1
ว่ากันว่าวัยเด็กถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ได้ออกไปโรงเรียนพบปะเพื่อนๆ วิ่งเล่นเท้าเปล่าบนผืนหญ้าจนหนำใจ กินอิ่มนอนหลับได้เต็มตา แต่กับเด็กๆ ผู้ต้องเผชิญในห้วงความขัดแย้งของสงคราม สิ่งที่กล่าวมาแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพียงแค่จะสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอดยังเต็มกลืน เพราะแค่มีชีวิตอยู่ก็นับเป็นความโชคดีเท่าไรแล้ว
ทว่าในความโชคดีนั้นกลับแฝงด้วยคำถามมากมาย ทำไมโลกถึงใจร้ายกับเด็กๆ นัก พวกเขาทำอะไรผิด เขาไม่ได้เป็นคนหันอาวุธใส่พวกที่สร้างสงคราม ซึ่งหากลองจินตนาการตามคำถามเหล่านี้ก็ช่างเป็นเรื่องปวดใจเหลือเกิน
เช่นเดียวกับเนื้อหาในหนังสือ Dear World – โลกที่รัก ซึ่งอยากยกมาแนะนำ ด้วยเหตุผลจากสภาวะสงครามที่กำลังก่อตัวขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศยูเครน การได้อ่านหนังสือเล่มนี้อาจเป็นการสะกิดผู้ใหญ่นักฝักใฝ่อำนาจทั้งหลาย ได้หันมารับรู้ถึงความเจ็บปวดจากสงครามผ่านสายตาของเด็กบริสุทธิ์ตาดำๆ ที่เป็นเหยื่อจากการตัดสินใจของพวกเขา
รวมถึงเป็นการขอบคุณนัยๆ กับตัวเองด้วยว่า เราโชคดีขนาดไหน ที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างสงบสุข
2
Dear World – โลกที่รัก เป็นหนังสือที่เด็กหญิงชาวซีเรียนามว่า บานา อัลอาเบด (Bana Alabed) ตั้งใจเขียนบันทึกถึงเรื่องราวความสูญเสียจากเหตุการณ์ สงครามซีเรีย ช่วงปี 2016 ที่กองทัพรัฐบาลภายใต้อำนาจของประธานาธิบดี บัชชาร์ อัล – อัสซาด (Bashar al-Assad) เข้าห้ำหั่นกับกองทัพปลดปล่อยซีเรีย จนมีประชาชนต้องสังเวยชีวิตนับหลักแสนราย ซึ่งตัวเธอเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
“หนูอยากอยู่ในซีเรียตลอดไปเพราะมันเป็นสถานที่พิเศษ เป็นประเทศที่เก่ามากๆ และครอบครัวของหนูก็อยู่ที่นั่นมาตลอด”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 เด็กหญิงบานา ถือกำเนิดลืมตาดูโลกในเมืองอะเลปโปฝั่งตะวันออก ของซีเรีย เธอมีหน้าตาจิ้มลิ้มสดใส ยิ้มแย้ม ช่างพูด ทุกวันของเธอเต็มไปด้วยเรื่องราวให้เรียนรู้มากมาย ท่ามกลางความรักจากแม่ พ่อ สมาชิกครอบครัว และบรรดาเพื่อนบ้านอีกมากมาย แน่นอนว่า ณ เวลานั้น เธอไม่มีวันล่วงรู้ความหมายของคำว่าสงคราม หรือความขัดแย้งที่คุกรุ่นอยู่ในบ้านเกิด จนกระทั่งวันหนึ่ง มุคอบารอต (ตำรวจที่ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีซีเรีย) ได้เข้ามาพาตัวพ่อของเธอไปสอบสวนถึง 2 วัน 2 คืน เพราะคิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลดปล่อย ก่อนที่ในไม่ช้า เธอจะได้รู้จักกับความน่ากลัวของสงครามเป็นครั้งแรก เมื่อระเบิดขีปนาวุธลูกใหญ่ตกใส่ละแวกบ้านเธอ ตามด้วยเสียงคมห่ากระสุนที่ปลิวแหวกผ่านอากาศไปทั่ว
จากเสียงหัวเราะ กลายเป็นเสียงกรีดร้อง ภาพตรงหน้าของบานา เต็มไปด้วยศพกองพะเนินและซากปรักหักพัง เธอไม่ได้วิ่งเล่นใต้แสงอาทิตย์อีกต่อไป หลุมหลบภัยกลายเป็นที่พักกายมากกว่าเตียงนอนแสนนุ่ม ครอบครัวบานาติดแหงกอยู่ท่ามกลางสงคราม ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร และไม่มีที่ให้อาศัยอย่างปลอดภัย จนเธอและครอบครัวต้องตัดสินใจวางแผนอพยพไปยังประเทศตุรกีในฐานะผู้ลี้ภัยสงคราม
อย่างไรก็ดี ในบันทึกของบานาไม่ได้เต็มไปด้วยความสิ้นหวังด้านเดียว เธอได้เล่าเรื่องถึงความรัก ความกรุณา จากทั้งคนรอบตัวและครอบครัว สลับกับบทบรรยายจากแม่ของเธอ (ฟาห์ติมะ) ที่กล่าวในมุมมองคนเป็นแม่ได้อย่างลึกซึ้งกินใจ ลองจินตนาการดูว่าแค่อุ้มท้องทารกในสภาวการณ์ปกติยังแทบลำบากยากเข็ญ แต่เธอสามารถเลี้ยงดูบานา พร้อมกับอุ้มท้องลูกชายในท้องได้อีกหนึ่งคน ในมุมมองของสายตาคนนอกช่างถือเป็นความมหัศจรรย์เหลือเกิน
3
“หนูต้องการสันติภาพ”
เรื่องราวของบานา เป็นที่รู้จักทั่วทั้งโลก หลังจากเธอและแม่ตัดสินใจโพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์บอกเล่าเรื่องราวถึงความโหดร้ายที่เธอได้รับจากสงครามซีเรีย พร้อมติดแฮชแท็ก #StandwithAleppo ด้วยความหวังว่าทั่วโลกจะหันมาสนใจและยื่นมือเข้ามาช่วยหยุดโศกนาฏกรรม
ไม่ช้า สื่อต่างๆ เริ่มติดต่อเข้ามาสัมภาษณ์บานา มีเสียงเรียกร้องมากมายให้หยุดยั้งสงครามในซีเรีย ปณิธานของเธอกำลังใกล้ประสบผลสำเร็จ รัฐบาลตุรกีเจรจาขอให้มีการพักรบเพื่ออพยพประชาชนออกจากอะเลปโปฝั่งตะวันออก ทว่ากว่าจะมาถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เด็กน้อยรายนี้ต้องผ่านความโหดร้ายไม่ต่างจากขุมนรก ชนิดต้องตั้งคำถามซ้ำไปซ้ำมาระหว่างอ่านว่าเหตุใดเด็กตัวนิดเดียวต้องเผชิญความโหดร้ายถึงเพียงนี้ แม้กระทั่ง เจ.เค.โรว์ลิง ที่มีโอกาสได้รีทวีตและพุดคุยกับบานา ยังเขียนเป็นคำโปรยอยู่หน้าหนังสือว่า
“เรื่องราวของความรักและความกล้าหาญท่ามกลางความโหดเหี้ยมน่าสะพรึงกลัว นี่คือคำให้การของเด็กผู้ต้องทนพบเจอเรื่องร้ายเกินจินตนาการ”
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกผู้อ่านว่าทำไมจึงเกิดสงคราม ใครผิด ใครถูก เพราะน่าจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนต่างทราบดีอยู่แล้ว ทว่าปากคำจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามจริงๆ อาจจะดูมีค่ามากกว่าคำตอบว่าใครชนะหรือได้ประโยชน์จากสงครามนั้นอย่างไร เพราะปัจจุบันที่โลกพัฒนาไปจนไกล แต่กลับยังมีเด็กที่โชคร้ายตกเป็นเหยื่อจากภัยสงคราม ทั้งบาดเจ็บ พิการ ล้มตาย ต้องพลัดพรากจากครอบครัวนับไม่ถ้วน การตระหนักถึงความสำคัญของ ‘เสรีภาพ’ เพื่อความสุขส่วนรวมของเพื่อนมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งล้ำค่ายิ่งกว่าเงินทองใดๆ
เหมือนที่เด็กหญิงบานาตัวน้อย ยังคงออกมาเรียกให้ทุกสงครามยุติลง แม้ตัวเธอจะอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้ว เธอก็ยังคงคำนึงถึงชีวิตเพื่อนร่วมโลกอีกมากมาย ด้วยหวังสักวันว่า ‘สันติภาพ’ แท้จริงจะบังเกิดขึ้น
Fact Box
- Dear Word โลกที่รัก, บานา อัลอาเบด เขียน, พลอยแสง เอกญาติ แปล, สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์, จำนวน 185 หน้า, ราคา 295 บาท
- ยอดจำหน่ายของหนังสือ Dear Word โลกที่รัก จะถูกนำไปสมทบทุนให้กับหน่วยงาน UNHCR เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม