คิมจียองเกิดในปี 1982 เธอเกิดสองปีหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจู เธอเกิดในช่วงปลายของประธานาธิบดี Chun Doo-hwan อดีตนายทหารจอมเผด็จการที่อยู่เบื้องหลังการปราบปราม เธอโตขึ้นมาในยุคสมัยของ Roh Tae-woo ทายาทคณะรัฐประหารที่มีนโยบายแบบเปิด บ้านเมืองพัฒนาไปมากทั้งจากรัฐบาลทหารที่เข้มงวดก่อนหน้านี้และความช่วยเหลือจากอเมริกา เธอโตมาในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จนเกือบจะทัดเทียมกับประเทศโลกที่หนึ่ง
คิมจียองเกิดในปี 1982 เธอเกิดในเกาหลีใต้ ไม่ได้เกิดในอินเดียที่ฝ่ายหญิงต้องสู่ขอฝ่ายชาย เมื่อสามีตายก็ต้องกระโดดเข้ากองไฟตายตาม ไม่ได้เกิดในประเทศตะวันออกกลางที่ต้องห่มคลุมร่างกายมิดชิด ห้ามออกจากบ้านหากไม่มีสามีหรือญาติฝ่ายชายไปด้วย ไม่ได้เกิดในแอฟริกาที่เธออาจจะถูกขลิบคลิตอริสเพื่อไม่ให้สุขสมในเพศรส และไม่ได้เกิดในจีนที่เธอมีหน้าที่แค่ผลิตลูกภายใต้นโยบายลูกคนเดียว หรือในช่วงที่เธอเกิด เธออาจต้องตาย เพราะครอบครัวเลือกได้แค่ลูกชายเท่านั้น
แต่เธอโชคดีแล้วหรือ ความโชคดีของเธอนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่เธอไม่ได้ต้องต่อสู้เพื่อจะทำให้ตัวเองไม่ต้องเป็นเพียงทรัพย์สมบัติของผู้ชายอีกต่อไป ในสังคมที่ออกปากว่าคนเท่ากันแล้วนั้น ชะตากรรมของเธอไม่ได้ดีไปกว่าเพื่อนหญิงจากประเทศที่กล่าวไปเท่าใดนัก
มารู้จักเธอเพิ่มขึ้นอีกนิด
คิมจียองเกิดในปี 1982 ในปีปัจจุบันนี้ เธอแต่งงานแล้ว มีลูกสาวเล็กๆ หนึ่งคน เธอเกิดในครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่เปิดร้านขายอาหารหลังจากพ่อเกษียณราชการ พี่สาวคนโตเป็นครู น้องชายคนเล็กก็เพิ่งเรียนจบ สามีของเธอเป็นหนุ่มออฟฟิศที่ทั้งหล่อเหลาและแสนดี เขาช่วยเธอเลี้ยงลูกเสมอ วันหยุดก็ขับรถพาเธอและลูกไปเยี่ยมทั้งครอบครัวของเขาและของเธอ ก่อนหน้านี้คิมจียองเรียนจบวรรณกรรมเกาหลี เธอเข้าทำงานในบริษัทโฆษณา การงานไปได้ดี จนเธอแต่งงานและลาออกมาเลี้ยงลูก
ชีวิตของคิมจียองฟังดูเพียบพร้อมราวกับคือชีวิตในฝันของสาวๆ แต่วันหนึ่งตอนพระอาทิตย์ตก เธอยืนมองมันจากระเบียงห้อง หดหู่รุนแรงอย่างไม่อาจระงับ หลังจากนั้นเธอจะมีอาการเป็นบางครั้ง เธอจะพูดออกมาโดยที่ตัวเองจำไม่ได้ว่าพูด พูดด้วยเสียงของเธอ แต่พูดในฐานะของคนคนอื่น บางครั้งเธอกลายเป็นแม่ตัวเอง เป็นยายตัวเอง หรือเป็นเพื่อนสาวที่ตายไปนานแล้ว
สามีของเธอรู้เรื่องนี้ เขากังวลอย่างมากว่าเธอจะป่วยจะเป็นซึมเศร้าหลังคลอด การมีลูกจะยากลำบากเกินไปสำหรับเธอ จียองดิ้นรนเงียบเชียบในโลกใหม่ เธอพยายามหางานทำแต่มันก็ยากเหลือเกินที่จะเลี้ยงลูกและทำงานไปด้วย เธอค่อยๆ จมลงโดยไม่รู้ตัว สามีของเธอพยายามหว่านล้อมให้เธอไปพบจิตแพทย์ เขาไม่รู้ว่าจะบอกเธออย่างไร ไม่รู้ว่าเขาจะมีปัญญาช่วยเธอได้หรือเปล่า
มันราวกับว่าปัญหาของคิมจียองเป็นของเธอคนเดียว เธอไม่ได้อยู่ในประเทศที่เรากล่าวมา เธอควรจะพอใจที่ได้เป็นเมียและเป็นแม่ ไม่ต้องตะลอนๆ ทำงาน มีสามีคอยส่งเสียเลี้ยงดู แต่เมื่อเราย้อนทวนประโยคเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง ทบทวนสิ่งที่จียองควรพึงพอใจและเป็นสุขที่ไม่โดนหนักเท่าสาวๆ ที่อื่นเราก็พบว่า ความพึงพอใจเหล่านั้นเองเป็นสิ่งเดียวกันกับการต้องคลุมหน้า ต้องขลิบคลิตอริส หรือต้องมีลูกชาย
นี่คือหนังที่สร้างจากนิยายขายดีของ Cho Nam-joo อดีตนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่เขียนนิยายเรื่องนี้ในเวลาสองเดือน และกลายเป็นนิยายขายดีอย่างรวดเร็ว ตัวนิยายเล่าเรื่องของจียองในปี 2016 ตอนที่เธอเริ่มมีอาการ ก่อนจะย้อนกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลของเธอ เรียงรายละเอียดตั้งแต่ตอนที่เธอเกิดจนถึงปัจจุบัน ภายใต้เรื่องเล่าชีวิตสามัญธรรมดา เช่น แม่ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ตั้งแต่ลาออกมาทำงานโรงงานส่งน้องเรียน จนแต่งกับพ่อ และต้องดูแลย่าจนตาย ซ้ำต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหาเงินเมื่อพ่อดูท่าจะไปไม่ไหวกับงานที่ทำ
ชีวิตในวัยเยาว์ที่เฝ้าสงสัยว่าทำไมน้องชายได้อภิสิทธิ์ทุกอย่างขณะที่เธอกับพี่สาวไม่มี ชีวิตมัธยมที่เธอถูกประณามทั้งที่เป็นฝ่ายโดนคุกคามทางเพศ ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่มีความรัก พลัดพราก ชีวิตวัยทำงานที่ไม่อาจก้าวหน้าเพราะอย่างไรก็เป็นผู้หญิงที่ต้องท้องและลาคลอดอยู่ดี ไปจนถึงชีวิตหลังแต่งงานที่ต้องปรนนิบัติแม่สามียิ่งกว่าแม่ตน
นิยายเล่าเรื่องเรียบเรื่อย โดยทำตัวเป็นกึ่งนิยายกึ่งบทความ ตลอดทั้งเล่มเต็มไปด้วยการอ้างอิงบทความและสถิติมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงการกดขี่ผู้หญิงในชีวิตประจำวันอันแสนแนบเนียนของสังคมนี้ ตลอดทั้งเรื่องชีวิตของคิมจียอง กลายเป็นภาพแทนของผู้หญิงเกาหลีใต้ทั้งมวล สิ่งที่เหล่าเธอต้องเผชิญ นิยายเป็นเหมือนถ้อยแถลงอันคมคาย บาดลึก เปิดปากแผลที่สังคมชายเป็นใหญ่ไม่อยากให้เห็นว่ามีอยู่
จนเมื่อมันถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ หนังเลือกทางที่ตรงกันข้ามกับนิยายต้นฉบับอย่างน่าทึ่ง เป็นหนึ่งในการดัดแปลงบทประพันธ์ที่ควรสนใจศึกษา เพราะหนังลดรูปผู้หญิงทุกคนลงจนเหลือคิมจียองเพียงคนเดียว เลือดเนื้อและชีวิตของเธอค่อยๆ อิ่มเต็มขึ้นจากความผ่ายผอมในนิยาย หนังหันมาใส่ใจกับปัจจุบันขณะของคิมจียองราวกับจะอธิบายว่าอาการของเธอเป็นเพียงการเปิดออกของบาดแผลในวัยเยาว์ที่ถูกกระทำ โดยไม่รู้ตัวทั้งจากผู้กระทำเองและเธอที่เป็นผู้ถูกกระทำ
ชีวประวัติของคิมจียองจึงลดรูปลงและไม่เรียงลำดับอีกต่อไป มันผุดขึ้นเหมือนพรายฟองของความทรงจำห้วงสั้น ชีวิตในตอนเด็ก เรื่องเล่าของแม่ หรือชีวิตวัยทำงาน ทุกอย่างปรากฏขึ้นเพื่อตอกย้ำให้จียองค่อยๆ หรี่แสงตัวเองลงทีละน้อย (การแสดงของจองยูมีผู้รับบทคิมจียองนับเป็นการแสดงที่น่าจดจำที่สุดชิ้นหนึ่งในปีที่ผ่านมา)
หนังให้น้ำหนักกับสามีของเธอมากขึ้นกว่าตัวนิยาย การเลือกกงยู ‘สามีแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก’ มารับบทนี้ยิ่งเป็นการเลือกที่ร้ายกาจยิ่ง เพราะมันตอกย้ำมากกว่า การที่คิมจียองเกิดและมีชีวิตอย่างอบอุ่นด้วยการบอกว่า ‘ต่อให้เธอมีสามีแบบกงยูแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการกดขี่ทางเพศมวลรวมที่เธอได้รับจะบรรเทาเบาบางลงไป’ มันเป็นสิ่งที่ต่อให้เป็นสามีแห่งชาติก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข หนำซ้ำเขายังเป็นทั้งส่วนหนึ่งของปัญหาและเป็นเหยื่อของการกดขี่ไม่ต่างจากเธอ
นอกจากสามี ดูเหมือนผู้ชายรอบตัวที่ดีกับเธอก็ล้วนติดอยู่ภายใต้กรอบอากาศมหึมาของปิตาธิปไตย สามีที่รักเธอมาก แต่ก็ทำได้เพียง ‘ช่วย’ ไม่ได้ ‘ร่วม’ กับเธอเพื่อเลี้ยงลูก เขาอาจจะกลับมาอาบน้ำให้ลูก หรือเป็นเดือดเป็นร้อนเมื่อภรรยาโดนกล่าวหาผิดๆ แต่ถึงที่สุด เขาทำได้เพียงช่วยเธออยู่ห่างๆ ไป เพราะดูเหมือนกรอบของสังคมแบบผู้ชายทำงานนอกบ้าน ทำให้เขาทำได้เพียงนั่งดูเธอพับผ้า ล้างห้องน้ำและเชื่อเอาเองว่าได้แบ่งเบาเธอแล้ว หรือแม้แต่เมื่อเขาตัดสินใจจะลาพักมาช่วยเธอเลี้ยงลูก เขาก็โดนทั้งสังคมขวางไว้ ทั้งในรูปของการชะงักงันของหน้าที่การงาน หรือร้ายที่สุด การแทรกแซงของมารดาของเขาเอง
พ่อของเธอก็เช่นกัน ในความพยายามจะปกป้องลูกสาว พ่อกล่าวโทษที่เธอนุ่งสั้นทำให้เธอโดนลวนลาม พ่อเชื่อว่าการซื้อของให้ลูกชายลูกสาวไม่เท่ากันเป็นเรื่องที่กระทำได้ เช่นเดียวกันกับน้องชายของเธอที่ไม่เคยรู้ว่าพี่สาวชอบกินอะไรจริงๆ ความเพิกเฉย ความแสร้งเข้มแข็ง ไปจนถึงความพยายามช่วยท้ายที่สุดไม่ได้ทำให้เกิดอะไรเลย
ผู้หญิงจึงต้องช่วยเหลือกันเอง เพื่อนสาวต้องไปตามหาเอาเองว่าใครวางกล้องในห้องน้ำ แม่ที่เคยผ่านชีวิตยากลำบาก ต้องยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มลูกสาว แต่ก็ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะตระหนักรู้เรื่องการกดขี่ในชีวิตประจำวันเหล่านี้ แม้จะผ่านทุกข์ยากมาก่อน แต่ก็เป็นแม่สามีของเธอที่โทรมาต่อว่าจียอง ภายใต้บริบทของการเป็นเมียและแม่ที่ดีที่สุด เมียและแม่ต้องสมยอมกันกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เสียก่อน เพื่อจะได้รับเศษเนื้อจากการสรรเสริญเป็นครั้งคราวจากพวกผู้ชายว่าผู้หญิงเหล่านี้เคยช่วยเขาไว้ขนาดไหน —“ผมจะเป็นอย่างไรเมื่อขาดคุณ”— และได้รับโอกาสกดขี่ผู้หญิงรุ่นต่อไป ผ่านการตื่นเช้ามาทำอาหารจำนวนมาก ส่งเสียงดังบังคับให้ลูกสะใภ้ต้องตื่นมาเป็นลูกมือ
การกดขี่จึงอยู่ในทุกหนแห่ง ไม่ใช่แค่ในการคลุมผม หรือการสู่ขอ แต่อยู่ในการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ การเป็นผู้หญิงที่ดี เป็นเมียและแม่ที่สมบูรณ์ ในวัฒนธรรมของการเห็นลูกสำคัญกว่างาน กว่าชีวิตของตน มีแต่การกดขี่แรงงานของผู้หญิงที่เป็นเมียและแม่เท่านั้นจึงทำให้โลกนี้ขับเคลื่อนไปได้ในแบบเดิม
อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนถ้อยแถลงของผู้หญิงทั้งมวลให้ลดรูปเหลือเพียงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งก็ก่อปัญหาขึ้นมาได้ในตอนจบของหนัง เพราะเมื่อปัญหาของระบบกลายเป็นปัญหาของปัจเจก หนังก็จำต้องหาทางลงในทำนองว่ามันเป็น ‘อาการป่วย’ ของปัจเจก ถ้าแม่เธอก้าวผ่านมาได้ เธอก็ต้องก้าวผ่านมันได้ ถ้าไม่ได้ มันเป็นปัญหาของเธอ ไม่มีการต่อต้านใดๆ เกิดขึ้นตอนจบ การมีสามีแสนดีก็กลายเป็นปัญหาแบบหนังเอเชีย คือผู้ชมต้องการมองเห็นตอนจบที่ครอบครัวสามารถฝ่าฟันปัญหาไปได้ ประนีประนอมและอยู่ร่วมไปในแบบเดิม เมื่อผู้ชมเริ่มเอาใจช่วยให้เกิดตอนจบแบบ แล้วทั้งคู่ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดกาล เราก็ได้ร่วงหล่นลงไปในขอบฟ้าของปิตาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว
ถึงที่สุด การตระหนักรู้การถูกกดขี่ของคิมจียอง เป็นเพียงอาการป่วยที่สามารถรักษาได้ เยียวยาคนป่วยให้เป็นปกติ คืนคนดีสู่สังคม ถึงที่สุด เธอถูกเยียวยาให้กลับไปเป็น ‘เมียและแม่’ ที่สมบูรณ์ หนังประนีประนอมให้กับชีวิตของเธอด้วยการให้เธอสามารถค้นพบงานที่จะไม่รบกวนความเป็นเมียและแม่ (ในขณะที่ดูเหมือนจุดตั้งต้นของเธอมาจากการอยากมีส่วนร่วมกับสังคมในฐานะแรงงาน มากกว่าในฐานะเมียและแม่ที่ดี) ทางออกของหนัง ถึงที่สุด เหมือนก่ออิฐรูปแบบใหม่ที่สวยงามมากขึ้นมาแล้วพังมันลงเพราะมันไม่สามารถเข้ากันได้กับรูปทรงที่ถูกกำหนดไว้ก่อนหน้า
นั่นทำให้ตอนจบของนิยายนั้นโดดเด่นและเจ็บปวดกว่ามาก เมื่อนิยายเลือกที่จะไม่ยอมลงเอยอย่างแสนสุข จียองเข้ารับการบำบัด บำบัดเรื่องที่เธอพูดเป็นคนอื่น แต่เธอยังไม่หายและมีบางอย่างภายนอกยังคอยกระตุ้นเธอตลอดเวลา การจบแบบปลายเปิดของนิยายทำให้ถ้อยแถลงที่นิยายพยายามพูดยิ่งแหลมคม การปิดฉากด้วยครุ่นคำนึงของแพทย์ยิ่งงดงามมากๆ
กระนั้นก็ตาม ฉบับหนังของคิมจียองก็ไม่ใช่หนังที่ขี้ริ้วแต่อย่างใด การเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายโดยแทบไร้เหตุการณ์หักเหทางอารมณ์ที่สามารถโกงความเห็นใจจากผู้ชมได้ง่ายๆ ทำให้หนังหนักแน่นและการแสดงของนักแสดงก็เฉียบขาดมากๆ จนนี่เป็นหนึ่งในหนังที่น่าจดจำ
Tags: ภาพยนตร์เกาหลีใต้, คิมจียอง เกิดปี 82, ปิตาธิปไตย, วรรณกรรม