1.
ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ชื่อของ ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน’ (Christopher Nolan) คือ พ่อมดในวงการภาพยนตร์ ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านแผ่นฟิล์มที่เหนือชั้น หลอกล่อคนดูด้วยภาพแห่งความจริง ความลวง และความฝัน สอดประสานกับการแปรทำนองดนตรี (Variations) ดุจศิลปินสาดสีลงบนผืนผ้าใบ โดยมีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวเชื่อมโยงและถ่วงดุลให้งานไม่เลื่อนลอย ไร้แก่นสาร
จากภาพยนตร์เรื่อง Following (1998) จนถึง Oppenheimer (2023) แม้จะผ่านมากว่า 25 ปี แต่มาตรฐานงานของโนแลนยังคงคุณภาพระดับสูง ในขณะที่วงการมายาผกผันทุกวัน จากการถ่ายด้วยกล้องฟิล์มสู่กล้องดิจิทัล สรรพสิ่งบันดาลด้วยเทคโนโลยี CGI ทว่าโนแลนยังยึดมั่นวิธีถ่ายด้วยกล้องฟิล์มเรื่อยมา และเชื่อว่าเทคนิคพิเศษที่ดีที่สุดจบได้ ณ ‘หน้ากล้อง’ ไม่ใช่การเติมแต่งบนฉากกรีนสกรีน
ร่างสูงโปร่ง นัยตาสีฟ้า ผมสีบลอนด์จัดทรงเรียบง่าย สวมเสื้อโค้ตตัวเดิม บุคลิกเงียบขรึมถ่อมตัว ว่ากันตามตรงตัวตนของเขาแทบจะเป็นปริศนาเสียด้วยซ้ำ ทางเดียวที่เราจะรู้จักเขามากขึ้น คือการมองผ่านงานเพื่อพยายามตีความสิ่งที่เขาคิด เหมือนที่เราต่างพยายามถกเถียงตีความเนื้อหาภาพยนตร์ของเขา
อย่างไรก็ดี หนังสือที่มีชื่อว่า ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน ความลับในภาพเคลื่อนไหว’ (The Nolan Variations) ที่เขียนโดย ‘ทอม โชน’ (Tom Shone) จะพาเราไปไขความลับของชายที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์มือพระกาฬเท่าที่โลกเคยมีมา ตั้งแต่ชีวิตในวัยเยาว์ ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ประสบการณ์ในรั้วโรงเรียนประจำ อิทธิพลแห่งศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ที่หล่อหลอมตัวตน จนถึงวันที่เขาหยิบกล้องฟิล์มขนาด 16 มม. ขึ้นมาถ่ายงานเรื่องแรกในชีวิต
2.
หนังสือเล่มนี้ ทอม โชน ใช้ระยะเวลา 3 ปี ในการเก็บข้อมูลผ่านบทสนทนาเรียบง่ายระหว่างเขากับคริสโตเฟอร์ โนแลน ภายในห้องทำงานที่สตูดิโอ Syncopy Production และจบลงระหว่างที่ Tenet ภาพยนตร์ลำดับที่ 11 ของโนแลนกำลังสร้างปรากฏการณ์ถกเถียงกับทฤษฎี ‘การย้อนกลับของเวลา’ (Entropy)
แน่นอนว่าเรื่องของ ‘เวลา’ คือสิ่งที่ผู้กำกับรายนี้หลงใหล และเน้นย้ำว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของตัวเขาเองมาโดยตลอด
“ผมเห็นมันเป็นปัญหา พูดอย่างนี้ก็ฟังดูแย่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเวลาเปลี่ยนไปตลอดแหละ หมายถึงความเลื่อนไหลของเวลาน่ะ ผมมองมันต่างไปจากสมัยแรกๆ เยอะมาก จนตอนนี้กลายเป็นความรู้สึกเสียมากกว่า เพราะเวลาช่างผ่านไปเร็ว ลูกๆ โตขึ้น และผมแก่ลง
“ผมประทับใจกับความคิดที่ว่า เราต่างรู้สึกว่ากาลเวลาที่ไหลผ่านไปนั้นแสนจะไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังแก่ตัวด้วยความเร็วไล่เลี่ยกัน นี่เป็นสนามแข่งที่เท่าเทียมกันอย่างที่สุด”
และหากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ชีวิตของโนแลนดูจะยึดโยงกับเวลามาเนิ่นนาน นับตั้งแต่วันที่ เบรนแดน โนแลน (Brendan Nolan) พ่อของเขาส่งตัวไปยังโรงเรียนประจำเฮลีย์บิวรี ในประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1981 เพื่อปลูกฝังวินัยตามแบบศาสนาคาทอลิก
ทว่าในโรงเรียนประจำ ชีวิตของโนแลนถูกพันธนาการด้วยกฎระเบียบหลากข้อ สิ่งเดียวที่ทำให้เวลาของเขาเดินหน้าต่อไป คือการได้รับอนุญาตให้เปิดดูภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner (1982) ของริดลีย์ สก็อต (Ridley Scott) วันละแค่ครึ่งชั่วโมงในห้องพักครู แต่นั่นก็มากพอที่จะจุดประกายความฝันของเขาสู่เส้นทางผู้กำกับภาพยนตร์
3.
ผลงานของโนแลนแต่ละเรื่องล้วนเป็นที่โจษจันในแง่ความซับซ้อนของเนื้อหา ที่ค่อยๆ พาคนดูดำดิ่งผ่านแต่ละเฟรม ก่อนจะซัดหมัดน็อกให้งุนงงด้วยฉากจบ เพื่อให้สังคมเกิดการถกเถียง ดังที่เราเห็นคนตั้งกระทู้ถกประเด็นในวันที่ Interstellar ออกฉาย
ถึงกระนั้น ใครจะเชื่อว่าโนแลนจะเลือกถ่ายทอดความคิดและตัวตน ผ่าน Batman ภาพยนตร์ไตรภาคแนวซูเปอร์ฮีโร่ กับโจทย์หินที่ต้องทลายภาพจำแสนซ้ำซากจำเจของผู้ผดุงความยุติธรรมแห่งเมืองก็อตแธม โดยเฉพาะภาค The Dark Knight
และใครจะเชื่ออีกว่า หนังที่โนแลนเคยดูในวัยเด็กอย่าง Das Testament des Dr. Mabuse ภาพยนตร์ฟิล์มขาวดำเมื่อปี 1922 ของฟริทซ์ ลัง (Fritz Lang) ที่นักวิจารณ์ต่างพากันชื่นชมว่าเป็นหนังต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ ที่สามารถทำให้เหล่าขบวนการฟาสซิสต์เชื่อว่า เป็นหนังที่สร้างโดยคนบูชาลัทธิฟาสซิสต์ จะเป็นต้นแบบของ The Dark Knight (ย้อนอ่าน ‘ฟริตซ์ ลัง’ คนทำหนังผู้ได้สนทนากับ โยเซฟ เกิบเบิลส์ มือขวาผู้อำมหิตของฮิตเลอร์)
ดังนั้น เราจึงเห็นประเด็นความย้อนแย้งใน The Dark Knight ทั้งระเบียบและกฎหมายที่กำลังตกเป็นเครื่องมือลัทธิอนาธิปไตย รวมถึงสังคมที่ฝ่ายเผด็จการพร้อมห้ำหั่นกลุ่มผู้ต่อต้านตลอดเวลา
“Dr. Mabuse เป็นหนังที่ส่งอิทธิพลต่อ The Dark Knight มาก สำหรับผมมันเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมเหลือเกิน เพราะมันเป็นหนังอาชญากรรมชั้นครู ผมชวนโจนาห์ (โจนาธาน โนแลน น้องชายของ คริสโตเฟอร์ โนแลน และหนึ่งในทีมผู้พัฒนาบทเรื่อง The Dark Knight ) ดู Dr. Mabuse แล้วบอกเขาว่า เราจะสร้างโจ๊กเกอร์ให้ออกมาเป็นแบบนี้แหละ” โนแลนระบุถึงสารตั้งต้นในการสร้าง The Dark Knight
ไม่ใช่แค่มุมมองผ่านงานฟิล์มภาพยนตร์ แต่ตัวละครโจ๊กเกอร์ยังได้อิทธิพลมาจากงานศิลปะของ ‘ฟรานซิส เบคอน’ (Francis Bacon) จิตรกรชาวอังกฤษ ที่รังสรรค์งานผ่านลายเส้นเกรี้ยวกราดและบิดเบี้ยว แต่ในลายเส้นนั้นถูกกลั่นกรองผ่านมโนสำนึก เช่นเดียวกับโจ๊กเกอร์ ที่ต้องการเห็นโลกโกลาหลลุกเป็นไฟ คนดูไม่อาจเข้าใจเจตนาของเขา แต่ในความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของตัวตลกเปื้อนยิ้มล้วนถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี
กรณีของ ฟรานซิส เบคอน ถือเป็นตัวอย่างชั้นดี ที่แสดงให้เห็นว่า โนแลนมักหยิบคาแรกเตอร์ของศิลปินหรือผลงานศิลปะที่ชื่นชอบ มาดัดแปลงเป็นบุคลิกตัวละครหรือแทรกผ่านแต่ละฉากได้แยบยล
มีอีกหลายแง่มุมของคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่หนังสือเล่มนี้ได้เล่าไว้ สิ่งที่เขาสนใจ บุคคลผู้เป็นต้นแบบ ความพยายามในหนังแต่ละเรื่อง ทัศนคติส่วนตัว ฯลฯ ถ้าให้เล่าเสียทั้งหมดคงจะเสียอรรถรส เหมือนที่มีคนมาสปอยล์หนังต่อหน้าคุณ
บทสรุปของบทความนี้ จึงขอกล่าวทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า ลองไล่อ่านทุกบรรทัดและทุกตัวอักษร เมื่อถึงหน้าสุดท้ายคุณจะเข้าใจในสิ่งผู้กำกับรายนี้คิดและลงมือกระทำทั้งยังข้อสงสัยว่าเหตุใดผู้คนจึงยกยอเขาด้วยสมญานาม ‘เสด็จพ่อโนแลน’
เหนือสิ่งอื่นใด หนังสือเล่มนี้ยังชี้ชัดให้เห็นถึง ‘คุณค่า’ ของภาพยนตร์ ที่เชื่อมโยงศาสตร์แต่ละชนิด ทั้งศิลปะ ดนตรี สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ในฐานะ ‘พาณิชยศิลป์’ ที่คนเบื้องหลังแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย และจิตวิญญาณ
Fact Box
- หนังสือคริสโตเฟอร์ โนแลน ความลับในภาพเคลื่อนไหว (The Noland Variations) เขียนโดย ทอม โชน (Tom Shone) แปลไทยโดย พิมชนก พุกสุข และ ชาญชนะ หอมทรัพย์ โดยสำนักพิมพ์ Be(ing) ราคา 599 บาท
- นอกจากเรื่องราวของคริสโตเฟอร์ โนแลน ก่อนหน้านี้ ทอม โชน ผู้เขียน ยังเคยสัมภาษณ์ผู้กำกับหนังระดับตำนาน ทั้ง เควน แทาแรนติโน (Quentin Tarantino) และ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) เพื่อนำมาเรียบเรียงและถ่ายทอดเป็นอัตชีวประวัติผ่านตัวหนังสือเช่นกัน