“ฉันเขียนหนังสือมาให้คุณอ่าน คุณจะเรียกมันว่าอะไรก็สุดแล้วแต่ ในยามที่คุณรู้สึกเซ็ง เมื่อหยิบมาอ่านแล้วบางทีคุณอาจหายเซ็งขึ้นมาก็ได้ อาจจะรู้สึกดีขึ้นว่ามีคนที่เซ็ง เซ็ง เซ็ง กว่าคุณเยอะ เอ้อ ก็เซ็งกับชีวิตน่ะค่ะ ก็มันไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกแล้วนอกจากความว่างเปล่าในชีวิตที่เหลือ ก็เลยต้องเขียนมา อย่างน้อยก็ทำให้มันมีเหลือบ้างก็ยังดี และจะได้ระงับความฟุ้งซ่านที่สับสน เพราะฉะนั้น นี่คือการเรียบเรียงชีวิตที่ได้เห็นและเป็นมาจนถึงทุกวันนี้ เขียนเล่าออกมาแบบบ้านๆ เท่านั้น”

ถ้อยคำจาก รสมาลิน ตั้งนพกุล หรือ ‘ป้าอุ๊’ ใน รักสามัญ หนังสือเล่มที่เธอเพียรเขียนจนจบ แม้จะเกริ่นนำแต่ต้นว่า อันที่จริงเธอนั้นเบื่อการเขียนเอาเสียมาก เขียนแล้วลบ เขียนแล้วลบอยู่เช่นนั้น ซ้ำยังเกิดคำถามกับตัวเองอยู่เรื่อยไปว่า “เขียนไปทำไม จะบ้ารึ? เขียนไปให้ใครอ่าน”

คำถามที่ป้าอุ๊โพล่งออกมาในหนังสือเล่มที่สองของเธอ ที่ทำเอาทั้งบรรณาธิการ รวมทั้งผู้อ่านอย่างฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า นั่นสิ อะไรกันนะ อะไรที่ทำให้ผู้หญิงวัยเจ็ดสิบผู้หน่ายจะเขียนไปลบไปต้องลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ ทั้งที่ “มีการศึกษาในระบบถึงชั้นประถม มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีหลานหลายปากท้องต้องดูแล และไม่มีคนรักอยู่เคียงข้างอีกต่อไปแล้ว…”

คนรัก

หรือจะเป็นคนรักที่เป็นเหตุผลของเธอ

คนรักของเธอที่ทำให้เธอเขียนงานชิ้นแรกออกมา งานที่มีชื่อว่า รักเอย หากนี่ไม่ใช่หนังสือของผู้ตกอยู่ในห้วงรัก ไม่ใช่การงานแห่งความรักเสียด้วยซ้ำ ตรงกันข้าม มันช่างน่าขมขื่นที่หนังสือเล่มแรกที่เธอได้บรรจงเขียนให้เสร็จ กลับเป็นหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพให้นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ คนรักของเธอที่เสียชีวิตในเรือนจำ หลังโดนศาลพิพากษาตัดสินจำคุก 20 ปี ในคดี ม.112 ด้วยข้อกล่าวหาว่าโทรศัพท์มือถือของอากงส่งข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทให้เลขาส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

อันที่จริงฉันเองก็เขียนแล้วลบ เขียนแล้วลบย่อหน้าข้างต้นอยู่นาน ใจน่ะอยากจะเขียนถึงผลงานของป้าอุ๊โดยไม่ต้องเท้าความถึงใคร ใจน่ะอยากจะให้งานเขียนของเธอเป็นผลงานของเธอเอง ให้เธอถูกรู้จักในชื่อ ‘รสมาลิน’ ไม่ว่าจะเป็นคนรักของใครหรือไม่ และเหนือสิ่งอื่นใด หากมันจะเป็นเรื่องราวความรัก ก็ขอให้รักนั้นได้ประจักษ์รับรู้ด้วยจริงแท้ธรรมดานั้นเอง หาใช่เพราะความรักนั้นตกไปเกี่ยวข้องกับอำนาจสูงถึงได้ถูกจดจำ

บ่นฟ้าดินไปก็เท่านั้น หากแม้นป้าอุ๊ยังหมั่นเขียนแม้จะหน่ายเหลือหลาย สิ่งที่เราพอทำได้ก็คืออ่านต่อไป แม้ยิ่งอ่านเท่าไหร่ ยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไมใครเขากลัวกันนักหนา ว่าความธรรมดาสามัญจะไปล้มคว่ำอำนาจบาตรสูงได้ หาใช่ล้มพังครืนลงมาเพราะไต่ลิ่วเสียดฟ้าเกินไปเอง 

แต่สุดท้ายแล้วฉันก็ไม่ลบ

ไม่ลบเพราะไม่ว่าฉันจะมีความเห็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นควรค่าแก่การถูกบันทึกไว้เสมอ อีกทั้งหนังสือเล่มที่สองของป้าอุ๊ รักสามัญ: บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร ไม่ใช่เพียงเรื่องราวความรักระหว่างเธอและอากงเท่านั้น หากยังเป็นความรักระหว่างเธอและบุคคลอันเป็นที่รักในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหลานทั้งหก แวม(ไพร์) เพื่อนผู้ใกล้ชิด พี่ลีลูกพี่ลูกน้อง ราตรีเพื่อนสมัยเรียน ฯลฯ ที่ป้าอุ๊เขียนถึงด้วยลายมือบนกระดาษเป็นต้นฉบับส่งให้สำนักพิมพ์อ่านตั้งแต่ต้นปี 2557 ก่อนจะเกิดรัฐประหาร

แม้วันนี้กาลเวลายังไม่ผ่านเข้าสู่ยุคใหม่เสียที กลียุคจะยังไม่พ้นไป แต่อย่างน้อยกาลเวลาก็ยังฝากอะไรไว้บ้าง เช่น ต้นฉบับจากลายมือป้าอุ๊ที่กลายเป็นหนังสือเล่มนี้ ที่แม้จะเสียดายแอบอยากเห็นต้นฉบับลายมือยึกยือบนกระดาษมีเส้นบ้าง ไร้เส้นบ้าง ฉีกมาจากสมุดการบ้านหลานบ้าง แต่เมื่อป้าอุ๊ยืนกรานกับบรรณาธิการว่า นั่นไม่ได้เป็นผลงานศิลปะใดๆ เลย หากเป็นเพียงความ ‘อัตคัด’ ที่จำให้ต้องส่งงานตามข้อจำกัดที่มีก็เท่านั้น คำยืนกรานของป้าอุ๊ที่ทำให้ฉันกลืนน้ำลายด้วยความละอายแก่ใจที่เผลอไผลให้ความสำคัญในเปลือกห่อหุ้มไร้แก่นสาร ในเมื่อหัวใจทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือเรื่องราวที่ถูกบันทึกเอาไว้ ไม่ว่ามันจะถูกจัดพิมพ์ในรูปแบบใดก็ตาม 

ในบรรดาต้นฉบับจดหมาย 19 บท มีเพียงหนึ่งบทเท่านั้นที่ป้าอุ๊เขียนถึงเรื่องราวของตนเอง ในบทที่ชื่อว่า ‘ฉัน’ ถึงกระนั้น เนื้อหาทั้งหมดก็ยังเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างป้าอุ๊และบุคคลอื่น ทั้งป้าน้อย ย่า พ่อแม่ รวมถึงอากง ที่ยังคงเป็นตัวละครสำคัญในแทบทุกบทของป้าอุ๊ ราวกับว่าเธอสลัดคนรักออกจากห้วงความคิดไม่ได้ 

ในแง่หนึ่งมันก็ฟังดูโรแมนติกดี ที่เราจะเจอใครคนหนึ่งที่แอบส่งสายตาให้กันไปมา สุดท้ายก็ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน แต่มันจะยังโรแมนติกอยู่ไหม เมื่อป้าอุ๊เฉลยในไม่กี่หน้าต่อไปว่า เธอแต่งงานเร็ว ‘เพื่อจะไปให้ไกลจากความทุกข์’ ทุกข์ที่แม่ไม่ค่อยดูดำดูดี ด้วยเธอมีพี่น้องหลายคน ต้องรับบทบาทเป็นผู้เสียสละให้น้องและผู้อื่นตลอดเวลา จนเธอคิดว่าการแต่งงานจะพาเธอออกจากวังวนนั้นไปสู่ความสุขนิรันดร์ แต่นั่นก็ไม่เป็นจริง เมื่อสุดท้ายแล้ว เธอต้องสูญเสียคนร่วมทุกข์ร่วมสุขไปอีก จนเธอต้องรำพันถามตัวเองผ่านการเขียนว่า ทำไมเธอจึงต้องเจอความผิดหวังบ่อยขนาดนี้ ไอ้ที่เธอเขียนติดตลกบ้าง เอาท่วงทำนองบทเพลงมาคลอเคล้าสลับตัวอักษรบ้าง ก็เพื่อ “ทำให้มันรู้สึกง่ายๆ หัวเราะให้มันเป็นเรื่องตลกทั้งที่ไม่ตลกสักนิด”

แม้จะรู้สึกแย้งขึ้นมาในบางครั้ง ที่ป้าอุ๊มักเปรยว่าการไร้ครอบครัว ขาดคนรักนั้น ราวกับว่าจะทำให้ชีวิตบกพร่องไปเสีย ครั้นอ่านจบแล้วก็เข้าใจว่าทำไมป้าอุ๊ถึงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์นักหนา และต้องเออออเห็นด้วยไปกับบรรณาธิการว่า 

“เมื่อนึกถึงราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ บางทีครอบครัวคงเป็นสมบัติเดียวแล้วที่มีได้และมีค่าความหมายที่สุด เพราะเป็นสิ่งเดียวที่สร้างขึ้นและคงเหลืออยู่ได้ ในขณะที่ด้านอื่นของชีวิตดูจะขาดไร้ไปเสียหมด”

คำถามว่าทำไมผู้หญิงวัยเจ็ดสิบผู้หน่ายจะเขียนไปลบไป ยังคงเขียนหนังสือต่อไป จนมีผลงานเขียนออกมาถึงสองเล่มนั้นดูจะหายไปเมื่ออ่านต้นฉบับทั้ง 19 บท และย้อนอ่าน รักเอย อีกครั้ง ก็ในวันที่อำนาจบาตรสูงพยายามทำให้ความจริงเลือนหาย อย่างน้อยการเขียน แม้จะบนกระดาษมีเส้นบ้าง ไร้เส้นบ้าง ฉีกมาจากสมุดการบ้านหลานบ้าง ก็ยังเป็นพื้นที่อิสระในการบันทึกความจริง บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร บันทึกเรื่องราวที่แม้นยากจะจดจำ 

แต่ไม่อาจลืม

ภาพประกอบจาก สำนักพิมพ์อ่าน

Fact Box

  • รักสามัญ: บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร หนังสือเล่มที่สองของ ‘ป้าอุ๊’ - รสมาลิน ตั้งนพกุล ผู้เขียนหนังสือ รักเอย หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพให้นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ คนรักของเธอที่เสียชีวิตในเรือนจำ หลังโดนศาลพิพากษาตัดสินจำคุก 20 ปี ในคดี 112 ด้วยข้อกล่าวหาว่ามือถือของอากงส่งข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทให้เลขาส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 
  • รักสามัญ: บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร เขียนโดย รสมาลิน ตั้งนพกุล สำนักพิมพ์อ่าน ราคา 200 บาท
Tags: , , , , ,