“เจ้าแม่กาลีจะลงแล้วนะ”

คำพูดติดตลกที่เราชอบใช้ตอนโดนเพื่อนๆ รุมยามเล่นบอร์ดเกม พร้อมใส่จริตเฟียร์ซเท้าสะเอว ทำตาเบิกโพลง ตามภาพจำของเจ้าแม่ที่เคยเห็นมา เป็นสัญญาณว่ามุตาจะไม่ยอมเป็นเหยื่ออีกต่อไป (…ความจริงคือแกล้งคนอื่นๆ ก่อนจนเขายกทีมมาแก้แค้น)     

สารภาพว่าตอนแรกที่ยกชื่อเจ้าแม่มาแอบอ้าง ก็เพราะนึกไปถึงคำว่า ‘กาลีบ้าน กาลีเมือง’ ที่ให้ความหมายเชิงทำลายล้าง ว่าฉันนี่แหละจะนำความชั่วร้ายมาสู่พวกเธอ

แต่ด้วยจิตวิญญาณของพิสูจน์อักษรสาว เราพบว่า กาลี (ว.) ในความหมายชั่วร้ายที่คุ้นหูกัน เพี้ยนมาจาก ‘กลิ’ คำบาลีสันสกฤต ตามประสาบ้านเราที่ยืดเสียงกร่อนเสียงคำกันเป็นว่าเล่น แต่ความกาลีที่ไม่มงคลนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าแม่กาลีอย่างใดไม่

โกลกาตา (Kolkata)

ตัดภาพมาที่เมืองหลวงสุดล้ำของรัฐเบงกอลตะวันตก (West Bengal) ที่มีทั้งรถไฟใต้ดินแล่นฉิว ห้างสรรพสินค้าหรูหรา สนามบินนานาชาติใหญ่โต จนต้องฉีกภาพจำอินเดียสุดเชย สลัมซอมซ่อ หรือคนอึข้างทางทิ้งไป

ถ้าตัดคนอินเดียและป้ายภาษาเบงกาลี (ภาษาประจำรัฐ) พันกันยึกยือออก เอ่อ… ขอตัดกองขยะน้อยใหญ่ กับน้องวัวริมทางออกด้วย สภาพแวดล้อมโกลกาตาก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ มากนัก เต็มไปด้วยอาคารคอนกรีตสูงสามสี่ชั้น มีตึกระฟ้าปะปนบ้างนิดหน่อย

ไม่ว่าจะรวยจน อาศัยอยู่กลางย่านเอสพลานาด (Esplanade) แหล่งชอปปิงสุดอินเทรนด์เทียบเท่าสยามสแควร์ หรืออยู่ชานเมืองติดไร่นา สิ่งที่อาคารทุกหลังมีเหมือนกันคือดาดฟ้า เพราะใช้ได้สารพัดประโยชน์ ทั้งตากผ้า นั่งพักผ่อน เล่นว่าว หรือแอบจู๋จี๋กัน (เพื่อนบอกมา) ต่างจากบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทยเรา ที่นิยมหลังคาจั่วกันมากกว่า  

ท่ามกลางแสงสีของเมือง วัฒนธรรมและศาสนายังคงเข้มข้น ผสมผสานเข้ากันลงตัว เหมือนชามาซาลาใส่นมรสนุ่มเผ็ดเครื่องเทศนิดๆ เรายังเห็นหญิงสาวใส่ส่าหรีสีจัดจ้านเดินควงแขนกันเฮฮา เด็กหนุ่มเปิบเมนูข้าวในร้านฟาสต์ฟู้ดต่างสัญชาติ และมีวัดฮินดูขนาดเล็กใหญ่แทบทุกตรอกซอกมุม

ใบหน้าที่โดดเด่นที่สุดในเมืองเป็นของหญิงสาวผิวกาฬ (สีดำ) ตรงตามชื่อของเธอกาลี ปรากฏตั้งแต่เช้าตรู่ที่ป้ายรถเมล์หน้าสนามบิน และโผล่มาอย่างต่อเนื่องแทบทุกฝีเก้า จึงทำให้พอเดาได้ว่า เจ้าแม่กาลีต้องเป็นเทวีตัวท็อปของโกลกาตาแน่นอน เหมือนที่ชาวเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) เคารพพระพิฆเนศเป็นอันดับหนึ่งในดวงใจ

เยือนถิ่นเจ้าแม่กาลี

ยามสายสุดพลุกพล่านของย่านกาลีกัต (Kalighat) ถึงแม้จะเป็นชุมชนเก่าเกินร้อยปี แต่ถัดลงไปใต้พื้นคอนกรีต รถไฟใต้ดินแห่งแรกของอินเดีย เปิดตัวสมัยรัฐบาลอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ก่อนที่เธอจะถูกลอบสังหารในปีเดียวกัน (1984) กำลังวิ่งรับส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายต่างๆ ทั่วเมืองในราคาเริ่มต้นเพียง 5 รูปีอินเดีย (2.5 บาท)

ถ้าถามคนโกลกาเตียนถึงสถานที่ห้ามพลาด ร้อยทั้งร้อยต้องสั่นหัวดุกดิกชี้ให้มาวัดกาลีกัต วัดของเจ้าแม่กาลีโดยเฉพาะ…

ศาสนาฮินดูมีเทพเจ้าเยอะมาก วัดที่นี่จึงแยกชัดเจนว่าสังกัดกับเทพองค์ใดเป็นหลัก ตามศรัทธาบวกเรื่องเล่าของคนละแวกนั้น ไม่เหมือนบ้านเราที่ทุกวัดบูชาพระพุทธเจ้า

ในฐานะเจ้าหญิงแห่งวงการอินเดียใต้ เราเองคุ้นชินกับวัดฮินดูมีโกปุรัม หอคอยประดับรูปสลักทวยเทพจิ๋วนับพันหมื่น เหมือนวัดแขกสีลมกรุงเทพฯ ตามสไตล์อินเดียใต้มากกว่า แต่วัดนี้เป็นอาคารโล่งๆ มีหอคอยตรงกลางลักษณะคล้ายเจดีย์ตัดยอดแหลม หากไม่เห็นร้านรวงขายเทวรูปวางแผงตั้งแต่ปากซอย เราก็คงไม่รู้ว่าที่นี่เป็นวัด

เราตีเนียนเดินไปต่อแถวกับผู้แสวงบุญ บางคนมาเพียงตัวและหัวใจ แต่บางคนก็เล่นใหญ่จัดเต็ม พวงดอกพู่ระหงสีแดงแจ๊ดที่เจ้าแม่ชอบนักหนาต้องมา มะพร้าวแก่เครื่องบูชาต้องมี แต่ยี่สิบนาทีผ่านไป ขบวนเคลื่อนตัวได้แค่ 500 เมตร ก็ถึงเวลาต้องถอดใจ กลับหลังหันโบกมือส่งจูบลาลุงป้าข้างเคียง เพื่อไปหาเจ้าแม่กาลีที่อื่นแทน

เห็นเด็กสาวใจไม่สู้ ลุงเลยแอบกระซิบว่ามาแต่เช้ามืดสิ ไม่ต้องต่อแถวนาน

เราเดินก้าวฉับๆ ลงใต้ดิน นมัสเตคนขายเหรียญเมโทร ออกสำเนียงชัดถ้อยชัดคำเพราะซ้อมมา

“โชบะหาบาซาระ (Shobhabazar)” ตรงบะกับระ ให้ออกเสียงเบาๆ เป็นอันรู้กันพอ

(ถ้าจะมาอินเดีย ต้องซ้อมออกเสียงชื่อสถานที่ต่างๆ ให้เป๊ะ ไม่งั้นคุยกับคนอินเดียไม่รู้เรื่อง เราเคยเมาท์กับแก๊งบะไฮ (Bhai คำฮินดี แปลว่าพี่ชายน้องชาย) ถึงประสบการณ์เยี่ยมเยือนทัชมาฮาลครั้งแรก แต่เล่าออกรสเท่าไร หนุ่มๆ ก็ได้แต่มองหน้ากันไปมาตาปริบๆ จนคนหนึ่งนึกขึ้นได้ว่า “อ๋อ เธอหมายถึงต๊าจมะอัล ใช่ไหม”)

จากสถานีรถไฟใต้ดิน ประมาณ 2 กิโลเมตร จะเดินก็ได้ นั่งออโตริกชอว์ (รถตุ๊กๆ สไตล์อินเดีย) ก็ดี ที่นั่นคือบ้านของเจ้าแม่กาลีนับร้อยพัน เธอยืนกางสี่แขนน่าเกรงขาม ตั้งเรียงรายเป็นกองทัพทั่วกุมาร์ทุลี (Kumartuli) ชุมชนนักปั้นขนาดย่อมริมแม่น้ำฮูลี แม่น้ำสายหลักเมืองโกลกาตา ที่แยกสายมาจากคงคาอีกทอดหนึ่ง

นอกจากเจ้าแม่กาลีแล้ว ในโกดังไม้เก่าคร่ำครึยังมีเทพเจ้าองค์อื่นอีกมากมาย ทั้งเจ้าแม่ทุรคา พระพิฆเนศ ฯลฯ ประหนึ่งว่ายืนอยู่กลางสนามรบศึกมหาเทพยังไงยังงั้น

เพราะแดดยามบ่ายร้อนเกินกว่าจะทำงานได้ กุมาร์ทุลีจึงครึกครื้นในช่วงเช้าและเย็นเป็นหลัก  

นายช่างขึ้นรูปทวยเทพคร่าวๆ ด้วยฟาง มัดรวมกันทำลำตัวและแขนขา ต่อด้วยโปะดินเหนียวจากแม่น้ำฮูลี จนดูเผินๆ ก็เริ่มแยกออกว่าใครเป็นใคร สี่แขนต้องเจ้าแม่กาลี สิบแขนต้องเจ้าแม่ทุรคา ส่วนมือ เท้า และหัวแยกปั้นต่างหาก แล้วค่อยเชื่อมติดกันทีหลัง

เรื่องจำนวนแขนไม่ตายตัว บางครั้งเทวรูปเจ้าแม่กาลีก็มีสิบแขน หรือบางทีเจ้าแม่ทุรคาก็มีมากกว่าสิบแขน อยู่ที่ช่างฝีมือหยิบยกมาจากฉากไหนตอนใด

เมื่อดินเหนียวแห้ง ผิวเจ้าแม่อาจมีริ้วรอยแตกลายงา แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการพอกทับเศษผ้าบางๆ ชุบโคลนจนเรียบเนียน ไม่ต้องพึ่งครีมแมจิกมิราเคิลใดๆ แห้งแล้วลงสีขาวเป็นฐาน เตรียมลงสีเคลือบเงาตามแฟชั่นของแต่ละองค์

ส่วนดวงตาศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ต้องลงสีด้วยช่างฝีมือเฉพาะทางเท่านั้น และต้องชำระร่างกาย สวมชุดใหม่ก่อนสะบัดฝีแปรง เพราะเมื่อวาดดวงตาเสร็จ ก็เป็นเหมือนสัญญาณว่าองค์เทพลงมาสถิตแล้ว กระบวนการทั้งหมดกินเวลากว่า 7-10 วัน ตามขนาดเล็กใหญ่

เจ้าแม่กาลีที่กุมาร์ทุลีเจิดจรัสด้วยท่วงท่าสะกดสายตา หญิงท้วมแลบลิ้น สวมสร้อยหัวอสูร ยืนเหยียบสามีตัวเองพระศิวะ แวบแรกคิดว่าเจ้าแม่อวตารองค์นี้แข็งแกร่งขนาดฆ่าแกงผัวตัวเองได้เลยหรือ แต่เอ… ตำนานนี้ไม่เคยได้ยิน ตกเป็นภาระหนุ่มน้อยอินเดีย ต้องมาไขข้อสงสัยเจ้าหนูจำไมให้หายข้องใจ

ตำนานเริ่มที่อสูรตนหนึ่งรุกรานผู้คน หากสู้กันแล้วเลือดหยดลงดิน มันจะเกิดขึ้นมาใหม่อีกไม่รู้จบ เดือดร้อนถึงเบื้องบนต้องออกโรง พระแม่อุมาจึงอาสาพระศิวะไปบำเพ็ญตบะจนอวตารเป็นเจ้าแม่กาลี พร้อมราวีอสูรร้าย

เพื่อไม่ให้เลือดอสูรตกพื้นดิน เจ้าแม่จึงตัดหัวมันแล้วดื่มเลือดจนหมดตัว ครั้นเห็นว่าชนะแล้วจึงดีใจเกินเบอร์ กระโดดกระทืบเท้าสนุกสนาน ลืมว่าเพิ่งดื่มเลือดมาจนตัวใหญ่ แรงกระโดดสั่นสะเทือนไปทั้งโลก

ด้านสามีกลัวโลกจะแตกเสียก่อน จึงรีบเอาตัวเองมารองเท้านางไว้…

“เหยียบพี่แทนสิจ๊ะ” พระศิวะไม่ได้กล่าวไว้

เจ้าแม่กาลีในใจชาวจีน

นอกจากล่องเรือหนีความข้นแค้นจากแผ่นดินใหญ่มาประเทศไทยแล้ว คนจีนส่วนหนึ่งอพยพขึ้นฝั่งริมอ่าวเบงกอล ต่อมายังโกลกาตา และตั้งรกรากเป็นชุมชนจีนขนาดเล็กหนึ่งเดียวในอินเดีย

ย่านทันกรา (Tangra) หรือไชน่าทาวน์ เคยโดดเด่นด้วยอาหารจีนผสมอินเดีย และอุตสาหกรรมฟอกหนัง แต่หลังจากรัฐบาลสั่งห้ามฟอกหนังเพราะเกิดมลพิษ คนจีนก็ทยอยย้ายถิ่นฐานกันออกไป จนปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น

แม้บริบทรอบข้างจะอินเดียจ๋าสุดฤทธิ์ แต่ซุ้มประตูจีนเล็กใหญ่สีแดงนำโชคกลับดูกลมกลืนกับผู้คนย่านนี้ กลับกลายเป็นวัดขนาดเล็กกว่าอาคารหนึ่งคูหาเสียอีก ที่ดูแปลกถิ่น เพราะเทวรูปภายในคือเจ้าแม่กาลี ไม่ใช่เจ้าแม่กวนอิมหรือเทพจีนคุ้นหน้าค่าตาองค์ใด   

คนจีนร่วมใจสร้างวัดกาลีจีน (Chinese Kali Mandir) ถวายเจ้าแม่ ตามแรงศรัทธาฟิวชั่นระหว่างสองสัญชาติชาติ สองศาสนา ธรรมเนียมการบูชาเจ้าแม่กาลีวัดนี้แตกต่างจากวัดฮินดูทั่วไป เช่น ใช้ธูปแดงนำโชคตามความเชื่อจีนจุดบูชา ซึ่งตรงกับสีที่เจ้าแม่โปรดปรานโดยบังเอิญ จากนั้นคำนับสามรอบเป็นอันเสร็จพิธี

จากที่รู้จักกันผิวเผินตอนแอบอ้างชื่อท่านเล่นบอร์ดเกม กลับจากโกลกาตาคราวนี้เราได้รู้จักมักจี่กับเจ้าแม่กาลีมากขึ้น ซึ่งวันสุดท้ายหลังถ่ายรูปเจ้าแม่ไว้เป็นที่ระลึก กล้องเราก็เปิดไม่ติดอีกเลย… (ช่างบอกว่าเมนบอร์ดเสีย)

หนูจะไม่แอบอ้างชื่ออีกแล้วค่ะ หนูสัญญา  

Tags: , , ,