ให้เป็นเรื่องที่จับต้องได้และใกล้ตัวเราทุกคน

การลงพื้นที่ทำข่าวของกลุ่มนักข่าว ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ประเด็นโครงการผันน้ำยวม จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 (ภาพ: ณฐาภพ สังเกตุ)

กว่าจะเป็นงานสารคดีเชิงข่าว 1 ชิ้น

หากได้อ่านหนังสือ Earth’s Cry การต่อสู้และความหวังในวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่แบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 ตอน จะเห็นว่า งานแต่ละชิ้นของฐิติพันธ์ที่เผยแพร่ออกมานั้น ผ่านการลงสถานที่จริงมากกว่า 1 ครั้งเสมอ ยกตัวอย่างในงาน ‘ทะเลรุกแผ่นดิน เมื่อคลื่นกลืนถิ่น แผ่นดินจะหายไป’ งานชิ้นนี้ต้องผ่านการลงพื้นที่ทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสงขลา กว่างานชิ้นนี้จะสำเร็จออกมาให้ผู้คนได้อ่าน

การลงพื้นที่ทำข่าวของกลุ่มนักข่าว ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ประเด็นโครงการผันน้ำยวม จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 (ภาพ: ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม)

ผิดกับยุคสมัยนี้ที่สื่อไทยในพื้นที่โลกออนไลน์คาดหวังว่า การทำงานลงพื้นที่ของนักข่าวหนึ่งครั้งจะต้องมีผลงานติดไม้ติดมือกลับมามากกว่า 1 ชิ้นเสมอ ผมเคยคุยกับเพื่อนนักข่าวที่ทำงานสำนักข่าวกระแสหลัก ตอนที่ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยกัน 3 วัน เขาบอกว่า อย่างน้อยๆ ต้องมีผลงานกลับไปให้ทางต้นสังกัด 3 ชิ้น ทั้งงานเขียน วิดีโอสั้น และอื่นๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้สื่อข่าวไทยถึงรู้ทุกเรื่อง แต่รู้ไม่ลึกสักเรื่อง 

โดยเฉพาะการเขียนงานสารคดีข่าวสักหนึ่งชิ้น มักเริ่มต้นจากการค้นคว้าข้อมูล และกำหนดประเด็นเพื่อเสนอกับทางกองบรรณาธิการ หากประเด็นได้รับการอนุมัติก็จะต้องเริ่มติดต่อแหล่งข้อมูล และสถานที่สำหรับลงพื้นที่ทำงาน จากนั้นจึงวางแผนการเดินทางซึ่งอาจใช้เวลาในการลงพื้นที่ 2-3 วัน หรือหลักสัปดาห์ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เขียน กระบวนการลงพื้นที่แม้ถูกลดบทบาทลงในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สามารถใช้การพูดคุยทางออนไลน์ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งการที่ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสลงไปเห็นสถานที่จริง ย่อมทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าการเห็นหรือคุยผ่านโลกออนไลน์

หลังจากที่ได้ข้อมูลสำหรับการจัดทำงานสารคดีเชิงข่าวครบถ้วนแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการถอดเทปสัมภาษณ์ เรียบเรียงข้อมูลออกมาเป็นงาน 1 ชิ้นเหมือนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ Earth’s Cry เชื่อได้ว่า งานแต่ละชิ้นที่ฐิติพันธ์เขียนออกมาในหนังสือเล่มนี้ ล้วนแต่ต้องผ่านกระบวนการข้างต้นอย่างเข้มข้น และใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะได้งานแต่ละชิ้นออกมา

ในขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวที่ทำงานสายนี้ ก็กำลังประสบกับการแข่งขันที่รุนแรงภายใต้อัลกอริทึมของพื้นที่ออนไลน์ คนที่ทำงานข่าวเจาะประเด็นหลายคนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาทุ่มเทใช้เวลาในการทำงานเป็นเวลานานกว่าจะผลิตงานแต่ละชิ้นออกมาได้ แต่ยอดเอนเกจเมนต์กลับเทียบไม่ได้กับประเด็นข่าวรายวันอื่นๆ ที่เรียกยอดความสนใจของผู้คนได้มากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ลดสัดส่วนของงานข่าวเชิงลึกลง และให้ความสำคัญกับงานข่าวในรูปแบบอื่นมากขึ้น ตามเนื้อหาที่สามารถสร้างรายได้และอัตราการมองเห็นของผู้ชมได้มากกว่า

ความหวังในวิกฤตของคนทำงานสื่อสิ่งแวดล้อม

ในบทนำของหนังสือผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “โจทย์ของงานเขียนด้านสิ่งแวดล้อมนั้นยากเสมอ เพราะมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งคนได้และเสียประโยชน์ ข่าวด้านสิ่งแวดล้อมมักอยู่บนพื้นฐานของการวิพากษ์วิจารณ์โครงการขนาดใหญ่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชน สิ่งนี้สวนทางกับการสร้างรายได้ให้องค์กรต้นสังกัดของคนนำเสนอข่าว และบ่อยครั้งนักข่าวสิ่งแวดล้อมก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ต่างจากคนท้องถิ่นที่ลุกขึ้นเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา”

นอกจากความท้าทายจากการทำงานที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว กล่าวได้ว่านักข่าวประเด็นสิ่งแวดล้อม ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภายนอกหลายด้าน เช่น ภัยคุกคามจากการถูกฟ้องปิดปากโดยบริษัทเอกชน จากการรายงานข่าวที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขา ภัยคุกคามจากสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนจากการลงพื้นที่ตรวจสอบมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรม และบ่อยครั้งที่พวกเขาต้องลงไปในพื้นที่เสี่ยงอันตรายและห่างไกล เพื่อนำข้อมูลกลับมารายงานให้กับสาธารณชนได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ห่างออกไปนับพันกิโลเมตรจากบ้านของผู้อ่าน

เหมือนตอนหนึ่งในหนังสือที่ใช้ชื่อว่า The Origin and the Return of PM2.5 จุดเริ่มต้นและการกลับมาของ ‘ฝุ่นมรณะ’ ฐิติพันธ์ลงพื้นที่ไกลถึงรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ถึงที่มาและสาเหตุของฝุ่นควันข้ามพรมแดน ที่ส่งผลกระทบมาจนถึงประเทศไทย งานชิ้นนี้เป็นอีกชิ้นที่ฐิติพันธ์สามารถเล่าเรื่องราวใกล้ตัวอย่างฝุ่น PM2.5 ได้ไปจนถึงต้นตอของการเกิดฝุ่น ที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้แจ่มชัดมากขึ้น

ในส่วนที่อยู่นอกเหนือจากเนื้อหาในหนังสือ ฐิติพันธ์เป็นหนึ่งในนักสื่อสารมวลชน ที่ยืนระยะทำงานมาได้อย่างยาวนาน ในช่วงเวลาที่ผมได้พบเจอเขา ฐิติพันธ์มักย้ำเตือนผมอยู่เสมอว่า ในบทบาทของสื่อมวลชน เราจำเป็นต้องวางตัวอยู่ในสถานะที่มองทุกอย่างให้ได้อย่างรอบด้านเสมอ กล่าวคือในบางครั้งที่คนทำงานคลุกคลีอยู่กับประเด็น รวมทั้งกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำ จนทำให้เราอาจหลงลืมสถานะสื่อมวลชน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนั้น ฐิติพันธ์มักบอกให้ถอยหลังกลับมา มองเรื่องราวในฐานะสื่อมวลชนผู้สังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ สิ่งนี้สะท้อนออกมาจากงานของเขา ที่มักให้ข้อมูลอย่างรอบด้านคือ ข้อมูลจากภาครัฐ ภาควิชาการ และหัวใจสำคัญคือภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

การลงพื้นที่ทำข่าวของกลุ่มนักข่าว ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ประเด็นโครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ในพื้นที่พุระกำ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 (ภาพ: ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม)

แม้ว่าหลายงานที่ฐิติพันธ์ได้เขียนในหลายประเด็น ปัญหายังคงดำเนินต่อไปไม่ได้ถูกแก้ไข แต่หนึ่งสิ่งที่งานของเขา รวมทั้งงานข่าวเชิงสารคดีได้ทำหน้าที่คือ การบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านข้อมูลจากการค้นคว้า เสียงของผู้คน และเรื่องราวที่ผู้เขียนไปสัมผัส มันทำหน้าที่แตกต่างไปจากข่าวทั่วไปในเชิงที่ทำให้ผู้คนได้รู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวนั้นๆ และทำให้เสียงของผู้คนถูกได้รับความสำคัญ มากกว่าการที่พวกเขาคือใคร ทำอะไร แต่พวกเขามีชีวิต รู้สึกและคิดเห็นอย่างไรต่อสิ่งที่พวกเขาเผชิญ

นั่นคือคุณค่าของงานสารคดีเชิงข่าว และหนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกประเด็นทางสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาหนึ่ง ที่ช่วยให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจในหลายประเด็นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ฝุ่น PM2.5 คนอยู่กับป่า การระเบิดแก่งโขง ชาวเลอันดามัน คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง และเรื่องราวป่าสันทรายชายฝั่งผืนสุดท้ายของคาบสมุทรไทย มันคือการส่งไม้ต่อให้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นวาระทางสังคม และไม่ถูกลืมหายไปจากหน้าสื่อไทย ในวันที่เนื้อหาฉาบฉวยกำลังยึดครองพื้นที่สื่อในสังคมไทย

Tags: , , , , ,