เมื่อพูดถึงการเลือกตั้ง หลายคนก็มักจะมุ่งประเด็นไปที่กระบวนการการเลือกตั้ง ประวัติและเรื่องราวของผู้สมัคร ข้อมูลพรรคการเมือง
แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งที่ 7 ของเกาหลีใต้เมื่อวันพุธที่ 13 มิถุนายน 2018 กลับมีประเด็นชวนคิดชวนคุยมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาเรื่องเพศ ช่องว่างระหว่างวัย และความในใจของชาวต่างชาติที่มีต่อการเลือกตั้ง ซึ่งอาจเป็นบทเรียนสำหรับการเมืองประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน
ประเด็น ‘เพศ’ ในการเมืองเกาหลี
เรื่องเพศเป็นประเด็นที่มีพลังในการวิพากษ์วิจารณ์และลดทอนความน่าเชื่อถือของคนในแวดวงสังคมและการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม Me Too เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ขบวนการ me too เป็นการแสดงออกของผู้หญิงที่เริ่มมาจากแวดวงฮอลลีวูด ที่เคลื่อนไหวให้สังคมตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศทั้งในแง่ของกฎหมายและการปฏิบัติรูปแบบอื่นๆ มีบุคคลที่มีชื่อเสียงได้รับการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อบริการและการล่วงละเมิดทางเพศหลายคน
กรณีโด่งดังมากที่สุด คือ อัน ฮี-จ็อง ผู้ว่าราชการจังหวัดชุงช็องใต้ สมาชิกพรรคแนวร่วมประชาธิปไตย หรือ ทอบุรอมินจูดัง (더불어민주당) ที่มีชื่อย่อว่า ทอมินจู ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลขณะนี้ เพราะ หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า อันจะเป็นตัวเก็งหมายเลขหนึ่งของการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งต่อไป
เรื่องราวของอันถูกเปิดเผย เมื่อ คิม ชี-อึน เลขานุการส่วนตัวติดต่อสถานีโทรทัศน์เจทีบีซี (JTBC) เพื่อขอออกรายการ เธอเล่าว่า เธอถูกข่มขืน 4 ครั้ง ระหว่างเดือนมิถุนายน 2017 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ซึ่งยังไม่นับการล่วงละเมิดทางเพศอีกหลายครั้ง จุดหักเหที่ทำให้เธอเลือกเปิดเผยสู่สาธารณะก็คือ อันประกาศสนับสนุนขบวนการ me too และเย็นวันเดียวกันกับที่ประกาศนั้น เขาก็ข่มขืนเธออีกครั้ง
อันโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ เขาบอกว่า “ผมขอโทษทุกคนด้วย และเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ผมขอโทษ คิม ชี-อึน ที่ต้องมาเจ็บปวดเพราะผม ทั้งหมดเป็นความผิดของผมเอง ผมจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการตั้งแต่วันนี้ และจะหยุดกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่าง ขอโทษทุกคนอีกครั้งครับ”
ต่อมา พรรคทอมินจูขับเขาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ปิดฉากนักการเมืองผู้ที่ได้ฉายาว่า “โอบามาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี”
อัน ฮี-จ็อง โอบามาแห่งเกาหลี จูบแก้มท่านประธานาธิบดีในวันเลือกตั้ง
ที่มาภาพ: Hankyoreh
อีกรายหนึ่งจากพรรคเดียวกันที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันถึงตอนนี้ คือ อี แช-มย็อง ผู้ว่าราชการจังหวัดคย็องกี ที่ถูกคิม พู-ซ็อน นักแสดงที่หย่าร้างกับสามี ออกมาเผยว่า ได้คบหากันเป็นเวลา 15 เดือนตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2007 โดยคิมบอกว่าช่วงที่คบหากันนั้น อีบอกว่าเขาโสด ทั้งคู่ไปออกเดทที่อินช็อน และค้างแรมร่วมกันหนึ่งคืน
เรื่องราวของทั้งสองเป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2010 และกลายเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2013-2016 ผ่านการโต้ตอบทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตร
อี แช-มย็องกับคู่กรณี
ที่มาภาพ: Korea JoongAng Daily
เรื่องนี้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง เมื่อคิม ย็อง-ฮวัน ผู้สมัครจากพรรคคู่แข่งของอี หยิบยกขึ้นมาถกเถียงระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยแสดงภาพที่นักแสดงหญิงอ้างว่าอีเป็นคนถ่ายเมื่อปี 2007 มาเผยแพร่ในรายการ อียืนยันว่า คิมโกหก ส่วนคิมยืนยันว่า นักแสดงอย่างเธอจะโกหกไปทำไม ที่ไม่อยากฟ้องร้องเพราะลูกสาวเธอขอไว้ ลูกสาวเธอก็เป็นนักแสดงเช่นกัน เธอคงไม่เอาชื่อเสียงและอนาคตลูกสาวมาเสี่ยง
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ทั้งสองกรณีจะเป็นการทำลายคู่แข่งทางการเมืองหรือไม่นั้น ดูเหมือนคนที่ไปลงคะแนนโหวตจะไม่ได้สนใจเอาเสียเลย ผลการเลือกตั้งชี้ว่า ผู้สมัครจากทอมินจูสามารถกวาดที่นั่งผู้ว่าราชการจังหวัดไปได้ถึง 14 จังหวัด จาก 17 จังหวัด (รวมจังหวัดของทั้งสองท่านด้านบนด้วย)
ผมเห็นตรงกับนักวิเคราะห์หลายท่านครับว่า คนเกาหลีมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจเลือกพรรคมากกว่าคน และพรรคที่เลือกก็เป็นพรรคที่มีผู้นำทางการเมืองเป็นที่นิยมชมชอบอย่างมากเสียด้วย
ช่วงวัยและช่องว่างความเข้าใจของคนสองรุ่น
ผมเห็นว่า เวลาคนไทยมองการเมืองเกาหลี หลายคนชื่นชมการพัฒนาประเทศที่มีแนวคิดชาตินิยมเป็นตัวชี้นำโดยเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ แต่เมื่อผมลงพื้นที่วิจัยและใช้ชีวิตอยู่จริงก็รู้เลยครับว่า ประเทศนี้แบ่งแยกกันอย่างสุดขั้วเลยทีเดียว
ในบทความเรื่องสองโคริยาประชาธิปไตยตอนแรกของผมเล่าไว้นิด ๆ ครับว่า มันมีการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายขวา (อนุรักษนิยม/보수) กับฝ่ายซ้าย (ก้าวหน้า/진보)
ผมเห็นว่า ยังมีการแบ่งแยกอีกอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือเรื่องของ ‘ช่วงวัย’ ตัวอย่างชัดเจนเรื่องหนึ่งก็คือ คนเกาหลีอายุ 20-30 ปี เป็นฐานเสียงที่เลือกฝ่ายซ้าย เลือกทอมินจูเป็นรัฐบาลในคราวนี้ ขณะที่ผู้สูงวัย (อายุเกิน 60 ปี) จะเป็นฐานเสียงให้ฝ่ายขวา พื้นที่ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของฝ่ายขวาในครั้งนี้ยังคงเหนียวแน่นเช่นเดิม นั่นคือ แทกู และคย็องซังเหนือ ซึ่งเลือกผู้สมัครผู้ว่าราชการจากพรรคฝ่ายค้าน สังเกตได้จากภาพผลการเลือกตั้งด้านบน
อย่างไรก็ดี มีรายงานและบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจจาก The Korea Herald ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้เลือกตั้งแทกูอาจเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือกลุ่มการเมืองที่เคยสนับสนุนมาก่อน คุณลุงผู้ให้สัมภาษณ์ท่านหนึ่งบอกว่า ไม่เคยชอบมุนและไม่เคยสนับสนุนพรรครัฐบาล แต่พรรคฝ่ายค้านเองก็ต้องปรับตัว เขาจะเลือกพรรครัฐบาลจนกว่าพรรคฝ่ายค้านจะปรับตัว
ขณะที่คุณป้าอีกคนหนึ่งเล่าว่า พ่อของเธอและตัวเธอสนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยมมาโดยตลอด และคิดว่าฝ่ายอนุรักษนิยมควรผนึกกำลังกันก้าวข้ามประเด็นอื้อฉาวของอดีตประธานาธิบดี แต่ลูกชายของเธอกลับคิดตรงกันข้าม… เขามองว่า พรรคอนุรักษนิยมทุจริตฉ้อฉล ขณะที่สังคมชอบติดป้ายว่า คนเมืองแทกูเป็นพวกอนุรักษนิยม “ผมโคตรเกลียดความคิดนี้เลย” เขากล่าวเน้น
นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่อายุน้อยที่สุด (27 ปี) ในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีร่วมสมัยมาลงด้วย เธอชื่อ ชิน ชี-เย เจ้าของสตาร์ตอัพภาพพิมพ์สามมิติ ชื่อ Today Maker ผู้สมัครจากพรรคกรีน
เธอมุ่งเน้น 3 ประเด็น 4 เป้าหมาย ได้แก่ ปัญหาการพัฒนาอย่างเร่งรุด ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาเพศทางเลือกและผู้หญิง โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า โซลจะต้องเป็น 1) เมืองที่เท่าเทียมโดยที่หมายรวมทุกคนไว้ด้วยกัน 2) เมืองที่อยู่สบายโดยไม่ต้องถือครองสิ่งใด 3) เมืองที่อุดมสมบูรณ์แต่ไม่เทอะทะ 4) เมืองปลอดภัยที่ไม่หยุดแก้ปัญหา
ประเด็นที่สร้างกระแสสังคมในวงกว้างคือ นโยบายของเธอเกี่ยวกับเพศทางเลือกและผู้หญิง เธอประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นเฟมินิสต์ และประกาศว่าจะนำข้อความที่เป็นการพิทักษ์สิทธิของเพศทางเลือกกลับไปบรรจุในปฏิญญากรุงโซลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนับสนุนให้กรุงโซลออกข้อบัญญัติที่คุ้มครองเพศทางเลือกโดยเฉพาะ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลผลักดันกฎหมายทำแท้ง เธอจึงถูกกลุ่มคนเห็นต่างโจมตี ป้ายหาเสียงของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโอหังเกินไปสำหรับผู้หญิง บางป้ายถูกฉีก บางป้ายถูกเจาะตา แต่ตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้
ชิน ชี-เย ผู้สมัครรับเลือกตั้งอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีร่วมสมัย
ที่มาภาพ: The Korea Times
เสียงสะท้อนของชาวต่างชาติที่อาศัยในเกาหลี
สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่ขึ้นชื่อว่าชาตินิยมจัดมากที่สุดสังคมหนึ่ง จากฐานความเชื่อที่ว่า ทุกคนเป็นชนชาติ ‘ฮัน’ เดียวกันทั้งหมด หรือ ฮันมินจก (한민족) ฉะนั้น คนที่ไม่ได้รวมอยู่ในเชื้อชาติฮันนี้ ก็จะกลายเป็น ‘คนจากดินแดนข้างนอก’ หรือ เวกุกิน (외국인) ซึ่งจะได้รับสิทธิและการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ดังที่เราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อชาวต่างชาติในสังคมเกาหลีอยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ดี ประเทศนี้ก็ให้สิทธิคนที่ถือวีซ่าพำนักถาวร (F-5) เกิน 3 ปีขึ้นไปได้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น (ไม่รวมการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา) เป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย (เก๋ปะล่ะ) สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ The Korea Herald ลองสำรวจความคิดเห็นของชาวต่างชาติที่มีสิทธิและกำลังจะมีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมกับชาวต่างชาติที่เปลี่ยนสัญชาติแล้ว ก็ได้คำตอบที่น่าสนใจ
ชาวปากีสถานที่อาศัยในเกาหลีมากว่า 14 ปี บอกว่า “คงจะไม่ไปเลือกตั้ง เพราะการเมืองเกาหลีนั้นติดตามลำบากเหลือเกิน แล้วก็ไม่ได้มีช่องทางที่จะให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้มากนัก ภาษาเกาหลีก็ยากเกินไปด้วย”
ขณะที่ชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าคู่สมรส (F-6) ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น “แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คนเกาหลีจะเลือกใคร รู้สึกว่า นี่มันเป็นเรื่องของคนเกาหลีมากกว่า”
ข้อมูลจากศูนย์สนับสนุนครอบครัวพหุวัฒนธรรมยงซัน (용산구다문화가족지원센터) ยืนยันเช่นกันว่า ชาวต่างชาติไม่ค่อยสนใจการเลือกตั้งเท่าไหร่ มีจำนวนชาวต่างชาติมาลงทะเบียนขอให้ศูนย์จัดอบรมเรื่องเลือกตั้งให้แค่ 10 คนเท่านั้น
ข้อมูลจาก The Korea Times สะท้อนอีกด้านที่เป็นความรับรู้เชิงบวกของชาวต่างชาติต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น มากิยามา คูมิ ชาวญี่ปุ่นอายุ 49 ปี บอกว่า “การรณรงค์เลือกตั้งในเกาหลีนี้น่าตื่นตาตื่นใจกว่าญี่ปุ่นมาก คนเกาหลีนี่ดูครึกครื้นรื่นเริงกว่าเยอะ เห็นคนเต้นด้วย ฉันชอบเพลงรณรงค์เลือกตั้งชื่อ Baby Shark” ส่วน วิลเลียม เทอร์เนอร์ จากนิวซีแลนด์เล่าว่า “ผมแปลกใจมากว่าทำไมมันง่ายแบบนี้ ไม่มีอะไรมากเลย ก็แค่ถือกระดาษ เดินไปคูหาละก็กาแค่นั้นเอง” ส่วนสรุปที่น่าสนใจน่าจะเป็นความเห็นของสุภาพสตรีชาวอุซเบ็กที่บอกว่า “มีความกังวลที่จะไปใช้สิทธิ เพราะรู้จักผู้สมัครน้อยมาก แต่คงเสียใจถ้าไม่ได้ไปใช้สิทธิทั้งที่มีสิทธิ”
อนาคต?
อี ซัง-ฮวา เพื่อนสนิทของผมซึ่งเรียนจบสายวิทยาศาสตร์ และทำงานในบริษัทเคมีภัณฑ์แห่งหนึ่ง เธอเปิดใจให้ฟังเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างน่าสนใจว่า “ยังไงก็ต้องเลือกพรรครัฐบาล เพราะว่านี่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด อืม…เลวร้ายน้อยที่สุดเท่าที่เรามีตอนนี้” เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ท่านมุนเป็นคนดีนะ แต่การที่ทอมินจูได้รับเสียงข้างมากเกือบจะเด็ดขาดก็อาจทำให้หลายๆ อย่างง่ายดาย และความง่ายดายนั้นก็น่ากลัว เพราะคนในทอมินจูอาจใช้อำนาจนั้นในทางมิชอบ”
ผมจึงถามเธออีกครั้งว่า แล้วถ้าสมมติเกิดทอมินจูไม่ได้เรื่องขึ้นมาจริง ๆ หรือสร้างปัญหาอย่างที่เธอคาดการณ์ล่ะ คนเกาหลีจะทำยังไง คำตอบคือ “ก็คงแล้วแต่อารมณ์ของคนในตอนนั้นว่าเป็นยังไง เธอก็เคยเห็นมาแล้วนี่ว่า ถ้าทำให้มวลมหาประชาชนเกาหลีโกรธจะเป็นยังไง ดู ปัก คึน-ฮเย เป็นตัวอย่างสิ! แต่ฉันว่า มันไม่น่าเกิดง่าย ๆ นะ ม็อบแบบสองปีที่แล้ว เพราะท่านมุนเขาทำเรื่องเกาหลีเหนือได้ดี และที่สำคัญก็เป็น “คนดี” ด้วย!”
นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านที่แพ้เลือกตั้งคุกเข่าขอขมา…หัวหน้าพรรคประกาศลาออก
ที่มาภาพ: Hankyoreh
Fact Box
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุด 13 มิถุนายน 2018
- การเลือกตั้งท้องถิ่นของเกาหลีใต้จัดขึ้นทุก 4 ปี เช่นเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจัดขึ้นทุก 5 ปี
- ตำแหน่งที่เลือกตั้งคราวนี้ได้แก่ นายกเทศมนตรีและผู้ว่าราชการ ผู้อำนวยการเขต/หัวหน้าเขตปกครองระดับอำเภอ ศึกษาธิการเขต/อำเภอ และตำแหน่งอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 4,016 อัตรา
- ผู้เลือกตั้งลงคะแนนในบัตรทั้งสิ้น 7 ใบ มีทั้งแบบเลือกคนและเลือกพรรค
- การเลือกตั้งครั้งนี้รวมเอาการเลือกตั้งซ่อมตำแหน่งที่ว่างลงเนื่องจากผู้สมัครลาออกหรือถูกถอดถอนจากการกระทำความผิดตามกฎหมายรวมทั้งสิ้น 12 อัตรา เป็นครั้งแรกที่จัดการเลือกตั้งทั้งสองอย่างควบคู่กัน
- ช่วงเวลาเข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้คือ 6.00-18.00 น.
- มีจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศทั้งสิ้น 14,134 หน่วย
- การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 และวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2018 โดยมีผู้มาใช้สิทธิจำนวน 20.4% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2014 (11.5%)
- จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 42.9 ล้านคน
- มีชาวต่างชาติที่มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายควบคุมคนต่างด้าวปี 2005 ด้วยการถือวีซ่าพำนักถาวร (F-5) เป็นเวลา 3 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 106,205 คน เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจากจำนวนผู้มีสิทธิชาวต่างชาติทั้งหมดในปี 2014 (48,428 คน)
- เป็นครั้งแรกที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลกระบวนการเลือกตั้งเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนส่งถึงที่พักอาศัยที่ชาวต่างชาติลงทะเบียน และมีฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นและภาษาเวียดนามเผยแพร่บนเว็บไซต์ แต่ยังไม่มีการระบุเนื้อหาเกี่ยวกับผู้สมัคร
- เอกสารเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งมีทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ แต่เป็นภาษาเกาหลีเท่านั้น
- ผู้สูงวัยที่อายุเกิน 60 ปี เป็นกลุ่มมีสิทธิเลือกตั้งที่มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 60.2% ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด
- ปัก ว็อน-ซุน คือผู้ว่าราชการกรุงโซลคนแรกที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐ (3 สมัย 2011-2022)
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ข้อมูลเป็นภาษาเกาหลี)