มะม่วงเบา หรือที่คนใต้เรียกว่า ‘ลูกม่วงเบา’ เป็นมะม่วงที่กินแบบดิบได้ทั้งคาวและหวาน นำมาปั่นเป็นเครื่องดื่มก็ให้ความสดชื่น
อยู่ๆ ในช่วง 4-5 ปีมานี้ มะม่วงเบา ผลไม้ท้องถิ่นของภาคใต้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากราคาของมะม่วงเบาที่สูงขึ้น จำนวนร้านค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นด้วย หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญน่าจะมาจากกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์ของมะม่วงเบานั่นเอง
มะม่วงกลุ่มพราหมณ์ ผลเล็กกว่าฝ่ามือ
จากฐานข้อมูลมะม่วงของกรมวิชาการเกษตรที่รวบรวมไว้ระหว่างปี 2522-2541 บอกไว้ว่า ประเทศไทยมีมะม่วงประมาณ 150 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์มีชื่อเรียกหลายชื่อตามแหล่งปลูก
ในบรรดามะม่วงนับร้อยสายพันธุ์ ‘เบา’ เป็นมะม่วงที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘พราหมณ์’ ร่วมกับมะม่วงที่มีชื่อไม่คุ้นหูอีกมากมายอย่าง ‘นกกระจิบ’ ‘กะล่อนทอง’ และ ‘ทองหยด’
จะหาความแตกต่างของมะม่วงกลุ่มนี้กับกลุ่มอื่นๆ ต้องดูกันที่รูปร่างของผลและใบ หลักๆ แล้ว ผลของมะม่วงกลุ่มพราหมณ์เป็นรูปไข่ ส่วนทรงของใบนั้น กลางใบจะป้อม ปลายใบจะเรียวแหลมเช่นเดียวกับฐานใบ ส่วนขอบใบจะเรียบ เมื่อพิจารณาลงลึกไปอีกเพื่อหามะม่วงเบา ก็ต้องดูว่า ทรงใบขอบขนาน ฐาน และปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น
ต้นมะม่วงเบาสูงประมาณ 5-10 เมตร ใบยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร กว้าง 5-7 เซนติเมตร บางและค่อนข้างเหนียว มีก้านใบยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ส่วนดอกออกเป็นช่อ แต่ละดอกมีห้ากลีบ ผลมะม่วงเบากว้างยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร วางบนมือผู้ใหญ่ก็ยังมีพื้นที่เหลือ หนักประมาณ 50-60 กรัม ส่วนเปลือกมะม่วงเบาจะเรียบเกลี้ยง มันวาว สีเขียวสด ผ่าเข้าไปเห็นเมล็ดคล้ายถั่วแดงหรือไตยาวประมาณ 4 เซนติเมตร
มะม่วงเบาถือว่าออกดอกมาก ติดผลมาก ออกตลอดปี หากอายุถึง 10 ปีแล้ว ต้นหนึ่งจะให้ผลประมาณ 500 ลูก สามารถออกผลได้ตลอดทั้งปี
สดชื่นเมื่อกินสด
ต้นกำเนิดของมะม่วงพันธุ์นี้มาจากมาเลเซียและภาคใต้ของไทย ปลูกและกินกันมากในเกือบทุกจังหวัดตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงมา ราว 20 ปีก่อน แทบทุกบ้านจะต้องปลูกมะม่วงเบา ช่วงฤดูร้อนก็จะออกผลเยอะให้มีขายกันเป็นปี๊บ ส่วนชื่อพันธุ์ที่เรียกว่า ‘เบา’ นั้น หมายถึงผลิตผลทางการเกษตรที่ให้ผลเร็วนั่นเอง
นอกจากรูปร่างแล้ว สิ่งที่ทำให้มะม่วงเบาโดดเด่นเห็นจะเป็นรสชาติเปรี้ยวจี๊ด เจือกลิ่นหอมบางๆ ใสๆ ฉ่ำน้ำ ยามที่เป็นผลดิบอยู่ หากสุกแล้วก็จะมีรสเปรี้ยวอมหวานนิดๆ แต่คนนิยมกินดิบมากกว่า
จะกินแบบสดๆ ก็ง่ายมาก ล้างมะม่วงเบาดิบให้สะอาด หั่นตามใจชอบ ไม่ต้องปอกเปลือก จิ้มกินกับน้ำตาลปี๊บ พริกป่น คลุกกะปิซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นของติดบ้านอยู่แล้ว หรือให้ง่ายกว่านั้น จิ้มมันกุ้งแบบคนใต้ เพียงแค่นี้ก็ได้สัมผัสรสเปรี้ยวจี๊ด กรุบกรอบ อร่อยเข็ดฟัน ได้กลิ่นหอมบางๆ จากเปลือกที่ติดอยู่ด้วย
หากจะเพิ่มความซับซ้อนขึ้นอีกนิด หลายบ้านนิยมกินเป็นยำมะม่วงแบบใส่มะพร้าวคั่วหอมๆ ลงไปด้วย ต้องสับมะม่วงเป็นเส้นเล็กๆ เตรียมหัวหอมแดงซอย กุ้งแห้งทอด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอดใส่ลงไปในกะปิที่ตำกับพริกขี้หนูสวน น้ำตาลปี๊บ และเกลือ คลุกให้เข้ากัน ก็จะได้ยำมะม่วงเบาที่หอมมันจากมะพร้าวคั่วเพิ่มขึ้นมาอีก
เพิ่มรสเปรี้ยวหอมที่เป็นเอกลักษณ์
รสเปรี้ยวจี๊ดของมะม่วงเบาสามารถนำไปใช้แทนน้ำมะนาวหรือน้ำส้มมะขามในอาหารหลายจาน ที่คุ้นกันดีก็เช่น มะม่วงดิบในน้ำพริก หรือข้าวคลุกกะปิในฤดูร้อนที่มะนาวออกน้อย แต่เป็นช่วงที่มะม่วงเบาออกเยอะพอดี ก็เอามาแทนกันได้ สำหรับคนใต้ ใส่มะม่วงเบาลงในอาหารคาวหลายอย่าง เช่น ข้าวยำ ขนมจีนน้ำยา ข้าวราดแกงไตปลา
อาหารจานเด็ดของคนใต้ที่ใช้มะม่วงเบาอีกอย่างหนึ่งคือ แกงส้มมะม่วงเบา ทำจากเครื่องแกงส้มแบบใต้ที่ได้มาจากการตำพริก หอมแดง พริก ขมิ้น เกลือป่น และกะปิ เข้าด้วยกัน ใส่ลงไปหม้อน้ำ ตั้งไฟจนเดือด แล้วใส่มะม่วงเบาที่ผ่าเอาเม็ดออกและแช่น้ำเกลือกันดำมาแล้วลงไป รอจนเนื้อนิ่มแล้วค่อยใส่เนื้อสัตว์ เช่น ปลาหรือกุ้งลงไป ราดกินกับข้าวสวยร้อนๆ
มะม่วงเบาแช่อิ่ม ของฝากจากแดนใต้
ก่อนหน้านี้คนท้องถิ่นก็กินมะม่วงเบาแช่อิ่มกันเป็นปกติอยู่แล้ว ในช่วงที่มะม่วงมีลูกดกจนกินไม่ทันก็ต้องเอามาแช่อิ่มไว้ แช่น้ำเกลือและแช่ในน้ำเชื่อมตามสูตรของแต่ละบ้าน ทำเสร็จแล้วแช่ตู้เย็นเก็บไว้ได้นาน มะม่วงเบามีเนื้อบางจึงทำให้รสหวานเค็มซึมเข้าไปได้ง่าย เมื่อผสมกับรสเปรี้ยวหอมของตัวเองมันก็ยิ่งอร่อยขึ้นไปอีก
จนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มะม่วงเบาได้รับความนิยมขึ้นมาก ไม่เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น เห็นได้จากจำนวนร้านขายมะม่วงเบาแช่อิ่มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการซื้อขายออนไลน์และขายอยู่ตามร้านค้าที่สนามบิน จากเดิม มะม่วงเบาสดเคยมีราคากิโลกรัมละไม่กี่บาท ก็พุ่งขึ้นไปเป็น 60-70 บาทได้ ส่วนมะม่วงเบาแช่อิ่มก็สร้างรายได้ให้กับผู้ขายได้ประมาณ 200-300 บาทต่อกิโลกรัม มะม่วงที่นำมาแช่อิ่มส่วนใหญ่เป็นมะม่วงจากอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งปลูกมะม่วงเบามากเพราะสภาพดินและอากาศเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลเชื้อพันธุ์พืช: มะม่วง เล่ม 2 เอกสารวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ลำดับที่ 10/2546 http://www.doa.go.th/pvp/images/stories/top03_doc_vichakarn/mango1.pdf
- https://www.dailynews.co.th/agriculture/611282
- http://www.komchadluek.net/news/agricultural/233803
Fact Box
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการ Local Alive ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักเสน่ห์ท้องถิ่น เช่น วัตถุดิบ และอาหาร ที่หายากแต่หาได้ในประเทศไทย
ในส่วนของ ‘มะม่วงเบา’ นี้ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของผลไม้ทางใต้ ลองชมคลิปเสน่ห์จากเมืองพัทลุงได้จากคลิปนี้เลย