หนึ่งในพล็อตเรื่องว่าด้วยรักต้องห้าม คือ ความรักใคร่เชิงชู้สาวที่มีต่อเด็กวัยเยาว์ ภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยเดินเรื่องโดยมีตัวเอกเป็น ‘Nymphet’ หรือเด็กหญิงที่มีความดึงดูดทางเพศ คำนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจากนวนิยายเรื่อง โลลิตา (Lolita) ซึ่งโด่งดังเสียจนทำให้คำว่า ‘โลลิตา’ ซึ่งเป็นชื่อของเด็กหญิงในเรื่อง มีความหมายนัยยะถึงรสนิยมที่รักเด็กอายุน้อย
ภาพยนตร์ที่จัดอยู่ใน Lolita-Type แต่ละเรื่องนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ เพราะเนื้อหาไม่ได้มีเพียงความใคร่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยภาวะบางอย่างของตัวละครที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เขารู้สึกมากขึ้น
Lolita – สองตา หนึ่งปาก ยากหักใจ (1962, 1997)
Lolita คือนวนิยายอันโด่งดังของ วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1955
เมื่อ ฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต ศาสตราจารย์วัยกลางคนเดินทางมาถึงอเมริกาเพื่อมาสอนหนังสือ เขาต้องหาที่พักใหม่เพื่อลงหลักปักฐาน เขาหาบ้านแล้วบ้านเล่าจนมาพบเข้ากับแม่ม่ายสาว ชาร์ล็อต เอซ ที่ยินดีจะต้อนรับเขาเข้ามาอยู่ร่วมชายคาด้วย
ในระหว่างที่ชาร์ล็อตพาเขาเดินชมบ้าน ฮัมเบิร์ตก็ยังไม่ได้ตัดสินใจในทันทีว่าจะเข้าพักที่นี่ จนเมื่อเขาได้พบกับลูกสาวของเธอ สาวน้อย โดโรเลส เอซ หรือ โลลิตา เขาจึงตกปากรับคำทันที และเนื่องจากชาร์ล็อตมีความชอบพอฮัมเบิร์ต เธอจึงบีบบังคับเขากลายๆ ว่าให้รับเธอเป็นคนรัก ไม่เช่นนั้นเขาก็ต้องออกไปจากบ้านนี้เสีย เขาจึงไม่มีทางเลือกเพราะอยากจะอยู่ใกล้ชิดกับโลลิตา
ฮัมเบิร์ตกลายเป็นคนรักของชาร์ล็อต ทั้งที่ในใจนั้นพร่ำหาเพียงโลลิตาเท่านั้น ไม่รู้ว่าด้วยโชคดีหรือร้าย ชาร์ล็อตได้รับรู้ความจริงว่าฮัมเบิร์ตไม่ได้รักเธอเลย แถมยังใฝ่ฝันถึงแต่ลูกสาวของเธอ ขณะที่ชอกช้ำและกำลังจะหนีไป เธอก็ถูกรถชนจนเสียชีวิต และนี่คือโอกาสอันใหญ่หลวงที่ฮัมเบิร์ตจะได้ผูกสัมพันธ์กับโลลิตาได้มากขึ้น
Lolita ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 1962 โดยผู้กำกับชื่อดัง สแตนลีย์ คูบริก โดยนาโบคอฟมีส่วนร่วมเขียนบทด้วย หลังจากนั้นในปี 1997 Lolita ก็ถูกหยิบขึ้นมาอีกครั้งและกำกับโดย เอเดรียน ลีน แม้ภาพยนตร์ทั้งสองเวอร์ชันนี้จะมาจากนวนิยายเล่มเดียวกัน แต่ก็ให้ความรู้สึกและภาพที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฉบับปี 1997 นั้นจะเคารพต้นฉบับมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฉบับปี 1962 จะฉีกออกจากบทเดิม เพียงแค่มันให้เสน่ห์ที่แตกต่างกัน
สำหรับตัวนวนิยายต้นฉบับเอง ก็เป็นที่ฮือฮาเพราะนอกจากจะให้ความแปลกใหม่แล้ว ยังอื้อฉาวและหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมอย่างสูงสุด จนในช่วงหนึ่ง ทางการของฝรั่งเศสต้องแบนหนังสือเล่มนี้จากท้องตลาด
The Lover – กลัวทำไมถ้าใจเป็นของเธอ (1992)
จากบทประพันธ์ชื่อดังของมาร์เกอริต ดูราส และขึ้นชื่อว่าเป็นนวนิยายอัตชีวประวัติของเธอเอง ดูราสใช้เวลาเขียน The Lover ด้วยเวลาเพียงสามเดือน แล้วมันก็ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี 1984 ติดอันดับขายดีอย่างรวดเร็ว ในปี 1992 ผู้กำกับชาก-ช็อง อันโน จึงนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน
เนื้อเรื่องเล่าถึงเวียดนามในปี 1929 ซึ่งมีฉากหลังเป็นเมืองไซง่อน หนุ่มเศรษฐีจีนคนหนึ่งตกหลุมรักเด็กสาวชาวฝรั่งเศสบนเรือข้ามฟาก เธอกำลังเดินทางจากบ้านเพื่อกลับไปโรงเรียน เขาจึงอาสาพาเธอไปส่ง ตลอดการเดินทางในการพบกันครั้งแรกนี้ พวกเขาคุยกันเพียงไม่กี่ประโยค แต่กลับเกาะกุมมือกันแน่นอย่างคนรักกันมานานทั้งที่ไม่ใช่
ด้วยความหลงใหล ชายหนุ่มกลับไปยังโรงเรียนของเธออีกครั้ง และจอดรถรอเพื่อให้เธอผ่านมาเห็น เด็กสาววัย 15 ที่มีแรงปรารถนาไม่ต่างกัน เธอเข้าหาเขาอย่างที่ไม่ต้องรอให้เขาร้องขอ แล้วความสัมพันธ์ของทั้งสองก็เริ่มต้นขึ้น โดยมีความใคร่และกิเลสตัณหาเป็นแรงขับเคลื่อน กว่าจะรู้ซึ้งถึงคำว่ารัก ทุกอย่างก็ดูจะสายเกินไป เพราะตลอดระยะเวลาที่ใช้ร่วมกันพวกเขาให้กันเพียงร่างกาย และปิดบังความต้องการในใจเอาไว้ มีแต่เซ็กซ์ที่เชื่อมโยงพวกเขาไว้ด้วยกัน และในท้ายที่สุด ชายหนุ่มก็ต้องแต่งงานกับหญิงสาวที่ครอบครัวหามาให้ ส่วนเด็กสาวก็ต้องกลับไปฝรั่งเศส พวกเขาพรากจากกันไปตลอดกาล
คนรักคือชิ้นส่วนความทรงจำหนึ่งที่จะติดตามเราไปจนหมดลมหายใจ บางที การได้นึกถึงเขาหรือเธอในห้วงคำนึงของอดีตก็ทำให้เราจดจำได้ว่าการได้รักใครสักคนมันเป็นอย่างไร มันเจ็บหรือสุขขนาดไหน วัยเยาว์ที่เรามอบให้กันมันมีความหมายแบบใด และการจากลามันมอบอะไรให้กับเราบ้าง
Léon: The Professional – เพชฌฆาต มหากาฬ (1994)
ผลงานเรื่องแรกของนางเอกสาวมากความสามารถ นาตาลี พอร์ตแมน ที่ฉายแววความเก่งกาจมาตั้งแต่เด็ก เป็นที่จดจำทั้งในด้านการแสดงและสไตล์การแต่งตัว รวมไปถึงภาพลักษณ์ของเด็กสาวอุ้มต้นไม้ ถึงนาตาลีจะต้องเข้าร่วมฉากกับนักแสดงมากฝีมืออย่าง ฌอง เรโน และ แกรี โอลด์แมน นั่นก็ไม่ได้ทำให้ตัวละครของเธอจมหายไปกับรัศมีของทั้งสองคนแต่อย่างใด
Léon: The Professional เรื่องราวของมือปืนฝีมือเยี่ยมชื่อลีออง เขาไม่เคยทำงานพลาด เขาเก่งกาจอย่างหาตัวจับได้ยาก ชีวิตส่วนตัวของเขาราบเรียบ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ชอบดื่มนมและมีต้นไม้เป็นเพื่อน
ลีอองพักอยู่ในอพาร์ตเมนต์ตัวคนเดียว แต่เขาก็มักจะเจอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งนั่งหน้าเศร้าอยู่หน้าห้องพักข้างๆ เธอชื่อมาทิลด้า และแล้วโชคร้ายก็วิ่งเข้ามาหาเธออย่างจัง ครอบครัวของมาทิลด้าโดนฆ่าล้างบางเพราะไปพัวพันกับยาเสพติดโดยฝีมือกลุ่มตำรวจคอรัปชั่น ซึ่งนำด้วยเจ้าหน้าที่แสตนฟิลด์ แต่ตอนนั้นเป็นจังหวะที่เธอลงไปซื้อของพอดี เมื่อกลับขึ้นมาเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด มาทิลด้าจึงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นและไม่เกี่ยวข้องด้วย เธอตรงไปยังห้องของลีอองพร้อมขอความช่วยเหลือจากเขา ลีอองจึงต้องรับเธอเข้ามาดูแลอย่างเสียไม่ได้
หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้น มีบางอย่างที่เข้ามาเติมเต็มกันและกัน ความห่วงใยและความรักที่ไม่สามารถอธิบายรูปแบบได้ จากที่ไม่เคยไหวหวั่นก็หวั่นไหว จากที่คิดว่าหัวใจด้านชามันก็กลับไม่เป็นอย่างนั้น ระหว่างทั้งสองความงามได้งอกเงยจนพร้อมจะเบ่งบาน
ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์นักฆ่า แต่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้หนักไปทางแอ็กชันมากมายอะไร กลับให้ความรู้สึกที่พอดีระหว่างความดรามากับฉากบู๊ทั้งหลาย บทภาพยนตร์แฝงไปด้วยความหมายดีๆ ในบางฉากถึงกับฆ่าคนดูได้เลยทีเดียว ไม่ว่าใครก็ต้องหลงรักลีอองและมาทิลด้า ตอนจบอาจถึงกับเสียน้ำตา
American Beauty – อเมริกัน บิวตี้ (1999)
American Beauty เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์บนจอยักษ์เรื่องแรกของ แซม เมนเดส หลังจากที่เขาเคยกำกับภาพยนตร์โทรทัศน์มาสองเรื่อง จากผลงานชิ้นนี้ทำให้แซมกลายเป็นผู้กำกับน่าจดจำคนหนึ่งในโลกภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้คว้ารางวัลออสการ์ไปถึง 5 รางวัล รางวัลลูกโลกทองคำ 3 รางวัล และรางวัลบาฟต้าอีก 6 รางวัล
ครอบครัวเบิร์นแฮมที่ภายนอกดูสมบูรณ์พูนพร้อมที่สุดครอบครัวหนึ่ง พวกเขามีทั้งบ้าน รถ การศึกษา หน้าที่การงาน และฐานะที่มั่งมี แต่ลึกๆ ใครจะรู้ว่าจริงๆ แล้วครอบครัวนี้ไม่ได้ดีเช่นภาพลักษณ์ที่แสดงให้คนภายนอกเห็น ครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วย พ่อ-เลสเตอร์ เบิร์นแฮม แม่-แคโรลีน เบิร์นแฮม และลูกสาว-เจน เบิร์นแฮม ทุกคนล้วนอยู่ในภาวะที่ไม่ลงรอยกัน บรรยากาศอึมครึมปกคลุมไปทั่วทั้งบ้าน รอยแตกร้าวในความสัมพันธ์ของพ่อแม่แผ่ออกมาอย่างไม่ปิดบัง ทุกคนต่างมีปัญหาและทางแก้ที่ไม่ถูกไม่ควร
เลสเตอร์แอบชอบแองเจล่า เพื่อนของลูกสาวตัวเองจนถึงขนาดอยากหลับนอนด้วย เพียงแค่แองเจล่าแกล้งหยอกล้อนิดๆ หน่อยๆ เขาก็เก็บไปคิดเป็นเรื่องเป็นราว แคโรลีนคบชู้กับนักธุรกิจขายบ้านคนหนึ่ง เธอเพลิดเพลินกับความสัมพันธ์นี้จนหลงลืมความรักในครอบครัว เจนที่วันๆ สนใจแต่การทำให้ตัวเองดูดีเพื่อจะได้เป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ เธอเบื่อหน่ายกับการเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันและความเสแสร้งที่แกล้งทำเป็นห่วงเธอ เจนแค่ต้องการความรักความเอาใจใส่ที่แท้จริงเท่านั้น
ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาทางสังคมออกมาในหลายๆ ประเด็น แม้แต่ในสถานที่ที่เราควรจะไว้ใจได้ที่สุดอย่างครอบครัวก็ยังล่มสลาย ภาพความรักความอบอุ่นหายไปจนหมดสิ้น หลงเหลือเพียงแต่ซากปรังหักพังของคำว่าครอบครัว สิ่งจอมปลอมและเปลือกนอกนั้นไม่สามารถห่อหุ้มหรือปกปิดความจริงอันโหดร้ายไปได้ตลอด สักวันทุกอย่างจะโผล่ออกมา เมื่อวันนั้นมาถึงเราก็ไม่สามารถแบกรับมันไว้ได้อีกต่อไป ทำได้แค่ดูมันพังทลายลงกับตา
Stoker – อำมหิต พิศวาสร้อน (2013)
Stoker ผลงานจากผู้กำกับภาพยนตร์ Old Boy ปาร์ค ชาน-วุค ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงเต็มไปด้วยความรุนแรง ความเกรี้ยวกราดและจิตใจที่ผิดเพี้ยน ถึงจะอ่อนข้อลงมาจาก Old Boy แต่ก็ยังกระอักกระอ่วนไม่แพ้กันอยู่ดี บทภาพยนตร์ของ Stoker นั้นมีการอ้างอิงมาจากเรื่อง Shadow of a Doubt ของ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้ปาร์ค ชาน-วุค ตกลงใจกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้เขาจะชอบฮิตช์ค็อกก็ตามที
เมื่อริชาร์ด สโตกเกอร์ พ่อผู้เป็นที่รักและเป็นดั่งเพื่อนสนิทตายจากไปด้วยอุบัติเหตุ อินเดียจึงต้องอยู่กับเอเวอรีนผู้เป็นแม่เพียงลำพัง ซึ่งเธอไม่สนิทกับแม่เอาเสียเลย หลังงานศพเพียงไม่นาน ชาร์ลี คุณอาที่ไม่เคยพบมาก่อนก็ปรากฏตัวขึ้น เขาเข้ามาขออาศัยกับครอบครัวของอินเดียด้วยชั่วคราว ในช่วงแรกอินเดียต่อต้านชาร์ลีอยู่บ้าง เพราะโดยปกติเธอไม่ค่อยชอบสุงสิงอยู่กับใคร และชาร์ลียังทำทีเหมือนจะเข้ามาแทนที่พ่อ เขาสนิทสนมกับเอเวอรีนมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับเธอ แต่ด้วยความลึกลับอันน่าหลงใหล อินเดียก็เริ่มมีความรู้สึกบางอย่างให้กับชาร์ลี และชาร์ลีเองก็มีความปรารถนาต่อหลานสาวของเขาด้วยเช่นกัน ตัวตนของแต่ละคนค่อยๆ เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ มีเรื่องราวน่าหวาดหวั่นอยู่หลังเบื้องหน้าที่เงียบงัน ความไม่ชอบมาพากลทวีคูณขึ้นตลอดระยะเวลา และทุกความสัมพันธ์จะต้องมีจุดจบ ขึ้นอยู่กับว่ามันจะลงเอยแบบใด
จิตใจที่บิดเบี้ยวนั้นอาจนำมาซึ่งความผิดปกติอันน่ากลัว การตกอยู่ในความรุนแรงไม่ว่าในรูปแบบใดล้วนส่งผลให้จิตใจได้รับผลกระทบ และอาจรับเอาสิ่งนั้นเข้ามาในตัวเราเองด้วย ไม่มีใครที่เกิดมาพร้อมกับความบ้าคลั่ง มีแต่การต่อเติมอันโหดร้ายจากมนุษย์ด้วยกันเอง