“ก๊อง แก๊ง ก๊อง แก๊ง” เสียงขีกหรือกระพรวนคล้องคอช้างดังระงมแข่งกับเสียงนกร้องยามเช้าเป็นเสียงที่ชาวบ้านแถบนั้นจะคุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะหากเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์บนพื้นที่ที่ห่างจากเส้นเขตแดนไทยไป 124 กิโลเมตร

ทุกเช้ามืดของวันใหม่ ควาญช้างหลายสิบคนจะทยอยมาอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน พร้อมๆ กับพาช้างคู่ใจมาชำระล้างคราบฝุ่นดินอยู่ริมแม่น้ำฮุง แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ก่อนจะพาช้างไปแต่งตัวเสริมสวยเสริมหล่อ

“ช้างตัวไหนแต่งตัวงามๆ คนก็จะอยากขี่” เอื้อยจำปา แสงสว่าง เจ้าของช้างจากเมืองเพียง แขวงไชยบุรี เอ่ยขึ้นขณะเย็บพวงไหมพรมหลากสีเข้ากับผ้าคลุมหัวและตัวช้างก่อนจะผูกเหย่งหรือเก้าอี้บนหลังช้างเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา ทั้งชาวลาวและชาวต่างชาติที่คาดว่าจะมาร่วมงานมหกรรมบุญช้างไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน 

งานมหกรรมบุญช้างนับเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของประเทศลาวรองจากงานบุญปีใหม่และงานบุญพระธาตุหลวง จัดขึ้นเพื่อสืบทอดประเพณีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนลาวที่ผูกพันกับช้างมาแต่โบราณ เพื่ออนุรักษ์ปกป้องช้างให้อยู่คู่บ้านเมือง และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของแขวงไชยบุรี ซึ่งงานบุญช้างเคยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2007 ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ก่อนที่ปีต่อๆ มาจะย้ายมาจัดงานที่ตัวเมืองไชยบุรี

ช้างหลายตัวเป็นช้างลากซุงมาก่อน บางเชือกก็เพิ่งออกมาจากป่าได้ไม่นาน ซึ่งช้างเหล่านี้จะถูกฝึกโดยเริ่มตั้งแต่พื้นฐานอย่างการสวัสดีและขอบคุณ ก่อนจะเพิ่มทักษะที่ยากและใช้เวลามากขึ้นไปเรื่อยๆ

ครอบครัวแสงสว่าง จากเมืองเพียง เจ้าของช้างหนุ่ม ‘คูน’ วัย 32 ปี และ ‘คำเพง’ วัย 27 ปี บอกว่าเคยพาช้างมาร่วมงานบุญหลายปีแล้ว ปีนี้ก็พาช้างมาฝึกและสร้างความคุ้นเคยกับสถานที่ก่อนวันงานจริงอยู่ที่เมืองไชยบุรีนานกว่า 2 เดือน โดยการคัดเลือกช้างมาร่วมงานนั้นทางรัฐบาลลาวจะมีรายชื่อประชากรช้างทั้งหมดในแขวง ซึ่งจะพิจารณาเรียกตัวช้างที่ไม่ดุร้าย แสนรู้ สามารถฝึกได้มาร่วมงานบุญ และได้สนับสนุนออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่างทั้งคนและช้าง ทั้งการขนย้ายช้างและอาหาร 3 มื้อทุกวัน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการอาหารของช้างที่มากถึง 250 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือกันกับชาวบ้านในแขวงที่ร่วมกันบริจาคเงินและอาหารให้ช้าง อย่างนักท่องเที่ยววัยสาวปลายๆ จากเวียงจันทน์ ที่กำลังป้อนลำอ้อยให้ช้างก็บอกว่าเป็นการ ‘เฮ็ดบุน’ หรือเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปีร่วมกัน

ภายในงานจะมีงานมหรสพรื่นเริงมากมายทั้งการเดินขบวนพาเหรดของช้าง การแสดงของช้างคำฮู้หรือช้างแสนรู้กว่า 29 รายการ เช่น ช้างคำนับ มอบดอกไม้ ชักธงขึ้นยอดเสา วาดรูป ชักเย่อ เตะบอล หมุนห่วง เป็นต้น การแสดงของกลุ่มเยาวชนจำนวน 1,600 คนจาก 8 ชาติพันธุ์ เช่น ลาว ม้ง ยวน ขมุ ไทลื้อ ไทดำ การเลี้ยงบุฟเฟ่ต์ช้าง การทำบุญตักบาตรช้าง และการสืบสานประเพณีบายศรีช้างเพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพขอบคุณช้าง รวมถึงการออกร้านรวงขายของต่างๆ 

ช้างแสนรู้กว่า 68 เชือก ที่มาร่วมมหกรรมงานบุญในปีที่ 11 นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของช้างจำนวนไม่ต่ำกว่า 300 เชือก ในแขวงไชยบุรีที่ได้ชื่อว่ามีช้างมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศลาวและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับชื่อเดิมของบริเวณนี้ว่า ‘ศรีสัตนาคนหุต’ ซึ่ง ศรี หมายถึง สิริมงคล สต หมายถึง 100 ส่วน นาค หมายถึง ช้าง และ นหุต หมายถึง 10,000 รวมแล้วจึงแปลว่า ดินแดนแห่งร้อยหมื่นช้าง หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อของ ‘ล้านช้าง’

“พี้ พี้ เฮา เฮา” คือคำสั่งง่ายๆ ที่ควาญบอกให้ช้างแสนรู้เดินมาหาและบอกให้หยุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยได้สัมผัสสัตว์ใหญ่อย่างใกล้ชิด บรรยากาศในงานจึงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความม่วนชื่น และความตื่นตาตื่นใจ

แต่หากย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนการเห็นช้างตัวเป็นๆ ในสปป.ลาว หรือในเมืองหงสา สถานที่จัดงานครั้งแรกนั้นคงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรเพราะชาวบ้านเลี้ยงช้างกันแทบทุกครัวเรือน แต่เมื่อเทียบตัวเลขคร่าวๆ ที่จำลอง บุญสอง ผู้เคยไปร่วมงานบุญช้างในปีแรกเคยบอกไว้ว่าแขวงไชยบุรีมีช้างเกือบ 500 เชือก มากที่สุดก็ที่เมืองหงสา มีเกือบๆ 50 เชือก กับตัวเลข 10 ปีหลังที่ผู้เขียนไปร่วมงาน ช้างลดลงไปกว่า 200 เชือก ส่วนช้างที่เมืองหงสาก็เหลือแค่เพียง 3–4 เชือก จำนวนช้างที่หายไปนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลย 

หรือหากดูจากรายงานที่ทางการสปป.ลาวและศูนย์อนุรักษ์ช้างลาวเก็บสถิติไว้พบว่าประชากรช้างลาวลดลงถึง 90% จากปี 1988 ซึ่งปัจจุบันทั่วทั้งสปป.ลาวเหลือช้างประมาณ 800 ตัว แบ่งเป็นช้างป่า 400 ตัว และช้างบ้าน 400 เชือกเท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้ก็ยังคงลดลงไปทุกวัน

ดินแดน ‘ล้านช้าง’ ที่เป็นชื่อเรียกเปรียบเปรยถึงความมากมายในอดีต จึงเหลือแค่เพียง ‘ร้อยช้าง’ ในปัจจุบัน…

ช้างพังวัยสาวกำลังหากินอยู่แถวคูน้ำในเมืองหงสา แขวงไชยบุรี สปป.ลาว อ้ายแสง ชาวบ้านหงสาเล่าว่าช้างเชือกนี้ปกติจะอยู่รีสอร์ทบริการนักท่องเที่ยว แต่ช่วงนี้เป็นหน้าฝน นักท่องเที่ยวน้อย และคนเลี้ยงช้างกลัวว่าน้ำป่าจะพัดช้างไปจึงพามาเลี้ยงไว้ที่นี่ชั่วคราว /ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

แอนาเบล โลเปซ เปเรซ (Anabel López Pérez) นักชีววิทยาชาวสเปน ที่ทำงานในศูนย์อนุรักษ์ช้างลาวกล่าวว่าสาเหตุสำคัญของประชากรช้างลาวที่ลดลงอย่างมากนี้ก็มาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อส่งออกไม้ให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีนและเวียดนาม การให้สัมปทานทำเหมือง สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า การสร้างถนน ทางรถไฟ รวมถึงสารธาณูปโภคต่างๆ ที่มาพร้อมกับการเข้ามาของนายทุนและเมืองที่ขยายตัว ซึ่งปัจจุบันสปป.ลาวเหลือพื้นที่ป่าเพียง 40% จาก 70% ที่เคยมีบันทึกไว้ช่วงทศวรรษ 1950s 

นอกจากพื้นที่อยู่อาศัยหากินของช้างถูกทำลายแล้ว ช้างก็ยังถูกล่าเอางาหรือลักลอบส่งออกไปยังประเทศจีน จากผลวิจัยใน THE IVORY TRADE OF LAOS: NOW THE FASTEST GROWING IN THE WORLD พบว่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมามีช้างถูกลักลอบส่งไปยังประเทศจีนมากถึง 80–100 เชือก (หรือประมาณ 25% ของช้างบ้านทั้งหมด) ส่วนมากจะถูกขายให้รีสอร์ท ปางช้าง หรือคณะละครสัตว์ ซึ่งข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับการพูดคุยสอบถามชาวบ้านที่เมืองหงสาถึงสถานการณ์ช้างที่ผ่านมาว่าคนที่มารับซื้อช้างส่วนมากจะเป็นชาวจีน ราคาเชือกนึงสูงถึงหลักล้านบาท แต่ก็เคยมีฝรั่งซื้อลูกช้างไปเลี้ยงที่บ้านเมืองเขาอยู่เหมือนกัน แต่ปีกว่าลูกช้างก็ตายเพราะสิ่งแวดล้อม อากาศ อาหาร และการเลี้ยงดูต่างกัน  

นอกจากปัจจัยข้างต้น การเลี้ยงดูช้าง ความเครียดของช้าง การถูกล่ามหรือใช้งานหนัก ฯลฯ ก็ล้วนแต่ส่งผลต่ออัตราการเกิดและตายของช้างเช่นกัน 

ช้างเชือกหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 4 เชือกที่เหลืออยู่ในเมืองหงสา กำลังเดินบนถนนในตัวเมือง พื้นที่ที่ปัจจุบันได้รับสัมปทานทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ส่งมายังประเทศไทย / ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

การจัดงานบุญช้างในแต่ละปีด้วยบรรดาช้างที่เหลืออยู่ นำรายได้มาสู่แขวงไชยบุรีเป็นจำนวนมาก แม้ว่าทางการจะบอกว่าการจัดงานนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ช้างลาว แต่ผู้เขียนเองก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าวิธีการนี้เวิร์กจริงไหม ในเมื่อจำนวนประชากรช้างลาวยังคงลดลงอยู่ทุกปี และจากการคาดการณ์ของนักวิจัยและนักชีววิทยาประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างลาวบอกว่าหากรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ไม่เข้ามาแก้ไขปัญหาประชากรช้างที่ลดน้อยลงนี้อย่างจริงจัง ภายในปี 2030 สปป.ลาวอาจจะไม่เหลือช้างป่าตัวเป็นๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จีนลงทุนภายใต้นโยบายเศรษฐกิจ One Belt One Road ที่จะทำลายพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไปเป็นจำนวนมาก

จากป่าสู่เมือง จากสัตว์สู่สินค้า 

ในวันหนึ่งเราอาจเห็นช้างเป็นเพียงสัตว์หายากในความทรงจำก็เป็นได้