รถบัสที่ขับฉวัดเฉวียนเวียนวนไปตามสารพัดโค้งของถนนหมายเลข 108 สู่อำเภอขุนยวม ทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ควักยาดมลูกอมยาหม่องขึ้นมาช่วยอาการพะอืดพะอมกันเป็นระยะ ส่วนเรามั่นใจได้ว่า บัดนี้อวัยวะภายในน่าจะกองรวมตัวกันจนแทบแยกไม่ออก เป็นความทรมานเกือบสองชั่วโมง ที่เห็นมีก็แต่น้าโชเฟอร์ที่ยังแฮปปี้กับโฟล์คซองคำเมืองของอ้ายจรัล มโนเพ็ชร
ลักษณะสถาปัตยกรรมของบ้านงดงามคลาสสิกด้วยหลังคามุงใบตองตึง
หากไม่ตั้งใจมาชมทุ่งบัวตองในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมแล้ว เชื่อว่า น้อยคนนักที่จะเลือกอำเภอเล็กๆ อย่างขุนยวมเป็นหมุดหมาย แต่สำหรับเซียนขับรถ วิวป่าเขียวขจีและหุบเขาสลับซับซ้อนระหว่างทางคล้ายลูกคลื่นในทะเล น่าจะเป็นขนมหวานยั่วใจเสียมากกว่า ขุนยวมคือแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวไต หรือไทใหญ่ ทั้งยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ต้นกำเนิด ‘โฮมสเตย์’ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทยหลังจากพ่ายสงคราม โดยเข้ามาสร้างถนนและความเจริญแลกกับการอาศัยอยู่ร่วมกับชาวบ้าน ไม่แปลกใจเลยว่า สัมพันธภาพของสองประเทศจึงแนบแน่นมาแต่ไหนแต่ไร
ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ สายตาชาวโลกอาจมองชาวอาทิตย์อุทัยเป็นตัวร้ายด้วยเป้าหมายหวังยึดครองโลก ต่างจาก ‘อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น’ ที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของชาวขุนยวมกับคนญี่ปุ่น ส่วนที่ดูแล้วเพลินคือวีดิทัศน์ บอกเล่าความเป็นมาของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่แผ่ขยายมาสู่ประเทศไทยได้กระชับใน 10 นาที ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นและวิถีชีวิตทั่วไปของชาวไทใหญ่ ส่วนที่น่าภูมิใจคือ ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น 1 ใน 5 ผืนที่เขียนด้วยลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะในการอธิบายเหตุผลถึงการก่อสงครามครั้งนี้ กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไทยในฐานะพันธมิตรก็มีเก็บรักษาไว้ที่นี่เช่นกัน ด้านหน้าอนุสรณ์สถานโดดเด่นด้วยป้ายจารึกหลุมฝังศพทหารญี่ปุ่น และรูปปั้นชาวไทใหญ่ในท่ากำลังปลดปล่อยนกกระเรียน อันเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงมิตรภาพของชาวญี่ปุ่น
ชุดพื้นบ้านของชาวไทใหญ่
เราเพ่งความสนใจไปที่เรื่องราวซึ่งเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ได้เอ่ยถึง ‘อังศุมาลิน’ แห่งขุนยวม ที่รู้จักกันในนามแม่อุ้ยแก้ว จันทสีมา ชาวบ้านต่างเล่าขานถึงตำนานรักที่ได้พบรักกับโกโบริ หรือในชื่อจริงคือ สิบเอกฟุคุดะ จนมีพยานรักแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ครองคู่ เนื่องจากฝ่ายชายต้องบินกลับประเทศหลังสงครามจบ
วันที่เราไปเยือนแม่อุ้ยจากไปได้ 6 ปีแล้ว เชื่อว่า ตอนนี้ดวงวิญญาณของคนทั้งคู่ น่าจะได้พบกันที่ทางช้างเผือกแล้วอย่างแน่นอน หลังเที่ยวในตัวเมืองขุนยวม ได้เวลาที่พวกเราจะได้ไปพัก ‘โฮมสเตย์’ โดยมีโลเคชั่นที่บ้านเมืองปอน ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น
น้ำพริกอุ๊บ อาหารพื้นบ้านที่มีลักษณะคล้ายน้ำพริกอ่อง
‘ใหม่ สูง ข่า ออ’ คำเปล่งทักทายในแบบชาวไทใหญ่ทำเอาพวกเรางงหน่อยๆ ทันทีที่มาถึงหมู่บ้านอายุ 200 กว่าปี ลักษณะสถาปัตยกรรมของบ้านงดงามคลาสสิกด้วยหลังคามุงใบตองตึง โดยเฉพาะบ้านที่เราได้พักคือ บ้านแม่คำหลู่ เติ๊กอ่อง ซึ่งเป็นเฮือนไตโบราณอันสมบูรณ์แบบ ลักษณะใต้ถุนสูง มีหน้าต่างและระเบียง ส่วนโรงครัวแยกออกมาจากบ้าน หลังยืนตะลึงกับหลังคาตองตึงซึ่งมีขนาดใหญ่ด้วยการสร้างถึง 700 ตับ คุณแม่คำหลู่ก็ชักชวนพวกเราเข้าบ้านที่มีอายุนานกว่าร้อยปี นั่งพักเหนื่อยที่ใต้ถุนบ้าน
คุณสมบัติของใบตองตึงที่ทำให้ชาวไตหรือชาวไทใหญ่ยังคงใช้อยู่ แทนที่จะเปลี่ยนเป็นหลังคาทนหายห่วงแบบทั่วๆ ไปคือ ทำให้บ้านร่มเย็น อย่างต้นพฤษภาคมที่เรามาเยือนก็ถือว่า ไม่ร้อนจัด และที่สำคัญคุณแม่คำหลู่พูดเสียงดังฟังชัดว่า “ฉันว่า ใบตองตึงสีมันสวยดี ค่าเปลี่ยนแพงหน่อยก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวหนูๆ มาเที่ยวบ้านแม่บ่อยๆ ละกัน ช่วยแม่ค่าเปลี่ยนหลังคา”
ศาลาวัดเมืองปอนมีลวดลายฉลุงานหัตถศิลป์อันงดงาม
แค่เดินชมหมู่บ้านเราก็เพลินแล้ว มีสถาปัตยกรรมเด่นเป็นเอกลักษณ์ตามลักษณะบ้านไม้ทางเมืองเหนือสมัยก่อนคือมีฝาไหล ไว้ปรับใช้เปิดปิดยามร้อนหนาว รวมถึงการได้เรียนรู้งานศิลปวัฒนธรรมการฉลุลายกระดาษเพื่อนำมาประดับจองพาราหรือปราสาทไม้จำลอง ใช้ประดับวัดให้มีสีสันสวยงาม โดยคุณตาแหลงคำ คงมณี ผู้ทรงคุณวุฒิเล่าให้ฟังว่า ลายส่วนใหญ่ประยุกต์เอง นำมาประดิษฐ์เป็นหมวกชฎาส่างลอง ตำข่อน หรือตุง สิ่งที่ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็น บัตรผ่านสวรรค์
ตามบ้านมักแขวนกระเทียมตากแห้งเอาไว้ รองจากข้าวโพด กระเทียมถือเป็นพืชเศรษฐกิจของที่นี่เลยก็ว่าได้ เอาไปทำกับข้าวก็จะได้ความหอมกว่าใคร ด้วยกลีบเล็ก กลิ่นแรงดี อิ่มหนำกับน้ำพริกอุ๊บคล้ายๆ น้ำพริกอ่องแต่ไม่หวาน ยำยอดมะขามใส่กากหมู (ยำส่มเกี่ยง) อันนี้โปรดมาก กรอบเค็มมันตัดด้วยเปรี้ยวของใบมะขามอ่อน กินเพลินไปเลยจ๊ะพี่จ๋า เมนูจิ๊นลุง (ต้มหมูสับ) รวมๆ แล้วคิดว่า อาหารไทใหญ่มีรสเค็มนำ ซึ่งเข้าทางเราพอดี จนต้องขอให้แม่ช่วยสอนคำว่า อร่อย แบบชาวไตเสียหน่อย “หวานหลีจ๊ะ” แม่พูดพลางยักคิ้วให้ ฟังแล้วก็อดขำไมได้เหมือนชมอาหารเค็มว่าหวานเสียอย่างงั้น
หน้าตาของ ข้าวปุกงา ที่มีรสชาติเหมือนโมจิของญี่ปุ่น
มาเมืองปอนควรเข้าไปกราบพระพุทธรูปจากพม่าที่วัดเมืองปอนเพื่อเสริมสิริมงคล ลักษณะแบบพระไทใหญ่ทำจากไม้สักงดงามศักดิ์สิทธิ์ ส่วนชายคาศาลาของวัดทำเป็นลวดลายฉลุอวดงานหัตถศิลป์ได้น่าชื่นชม
วิธีการทำข้าวปุกงา
แม้ผ้าห่มอุ่นจะมีแรงดึงดูดมากแค่ไหน แต่กิจกรรมไปเดินตลาดเช้าตั้งแต่ตีสี่เป็นสิ่งที่เราจะไม่ยอมพลาด และตลาดก็วายเร็วมาก ใครไปหลังฟ้าสางหรือราวหกโมงเช้า อดค่ะ ตลาดมีของสดของคาวหวานขายกันเยอะแยะ ชอบที่แม่ค้าแม่ขายยังใช้ใบตองตึงเป็นภาชนะห่อ ก่อนจาก เราแวะไปดูกระบวนการทำ ‘ข้าวปุกงา’ รสชาติเหมือนโมจิของญี่ปุ่นมาก เพราะทำจากข้าวเหนียวสุกตำ ผสมกับงาคั่วจนได้กลิ่นหอม ตำจนกลายเป็นแป้งเหนียวเข้าที่แล้ว คุณป้าก็จะตัดมาเป็นคำๆ ให้ชิมพร้อมถ้วยน้ำตาลอ้อยเคี่ยว จิ้ม-กิน-ฟิน จนนึกว่า ลอยไปกินถึงญี่ปุ่น
บรรยากาศยามเช้าของชุมชนบ้านเมืองปอน
ทั้งลักษณะบ้านเมืองเก่า ขนมทำมือ และสายน้ำเล็กๆ ที่ไหลเลาะผ่านบ้านเมืองปอน ที่นี่ทำให้เราคิดถึงเกียวโตขึ้นมานิดๆ ชื่อเมืองปอนมาจาก 3 ตำรา บ้างว่า มีความหมายถึงเมืองค้าขายในอดีต หรือมาจากแม่น้ำปอน แต่เราชอบที่มาของคำว่า ‘พร’ มากที่สุด มาเมืองปอนแล้วเหมือนได้พรจากญาติผู้ใหญ่กลับไปด้วย
Fact Box
- โฮมสเตย์บ้านเมืองปอน ที่อยู่ : 6 ม.1 ต. เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ : 0861898812 , 0871812286
- อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น (อยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ) เปิดทุกวัน เวลา 08.30 - 16.30 น. โทร. 053 691 466