ทุกวันนี้ การซื้อหม้อหุงข้าวสักใบดูจะยากกว่าการหุงข้าวเสียอีก เพราะมีให้เลือกหลายแบบ บางรุ่นหุงข้าวได้สารพัดอย่าง เลือกได้ตามชนิดของเมล็ดข้าว หรือหุงข้าวออกมาเป็นแบบที่อยากกิน
หม้อบางรุ่นก็ทำได้มากกว่าแค่หุงข้าว เพราะผู้ผลิตหม้อหุงข้าวไฟฟ้าพากันหาวิธีทำให้ข้าวอร่อยขึ้น ทำให้อร่อยทุกมื้อ ไม่ว่าจะหุงข้าวชนิดไหน และใครจะเป็นคนหุงก็ตาม
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สัก 50 ปีก่อน การหุงข้าวให้อร่อยพอดีเหมือนเดิมทุกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในเรื่องชนิดของเมล็ดข้าว การตวงน้ำ การใช้ความร้อน การคำนวณเวลา คนที่เกิดหลังปี 1970 คงนึกไม่ออกว่าการหุงข้าวเคยเป็นเรื่องยาก เพราะเติบโตมากับหม้อหุงข้าวไฟฟ้าชนิดที่ใส่ข้าว ใส่น้ำ กดปุ่ม แล้วทิ้งไว้ไปทำอย่างอื่นได้เลย
เช่นเดียวกับของใช้ในบ้านอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะของใช้ในครัว หม้อหุงข้าวไฟฟ้าเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในชาติที่กินข้าวเป็นอาหารหลักไปอย่างสิ้นเชิง และกลายเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขาดไม่ได้ของชาวเอเชียนับตั้งแต่มันได้ถือกำเนิดมา
เกิดอะไรขึ้นในหม้อหุงข้าว
ขณะที่หุงข้าว มีสองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น น้ำซึมเข้าไปในเมล็ดข้าวสาร และความร้อนทำให้ข้าวนุ่ม เมื่อให้ความร้อนเข้าไปจนน้ำเริ่มเดือดกลายเป็นไอน้ำ ฝาหม้อช่วยให้น้ำไม่ระเหยออก ข้าวจะดูดน้ำเข้าไป จุดเดือดของน้ำอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียส จนเมื่อน้ำแห้งหมด ข้าวก็จะสุก ตอนนั้น อุณหภูมิในหม้อหุงข้าวจะสูงเกินจุดเดือด จนอาจทำให้ข้าวไหม้ คนหุงข้าวต้องคอยเฝ้าดูและกะเวลาให้พอดีก่อนปิดเตา
แต่ถ้าเป็นหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเทอร์โมสแตต หม้อจะตัดไฟทันที หม้อหุงข้าวไฟฟ้ายังมาพร้อมกับเส้นบอกปริมาณน้ำกับถ้วยตวงข้าวที่คำนวณมาแล้วว่าจะทำให้ข้าวสุกพอดี
เวลาซื้อหม้อหุงข้าว จะมีถ้วยตวงพลาสติกมาด้วย ถ้วย 1 ถ้วยมีปริมาณ 3 ใน 4 ของถ้วยตวงแบบอเมริกัน ซึ่งขนาดเท่ากับกล่องไม้ที่ชาวญี่ปุ่นใช้ตวงข้าวสาร สัดส่วนของน้ำและข้าวในการหุงข้าวเมล็ดยาว เช่น ข้าวบัสมาติคือ ของเหลว 2 ถ้วยต่อข้าวเมล็ดยาว 1 ถ้วย ส่วนข้าวเมล็ดสั้น สัดส่วนของน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 1 ถ้วยกับ ¼ ถ้วย วิธีที่ชาวเอเชียมักใช้ตวงน้ำคือ ใช้นิ้วชี้จุ่มลงไปในหม้อข้าว แล้วเทียบระดับน้ำจากข้อนิ้วชี้
นอกจากต้องเข้าใจสัดส่วนของ น้ำ ข้าวสาร ความร้อน และเวลาที่ใช้ในการหุงข้าวแล้ว สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของเมล็ดข้าวที่ใช้ ซึ่งแปรผันได้ตลอดเวลา ยังไม่นับว่าคนกินชอบข้าวแบบไหน การหุงข้าวจึงไม่ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว
ผลของการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
หม้อหุงข้าวไฟฟ้าใบแรกของโลกมาจากเกาะญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ชาวญี่ปุ่นหุงข้าวด้วย ‘คามาโดะ’ (Kamado) หรือ เตาไฟดิน ที่ติดตั้งอยู่ที่มุมครัว เคลื่อนย้ายไม่ได้ กระบวนการหุงข้าวเร่ิมจากการก่อฟืน จากนั้นวางหม้อที่มีข้าวสารและน้ำตั้งบนเตา รสชาติของข้าวขึ้นอยู่กับความร้อนที่ใช้ คนหุงข้าวต้องควบคุมไฟเป็น ต้องดูไฟตั้งแต่เช้าตรู่ มีกลอนเพื่อช่วยจำว่า “ฮาจิเมะ โคะโระ โคะโระ นากะ ปับปะ บุตสึ บุตสึ อิอุ โคโระ ฮิ โอะ ฮีเตะ” เนื้อหาสอนหุงข้าว เริ่มจากไฟอ่อนๆ จากนั้นค่อยๆ เพิ่มความร้อน และลดไฟลงอีกหนตอนที่ในหม้อข้าวมีฟองผุดขึ้นมา การหุงข้าวในยุคนั้นจึงไม่เพียงต้องใช้แรงงานมาก แต่ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ที่ยาวนานมากพอ
แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เงินสดขาดแคลน เริ่มมีการใช้ข้าวสารแทนเงินสด โรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามปิดตัวลง ทำให้ญี่ปุ่นมีไฟฟ้ามากมายแต่มีไม่ค่อยมีคนใช้ จะทำอย่างไรให้ประเทศเติบโต การปฏิวัติการหุงข้าวของญี่ปุ่นน่าจะมาจากสองเหตุผลนี้
ตอนนั้น บริษัทโซนีซึ่งเน้นไปที่การซ่อมแซมและปรับปรุงวิทยุ มีพนักงานที่ออกไปซ่อมวิทยุตามบ้าน มักจะได้ข้าวสารซึ่งถือเป็นของมีค่าในช่วงที่อาหารขาดแคลนมาเยอะ ก่อนที่จะผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันอย่างโทรทัศน์ หรือวอล์กแมน ของใช้ในบ้านชิ้นแรกที่ผู้ก่อตั้งโซนี่คิดถึงคือ หม้อหุงข้าว
หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มาซารุ อิบุกะ ผู้ก่อตั้งบริษัทโซนี่พยายามคิดประดิษฐ์เครื่องใช้ภายในบ้านและเป็นของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผลที่ออกมาคือ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นการผลิตภายใต้ชื่อบริษัท โตเกียว เทเลคอมมิวนิเคชัน เมื่อปี 1945 หม้อหุงข้าวนี้ใช้ขั้วไฟฟ้าที่ทำจากอะลูมิเนียมวางไว้ใต้ถังไม้ แต่เพราะว่าไม่สามารถควบคุมไฟฟ้า ชนิดของข้าว หรือปริมาณน้ำที่ต้องใช้ได้ ข้าวที่หุงออกมาจึงสุกหรือดิบเกินไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการออกวางขาย ต้นแบบของหม้อหุงข้าวนี้อยู่ในหอจดหมายเหตุของโซนี่แทน
(หม้อหุงข้าวไฟฟ้า) โตชิบา นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต
ช่วงเวลาเดียวกับที่โซนีพัฒนาหม้อหุงข้าวไฟฟ้า บริษัทโตชิบาซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้ผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็นรายแรกของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1930 และเครื่องดูดฝุ่นเครื่องแรกของญี่ปุ่นเมื่อปี 1931 ก็พัฒนาหม้อหุงข้าวไฟฟ้า จนในปี 1955 โตชิบาเปิดตัวหม้อหุงข้าวไฟฟ้าซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของบริษัทเป็นครั้งแรก
โตชิบาใช้เวลาพัฒนา 5 ปี นักวิจัยของโตชิบาลองผิดลองถูกหลายวิธี จนกระทั่งค้นพบวิธีที่เรียกว่า “double-pot indirect cooking” ซึ่งเป็นการเทน้ำ 1 ถ้วยลงไปในหม้อที่อยู่ด้านนอกที่มีขดลวดไฟฟ้าอยู่ข้างใต้ เมื่อน้ำระเหยหมด เครื่องจะหยุดทำงานอัตโนมัติ เป็นสัญญาณว่าข้าวสุกแล้ว ปีต่อมา พานาโซนิกก็เริ่มขายหม้อหุงข้าวไฟฟ้าบ้าง
ชาวญี่ปุ่นเริ่มใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าอย่างแพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หลังจากที่ไฟฟ้าเข้าถึงบ้านเรือนได้ และพอดีกับประสิทธิภาพของหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นมาก ในปี 1964 สิบปีหลังจากที่โตชิบาขายหม้อหุงข้าว ชาวญี่ปุ่น 88% มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าใช้ที่บ้าน
ตอนแรกๆ หม้อหุงข้าวยังเก็บความร้อนไม่ได้ และข้าวเย็นเร็วเกินไป จนปี 1965 บริษัท โซจิรูชิ (Zojirushi Thermos) เริ่มขายหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่มีฟังก์ชั่นรักษาความอุ่นของข้าวในหม้อได้ ทำให้สามารถหุงข้าวได้ตอนกลางคืน แล้วจะได้ข้าวสวยร้อนๆ กินตอนเช้าพอดี อุณหภูมิในหม้อหุงข้าวนี้สูงพอที่จะไม่ทำให้แบคทีเรียเติบโต กินข้าวแล้วปลอดภัย ไม่ท้องเสีย
หม้อหุงข้าวแบบนี้ขายได้สองล้านใบต่อปี ทำให้บริษัทอื่นๆ ทำตามบ้าง จากนั้นก็มีความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้หุงข้าวออกมาอร่อยขึ้น หม้อหุงข้าวค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นแบบเดียวกับทีเกิดขึ้นกับ ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า และโทรทัศน์
หลังประสบความสำเร็จจากการทำตลาดในประเทศแล้ว บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นก็ส่งออกหม้อหุงข้าวไฟฟ้าไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก เริ่มจากฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งได้ออกแบบให้หม้อหุงข้าวมีแรงดันเพิ่ม เพื่อให้ข้าวนิ่มลงไปอีกเป็นแบบที่ชาวเกาหลีใต้ชอบ
ให้ตรรกศาสตร์คลุมเครือช่วยหุงข้าว
ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเทคโนโลยีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เพราะมีการติดไมโครโปรเซสเซอร์ ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในหม้อได้ โดยวางอยู่บนแนวคิดฟัซซี่ ลอจิก (fuzzy logic) หรือตรรกศาสตร์คลุมเครือ พัฒนาโดย ล็อตฟี ซาเดห์ (Lotfi Zadeh) อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์เมื่อปี 1973
ฟัซซี่ลอจิกเป็นวิธีอธิบายสถานการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยสมบูรณ์ว่าใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด ข้าวขาวหรือข้าวน้ำตาล ฟัซซี่ลอจิกถูกใช้เป็นเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ทำให้ปรับเปลี่ยนภายใต้ปัจจัยที่หลากหลายได้ เช่น การผสมปูนซีเมนต์ (ขึ้นอยู่กับความชื้น) การเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจร (ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร)
ส่วนในหม้อหุงข้าว เป็นการตัดสินใจโดยขึ้นอยู่กับชนิดของเมล็ดข้าว อายุ ความแข็ง และความคงที่ของมัน เมื่อนำมาใช้กับหม้อหุงข้าว ก็จะทำให้ได้ข้าวออกมาเหมือนเดิมทุกครั้ง
การใช้ฟัซซี่ลอจิกในหม้อหุงข้าวเป็นกระบวนการช่วยตัดสินใจ เพราะว่าทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ามีความสามารถในการตัดสินใจที่ใกล้เคียงกับมนุษย์
ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา หม้อหุงข้าวราคาแพงใช้ไมโครโพรเซสเซอร์เพื่อควบคุมกระบวนการหุงข้าว โดยเฉพาะการควบคุมเวลา จนต่อมา ทศวรรษ 1990 ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะตั้งค่าหม้อหุงข้าวให้ได้ข้าวแบบที่ตนเองต้องการได้ เช่น นุ่ม แข็ง ชนิดของข้าว
ยิ่งควบคุมได้ละเอียด ข้าวยิ่งอร่อยได้ง่ายขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากในการหุงข้าวคือ ความร้อน ปลายทศวรรษ 1980 เริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้หุงข้าวอร่อยขึ้น ผ่านการควบคุมความร้อนที่แม่นยำมากขึ้น
จุดเปลี่ยนของหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อปี 1988 บริษัทมิตซูบิชิผลิตหม้อหุงข้าวจากการให้ความร้อนโดยการเหนี่ยวนำ (induction heating) เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ หม้อหุงข้าวใช้ความร้อนโดยตรงที่ส่งผ่านเข้าไปยังหม้อด้านในด้วยการนำความร้อน ความร้อนที่ได้ต่ำกว่าการใช้แก๊ส ทำให้เชื่อกันว่าหม้อหุงข้าวด้วยแก๊สดีกว่าหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ระบบการเหนี่ยวนำความร้อนจึงถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทำให้หม้อหุงข้าวไฟฟ้ามีประสิทธิภาพดีกว่าแบบแก๊ส
การเหนี่ยวนำความร้อน มีผลพัฒนาหม้อหุงข้าวในสามด้าน คือ ทำให้การรับอุณหภูมิแม่นยำขึ้นจนทำให้ปรับอุณหภูมิได้ดีขึ้น ทำให้พื้นที่การกระจายความร้อนล้อมรอบหม้อที่อยู่ด้านใน ไม่ใช่แค่การปล่อยรังสีความร้อนจากด้านล่างขึ้นข้างบน และระดับของความร้อนที่ถูกสร้างในหม้อหุงข้าวเปลี่ยนได้ทันทีตามระดับความแรงของสนามแม่เหล็ก
หม้อหุงข้าวแบบนี้ต่างจากแบบอื่นๆ ตรงที่ไม่ต้องแช่ข้าวก่อนหุง สิ่งที่ต้องทำก็มีแค่การตวงน้ำให้ถูกต้อง โดยดูจากเส้นที่อยู่ด้านในหม้อ และเลือกตั้งค่าตามที่ต้องการ เช่น อยากให้ข้าวแข็งขนาดไหน เคล็ดลับสุดท้ายในการหุงข้าวก็คือ คนข้าวเบาๆ ให้ทั่วทันทีที่ข้าวสุก เพื่อให้ความชื้นส่วนเกินระเหยออกมา
ตอนแรก หม้อหุงข้าวแบบนี้ขายไม่ค่อยดีเพราะว่าราคาแพงและกินไฟ แต่สุดท้ายแล้วก็ได้รับความนิยมมหาศาล มีแต่คนอยากได้ เพราะอยากกินข้าวที่อร่อยขึ้น แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกก็ตาม จากนั้นผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็ขายหม้อหุงข้าวแบบนี้ออกมาบ้าง
ความหลากหลายของหม้อหุงข้าวไฟฟ้ามาจากการแข่งขันของผู้ผลิต จากที่เคยมีเป้าหมายเพื่อลดภาระในการหุงข้าวและทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากกว่าเดิม วงการพัฒนาหม้อหุงข้าวไฟฟ้าก็พุ่งเป้าใหม่ไปที่การพัฒนาวิธีหุงข้าว (ที่หลากหลาย) ให้อร่อย (ตรงใจคนกิน) ง่ายขึ้นแทน ราคาของหม้อหุงข้าวก็แปรผันตามความสลับซับซ้อนของเทคโนโลยีที่ใช้ในหม้อใบนั้นเอง
อ้างอิง
- http://web-japan.org/kidsweb/hitech/rice/rice01.html
- https://www.tofugu.com/japan/rice-cooker-history/
- https://www.sony.net/SonyInfo/CorporateInfo/History/SonyHistory/1-01.html
- https://www.toshiba.co.jp/worldwide/about/history_chronology.html
- https://www.gizmodo.com.au/2010/09/sonys-first-failure-the-1945-electric-rice-cooker/
- https://home.howstuffworks.com/rice-cooker.htm
- https://www.cnet.com/news/appliance-science-how-rice-cookers-cook-rice-without-burning/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Rice_cooker