บทความนี้มีส่วนที่พูดถึงฉากจบหนัง The Testament of Dr. Mabuse (1933)

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชื่อของ ฟริตซ์ ลัง (Fritz Lang) เริ่มเป็นที่ติดหูของคนดูหนังในสาธารณรัฐไวมาร์และยุโรป ภายหลังจากที่เขาเข็นหนังดิสโทเปียบ้าพลังอย่าง Metropolis (1927) ออกฉาย ว่าด้วยชนชั้นในสังคมที่เต็มไปด้วยการปะทะกันในเชิงความคิด ปรัชญา และอารมณ์ ขณะเดียวกันกับที่หุ่นยนต์ปริศนาในเมืองเริ่มคิดจะกวาดล้างผู้คนอันละโมบและน่ารังเกียจออกไปจากเมืองให้หมด ตามมาด้วยหนังที่ทะเยอทะยานไม่แพ้เรื่องก่อนหน้า Woman in the Moon (1929) เล่าถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ออกเดินทางไปยังดวงจันทร์ หวังขุดหาสมบัติที่นั่น และ M (1931) ฆาตกรต่อเนื่องที่เลือกสังหารแต่เด็กและลอยนวลไปได้ทุกครั้ง จนทำให้ตำรวจและอาชญากรทั้งเมืองร่วมมือกันออกตามล่าผู้ร้ายรายนี้

กล่าวได้ว่า หนังทุกเรื่องในเวลานั้นของ ฟริตซ์ ลัง ได้รับความนิยมสุดขีด เพราะมันหยิบเอาความเป็นไปต่างๆ ในสังคมมาเล่าอย่างแยบยลและเปี่ยมชั้นเชิง เช่นเดียวกันกับหนังเรื่องถัดจากนั้น The Testament of Dr. Mabuse (1933) พูดถึงอาชญากรโรคจิตที่ถูกคุมขังนานนับสิบปี แต่กลับเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมต่างๆ นอกคุก! ลังตั้งต้นถ่ายทำหนังในปี 1932 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชายคนหนึ่งเริ่มเรืองอำนาจ และลังไม่สังหรณ์ใจเลยแม้แต่นิดว่า หนังที่พูดถึงอาชญากรวิปริตนี้จะกลายเป็นชนวนสำคัญให้ตัวเขาเองต้องย้ายออกไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาอีกหลายทศวรรษ

แน่นอนว่าชายคนดังกล่าวที่ควบรวมอำนาจเหนือเยอรมนีทั้งแผ่นดินในเวลานั้นคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซีในทศวรรษก่อนหน้าที่เยอรมนีจะเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

ก่อนหน้าจะมาเป็นคนทำหนัง ฟริตซ์ ลัง เป็นเด็กชายที่เติบโตในครอบครัวเคร่งศาสนาที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉากขึ้น ลังในวัย 24 ปี อาสาสมัครเข้าร่วมกองทัพของออสเตรียเพื่อรบกับรัสเซียและโรมาเนียในช่วงต้นของสงครามจนได้แผลเป็นกลับมาหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือตาข้างขวาที่ไม่อาจกลับมามองเห็นได้อีก (และเป็นเหตุผลให้เขาสวมแผ่นผ้าคาดหลังจากนั้น) รวมถึงอาการทางจิตที่เกิดขึ้นหลังเผชิญหน้าความโหดร้ายรุนแรงของสงคราม (PTSD) เพื่อจะบรรเทาความตึงเครียดและภาพหลอนจากในหัว ลังเขียนบรรยายเหตุการณ์เหล่านั้นไว้คร่าวๆ และในเวลาต่อมา เมื่อเขากลายเป็นคนเขียนบทหนัง-ผู้กำกับมืออาชีพ มันได้กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในหนังหลายๆ เรื่องของเขา

ช่วงปี 1920 ลังเริ่มเขียนบทหนังที่ว่าด้วยอาชญากรเพี้ยนสุดอำมหิต ดัดแปลงมาจากนิยายของ นอร์แบร์ต จาคส์ (Norbert Jacques) เรื่อง Dr. Mabuse, the Gambler ออกมาเป็นหนังปี 1922 ความยาวสี่ชั่วโมงเต็ม! และเป็นต้นกำเนิดของไตรภาค ‘ดร.มาบูเซอ’ รวมทั้ง The Testament of Dr. Mabuse เมื่อปี 1933 และ The Thousand Eyes of Dr. Mabuse (1960)

อย่างไรก็ดี ในเวลานั้น ลังนับว่าเป็นคนทำหนังชื่อดังที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ทาบทับเส้นเวลาเดียวกันกับที่พรรคนาซีค่อยๆ เติบใหญ่และแข็งแกร่ง มกราคมปี 1933 ฮิตเลอร์กลายเป็นชายที่ผู้คนเคารพและเกรงกลัวมากที่สุดของไรช์ที่สาม เดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นเขาตั้งกระทรวงการรู้แจ้งของประชาชนและการโฆษณาชวนเชื่อ (Ministry of Public Enlightenment and Propaganda) นำโดยมือขวาคนสำคัญ โยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) ซึ่งหนึ่งในหน้าที่ของเขาคือการตรวจสอบหนังทุกเรื่องที่จะออกฉายแก่สาธารณชนว่ามีสิ่งใดที่ขัดแย้งต่ออุดมการณ์พรรคหรือแนวคิดของฮิตเลอร์หรือไม่ และ The Testament of Dr. Mabuse ก็ตกเป็นหนึ่งในหนังที่ถูกแบนไม่ให้ผ่านเซ็นเซอร์โดยเกิบเบิลส์

The Testament of Dr. Mabuse พูดถึง ดร.มาบูเซอ (รูดอล์ฟ ไคลน์-โรก์เกอ) อาชญากรคลั่งที่หมกมุ่นอยู่กับการวางแผนก่อคดีร้ายแรงต่างๆ ในโรงพยาบาลบ้า ความเฉียบคมของแผนการต่างๆ นั้นทำให้เหล่านักสืบต่างเครียดจัด โดยเฉพาะนักสืบฮอฟไมสเตอร์ (คาร์ล ไมซ์เนอร์) ที่เกือบจะไขปริศนาคดีของมาบูเซอได้หลายครั้งแต่ก็คว้าน้ำเหลวทุกที การพยายามหาคำตอบมานานหลายปีบวกความผิดหวัง ส่งผลให้เขาสติหลุดจนถูกจับโยนเข้าโรงพยาบาลอีกแห่ง ขณะที่นายตำรวจ คาร์ล เลอห์มันน์ (อ็อตโต เวอร์นิกเคอ) เชื่อมโยงคดีอาชญากรรมจำนวนมหาศาลและพบว่ามันล้วนข้องเกี่ยวกับมาบูเซอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทว่าเขาเพิ่งมารู้ความจริงในเวลานั้นเองว่า มาบูเซอตายจากไปนานแล้ว เหลือไว้แต่แผนการต่างๆ ที่มาบูเซอวาดทิ้งไว้ระหว่างถูกกักขังอยู่ในโรงพยาบาลนานนับสิบปี 

แผนการเหล่านั้นถูกนำมาศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้งโดย ศาสตราจารย์บาม (ออสการ์ เบเรกี) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลซึ่งค่อยๆ ถลำลึกเข้าสู่แผนการเหล่านั้น จนคืนหนึ่ง เขาพบว่า ‘ผี ดร.มาบูเซอ’ มาเยือนเขาถึงห้องทำงานและ ‘เข้าสิง’ ร่างของศาสตร์จารย์บามเพื่อออกไปก่อคดีอาชญากรรม รวมทั้งบุกเข้าไปยังโรงพยาบาลบ้าที่นักสืบฮอฟไมสเตอร์รักษาตัวอยู่ และพยายามลงมือสังหารฝ่ายหลัง ก่อนที่บามจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกจองจำในโรงพยาบาลเสียเอง และใช้เวลาที่เหลือหลังจากนั้นตลอดทั้งชีวิตฉีกทึ้งกระดาษแผนการของมาบูเซอไปอย่างไร้จุดหมาย

ทั้งนี้ ประโยคที่ได้รับการจดจำและเชื่อกันว่าเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้มันถูกแบน คือเมื่อผีของมาบูเซอปรากฏตัวต่อหน้าศาสตราจารย์บาม ผีก็กระซิบบอกว่า 

“จุดประสงค์สูงสุดของการก่ออาชญากรรมนั้นคือการสร้างจักรวรรดิแห่งอาชญากรรมอันเป็นอนันต์ เป็นรัฐที่ปราศจากความมั่นคงและเต็มไปด้วยความเป็นอนาธิปไตยเต็มขั้น ก่อตั้งจากอุดมคติอันเลวทรามของโลก ซึ่งจวนจะถูกทำลายล้าง และเมื่อมนุษยชาติ ซึ่งถูกทำให้เชื่องด้วยความหวาดกลัวต่ออาชญากรรม ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและความอำมหิต เมื่อความโกลาหลกลายเป็นกฎหมายสูงสุด และเมื่อนั้น เวลาของจักรวรรดิแห่งอาชญากรรมก็มาถึงแล้ว”

เชื่อกันว่าประโยคข้างต้นของมาบูเซอทำให้เกิบเบิลส์ออกคำสั่งไม่ให้หนังได้ลงโรงฉาย ด้วยเหตุผลว่ามันอาจ ‘ปลุกระดมให้ประชาชนเกิดอาการต่อต้านสังคม และก่ออาชญากรรมต่อรัฐขึ้นมา’ และแม้ลังจะทำใจไว้แล้วว่ามันอาจจะจบแค่ว่าหนังถูกห้ามฉาย แต่เอาเข้าจริงเรื่องราวกลับไปไกลกว่าที่เขาคิดมาก โดยเฉพาะเมื่อในเดือนเมษายน เกิบเบิลส์เรียกเขาไปพบที่ออฟฟิศแถบวิลเฮล์มสพลัตซ์ ไม่บอกจุดประสงค์อื่นใด

ในเวลาต่อมา ลังเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาต้องไปเข้าพบเกิบเบิลส์ว่า ทันทีที่เขาลงจากรถ ก็มีนายทหารสี่นายพกปืนคนละกระบอกตรงเข้ามารับ แล้วบอกให้เขาเดินตรงไปยังโถงทางเดินยาวเหยียดราวกับไม่มีที่สิ้นสุด พื้นปูด้วยหินอ่อนทรงจัตุรัส ผนังปราศจากภาพตกแต่งใดๆ มีเพียงหน้าต่างสูงลิ่วเสียจนเขามองอะไรข้างนอกไม่ได้ ถึงจุดหนึ่งก็มีนายทหารอีกสี่นายเข้ามารับและส่งเขาไปยังห้องโถงอีกแห่ง ลังพบว่าเขาถูกรับ-ส่งให้เดินอยู่ในห้องโถงในอาคารแห่งนั้นอีกสามรอบ ก่อนจะพบว่าตัวเองมาถึงห้องทรงกลมที่มีประตูล้อมรอบหลายบาน ประตูบานหนึ่งเปิด ลังบอกว่ามีชายท่าทางสุภาพบอกให้เขารออีกสักครู่ “ท่านรัฐมนตรีกำลังมาแล้ว” อึดใจต่อมา ลังถูกพาไปยังห้องขนาดยักษ์ มีโต๊ะตัวหนึ่งตั้งห่างออกไปไกลลิบ ด้านหลังคือ โยเซฟ เกิบเบิลส์ มือขวาของฮิตเลอร์

ลังเล่าว่าเกิบเบิลส์ลุกจากโต๊ะทำงาน เดินมาทักทายเขาแล้วบอกว่า “คุณลัง ดีใจอย่างยิ่งที่ได้เจอคุณ นั่งลงสิ” ลังบอก “เขาบอกผมว่า ‘ท่านผู้นำกับผมได้ดูบรรดาหนังของคุณแล้วนะ และท่านผู้นำก็ประกาศชัดเจนมากว่า นี่คือชายที่จะมาทำหนังให้เรา’ ” พร้อมเสนอเป็นนัยๆ ให้ลังเป็นหัวหน้าของคนทำหนังเยอรมันทุกเรื่อง และจะได้ทำหนังเพื่อนาซีเยอรมันด้วย ซึ่งตรงนี้เองที่ลังกระวนกระวาย เขาตอบเกิบเบิลส์ไปว่า ตัวเขาไม่ได้สืบเชื้อสายเลือดอารยันบริสุทธิ์ตามอุดมการณ์ของนาซี เพราะแม่ของเขานั้นเกิดในครอบครัวของชาวยิว

“เกิบเบิลส์ตอบกลับผมมาว่า ‘คุณลัง คนที่จะตัดสินว่าใครเป็นชาวอารยันนั้นคือเราต่างหาก’ ”

อย่างที่เรารู้กัน ความเชื่อเรื่องสายเลือดอารยันเป็นชนชาติที่อยู่สูงสุดของลำดับชั้นในหมู่มนุษย์นั้นฝังหัวฮิตเลอร์กับชาวนาซีอย่างมาก และหมกมุ่นกับความคิดที่ว่าชาวเยอรมันคือชนชาติอารยันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เขาสร้างมาตรฐานคร่าวๆ ว่ามาตรฐานที่ถูกควรของชาวเยอรมันที่ดีคือ ต้องมีรูปร่างสูง 175 ซม. ขึ้นไป ใบหน้ายาว คางเด่น สันจมูกโด่งและตรง เส้นผมสีไม่เข้มและเหยียดตรง เป็นต้น (ถึงขั้นสั่งให้มีการวัดขนาดกะโหลก, ความยาวจมูก, สีผมและสีดวงตาของเด็กๆ ในโรงเรียน) และแน่นอนว่าในทางกลับกัน ฮิตเลอร์เห็นยิวเป็นชนชั้นล่างสุดของสังคม

แม่ของลังเป็นคนยิว ตัวเขาเองจึงเป็นครึ่งยิว มากไปกว่านั้น ใช่ว่าลังจะไม่ได้กลิ่นแผนการที่ฮิตเลอร์ เกิบเบิลส์ และพรรคนาซีวางแผนจะทำต่อยิวภายหลังการขึ้นเรืองอำนาจ 

“ผมบอกเกิบเบิลส์ไปว่า ‘ฟังดูเยี่ยมเลย ผมจะได้เป็นหัวหน้ากลุ่มคนทำหนังชาวเยอรมันทั้งมวล’ แล้วเกิบเบิลส์ก็เริ่มเล่าถึงเรื่อง The Testament of Dr. Mabuse ว่า ‘นี่นะ มันมีฉากที่ศาสตราจารย์ซึ่งกลายเป็นบ้าในโรงพยาบาลที่มาบูเซอตาย กำลังขับรถกลับบ้าน แล้วตอนนั้นผีของมาบูเซอก็ปรากฏตัวใกล้ๆ เขา สั่งให้ศาสตราจารย์ทำตามที่เขาบอก ซึ่งไม่ดีเลย ศาสตราจารย์นั่นต้องถูกคนดูฆ่าด้วยความโกรธเคืองจนตายต่างหาก’ ”

ลังตระหนักได้ว่าเกิบเบิลส์ไม่ชอบตอนจบของหนัง แต่ก็พยักเพยิดไปกับความเห็นต่างๆ ของเกิบเบิลส์ที่มีต่อหนัง แล้วจากนั้นเกิบเบิลส์จึงปล่อยให้เขากลับบ้าน กำชับว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง และให้ลังเตรียมตัวให้ดี ลังใช้เวลาเดินจากห้องโถงหนึ่งกลับมายังอีกห้องโถงหนึ่ง ออกมาจากอาคารเพื่อจะพบว่าธนาคารปิดแล้ว เขาพุ่งตรงกลับบ้าน จัดกระเป๋าและข้าวของที่คิดว่าจำเป็นสำหรับอยู่ไปได้อีกหนึ่งเดือน รวมทั้งทรัพย์สมบัติเท่าที่พอมีในเวลานั้น ทั้งสร้อย กระดุมสีทองเม็ดจิ๋ว และเงินอีกหยิบมือหนึ่ง ออกเดินทางไปยังปารีสเย็นวันเดียวกันนั้นโดยไม่รอการติดต่อเป็นครั้งที่สองจากเกิบเบิลส์ (อย่างไรก็ตาม มีบันทึกว่าหลังจากนั้น ลังบินไปกลับที่เยอรมนี รวมทั้งประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรียและเบลเยียมอีกหลายครั้งทีเดียว)

หนังลำดับแรกๆ ของลังในฮอลลีวูดคือ Fury (1936) กับสตูดิโอ MGM และรวมกลุ่มกับเหล่าคนทำหนังต้านนาซีในฮอลลีวูด ผลิตหนังที่มีธีมว่าด้วยการต่อต้านนาซีอย่าง Man Hunt (1941) เล่าถึงมือสังหารชาวอังกฤษที่ถูกคนของฮิตเลอร์ทำร้ายปางตาย ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากหญิงสาวคนหนึ่ง, Hangmen Also Die! (1943) หนังสงครามชวนบีบหัวใจ ว่าด้วยนักฆ่าที่ปลิดชีพนายทหารนาซีได้ และถูกหน่วยเกสตาโปออกล่าอย่างหนักจนเขาเริ่มชั่งใจว่าจะยอมพ่ายแพ้ดีหรือไม่, Ministry of Fear (1944) ชายหนุ่มที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากโรงพยาบาลบ้าในอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และบังเอิญได้เข้าไปล่วงรู้แผนการลับของนาซีเข้าพอดี และ Cloak and Dagger (1946) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันที่ถูกส่งไปกู้นิวเคลียร์ของนาซีที่ยุโรป แล้วไปตกหลุมรักสาวอิตาลีที่เจอระหว่างปฏิบัติภารกิจ

ในอีกหลายปีให้หลัง มีคนทำเรื่องราวของลังมาวิเคราะห์ รวมทั้งหนังอีกหลายเรื่องของเขาในสร้างก่อนและหลังจากนาซีเรืองอำนาจ โจ แม็กเอลฮานีย์ (Joe McElhaney) นักวิจารณ์หนังและคนเขียนหนังสือ The Death of Classical Cinema: Hitchcock, Lang, Minnelli (2006) ให้ความเห็นว่า 

“ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในฮอลลีวูดนั้นไม่มีอะไรยืนยันได้เลยว่าลังคิดอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การทำหนังต่อต้านนาซีจึงเป็นทางหนึ่งที่เขาได้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ใช่ และไม่เคยเป็นนาซี ทั้งยังเป็นการบอกว่าเขาให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยและคุณค่าแบบอเมริกันด้วย”

และหนังลำดับสุดท้ายที่ลังได้กำกับในชีวิตคือภาคจบของไตรภาค ดร.มาบูเซอ The Thousand Eyes of Dr. Mabuse (1960) ร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (เยอรมนีตะวันตก-ฝรั่งเศส-อิตาลี) ทั้งยังเป็นหนังที่เขาบินกลับมาถ่ายทำในเยอรมนีหลังใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกานานกว่าสามทศวรรษ และในปีเดียวกับที่หนังออกฉาย ลังได้รับการจารึกชื่อบน Hollywood Walk of Fame ซึ่งมอบให้ผู้กำกับที่ทรงคุณค่าและทำงานมาอย่างยาวนานในอุตสาหกรรมฮอลลีวูด

Tags: , , , , , ,