กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army-KIA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นทางตอนเหนือของพม่า บุกฐานกองพันทหารที่ 86 ของพม่าในเมืองพากัน เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ทหารพม่า 13 คนถูกคุมตัวไว้ได้ หลายคนในจำนวนนั้นบาดเจ็บหนัก ก่อนจะถูกปล่อยตัวหลังจากกองกำลังทหารพม่าโต้กลับด้วยเฮลิคอปเตอร์สองลำ

ข้อมูลจากกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นระบุว่า การโจมตีของกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นเริ่มขึ้นตอนตีสอง ก่อนจะยึดฐานของทหารพม่าได้ในช่วงหลังตีห้า อย่างไรก็ตาม พันเอกหน่อบู โฆษกของกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นระบุว่า ไม่ทราบจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

จากการโจมตีดังกล่าว กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นสามารถยึดปืนจากฐานทัพดังกล่าวได้หลายสิบกระบอก รวมถึงปืนใหญ่และลูกกระสุนด้วย พันเอกอองอองของกองทัพพม่าได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการปะทะและมีรายงานว่าต่อมา เขาเสียชีวิตแล้วหลังกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นล่าถอยจากการที่กองทัพพม่าโจมตีกลับด้วยเฮลิคอปเตอร์

สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า มีทหารอย่างน้อย 8 นายเสียชีวิตระหว่างการปะทะ แต่แหล่งข่าวในกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นระบุว่า กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นไม่เปิดเผยจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ด้านสำนักข่าวเมียนมาไทม์รายงานอ้างแหล่งข่าวชาวบ้านในพื้นที่ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21 ราย จากการปะทะในเมืองพากันและตะไนง์เมื่อวันที่ 6 และ 8 เมษายนที่ผ่านมา

ด้านกระทรวงกลาโหมและกองทัพพม่าไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ ต่อกรณีดังกล่าว

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นเพิ่งประกาศเตือนให้แรงงานผิดกฎหมายที่ทำงานในเหมืองในหุบเขาฮูก่องออกจากพื้นที่ เนื่องจากจะมีปฏิบัติการโจมตีแบบกองโจร และวางกับระเบิดในบริเวณดังกล่าวในวันที่ 10 เมษายน และก่อนหน้านั้น กองทัพพม่ากล่าวหาว่ากองกำลังคะฉิ่นหารายได้จากธุรกิจเหมืองอย่างผิดกฎหมาย ทั้งที่เงินเหล่านั้นควรจะเข้ารัฐ ขณะที่กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นแย้งว่าบริษัทเหมืองในพื้นที่นั้นดำเนินการโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเอง

สำหรับการสู้รบรอบล่าสุดนี้ เริ่มต้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากการที่ทหารพม่าโจมตีทางอากาศใส่ตะไนง์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น ด้านกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นเชื่อว่า กองทัพพม่าพยายามรุกเข้ามาเพื่อยึดคืนดินแดนก่อนการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ในเดือนพฤษภาคม

หลังจากสัญญาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นที่ดำเนินมาเป็นเวลา 17 ปียุติลงเมื่อปี 2554 มีรายงานว่ามีประชาชนเรือนแสนต้องพลัดถิ่นที่อยู่ โดยช่วงหลายปีมานี้ มีการเจรจาสันติภาพระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นขึ้นหลายครั้ง แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้

เออร์ซูลา มิลเลอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านมนุษยธรรม ซึ่งเดินทางไปเยือนรัฐคะฉิ่นหลังจากทริปเยือนพม่าซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลและกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่นสร้างความมั่นใจว่าพลเรือนจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

โดยแถลงการณ์ระบุว่า ความขัดแย้งในคะฉิ่นเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานที่สุดในโลกที่ยังดำเนินอยู่ และยังเป็นวิกฤตมนุษยธรรมที่ถูกลืมด้วย เพราะยังมีการปะทะกันเกิดขึ้นใกล้ค่ายพักผู้พลัดถิ่นและพื้นที่ของพลเรือน และมีการวางระเบิดในทุ่งนาและถนนในคะฉิ่นและฉาน ขณะที่ผู้คนยังต้องละทิ้งบ้านเรือนอย่างต่อเนื่อง

จากแถลงการณ์ดังกล่าว ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีประชาชนหน้าใหม่อย่างน้อย 10,000 รายที่ต้องย้ายถิ่นจากการสู้รบของกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธในคะฉิ่นและฉาน ขณะที่ประชาชนราว 100,000 คนยังคงพลัดถิ่นจากผลความขัดแย้งของกองทัพพม่าและกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น ซึ่งกลับมาปะทุขึ้นเมื่อปี 2554

ที่มาภาพ: REUTERS/Strinter

ที่มา:

Tags: , , , , ,