“ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น”

ประโยคสุดคลาสสิกที่เอ่ยขึ้นมาทีไร แฟนการ์ตูนย่อมรู้ได้ทันทีว่านี่คือมังงะสุดฮิตตลอดกาลจากแดนปลาดิบอย่าง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน (Detective Conan) ผลงานจากปลายปากกาของ โกโช อาโอยามะ  ที่ครองใจนักอ่านมานานกว่า 27 ปีแล้ว กับคดีสุดซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่ผู้อ่านไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าในแต่ละตอนนั้นตัวเอกของเรื่องจะใช้วิธีใดมาไขปริศนาให้ทุกคนได้ร้องว้าว

หากมองผิวเผิน การไขคดีปริศนาชวนกุมขมับที่ปรากฏอยู่ของหนังสือมังงะเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากจินตนาการสุดแหวกแนวของผู้แต่ง บางคนถึงขั้นกล่าวติดตลกว่าเป็นเพราะเด็กชายใส่แว่นคนนี้เกิดดวงซวย ต้องเจอแต่เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ไม่ก็คงเป็นผู้จัดฉากสร้างคดีต่างๆ เสียเอง แต่หากมองลงให้ลึกกว่านั้นจะพบว่า ทักษะและวิธีการคิดไขปริศนาของยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ช่างมีแบบแผน มีหลักการที่เป็นระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน สามารถนำไปปรับกับการทำงานในชีวิตจริงได้

หนังสือชื่อ คิดวิเคราะห์แบบโคนัน เขียนโดย อุเอโนะ ซึโยชิ (Ueno Tsuyoshi) ประธานของ Drone Pilot Agency บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโดรนและเทคโนโลยีเอไอ ในการวางแผนให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เจ้าของดีกรีปริญญาโท (MBA) จากโรงเรียนธุรกิจโกลบิส สถานศึกษาด้านธุรกิจชื่อดังของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ซึโยชิยังเป็นคอการ์ตูนมังงะตัวยง เขานำมังงะเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน มาเชื่อมโยงเข้ากับความรู้ด้านธุรกิจ ก่อนจะพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้

บ่อยครั้งในห้องประชุมหรือวงสนทนาในที่ทำงาน หลายคนมักเคยตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อต้องเสนอไอเดียต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก แม้จะมั่นใจว่าไอเดียของตัวเองต้องเข้าเป้าแน่ๆ ทว่าสุดท้ายกลับถูกปัดตกทุกที นั่นไม่ใช่เพราะความคิดดังกล่าวไม่ดี แต่เพราะขาด ‘การคิดเชิงวิพากษ์’ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป รวมถึงขาดการ ‘ตั้งสมมติฐาน’ จนหลงประเด็นและไม่สามารถจับจุดในการแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งที่กล่าวมานี้ไปเกี่ยวข้องกับมังงะ ยอดหนังสืบจิ๋วโคนัน ได้อย่างไร ในแง่ของพื้นฐานอาชีพ ‘นักสืบ’ กับ ‘นักธุรกิจ’ ดูเหมือนเป็นอะไรที่ห่างไกลกันลิบลับ แต่แท้จริงแล้วกลับมีสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญเหมือนกัน นั่นก็คือการตั้งสมมติฐาน นักสืบจะใช้การตั้งสมมติฐานจากที่เกิดเหตุหรือชุดข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการไขปริศนา ขณะเดียวกันนักธุรกิจเองก็จำเป็นต้องมีการตั้งสมมติฐานจากกลุ่มลูกค้า มาเพื่อวางแผนการเพิ่มยอดขายเช่นกัน หนังสือเล่มนี้เปรียบเทียบ เชื่อมโยง และวิเคราะห์ทักษะอันเยี่ยมยอดของเจ้าหนูโคนันเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งการทำงานจริง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่ยาก

หนังสือเล่มนี้ชำแหละ ‘ทักษะการคิด’ ของ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ออกมาเป็น 5 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 1. กำหนดประเด็นให้ชัดเจน 2. คิดด้วยเฟรมเวิร์ก 3. ตั้งสมมติฐาน 4. ตรวจสอบและพัฒนาสมมติฐาน 5. สร้างข้อสรุป หลายคนคงจะจินตนาการว่าต้องเป็นหนังสืออ่านยาก เต็มไปด้วยทฤษฎีและหลักจิตวิทยาอันน่าเบื่อ แต่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนออกมาให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ ผู้เขียนเองยังได้เพิ่มอรรถรสแก่ผู้อ่านด้วยการนำแฟ้มคดีจากเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ตอนต่างๆ มาประกอบกับการอธิบายถึงปัญหาการทำงานในชีวิตจริงให้เห็นเป็นฉากๆ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ความเจริญก้าวหน้าเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น ทั้งเทคโนโลยีสุดล้ำ กลไกปัญญาประดิษฐ์ แต่เหนืออื่นใดความเจริญเหล่านั้นล้วนเกิดจากความสงสัยและการแก้ปัญหาของมนุษย์ทั้งสิ้น เชื่อเหลือเกินว่าผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะสามารถนำแนวคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจ้าหนูเอโดงาวะ โคนัน ยอดนักสืบจิ๋วแห่งโลกมังงะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ เพราะแนวคิดที่มีเหตุผลมารองรับนั้นคือพื้นฐานของการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ

Fact Box

คิดวิเคราะห์แบบโคนัน, ผู้เขียน อุเอโนะ ซึโยชิ (Ueno Tsuyoshi), ผู้แปล กมลวรรณ เพ็ญอร่าม, สำนักพิมพ์ วีเลิร์น (WE LEARN), พิมพ์ครั้งที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564, พิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตาตลอดทั้งเล่ม, ราคา 200 บาท

Tags: , , , ,