แสงไฟประดิษฐ์ที่สว่างยามค่ำคืนคือหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญที่พลิกโฉมหน้าอารยธรรมมนุษย์ ความสว่างทำให้ประสิทธิภาพการใช้เวลาของมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเนื่องจากความมืดไม่ใช่อุปสรรคต่อการทำงาน เรียนหนังสือ รวมไปถึงการทำกิจกรรมสันทนาการอีกต่อไป เราจึงอาจมองเห็นแต่เพียง ‘ด้านสว่าง’ ของแสงไฟประดิษฐ์ และคงไม่คุ้นชินนักหากจะพูดว่าแสงไฟคือมลภาวะ

แต่รู้หรือไม่ว่าแสงไฟประดิษฐ์ที่เราคุ้นตา เช่น ไฟริมถนน สร้างแสงสะท้อนปริมาณมาก เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมทิศทางแสงให้ส่องเฉพาะพื้นที่ที่เราต้องการให้สว่างเท่านั้น แสงจากเมืองท่องเที่ยว เช่น ลาสเวกัสยังส่องสว่างไปไกลเป็นรัศมีถึง 70 กิโลเมตร นวัตกรรมอย่างไฟ LEDs ที่มีราคาถูกและประสิทธิภาพสูง แม้จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า แต่ก็สร้างแรงจูงใจให้เกิดการติดตั้งไฟโดยไม่จำเป็น อีกทั้งแสงสว่างจากไฟ LEDs ยังอยู่ในช่วงอุณหภูมิแสงสีฟ้าที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าช่วงอุณหภูมิแสงสีเหลือง

คำว่า มลภาวะทางแสง (Light Pollution) แรกเริ่มเดิมที่หมายถึงผลกระทบจากแสงไฟประดิษฐ์ที่ทำให้เหล่านักดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นไม่สามารถมองเห็นดวงดาวได้ถนัดตา แต่ราว 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ามลภาวะทางแสงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความงามของท้องฟ้าเท่านั้น แต่ยังมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นทำให้สัตว์บางชนิดที่ปรับตัวไม่ทันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แผนที่มลภาวะทางแสง โดยจุดที่สว่างที่สุดคือสีขาว รองลงมาคือม่วง แดง เหลือง เขียว ฟ้า และน้ำเงิน จุดที่ไม่มีมลภาวะทางแสงจะเป็นสีเทา ภาพจาก www.lightpollutionmap.info

สาเหตุก็เนื่องจากสัตว์และพืชทุกชนิดบนโลกรวมถึงมนุษย์ต่างก็วิวัฒนาการมาตามหน้าปัดของนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Clocks) ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเคมีในตัว ไปจนถึงพฤติกรรมที่แตกต่างในแต่ละช่วงเวลา ทั้งการล่าเหยื่อ หาอาหาร อพยพ ไปจนถึงสืบพันธุ์ แสงไฟประดิษฐ์ทำให้นาฬิกาชีวภาพของสัตว์และพืชรวนไป ซึ่งหากปรับตัวไม่ได้ก็ยากที่จะอยู่รอด

ค่ำคืนที่มีแสงสว่าง

ผมได้รู้จักผลกระทบของมลภาวะทางแสงจากสารคดีชุด Planet Earth II ที่ในตอนหนึ่งได้ถ่ายทอดชีวิตของลูกเต่ากระที่เพิ่งฟักออกมาจากไข่ ตามธรรมชาติ ลูกเต่าตัวน้อยจะใช้แสงจันทร์สะท้อนคลื่นเป็นเครื่องนำทางไปสู่ทะเล แต่เมื่อกลางคืนไม่ได้มีแต่แสงจันทร์และแสงดาวเหมือนในอดีต แสงสะท้อนจากเมืองทำให้ลูกเต่าบางตัวสับสนและมุ่งหน้าไปผิดทิศทาง แทนที่จะเข้าหาทะเลกลับตะกายสู่ถนน นำไปสู่ความตายจากรถยนต์หรือสัตว์นักล่าบนพื้นดิน

ลูกเต่าตัวน้อยที่ถูกหลอกล่อด้วยแสงไฟประดิษฐ์ ภาพจาก Planet Earth II

นอกจากแสงไฟประดิษฐ์จะล่อหลอกลูกเต่าแล้ว แสงสว่างยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อแมลงจนถึงขั้นอาจทำให้สูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อกลางคืนที่บินอยู่รอบดวงไฟจนเหนื่อยตาย แสงไฟที่ทำให้แมลงตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าได้ง่ายขึ้น รวมถึงรบกวนสัญญาณหาคู่ของหิ่งห้อย นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าแสงสว่างในยามค่ำคืนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรแมลงลดจำนวนลงอย่างมากแต่มักถูกมองข้าม

นอกจากแมลงที่ตกเป็นเหยื่อ บนท้องฟ้ายังมีผู้เคราะห์ร้ายจากแสงสว่างนั่นคือนกอพยพที่มักเดินทางในเวลากลางคืนและพึ่งพิงแสงดาวและแสงเดือนในการนำทาง นกอพยพเหล่านั้นมักจะเจอกับอาการหลงทิศ จากแสงสะท้อนปริมาณมหาศาลจากเมืองใหญ่ สมาคมอนุรักษ์นกแห่งสหรัฐอเมริกา (American Bird Conservatory) ประมาณการว่าแต่ละปี มีนกอพยพเสียชีวิตเพราะบินชนตึกสูงในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 4 ล้านตัวต่อปี

ส่วนปลาซึ่งอาศัยแสงสว่างเพื่ออพยพเผชิญกับปัญหาการ ‘หลงเวลา’ โดยมีการศึกษาพบว่าปลาแอตแลนติกแซลมอนตามธรรมชาติจะอพยพในช่วงเย็นใกล้เวลาพระอาทิตย์ตก ส่วนปลาแอตแลนติกแซลมอนที่เจอกับแสงไฟประดิษฐ์จะอพยพแบบสุ่มซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของปลา รูปแบบในการขยายพันธุ์ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่า

สัตว์ที่ออกหากินในยามค่ำคืนซึ่งมีเซลล์รับแสงในที่สลัวอาจเผชิญกับสภาวะตาบอดชั่วคราวเมื่อเจอกับแสงสว่างจ้าจากไฟประดิษฐ์ โดยอาจต้องใช้เวลา 10 ถึง 40 นาทีก่อนที่สายตาจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ลองนึกภาพตามง่ายๆ หลังจากที่เราปิดไฟในห้องนอน ตาเราจะเสมือนว่าบอดไปชั่วขณะ แต่เมื่อรอสักพักตาของเราก็จะกลับมาพอมองเห็นได้ แสงไฟประดิษฐ์แม้เพียงเล็กน้อยจึงส่งผลอย่างยิ่งต่อสัตว์ที่ต้องการเคลื่อนที่ในเวลากลางคืนเพราะจะทำให้สัตว์เหล่านั้นหลงทิศ เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับโครงการ ‘ทางเชื่อมสัตว์ป่า’ ที่มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาปัญหาเลือดชิดเพราะแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้ถูกหั่นแบ่งเป็นส่วนๆ จากการใช้ที่ดินของมนุษย์

เราจะจัดการมลภาวะทางแสงอย่างไรดี?

สมาคมอนุรักษ์เต่าทะเล องค์กรไม่แสวงหากำไรของสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำหลักการสำหรับการติดตั้งไฟประดิษฐ์ที่เป็นมิตรต่อเต่าและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ  ตั้งแต่การติดตั้งไฟให้สูงเท่าที่จำเป็น ลดความสูงของเสาไฟบริเวณที่จอดรถจาก 8 เมตร เหลือ 3 เมตรโดยยังสามารถใช้งานได้แต่สร้างมลภาวะทางแสงต่ำกว่า การติดตั้งโคมกันแสงเพื่อจำกัดให้แสงไฟส่องไปยังพื้นที่ที่ต้องการให้สว่างเท่านั้น ยังเป็นการช่วยลดมลภาวะอีกทางหนึ่งอีกด้วย

ที่สำคัญ คือการติดตั้งไฟ LEDs ภายนอกอาคารในช่วงอุณหภูมิแสงเหลืองนวลหรือสีส้ม เนื่องจากสัตว์ป่าหลายชนิดจะไม่ตอบสนองต่อแสงในความยาวคลื่นดังกล่าว นอกจากนี้ เจ้าของบ้านยังควรติดตั้งเครื่องตั้งเวลาหรือเซนเซอร์เพื่อให้เปิดใช้งานแสงไฟภายนอกเท่าที่จำเป็น

กระทรวงการเคหะ ชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (Ministry of Housing, Communities & Local Government) แห่งสหราชอาณาจักรได้ออกแนวทางการจัดการมลภาวะทางแสง โดยระบุว่าควรคำนึงถึงมลภาวะดังกล่าวตั้งแต่ช่วงวางแผนก่อสร้างโครงการ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนภายหลังนั้นยุ่งยากและต้นทุนสูง โดยต้องพิจารณา 4 ปัจจัยหลักคือ

  • แสงส่องสว่างที่ไหน? ปัญหามลภาวะทางแสงเกิดจากแสงที่ส่องสว่างไปนอกพื้นที่ที่ต้องการให้สว่าง จึงไม่ควรติดตั้งแสงสว่างที่สูงเหนือเส้นขอบฟ้าเพื่อลดปัญหาแสงสะท้อน รวมถึงการออกแบบแสงไฟให้ส่องสว่างเฉพาะจุดที่ต้องการให้สว่าง โดยมีปริมาณแสงไฟส่วนเกินน้อยที่สุด
  • แสงส่องสว่างเมื่อไหร่? ควรมีการออกแบบระบบดับไฟ หรือหรี่ไฟอัตโนมัติในช่วงเวลาที่ไม่มีการใช้งาน หรือช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหว ตัวอย่างเช่น การดับไฟหรือหรี่ไฟในช่วงที่มีการอพยพของนกซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
  • แสงส่องสว่างแค่ไหน? ควรมีการประเมินว่าแสงสว่างที่ติดตั้งนั้นสว่างเกินการใช้งานหรือไม่ โดยเน้นย้ำว่าแสงไฟที่สว่างจ้าใช้ว่าจะดีเสมอไปเพราะจะทำให้เรามองไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเงามืดข้างเคียง ที่สำคัญคือการเลือกแสงไฟที่ออกไปทางสีส้มหรือสีเหลืองเนื่องจากมีผลกระทบต่อสัตว์ป่าน้อยกว่าแสงไฟสีขาว-ฟ้า

  • กระทบต่อระบบนิเวศเพียงใด? นอกจากแสงไฟประดิษฐ์แล้ว ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงคือพื้นผิวของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เนื่องจากวัสดุบางประเภทที่มีคุณสมบัติในการตัดแสงสะท้อน (Polarize) เช่น พื้นผิวที่เรียบและมันวาว ซึ่งอาจทำให้แมลง นก และสัตว์ป่าอื่นๆ เข้าใจผิดว่าเป็นผิวน้ำ โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุประเภทนี้หากอาคารตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

เรายังต้องเรียนรู้อีกมากในประเด็นมลภาวะทางแสง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นใหม่ซึ่งได้รับความสนใจในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา และยังมีการศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ป่าจำนวนไม่มากนัก แต่หากพิจารณาถึงการศึกษาเท่าทีมีอยู่ จะพบว่าแสงไฟประดิษฐ์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เราคิด

Did You Know?

มลภาวะทางแสงยังส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วยเนื่องจากแสงไฟประดิษฐ์ก็ส่งผลให้นาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ ‘รวน’ ไม่ต่างจากชนิดพันธุ์อื่นๆ  เช่น แสงไฟในยามค่ำคืนที่กดกระบวนการผลิตเมลาโทนิน ฮอร์โมนที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของแสงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ที่ Missing the Dark: Health Effects of Light Pollution

เอกสารประกอบการเขียน

Ecological light pollution

Light Pollution: A Growing Problem for Wildlife

Our nights are getting brighter, and Earth is paying the price

Missing the Dark: Health Effects of Light Pollution

The ecological impacts of nighttime light pollution: a mechanistic appraisal

Guidance: Light pollution

The Impact of Artificial Lighting on Nocturnal Wildlife

10 Ways That Light Pollution Harms The World

ภาพ : gettyimages

Tags: , ,