ดำดิ่งสู่จอมือถือ

“เธอนี่แม่งโคตรติดมือถือเลยว่ะ”

ประโยคลอยๆ บนโต๊ะอาหาร ทำเอาผมเงยหน้าขึ้นจากสมาร์ตโฟนด้วยอาการเลิกลั่ก

เหลียวมองรอบตัว บรรยากาศช่างเป็นใจ เรานั่งอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งริมชายหาด ลมทะเลพัดโบกโบย ท้องฟ้าใสแจ๋วจนเห็นปุยเมฆขาวลอยฟ่อง เสียงคลื่นซัดฝั่งดังซ่า อาหารซีฟู้ดตรงหน้าก็รสเลิศ แต่ผมกลับจมอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ คิ้วขมวด หมกมุ่นกับการเสพข่าวและสอดส่องเรื่องชาวบ้าน 

นึกย้อนไปก่อนหน้า อาการเสพติดมือถือของผมเริ่มทวีความรุนแรง ตื่นเช้ามาก็ฉวยคว้าขึ้นมาเป็นอันดับแรก กดเลิฟกดไลก์เรี่ยราดไปหมด เข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวยังจ้องจอไม่ลดละ แชตคุยงาน-เมาท์มอยไม่ต่ำกว่าวันละ 6 ชั่วโมง แม้กระทั่งรถติดไฟแดงยังหยิบขึ้นมาเขี่ย ก่อนนอนก็ไถฟีดจนไม่มีอะไรเหลือให้อ่าน พฤติกรรมซ้ำซากเหล่านี้ส่งผลร้ายใหญ่หลวงอย่างคาดไม่ถึง

ผมกลายเป็นคนขี้หงุดหงิด สมาธิสั้น อารมณ์แปรปรวน ยิ่งอ่านข่าวแย่ๆ ในวันที่สถานการณ์บ้านเมืองพังๆ ยิ่งทำให้กลายเป็นคนเครียดง่าย จิตตก ถึงขั้นเกิดอาการหลอน หวาดระแวง หูแว่วได้ยินเสียงเตือนจากสารพัดแอพพลิเคชันต่างๆ อดไม่ได้ต้องหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูเพื่อพบว่า — มึงคิดไปเอง

วันหนึ่ง ผมได้พบหนังสือชื่อว่า ดิจิทัลมินิมัลลิสม์ (Digital Minimalism) ปกขาว ดีไซน์สวย เขียนโดย คาล นิวพอร์ต แปลโดย บุณยนุช ชมแป้น สำนักพิมพ์ broccoli เป็นหนังสือที่ทำให้ผมเงยหน้าขึ้นจากแสงสว่างปลอมๆ ของอุปกรณ์ดิจิทัล แล้วไปออกรับแสงแดดอันเจิดจ้าได้อย่างแท้จริง

ทิ้งความรุงรังในโลกดิจิทัล

‘ดิจิทัลมินิมัลลิสม์’ คือปรัชญาที่นำความเชื่อ น้อยคือมาก (Less can be more) มาประยุกต์กับความสัมพันธ์ระหว่างคนและเครื่องมือดิจิทัล เป็นแนวคิดที่จะช่วยให้ทุกคนเอาตัวรอดในยุคที่เทคโนโลยีล้นเกินความจำเป็นอย่างทุกวันนี้ ในโลกที่อุปกรณ์ดิจิทัลและแอพพลิเคชันต่างๆ เรียกร้องความสนใจเราอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นคุกคามส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม ความคิด ชีวิต และจิตใจ 

คาล นิวพอร์ต (Cal Newport) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผู้เขียนเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและวัฒนธรรม จะพาไปสำรวจเบื้องหลังโลกธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราในปัจจุบัน ก่อนนำเสนอปรัชญาดิจิทัลมินิมัลลิสม์ ชักชวนให้ย้อนกลับไปสำรวจเป้าหมายและคุณค่าของชีวิต ผ่านการจำกัดการใช้งาน คัดสรรเทคโนโลยีที่จำเป็นและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับเราจริงๆ 

หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลน่าทึ่ง (และน่าตกใจ) มากมาย จะมีสักกี่คนรู้ว่าการติดเฟซบุ๊กงอมแงมนั้นหาใช่เรื่องบังเอิญ แต่เบื้องหลังคือระบบวิศวกรรมที่ถูกออกแบบมาอย่างเป็นระบบเพื่อ “ดึงเวลาและความสนใจของผู้ใช้มาให้มากที่สุด” ฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ปุ่มกดไลก์ กดแชร์ คอมเมนต์ แชต แม้แต่แท็กรูปภาพ ล้วนคิดค้นขึ้นเพื่อกระตุ้นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ซึ่งเป็น “สิ่งมีชีวิตทางสังคมที่ไม่มีทางเมินเฉยต่อสิ่งที่คนอื่นคิดกับเรา” หรือพูดง่ายๆ คือต้องการการยอมรับจากสังคมนั่นเอง สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลกับเราจนไม่สามารถควบคุมได้ มนุษย์ปล่อยให้เทคโนโลยีควบคุมทั้งเวลา พฤติกรรม แม้กระทั่งความรู้สึกโดยไม่รู้ตัว จึงไม่น่าแปลกใจหากมนุษยชาติจะพ่ายแพ้ในสงครามนี้

เมื่อถึงจุดที่ไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป คาร์ลจึงเสนอแนวคิดดิจิทัลมินิมัลลิสม์ซึ่งเขาจำกัดความไว้ว่าเป็น “ปรัชญาว่าด้วยการใช้งานเทคโนโลยีที่ทำให้คุณใช้เวลาในโลกออนไลน์กับกิจกรรมเพียงไม่กี่อย่าง ผ่านการคัดสรรอย่างดี มีประสิทธิภาพสูง และส่งเสริมสิ่งที่มีความหมายต่อคุณ ทั้งยังทำให้คุณละทิ้งกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ได้อย่างมีความสุข”

การปวารณาตัวเองเป็นชาวดิจิทัลมินิมัลลิสต์ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องตัดขาดจากอุปกรณ์ดิจิทัลที่คนส่วนใหญ่ใช้กันโดยสิ้นเชิง แต่ควรตั้งคำถามสำคัญกับตัวเองว่า “นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมคุณค่าใดคุณค่าหนึ่งใดหรือไม่?” ชาวดิจิทัลมินิมัลลิสต์จะไม่กลัวพลาดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งที่พวกเขากังวลมากกว่าคือ การค่อยๆ หายไปของเรื่องใหญ่ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าจะทำให้มีชีวิตที่ดีอย่างแน่นอน หลายคนเลือกตัดฟีเจอร์ฟุ่มเฟือยทิ้ง ให้เหลือเพียงการใช้งานที่จำเป็นไม่กี่อย่างจริงๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนความสนใจโดยไม่จำเป็น

บางคนใช้วิธีหักดิบด้วยการลบบัญชีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมออกจากมือถือ บางคนบังคับตัวเองให้ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียแค่สัปดาห์ละวัน บางคนลบเพื่อนในลิสต์จนเหลือแค่ ‘เพื่อนที่แท้จริง’ เพียงไม่กี่คน บางคนเลิกติดตามไปหลายเพจคงหลือไว้เฉพาะที่สำคัญๆ บางคนปิดการแจ้งเตือนแอพพลิเคชันทั้งหมด บางคนตั้งค่าให้รับเพียงอีเมลแจ้งข่าวสารเท่านั้น ฯลฯ 

คาล นิวพอร์ต ยังแนะนำวิธีการเป็นมินิมัลลิสต์ (ฉบับเร่งรัด) ด้วยการตัดทิ้งความรุงรังในโลกดิจิทัล 3 ขั้นตอน ได้แก่

1. จัดสรรเวลา 30 วัน ที่คุณจะพักการใช้งานเทคโนโลยีทางเลือกต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต

2. ระหว่างการหยุดพัก 30 วันนี้ คุณต้องสำรวจและกลับไปค้นหากิจกรรมหรือพฤติกรรมที่คุณพึงพอใจและรู้สึกมีความหมายที่ได้ทำ

3. เมื่อสิ้นสุดระยะการพัก ให้เริ่มนำเทคโนโลยีทางเลือกที่ไม่จำเป็นกลับมาใช้ในชีวิตโดยเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ คุณต้องตัดสินใจว่าเทคโนโลยีที่คุณนำกลับมานั้นสร้างคุณค่าอะไรต่อชีวิตคุณ และคุณจะใช้มันเพื่อคุณค่าสูงสุดได้อย่างไรบ้าง

สรุปคือ ลองเลิกเล่นโทรศัพท์มือถือดูสักเดือน แล้วไปหากิจกรรมอย่างอื่นที่ชื่นชอบและมีความสุข พอครบกำหนดก็ลองกลับมาหยิบโทรศัพท์มือถือใหม่อีกรอบ สุดท้ายอาจพบว่าเทคโนโลยีหลายอย่างนั้นไม่จำเป็นกับชีวิตเราเลยก็ได้ 

พูดง่ายๆ — ขาดมันไปก็ไม่เห็นจะตายนี่หว่า

หาเวลาอยู่คนเดียวและออกไปทำอะไรนอกบ้าน

บทที่ผมโดนใจผมมากสุดเห็นจะเป็น ‘บทที่ 4 – ใช้เวลาตามลำพัง เมื่อความสันโดษรักษาชาติ’ กับ ‘บทที่ 6 – ทวงคืนเวลาว่าง เวลาว่างกับชีวิตที่ดี’ เพราะตรงกับชีวิตนานนับเดือนที่อยู่ภายใต้ล็อกดาวน์

ในวันที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ งดหลีกเลี่ยงออกนอกบ้าน ไปนั่งกินที่ร้านไม่ได้ สวนสาธารณะก็ปิดชั่วคราว เมื่อไม่ได้เจอใคร หลายคนฟุ้งซ่านอยู่กับหน้าจอมือถือ เสพแต่ข่าวร้าย อ่านสเตตัสที่เต็มไปด้วยเรื่องราวหดหู่ระคนโกรธแค้น ใครโชคดีใจแข็งพอก็เขวี้ยงโทรศัพท์ทิ้ง แล้วหันไปหากิจกรรมอื่นแทน เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกับหมาแมว อ่านหนังสือ ฝึกทำขนม อะไรก็ตามที่ทำให้ใจเราผ่อนคลาย

หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงความสำคัญของการได้มีเวลาอยู่ลำพังและการใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เช่น ตอนที่ อับราฮัม ลินคอล์น เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ ถือเป็นช่วงใกล้จะเกิดวิกฤตสงครามกลางเมือง ลินคอล์นมีภาระหน้าที่ยุ่งเหยิงทั้งวัน แต่เขามักชอบนั่งรถม้าในยามค่ำคืนเพื่อเดินทางกลับไปพักผ่อนยังบ้านพักหลังใหญ่ในเขตชนบท บรรยากาศเงียบสงบและการได้อยู่คนเดียว ทำให้ลินคอล์นมีเวลาในการคิดใคร่ครวญถึงเรื่องต่างๆ จนสามารถตัดสินใจเรื่องยากๆ ได้หลายเรื่อง หรือคืนสำคัญที่สุดในชีวิตของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เขานั่งใช้ความคิดอยู่เพียงลำพังบนโต๊ะอาหารที่ห้องครัว ในมือถือแก้วกาแฟ สวดมนต์ พลางคิดทบทวน จนนำไปสู่การตัดสินใจลุกขึ้นต่อสู้เพื่อคนผิวดำ 

คุณค่าของความสันโดษก็ถูกหยิบยกมาเอ่ยถึงอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องราวของ เฮนรี เดวิด ธอโร นักเขียนเจ้าของอมตะนิยายอย่าง วอลเดน (Walden) ผู้ปลีกวิเวกจากเมืองไปใช้ชีวิตริมบึงกลางป่า ธอโรค้นพบสัจธรรมของความเรียบง่าย ความเนิบช้า และความงดงามของธรรมชาติ ขณะที่ ฟรีดริช นีตซ์เช นักเขียนผู้ใช้เวลาว่างหมดไปกับการเดิน นีตซ์เชชอบเดินเล่นกินลมชมวิวแถบเนินเขาวันละหลายชั่วโมง เขาเขียนเกี่ยวกับการเดินไว้ว่า “ความคิดที่หยั่งถึงด้วยการก้าวเดินเท่านั้นจึงมีคุณค่า” แม้แต่ ฌอง-ฌาค รุสโซ ยังเคยพูดว่า “ฉันไม่เคยทำอะไรสักอย่าง แต่เมื่อได้ออกเดิน ชนบทคือแหล่งเรียนรู้ของฉัน”

สำหรับงานอดิเรกและกิจกรรมยามว่าง หนังสือเล่มนี้แนะนำว่าควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าการบริโภคเฉยๆ กิจกรรมยามว่างคุณภาพสูงในที่นี้ก็คือ ‘งานคราฟต์’ หมายถึงกิจกรรมที่ใช้ทักษะเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโต๊ะตัวงาม ถักเสื้อกันหนาว ปรับปรุงห้องใหม่โดยไม่จ้างผู้รับเหมา ออกไปเล่นกีฬากับเพื่อน หรือการเข้าคอร์สอบรม เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม ก็ถือเป็นกิจกรรมยามว่างที่มีคุณภาพสูง ต้องใช้ความเพียรพยายาม ทั้งยังมีความภาคภูมิใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ในวันที่โลกข้างนอกวุ่นวาย โลกข้างในก็ขุ่นมัว การ ‘ปลดแอก’ จากอาการเสพติดโทรศัพท์มือถือด้วยแนวคิดดิจิทัลมินิมัลลิสม์ ก็น่าจะช่วยปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ ทำให้ชีวิตเบาสบายขึ้นได้บ้าง

Fact Box

ดิจิทัลมินิมัลลิสม์ (Digital Minimalism) / เขียนโดย คาล นิวพอร์ต / แปลโดย บุณยนุช ชมแป้น / สำนักพิมพ์ broccoli / ราคาปก 390 บาท

Tags: , ,