สำหรับคนภาคตะวันออกแถบจันทบุรี ตราด เร่วหอมอยู่ในมื้ออาหารในชีวิตประจำวันมานานแล้ว เร่วหอมเป็นส่วนผสมที่ใส่ลงมานิดเดียวก็ทำให้อาหารหลายจาน เช่น ก๋วยเตี๋ยวหรือแกงป่าที่คนภาคอื่นๆ คุ้นเคยมีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

คาดกันว่าเร่วมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเปอร์เซีย แล้วแพร่ขยายไปยังประเทศร้อนชื้น มักพบอยู่ทั่วไปตามต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก

เพราะมีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและมีน้ำมันหอมระเหยทำให้เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมผลิตยาแผนโบราณทั้งในและนอกประเทศ ไทยส่งออกเร่วไปยังเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง

ที่มา : http://www.thaicrudedrug.com

เป็นญาติกับขิงข่า ประโยชน์รอบตัว

เร่วหอมเป็นพืชล้มลุก วงศ์  Zingiberraceae เช่นเดียวกับขิงและข่า ทุกส่วนของเร่วมีกลิ่นหอมโดยเฉพาะเหง้าและไหล ลำต้นเหนือดินสูงประมาณ 2-3 เมตร ส่วนลําต้นที่ทอดเลื้อยอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ใบมีรูปร่างคล้ายหอกผสมวงรีแบบไข่ เนื้อใบหนา ก้านใบสั้นมาก ออกดอกเป็นช่อจากตาที่อยู่ใต้ดิน กลีบดอกสีแดงสด ส่วนผลของเร่วหอมเป็นรูปกลมหรือรี ผิวสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดสีดำเรียงตัวกันแน่น

สมัยก่อนเร่วน่าจะมีมากในภาคอีสาน จากในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ระบุว่า พ.ศ. 2378 หัวเมืองอีสาน 11 เมืองส่งผลเร่วเป็นส่วยในปริมาณ 26.6 ตัน และยังมีเร่วจากหัวเมืองตะวันออก เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และหัวเมืองภาคกลาง เช่น กำแพงเพชร สุพรรณบุรีด้วย

แต่ตอนนี้ดูเหมือนเร่วหอมไม่ใช่ต้นไม้ที่พบกันได้ง่ายๆ สมัยก่อนเร่วหอมขึ้นอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ ในป่าดิบชื้น ชอบที่ร่มรำไร มีความชื้นสูง ดินระบายน้ำได้ดี อาจเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ตอนนี้เร่วหอมกลายเป็นพืชท้องถิ่นที่พบได้เฉพาะแถวจันทบุรี ตราด และอำเภอแกลง ระยอง

ส่วนที่ใช้ประกอบอาหารคือ เหง้าและไหล หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าหน่อ ตอนที่ยังสดอยู่จะมีกลิ่นหอมละมุนมาก และให้รสหวาน กินได้ตอนที่ไหลยังอ่อนๆ อยู่ ว่ากันว่าหวานกว่าอบเชยและโป๊ยกั๊กรวมกันอีก

แต่ถ้าเอาไปใช้ทำยาต้องใช้เมล็ดของผลแก่ต้มกับน้ำ หรือใช้เมล็ดแห้งบดเป็นผงเพื่อแก้อาการจุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ เร่วหอมมีชื่อเสียงด้านสรรพคุณทางยาในตำราแพทย์แผนไทย ซึ่งอธิบายส่วนต่างๆ ว่ามีประโยชน์ทางยาที่แตกต่างกัน ลำต้นใช้แก้ไข้ ใบใช้ขับปัสสาวะ ดอกสามารถแก้ไข้ที่เกี่ยวกับผดผื่นคัน ส่วนผลรักษาริดสีดวง อาการท้องอืดท้องเฟ้อ  หืดไอ และไอมีเสมหะ

มากชนิด หลากแบบ หลายสี

นอกจากเร่วหอมซึ่งนิยมมาใส่ลงในอาหารแล้ว ภาคตะวันออกยังมีเร่วอีกหลายชนิด ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาและใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไป รวมทั้งมีชื่อเรียกที่ไม่เหมือนกันด้วย ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้น

เร่วลูก เร่วดิน เร่วกระวาน ต้นคล้ายเร่วหอม ต่างตรงที่ผิวเรียบมัน ปลายใบมีติ่ง ผลแก่จะมีขนสีแดงหุ้มเหมือนเงาะ ใช้ผลทำเครื่องเทศหรือยาสมุนไพรที่ใกล้เคียงกับกระวาน แต่ไม่มีเปลือกสีขาวหุ้ม พบตามป่าดงดิบหรือป่าริมลำธาร

เร่วดง หรือเร่วกระวานใหญ่ เป็นพืชหายาก รูปร่างต่างกับเร่วกระวานตรงที่ขนาดและขนรอบผลเป็นสีเขียวอมชมพู แพทย์แผนไทยใช้มาปรุงยา

เร่วใหญ่ เร่วกินลูก หรือเร่วกระดอม เป็นเร่วที่พบตามป่าดิบแล้ง ผลเป็นร่องตามยาวคล้ายเฟือง เปลือกใช้จิ้มน้ำพริก มักออกผลช่วงปลายฤดูร้อน

เร่วช้าง เร่วลุ่ม ลำต้นแบน งอโค้ง ใบบาง สีเขียวอ่อน ผลสุกของมันมีส้มแดง ใช้ไปปรุงยา ขึ้นตามริมคลอง

เร่วขน ลำต้นแบน มีขนปกคลุมทั้งต้นและใต้ท้องใบ ทุกส่วนมีกลิ่นหอม นำไปใช้ปรุงยาเช่นกัน เด็กๆ มักเล่นลอกกาบใบด้านในออกแล้วเอาปากดูดเยื่อ ทำให้ปากมีสีแดง

เอกลักษณ์ของอาหารเมืองจันท์

อาหารหลายจานของจันทบุรีใช้เร่วเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งทำให้มีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะในน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ที่เป็นอาหารประจำท้องถิ่นของเมืองจันท์ชื่อ ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงนอกจากน้ำก๋วยเตี๋ยวจะต้องมีรสหวานจากเนื้อและกระดูกแล้ว ยังต้องหอมกลิ่นเครื่องเทศ คำว่า “เลียง” หมายถึงอาหารที่นำมาโขลกด้วยครก ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงเป็นการนำสมุนไพรที่ประกอบด้วยโป๊ยกั๊ก อบเชย ตะไคร้ ข่า ลูกมะกรูด และเร่วหอมโขลกรวมกันมาทำเป็นน้ำซุป การใส่เร่วหอมลงไปช่วยเพิ่มรสหวาน แต่ก็อย่าต้มทิ้งไว้นานเกินไปเพราะจะยิ่งฉุน หลายร้านจึงตักเร่วออกหลังจากเคี่ยวไปแล้ว 4 ชั่วโมง แล้วตักราดลงไปบนเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ลวก

คนจันทบุรียังใส่เร่วหอมลงไปในเครื่องพริกแกงป่า โดยรวมเข้ากับหัวไพล กระวาน และขิงแห้ง ซึ่งเพิ่มเข้าไปจากเครื่องพริกแกงของภาคกลางทำให้มีกลิ่นหอมแตกต่าง และมีสีเขียวเหลือง รสชาติเผ็ดร้อน ผัดกับเนื้อสัตว์แล้วเติมน้ำกลายเป็นแกงป่าที่มีกลิ่นหอมและรสหวานนิดๆ  หนึ่งในอาหารท้องถิ่นที่หากินได้เฉพาะที่จันทบุรีเช่นกัน

นอกจากนี้เหง้าอ่อนและแขนงอ่อนของเร่วหอม ใช้รับประทานสดร่วมกับน้ำพริกได้

‘ชอง’ผู้เชี่ยวชาญด้านเร่ว

ผู้ปลูกเร่วที่สำคัญคือชาวชอง ที่อยู่ในจังหวัดจันทบุรีอาศัยอยู่หนาแน่นที่เขตอำเภอเขาคิชกูฏ ในอดีตชาวชองมีอาชีพในการเพาะปลูกเครื่องเทศโดยเฉพาะกระวาน และเร่ว

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการกล่าวถึงชาวชองกับเร่วหอมไว้แล้ว เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสจันทบุรีพ.ศ. 2419 ซึ่งได้พบชาวชองดังที่มีการกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์ว่า  “เร่วกระวานนี้มีแถวป่าสีเซ็นต่อเขตแดนกับเมืองพระตะบอง มีชนชาติหนึ่งเรียกว่าชองอยู่ในแถบป่าสีเซ็น พูดภาษาหนี่งต่างหากคล้ายๆ กันกับภาษาเขมร ชอบลูกปัดและของทองเหลืองเหมือนอย่างกระเหรี่ยงเมืองกาญจนบุรีเป็นกองส่วยเร่ว ส่วยกระวานข้ึนเมืองจันทบุรีกับไทยบ้าง กับญวนบ้าง ไปเที่ยวเก็บตามเขา และเนินที่ติดต่อกับเขตแดนและป่าอื่นๆ อีกก็มีคือ ป่าน้า เขียว ป่าตะเคียนทอง และป่าไพรขาว แต่เร่วกระวานพวกนี้ พวกส่วยไปเก็บมาส่งครบจำนวนแล้วจึงได้ซื้อขาย มีน้อยมีมาก”

 

อ้างอิง:

Fact Box

Fact Box:

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการ Local Alive ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักเสน่ห์ท้องถิ่น เช่น วัตถุดิบ และอาหาร ที่หายากแต่หาได้ในประเทศไทย

ในส่วนของ ‘เร่ว’ นี้ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของพืชเมืองจันท์ ลองชมคลิปเสน่ห์จากเมืองจันท์จากคลิปนี้เลย

Tags: , , , , ,