กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล บุรุษผู้ได้รับฉายาว่าเจ้าพ่อสตาร์ทอัปเมืองไทย เข้ามารันวงการสตาร์ทอัปไทย ตั้งแต่เรายังรู้จักแค่คำว่าเอสเอ็มอี พยายามสร้างสตาร์ทอัปอีโคซิสเต็มส์ในไทยให้แข็งแรง มีโรงเรียนสอนสตาร์ทอัปชื่อว่า Disrupt University และเป็นผู้จัดการกองทุน 500 Tuktuks สำหรับลงทุนในสตาร์ทอัปที่น่าสนใจ
ข่าวใหญ่ช่วงต้นปี เมื่อเขาเข้ามารับตำแหน่งประธาน KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) พร้อมกับในงานแถลงข่าวกลยุทธ์ A Year of i ของกสิกรไทย เขาขึ้นเวทีประกาศเป้าหมายสำคัญคือนำ KBTG สู่บริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในอาเซียนภายในปี 2564
นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของกระทิงทั้งในแง่ของการผลักดัน KBTG เดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ และเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารรู้ใจลูกค้ามากที่สุด (Cognitive Banking)
ต้องวิ่งเร็วกว่าเดิม
กระทิงไม่ถือเป็นหน้าใหม่ในวงการธนาคาร และมีความคุ้นเคยกับธนาคารกสิกรไทยเป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับคุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ) ซีอีโอของกสิกรไทย ในเรื่องของ Disruption กับ Fintech มาได้หลายปีแล้ว
“ปีที่ผ่านมาเขาเรียกว่าเป็นปีของ Disruptor แต่ปีนี้จะเป็นปีของ Incumbent คือผู้เล่นดั้งเดิมเริ่มตั้งหลักได้และเข้าใจว่าต้องขยับเร็วขึ้น ซึ่ง KTBG ก็เช่นเดียวกัน เราปรับฐานกันมาหลายปี พอเราเข้ามาก็ใช้เวลาปรับฐานกันอีก เราก็คิดว่าจะไม่ได้เป็นช้างอีกต่อไป แต่จะเป็นก็อตซิลลา คือทำอย่างไรให้มันวิ่งได้เร็วขึ้นภายใต้กรอบที่มีอยู่”
“จากประสบการณ์ของเรารู้ว่าโลกกำลังขยับไปทางไหน เราก็เอาความรู้ตรงนี้มาใช้กับ KBTG สามารถสร้างเทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่แข่งขันในลีกที่เรามีมากกว่าผู้เล่นที่เป็นธนาคาร”
“เราต้องไปแข่งกับผู้เล่นที่เป็น Internet Player เราจะเริ่มเห็นแล้วว่า Apple เพิ่งเปิดตัว Apple Card แสดงว่าเริ่มเข้ามาอยู่ใน Financial Services หรือบริษัทอย่าง Google และ Alibaba ก็เข้ามาเล่นในโลกการเงิน ดังนั้นกสิกรไทยไม่ได้แข่งกับธนาคารอื่นแล้ว แต่แข่งกันในลีกที่มันสูงขึ้น” กระทิงให้ความเห็น
ขณะที่เขาเคยอยู่แต่ในวงการสตาร์ทอัป ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนและลูกค้า แต่กับการทำงานที่กสิกรไทย เขามีทั้งโมเดลธุรกิจ คน เงินทุน แม้จะต้องทำงานใต้กรอบที่มีมากกว่าในวงการสตาร์ทอัป แต่เขายังว่ามันเป็นเรื่องดี
“สุดท้ายไม่ว่าจะทำอะไรมันก็มีข้อจำกัดหมดแหละ จากข้อสรุปของเราคือพยายามจะทำอย่างไรให้ข้อจำกัดนั้นเป็นประโยชน์ที่สุด ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีตัวแปรที่จะต้องโอเปอร์เรทอยู่ในกรอบนี้ มีเรื่องนวัตกรรมในโลกของ Financial Services เช่น Fintech ที่เราสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใต้กรอบ ไหนจะทำให้องค์กรที่มีพนักงานกว่า 1,200 คน มีการเคลื่อนไหวเหมือน Big Startup”
“กสิกรไทยคือ Digital Bank ของประเทศไทย ซึ่ง KBTG สามารถทำบางอย่างที่มันใหญ่มากได้ เพราะตอนนี้ถ้ามองในแง่ความสนใจเรื่องเทคโนโลยีของโลก ไปอยู่ที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ทำให้ต่อไปเราจะล้าหลังเวียดนาม โจทย์คือทำอย่างไรที่ดึงความสนใจมาที่เรา เรียกว่าการเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีของภูมิภาคอาเซียนมาที่ประเทศไทย”
คือองค์กรของผู้ชนะ
หลังเข้ามารับตำแหน่งประธาน KASIKORN Business-Technology Group (KBTG)ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา กระทิงมีหลายภารกิจที่ต้องทำภายในองค์กร การสร้างวัฒนธรมองค์กรที่เรียกว่า One KBTG และการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายปี 2564 ที่จะทำให้ KBTG เป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในอาเซียน
“ถ้าพูดถึงทรัพยากรผมไม่ห่วงเลย แทบจะพูดได้ว่าเรามี Unlimited Resource คนที่อยู่ปัจจุบันก็เก่งมาก ในวงการธนาคารมีแต่มาดึงคนของเราไป เรามีโปรแกมเมอร์มือหนึ่งของเมืองไทย ที่เขียนภาษาคอมพิวเตอร์เก่งที่สุดคือภาษา Go ที่ Google เป็นคนคิด ซึ่งใช้กับพวก Machine Learning และ AI แต่ประเด็นคือมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันมากกว่า ที่ยังดึงศักยภาพของคนออกมาไม่ได้ ถามว่าเป็นไปได้ไหม ผมว่าโคตรยาก แต่ถ้าให้ผม 5 ปี ผมว่าทำได้”
“แต่เราควรมีเป้าหมายที่ท้าทายไง ที่ตั้งไว้ 3 ปี ผมว่ามันจะเห็นผลตอน 5 ปี เพราะถ้าตั้ง 5 ปี มันจะเห็นผลตอน 7 ปี เราเรียกว่า Big Hairy Audacious Goal หรือ BHAG คือเป้าหมายที่มันบ้ามากๆ เพราะความเป็นไปได้มันน้อยกว่าความเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราตั้งเป้าหมายแบบที่คนอื่นทำ เราจะทำทำไม มันไม่ใช่เป้าหมายสำหรับผู้ชนะ ผมอยากสร้างเป้าหมายให้กับ KBTG ที่เป็นองค์กรของผู้ชนะ ทีมที่ดีที่สุดต้องไขว่คว้าและกระหายกับเป้าหมายที่ท้าทายที่สุด ดึงศักยภาพของคนออกมาเพื่อไปให้ถึง คุณต้องเหยียบคันเร่ง 100-120% จะผ่อน 80% ไม่ได้ คุณจะไปถึงเป้าหมาย เหมือนวิ่งมาราธอน วิ่งไปร้อยเมตรแล้วหยุด เสร็จแล้วว่ายน้ำต่อ จากนั้นปั่นจักรยาน”
กระทิงพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยกลยุทธ์ One KBTG รวมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน กับอีกอันคือ A-Class มันคือ You’ll be the best wherever you are. เพราะว่าการจะเป็นที่หนึ่งในอาเซียนหมายความว่าคุณจะอยู่ฝ่ายใดในองค์กรคุณก็เป็นผู้เล่นคนหนึ่งของทีมที่จะต้องเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุด และทั้งทีมเป็นหนึ่งเดียวกัน
“การสร้างวัฒนธรรมเป็นการวิ่งมาราธอนไม่มีวันสิ้นสุด ต้องปรับตลอดเวลา คือจากประสบการณ์ไม่ว่าจะอยู่ไหนก็ตาม องค์กรใหญ่ขึ้นปุ๊บ สถานการณ์เปลี่ยน ทำให้การสร้างวัฒนธรรมต้องทำทุกวัน เพราะมันคือพฤติกรรมพนักงานที่เกิดขึ้นตอนไม่มีใครจับตามอง ทำไม 4 ทุ่มแล้ว พนักงานยังทำงานกันอยู่ ทำเพราะมีความสุข นั่นเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมไง เราต้องรักษาตลอดเสมอ ไม่สามารถขี้เกียจได้ ทุกวันเราต้องสู้เพื่อวัฒนธรรมที่ดีและพัฒนาให้ดีขึ้น”
สู่การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงของธนาคาร
กระทิงมองว่า KBTG จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงของธนาคารกสิกรไทย ที่ธนาคารต้องถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ราวกับเป็น Technology Company ที่ยังอยู่ในกรอบของธนาคารเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ Financial Service อยู่ และเป็นผู้สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่รู้ใจลูกค้ามากที่สุด (Cognitive Banking)
“โลกเทคโนโลยีแข่งขันกันด้วยคนเก่งๆ เนื่องจากเราจะทำให้เคแบงก์เป็น Cognitive Banking คือแบงก์ที่รู้ใจลูกค้า แต่อันดับแรกเราต้องรู้จักลูกค้าก่อน เรียกว่า Perceptive Banking ไม่ใช่แค่รู้ว่าเขามีบัญชีอะไร แต่เห็น Customer Journey เพื่อให้ทุกคนในเคแบงก์เห็นภาพลูกค้าเป็นภาพเดียวกัน ถัดมาเป็น Prescriptive Banking มันคือการที่เราสามารถให้คำแนะนำเขาได้ และสุดท้ายมันถึงเป็น Cognitive Banking ยิ่งกว่ารู้ใจเขาอีก”
“หลักๆ โปรดักส์ของเราคือปล่อยกู้ แต่ประเด็นคือปล่อยกู้อีกแบบก็ได้ ยกตัวอย่างถ้าเราจะปล่อยกู้กับคนขับรถแท็กซี ถ้าเป็นแบบแต่ก่อนไม่ได้แน่นอน เขาไม่มีสเตทเมนท์ พอเราเอาดาต้ามาจับสามารถดูรายรับของเขาได้ ทำเครดิต สกอร์ ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบ แม้กรอบของธนาคารจะดูหนักหน่วงแต่ยังมีอะไรให้เล่นอีกเยอะ”
กระทิงอธิบายเพิ่มเติมว่าธนาคารที่รู้ใจลูกค้า เปรียบเทียบเหมือน Amazon Alexa และ Siri แต่ไม่ใช่ อาจมากกว่านั้น คือแนะนำลูกค้าได้เลยว่าจากประวัติของลูกค้า มีรายรับเท่านี้ ควรเอาเงินไปทำอะไรบ้าง เก็บเงินเท่าไร แล้วต้องลงทุนอะไร จะสามารถผ่อนหรือกู้ยืมเงินได้มากน้อยแค่ไหน สมัครเครดิตการ์ดได้ไหม เป็นเหมือนเพื่อนที่รู้ใจทางการเงิน
“เราจะรู้ใจได้อย่างไร ก็มาจากฟีคแบคของธนาคารที่มีต่อลูกค้า และทัชพอยต์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เราเอาข้อมูลที่ลูกค้ายินยอม ก็จะทำให้เห็นภาพที่บอกได้เลยว่าการเงินของเขาควรจะทำอย่างไรกับมัน เหมือนคุณมี Personal Financial Adviser ผู้จัดการความมั่งคั่งส่วนบุคคล ที่ปกติคุณต้องเป็นเศรษฐีพันล้านหรือมีเงิน 150 ล้านขึ้นไปถึงจะมีแบบนี้ แต่ต่อไปเคแบงก์จะมีสิ่งนี้บริการให้ลูกค้าทุกคน” กระทิงกล่าวทิ้งท้าย
Tags: ธนาคารกสิกรไทย, กสิกรไทย, KBTG