*บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

นับเฉพาะในโลกภาพยนตร์ Little Women (2019) ของเกร์ต้า เกอร์วิก เป็นการดัดแปลงวรรณกรรมคลาสสิกของลุยซ่า เมย์ อัลค็อตต์เป็นครั้งที่เจ็ด ภายหลังการปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะหนังเงียบเมื่อปี 1917

ครั้งที่เจ็ด นับเป็นตัวเลขที่สุ่มเสี่ยงไม่น้อย เพราะหมายความว่ามันเคยถูกตีความมาแล้วหลากหลายรูปแบบ และเป็นความท้าทายของเกอร์วิกในการจะดัดแปลงให้มันกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ชิ้นสำคัญ ซึ่งจนถึงนาทีนี้ เมื่อ ‘สี่ดรุณี’ หรือ Little Women ของเกอร์วิกเข้าชิงออสการ์ถึงหกสาขาติด —รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม— ตลอดจนคำวิจารณ์แง่บวกและรายได้ถล่มทลาย ก็คงเป็นข้อยืนยันที่แข็งแรงพอแล้วว่า การตีความของเกอร์วิกที่ค่อยๆ เลาะชายแดนของ ‘ความเป็นหญิง’ อย่างไม่ยัดเยียด อ่อนโยนและงดงามมากที่สุดครั้งหนึ่งในโลกการเล่าเรื่องด้วยภาพ โดยยังไม่ทิ้งแก่นสารและน้ำเสียงแบบที่อัลค็อตต์คงไว้ในต้นฉบับเมื่อ 150 ปีที่แล้ว

Little Women ว่าด้วยเรื่องของสี่พี่น้องตระกูลมาร์ช ได้แก่ เม็ก (เอ็มม่า วัตสัน) พี่สาวคนโตผู้อ่อนโยนและฝันใฝ่อยากเป็นนักแสดงละครเวที, โจ (เซอร์ชา โรแนน) น้องคนรองกับบุคลิกห้าวหาญและหวังอยากเป็นนักเขียน, เบ็ธ (เอลิซา สแกนเลน) น้องคนที่สามที่ร่างกายไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็ก และเอมี (ฟลอเรนซ์ พิวจ์) น้องคนเล็กที่หลงใหลในความรุ่มรวยของสังคมและอยากเป็นจิตรกร ทั้งสี่ต้องอยู่โยงกับบ้านในรัฐแมสซาชูเซตส์กับแม่ (ลอว์ร่า เดิร์น) เพราะพ่อต้องออกไปร่วมสงครามกลางเมืองจนพวกเขาไม่อาจอยู่พร้อมหน้ากันในวันคริสต์มาส ภายใต้สถานการณ์แร้นแค้นเมื่อเงินเริ่มร่อยหรอหากแต่ก็ยังมีสุภาพบุรุษข้างบ้านผู้ร่ำรวยอย่างตระกูลลอว์เรนซ์ รวมไปถึง ธีโอดอร์ หรือลอว์รี (ทิโมธี ชาลาเมต์) เด็กหนุ่มที่ให้ความสนิทสนมกับโจเป็นพิเศษด้วย

ตัววรรณกรรมเองกึ่งๆ จะเป็นบทบันทึกชีวิตของอัลค็อตต์เองด้วยซ้ำ ทั้งจากน้ำเสียงที่เธอเล่าผ่านมุมมองของโจ —ตัวละครหญิงที่ดิ้นรนอยากเป็นนักเขียนในยุคสมัยที่พื้นที่ทางวรรณกรรมมีให้แต่ผู้ชาย— หรือเรื่องราวของสี่คนพี่น้องท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง ตัวอัลค็อตต์เติบโตกับพี่น้องหญิงอีกสามคนและเผชิญหน้ากับยุคสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อของอเมริกา (เธอเป็นหน่วยพยาบาลของกองทัพ และเขียนประสบการณ์แสนเศร้าของการดูแลนายทหารก่อนพวกเขาจากไปในหนังสือ Hospital Sketches) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ซึ่งเป็นฉากหลังของทั้งในหนังสือและภาพยนตร์ 

และดังที่เรารู้กัน ชนวนสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นจากความอัดอั้นของทาสผิวดำที่ถูกใช้งานอย่างหนักในรัฐทางใต้ เกิดเป็นจลาจลที่รัฐทางเหนือ หนึ่งในนั้นคือแมสซาชูเซตส์ ให้การสนับสนุนเหล่าทาสผิวดำด้วยการเข้าร่วมรบ อย่างที่เราจะเห็นได้จากฉากที่แม่ผู้อ่อนโยนให้บริการผู้คนในเมืองด้วยความรู้สึกผิดต่อคนผิวดำที่ถูกกดขี่อย่างหนักในหลายทศวรรษที่ผ่านมา (“เธอควรจะรู้สึกผิดนะ” หญิงสาวผิวดำคนหนึ่งกล่าวต่อหน้าเธอ) และนี่นับเป็นหนึ่งในประสบการณ์ของอัลค็อตต์เผชิญเมื่อเธอเข้าร่วมปฐมพยาบาลนายทหาร จนมันได้กลายเป็นฉากหลังที่อธิบายบริบทต่างๆ ใน ‘สี่ดรุณี’ ได้อย่างครบถ้วน

อย่างไรก็ดี กลับมาที่เวอร์ชั่นภาพยนตร์ ดังที่เรากล่าวไปแล้วว่าก่อนหน้าการมาถึงของเกอร์วิกนั้น Little Women เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วทั้งสิ้นหกครั้ง และแต่ละครั้งถูกตีความ ดัดแปลงแตกต่างออกไปตามแต่ละยุคสมัย นับจากครั้งแรกที่เป็นหนังเงียบสัญชาติอังกฤษ กำกับโดยอเล็กซานเดอร์ บัตเลอร์ หากแต่เวอร์ชั่นที่ก่อปรากฏการณ์เป็นครั้งแรกคือ Little Women (1933, จอร์จ คูเกอร์) เล่าถึงความเป็นสี่พี่น้องอันแสนอ่อนหวานท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายของสงครามและความแร้นแค้นของครอบครัวมาร์ช, Little Women (1994, กิลเลียน อาร์มสตรอง) ที่ดึงความเป็น ‘พลังหญิง’ ออกมาเด่นชัดกว่าเวอร์ชั่นอื่นๆ ผ่านการตีความของอาร์มสตรองซึ่งเป็นคนทำหนังหญิงที่จับจังหวะและความเป็นหญิงมาปรากฏในผลงานก่อนหน้าของเธอ จนเวอร์ชั่นนี้กลายเป็นเวอร์ชั่นที่ถูกยกย่องว่าสมบูรณ์พร้อมที่สุดครั้งหนึ่งทั้งยังส่ง วิโนน่า ไรเดอร์ จากบทโจ มาร์ชเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงออสการ์ด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้หลายคนจับตาว่า แล้วเวอร์ชั่น 2019 ของเกอร์วิก ในยุคสมัยคลื่นกระแสพลังหญิง (รวมไปถึง #MeToo) คุกรุ่นมากกว่าเมื่อสิบปีก่อนนั้น จะออกมาเป็นอย่างไร

คำตอบคือเกอร์วิกจับจ้องไปที่เรื่องของ ‘มนุษย์’ ในแบบที่ไม่ยัดเยียดและคมคาย อันส่งให้ประเด็นความเป็นหญิงนั้นเรื่อเรืองขึ้นมาท่ามกลางความเป็นมนุษย์ของเหล่าตัวละครอื่นๆ หนังเล่าผ่านชีวิตของโจ มาร์ช ในช่วงเวลาที่เธอดิ้นรนไปเป็นนักเขียนที่นิวยอร์ก ตัดสลับกับช่วงเวลาที่เธอยังอยู่กับพี่น้องพร้อมหน้าพร้อมตาในบ้านหลังน้อยที่แมสซาชูเซตส์ ก่อนจะค่อยๆ พาคนดูสำรวจลัดเลาะอดีต ความทรงจำของโจที่ซุกซ่อนเอาไว้ใต้ท่าทีแกร่งกร้าวนั้น

น้ำเสียงการเล่าเรื่องของเกอร์วิกนั้นไม่ตัดสินตัวละคร เราคงจะเห็นว่าสี่พี่น้องล้วนมีมุมมองการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปจนหลายครั้งก็ดูคัดง้างและปะทะกันในสนามความคิดเสียด้วยซ้ำ แต่ถึงอย่างนั้นเกอร์วิกก็ไม่ได้วิจารณ์ความคิดของตัวละครแต่อย่างใด กลับกัน เธอมองมันอย่างเข้าอกเข้าใจ (ขณะที่ตัวละครอย่างโจซึ่งปฏิเสธแนวคิดแบบโรแมนติกนิยมมาโดยตลอด ดูไม่ยอมเข้าใจพี่น้องคนอื่นเท่าไหร่เลย) เม็ก พี่สาวคนโตที่ฝันอยากเป็นภรรยาของชายสักคนและถูกโจมองด้วยสายตาไต่ถามเสมอ ก็ร่ายรำในงานเลี้ยงอย่างบันเทิงใจ มีความสุขกับชื่อเล่นที่เพื่อนตั้งให้ ชุดที่เพื่อนให้ยืมใส่ ความทะเยอทะยานของเม็กไม่ได้มาในรูปแบบของการมีผลงานทางอาชีพเป็นชิ้นเป็นอันแบบโจหรือเอมีซึ่งอยากเป็นจิตรกร เธอเพียงแต่ฝันอยากมีชุดสวยๆ ใส่โดยไม่ต้องขอยืมคนอื่น ซึ่งโจและคนดูไม่มีสิทธิไปตัดสินอะไรเธอเลย เกอร์วิกนำเสนอชีวิตของเม็กอย่างละเมียด เธอคือพี่ใหญ่ที่รักสวยรักงาม เสียสละและไม่ค่อยถกเถียงกับใครในบ้านนัก การแสดงออกเพียงไม่กี่อย่างของเธอคือความปรารถนาอยากไปงานเลี้ยงเต้นรำและ ‘สนุก’ กับความเป็นหญิงของเธอเท่านั้น (“การที่ความฝันของฉันไม่เหมือนของเธอ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่สำคัญสักหน่อยนะโจ”)

ขณะที่โจนั้นเห็นได้ชัดว่าดื้อดึงกว่าเม็ก —ผ่านการแสดงอันยอดเยี่ยมของเซอร์ชา โรแนน— โจดูเก็บงำพลังงานบางอย่างมาโดยตลอดตั้งแต่วัยเด็กซึ่งแววตานั้นจะสลายไปเมื่อหนังตัดกลับมาช่วงเวลาที่เธอใช้ชีวิตในนิวยอร์ก 

“ผู้หญิงน่ะก็มีความคิด มีความรู้สึกเช่นเดียวกับที่มีหัวใจนั่นแหละ ผู้หญิงก็ทะเยอทะยาน มีพรสวรรค์ และยังงดงามด้วย หนูเบื่อเต็มทีแล้วที่คนเอาแต่พูดว่าผู้หญิงนั้นมีไว้รักเท่านั้น!” คือประโยคที่บ่งบอกถึงความเป็นโจอย่างที่สุด และเป็นคำตอบว่าทำไมเธอจึงเป็นคนเดียวในบ้านที่ดูมีปัญหาเมื่อเม็กตัดสินใจแต่งงาน (ถึงขั้นชวนพี่สาว ‘หนี’ ออกไปเสียจากชีวิตในวันแต่ง) ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ เธอจึงปะทะคารมกับเอมี่ อยู่บ่อยๆ ซึ่งอีกครั้งที่ความเก่งกาจในการกำกับของเกอร์วิก (และการแสดงของฟลอเรนซ์ พิวจ์) ได้รับการพิสูจน์ เมื่อคนดูซึ่งเอาใจช่วยโจต่างก็รักและเอาใจช่วยตัวละครที่ตรรกะอยู่อีกขั้วอย่างเอมี่เช่นกัน

“ฉันเป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่ง และการเป็นผู้หญิงนี่มันไม่มีทางเลยที่จะทำเงินได้มากพอจะเลี้ยงตัวและดูแลครอบครัว ต่อให้ฉันหาเงินได้เอง —ซึ่งฉันทำไม่ได้— เงินนั้นก็จะตกเป็นของสามีฉันเสียตั้งแต่นาทีแรกที่เราแต่งงานกัน และหากเรามีลูก ลูกก็จะตกเป็นของเขา ไม่ใช่ฉัน ลูกจะเป็นทรัพย์สมบัติของเขา เพราะฉะนั้นอย่ามาบอกฉันเลยว่าการแต่งงานไม่ใช่สูตรลัดแก้ปัญหาความจน เพราะมันใช้ได้ผลจริง” เอมี่ว่าไว้ และใช่หรือไม่ว่านี่คือความทะเยอทะยานในแบบที่โจเคยกล่าวถึง เอมี่จึงเป็นตัวละครที่เปี่ยมไหวพริบและรู้ดีว่าเธอต้องการอะไร เพียงแต่เธอไม่ได้แสดงออกในรูปแบบแกร่งกร้าวแบบพี่สาวคนรอง เธอวางตัวเองไว้ในอีกจุดหนึ่งที่ต่างไปจากการเป็นเม็กหรือโจ หากแต่มันคือความเข้าอกเข้าใจกรอบสังคมและเธอวางตัวเองเป็นผู้เล่นเกมนั้นมากกว่าจะขัดขืน

อีกตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือเบ็ธ ความที่เธอร่างกายไม่แข็งแรง เธอจึงปรากฏตัวอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ตลอดเวลา สายสัมพันธ์ของเธอมีเพียงแม่ พี่น้องและมิสเตอร์ลอว์เรนซ์ผู้มอบเปียโนหลังงามให้เธอเท่านั้น เบ็ธพูดน้อยและขี้อายซึ่งมิได้ทำให้ตัวละครนี้ด้อยกว่าตัวละครอื่นๆ ในหนังแต่อย่างใด เพราะบุคลิกอ่อนโยนของเบ็ธเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงใจของครอบครัว เธอคือตัวละครสำคัญที่ทำให้พี่สาวคนอื่นๆ ยังมีความหวังกับอนาคตที่แต่ละคนวาดฝันไว้ และเบ็ธนี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเติบโตของตัวละครแต่ละคน (โทนหนังเข้มและหนักหน่วงขึ้นในทุกนาทีนับจากนั้น) เปียโนหลังน้อยจึงตั้งเงียบเชียบและไม่มีใครแตะต้องอีกเลยจนกระทั่งศาสตราจารย์แบร์ (หลุยส์ การ์เรล) เพื่อนชายจากนิวยอร์กของโจซึ่งมาเยี่ยมบ้านกดแป้นบรรเลง

และสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Little Women ของเกอร์วิกได้รับการพูดถึงอย่างมากคือฉากโจต่อรองลิขสิทธิ์กับบรรณาธิการหนังสือ เธอยอมอ่อนโอนกับเงื่อนไขที่ว่าให้เปลี่ยนตอนจบเพื่อให้ตัวละครหญิงได้แต่งงานตามขนบ แลกกันกับว่าเธอคือผู้ถือครองลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ของหนังสือนับแต่นี้ 

หนังตัดสลับได้อย่างทรงพลังในขณะเดียวกันก็น่าใจหาย เพราะในที่สุดแล้ว หนังไม่ได้ชี้ชัดว่าบั้นปลายชีวิตของโจนั้นเป็นอย่างไร เราเพียงแต่เห็นว่าเธอกอดหนังสือที่ตีพิมพ์มาแล้วอย่างสวยงามในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ กับภาพชีวิตแสนอบอุ่นเมื่อเธอได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับพี่น้อง ในโรงเรียนชาย-หญิงที่เธอสร้างขึ้นจากบ้านหลังงามซึ่งเป็นมรดกจากคุณป้าที่ไม่ยอมแต่งงานเพราะร่ำรวย และเราไม่อาจรู้ได้เลยว่านั่นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอหรือเป็นแต่เพียง ‘ตอนจบ’ ในหนังสือตามแบบที่บรรณาธิการอยากเห็นเท่านั้น

แต่นี่เองที่เป็นทางเลือกของโจ เธอได้เลือกแล้ว เลือกอย่างกล้าหาญและกร้าวแกร่งต่อเส้นทางการเป็นนักเขียนที่ดิ้นรนมาโดยตลอด ทั้งยังเป็นผู้กำชัยในการถือครองลิขสิทธิ์งานเขียนที่สร้างจากสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตของเธอ ดังนั้น ไม่ว่าเรื่องราวในชีวิตจริงของเธอจะเป็นอย่างไร ได้เคียงคู่กับศาสตราจารย์แบร์หรือไม่ ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่โจจะใส่ใจอีกต่อไปแล้ว มันจึงเป็นแต่เพียงม่านแห่งความคลุมเครือราวกับนิยายที่จบแบบปลายเปิดให้เราได้อ่านกันนั่นเอง

Tags: