ต่อให้ไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพก็พอจะรู้ว่า กล้องไลก้า (Leica) เป็นกล้องที่มีราคาแพงเสียจนต้องตั้งคำถามว่ามันคุ้มค่าจริงหรือเปล่า

เหตุผลใด ทำให้คนอยากได้ไว้ในครอบครอง แม้ราคาจะสูงหลักแสน แถมถ้าเสียเงินขนาดนั้น สามารถไปซื้อกล้องแบรนด์อื่นในท้องตลาด ชนิดที่ได้ชุดใหญ่แบบยกชุด

ประวัติศาสตร์ของกล้องไลก้า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงดูดให้คนยอมจำนนเสียเงิน แต่มีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้กล้องสัญชาติเยอรมันอายุนับร้อยปีนี้ เป็นที่ต้องการและเป็นความใฝ่ฝันของคนเล่นกล้อง

อย่างแรก เป็นเรื่องหน้าตาของกล้องไลก้าที่ดูคลาสสิก สวยงามไร้กาลเวลา เมื่อรวมการผลิตที่ใช้แรงงานคนที่ต้องอาศัยทักษะขั้นสูง ทำให้กล้องแต่ละรุ่นผลิตออกมาในจำนวนไม่มากนัก ส่งผลถึงราคาที่สูงตามงานฝีมือ ไลก้าเลยเป็นกล้องของคนเฉพาะกลุ่ม และถ้าพูดถึงในเชิงซื้อขาย กล้องไลก้าและเลนส์ไม่เคยราคาตก มีแต่จะสูงขึ้นด้วยซ้ำ จนทุกวันนี้ไลก้ากลายเป็นของสะสมไปโดยปริยาย เฉกเช่นเดียวกับคนที่สะสมนาฬิกาโรเล็กซ์ และรถวินเทจดีๆ สักคัน

ตลาดในประเทศไทย แม้จะมีผู้เล่นกล้องไลก้าอยู่ไม่มากนัก แต่ใน 2 -3 ปีที่ผ่านมาก็มีความคึกคักอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ นั่นคือ บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด โดยมีไลก้า สโตร์ อยู่ที่ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ

จากธุรกิจแฟชั่นสู่ธุรกิจกล้อง

ดนัย สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด เป็นนักธุรกิจที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจแฟชั่นมาก่อน เป็นผู้นำเข้าแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Jimmy Choo, Chloe และ Valentino รวมทั้งมีแบรนด์ไทยที่ทำเองอย่าง Disaya และ Something Boudoir

“ผมมาจากธุรกิจแฟชั่น ดีลกับแบรนด์ลักชัวรี่มาก็เยอะ ตอนที่ไลก้าติดต่อมาครั้งแรก ผมเกือบไม่ทำด้วยซ้ำ เพราะเราก็ไม่ใช่บริษัทขายกล้อง จะไปทำการแข่งขันในตลาดได้อย่างไร”

“โดยส่วนตัวผมชื่นชอบไลก้าอยู่แล้ว ผมสะสมมาเป็นสิบปี ทุกคนจะรู้ว่ากล้องไลก้าคือ The Best ราคาไม่ตก ถือไปไหน คนก็ยอมรับ”

“ผมเคยซื้อเลนส์ไว้ตัวหนึ่ง เป็นเลนส์เก่าราคาสามหมื่นห้าพันบาท ผ่านไปสิบปี ราคาขึ้นไปถึงสามแสนห้า ถ้าผมขายก็ถือว่ากำไร ผมจะไม่ห้ามคนซื้อเลนส์หลายๆ ตัว เพราะเลนส์ไลก้าราคาขึ้นทุกปี แต่ตัวกล้องผมจะแนะนำให้เขาใช้ให้คุ้มก่อน เพราะถ้าซื้อมาเก็บไว้ ไม่มีทางที่จะถ่ายรูปเก่งขึ้นมาหรอก”

การตลาดที่ไม่เคยพูดถึงเรื่องสเปคกล้อง

ดนัยบอกว่า ปีแรกที่ไลก้าเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยคือปี 2016 สามารถทำยอดจำหน่ายได้ 150 ล้านบาท ส่วนปี 2017 ที่ผ่านมา ยอดขายเติบโตขึ้นเท่าตัว ทำยอดจำหน่ายไปได้ 300 ล้านบาท

ด้วยหลักการตลาดที่ไม่พูดถึงสเปคกล้องและราคา แต่เน้นการสร้างเครือข่ายของคนที่มีกล้องไลก้า และกระตุ้นให้ออกมาถ่ายรูปผ่านการจัดอีเวนต์

“ปีแรกที่ทำตลาด เรากลัวมาก ไม่เคยมีใครทำ และเราก็ทำไม่เป็น แต่เราก็สร้างประวัติศาสตร์สำหรับตลาดประเทศไทยได้ เพราะเราทำต่อเนื่องแล้วลูกค้าตอบสนองดี ทำให้คนสนุกกับการถ่ายภาพ อยากให้เขาถ่ายภาพได้ดีขึ้น ภูมิใจกับรูปของตัวเอง และบอกต่อว่า กล้องไลก้าดีอย่างไร ทำให้ผมมีแอมบาสเดอร์เป็นร้อยเป็นพันคน”

“เราไม่เคยพูดว่ากล้องมีกี่พิกเซลหรือราคากี่บาท แค่ให้คนที่มีกล้องออกมาถ่ายรูปกับเรา เข้าใจถึงเหตุผลที่มีอยู่ ความสุขของคนที่มีกล้องราคาแพง คือสิ่งที่เรียกว่างานอดิเรกที่คุณต้องสนุก ดีกว่ามีกล้องแต่เก็บไว้ในตู้เพื่อนั่งดูมันอย่างเดียว เลยทำอีเวนต์ให้คนออกมาถ่ายรูปกัน แล้วได้เจอสังคมไลก้าด้วยกัน และบทสนทนาอื่นๆ จะเกิดขึ้นเอง”

มีเงินใช่ว่าจะซื้อได้

ตลาดเมืองไทยได้รับความนิยมแค่ไหน ดนัยบอกว่าทุกวันนี้บางรุ่นขายดีจนขาดตลาด อย่างในปี 2016 รุ่นที่ดีขายดีที่สุดคือ Leica Q สนนราคา 165,000 บาท ส่วนปี 2017 คือรุ่น Leica M10 สนนราคา 268,000 บาท

“เราเคยประมาณการณ์ยอดขายที่เดือนละ 30 ตัว แต่มีความต้องการถึง 60 ตัว โรงงานก็ผลิตไม่ทันอยู่แล้ว อย่างมากก็ส่งให้เราได้ 45 ตัว ก็ต้องไปเอามาจากสโตร์ของประเทศอื่นบ้าง มันไม่พอกับความต้องการ เพราะไลก้าผลิตด้วยมือ บางชิ้นส่วน ถ้าโรงงานผลิตส่งให้ไม่ครบก็ทำไม่ได้ เพราะไลก้าเขาควบคุมคุณภาพการผลิตสูงมาก”

อีกหลักการหนึ่งคือ การใช้เวลากับลูกค้านานๆ เพื่อเข้าใจความต้องการที่แท้จริง ทำให้ลูกค้าได้กล้องที่ชอบและเหมาะสมกับการใช้งาน โดยเป็นแนวคิดที่ดนัยได้ไปเรียนรู้กับไลก้าที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับหนึ่งของเอเชีย และมีไลก้า สโตร์เป็นแห่งแรกของโลก

“ตลาดเมืองไทยตอนนี้ก็น่าจะท็อป 5 ของเอเชีย แต่ที่ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ถือเป็นผู้บุกเบิกในเอเชียเลยก็ว่าได้ ผมไปเรียนรู้ว่าเขาลงไปในทุกรายละเอียดจริงๆ การอธิบายสินค้าให้ถูกกับคน เขาใช้เวลากับลูกค้านานมากๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร เราก็เอาส่วนนี้มาใช้ เรามีผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา ให้ลูกค้าได้ลองจับกล้อง และออกไปถ่ายจริง ก่อนตัดสินใจซื้อ แล้วเมื่อซื้อไปแล้วก็กลับมาหาได้อีก ไม่ใช่แค่ซื้อขายแล้วก็จบๆ ไป”

รุกหนักปี ’61 ตั้งเป้า 500 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายในปี 2561 จะเน้นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมซึ่งมีอายุในช่วง 15 – 40 ปี อยู่ที่ 50% และอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป อีก 50% พร้อมกับขยายฐานลูกค้าใหม่ ผ่านสามกลยุทธ์หลักได้แก่ 1. ไลก้า อะคาเดมี (Leica Academy) จัดเวิร์กช็อปการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่จนถึงมืออาชีพ 2. อีเวนต์พิเศษที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างไลก้าและผู้ใช้ เช่น ทริปการถ่ายภาพในแบบฉบับของไลก้า และ 3. ไลก้า แกลเลอรี แบงค็อก ที่แสดงผลงานของช่างภาพระดับโลกที่ใช้กล้องไลก้าในการถ่ายภาพ พร้อมกับตั้งเป้ายอดขายรวม 500 ล้านบาท

“ตอนแรก กลุ่มลูกค้าเราอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นคนที่รู้จักกล้องไลก้าดีอยู่แล้ว เป็นนักสะสมของแพง แต่ตอนหลัง กลุ่มลูกค้าเราเด็กลงเรื่อยๆ จนตอนนี้ กลุ่มคนอายุ 15 – 40 ปี อยู่ที่ 50% จากปีที่แล้วที่มีแค่ 10% เท่านั้น เป็นกลุ่มที่เติบโตมากๆ เพราะเขารู้แล้วว่าไลก้ามีดีอย่างไร เขากล้าที่จะออกไปถ่ายรูปและมีส่วนร่วมกับเรามากขึ้น”

“การตลาดในปีที่ผ่านมาเน้นการสร้างกิจกรรมให้เขามีส่วมรวม แต่ปีนี้อาจไม่เป็นแบบนั้นก็ได้ เพราะโจทย์เราคือ ให้มีรูปออกมาจากกล้องเขาได้มากที่สุด บางคนที่ถ่ายเก่งแล้วอาจไม่อยากทำกิจกรรม เราก็ปรับเป็นทริปเดินทางไปถ่ายรูปที่มันยากขึ้น เป็นสเต็ปต่อไปเพื่อให้ลูกค้าได้รูปที่ดีที่สุดและสนุกกับการถ่ายรูป เราไม่อยากแค่ขายกล้องมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเดียว”

นอกจากนี้ ในอนาคตกำลังจะมีไลก้า แฟลกชิพ สโตร์ สาขาสอง ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบและอนุมัติจากเจ้าของพื้นที่ โดยทำเลจะเดินทางสะดวกสบายด้วยรถไฟฟ้าเช่นเดียวกับสาขาแรก แต่สาขาสองนี้จะเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่แห่งที่สอง ต่อจากโรงงานในเยอรมนีที่ใช้เงินลงทุนนับสิบล้านบาท

“ผมลืมไปด้วยซ้ำว่าผมขายกล้อง ผมขายสิ่งที่มาหลังจากกล้อง มันเป็นความสุข เวลาที่ได้รูปสวยๆ” ดนัยกล่าวทิ้งท้าย

Fact Box

ไลก้าก็มีกล้องระดับหลักหมื่นเช่นกัน ได้แก่ รุ่น Sofort ซึ่งเป็นกล้องโพราลอยด์ ราคา 11,000 บาท ส่วนรุ่นยอดนิยมในไทยได้แก่ รุ่น SL ราคา 235,000 บาท รุ่น Q ราคา 165,000 บาท รุ่น M10 ราคา 268,000 บาท
ไลก้า สโตร์อยู่ที่ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ เปิดเวลา 10.00 - 20.00 น. โทร. 0-2656-1102 และมีไลก้า แกลเลอรี แบงค็อก (Leica Gallery Bangkok) ที่ตั้งอยู่ติดกัน เป็นแกลเลอรีแห่งที่ 19 ของโลก และเป็นแห่งที่ 4 ของเอเชียต่อจากโตเกียว เกียวโต และสิงคโปร์

Tags: , ,