“ความน่ารักน่าหลงใหลของเธอเปรียบเสมือนผีเสื้อปีกบางที่ผมจะต้องไล่ตามจับมาให้ได้ แม้ว่าจะเป็นการทำลายปีกของมันก็ตามที”

นั่นเป็นบทพูดของ นาวาโทเบนจามิน แฟรงคลิน พิงเคอร์ตัน ที่พูดถึง โจโจซัง ว่าที่เจ้าสาววัย 15 ของเขา ในอุปรากร มาดามบัตเตอร์ฟลาย (ชื่อในทีแรกคือ โจโจ้ซัง

มาดามบัตเตอร์ฟลาย คือบทละครโอเปราเลื่องชื่ออันเด่นชัดเรื่องการเมือง เมื่อถูกดัดแปลงให้เป็นแบบไทยๆ ใน สาวเครือฟ้า สารนี้ก็ยังมิได้หายไปไหน มหาอำนาจสำแดงแฝงมาในร่างของนายทหารจากมหานครในยุคอาณานิคมรวมไทย เกอิชาญี่ปุ่นกลายมาเป็นแม่ญิงล้านนา ผ่านเรื่องราวศักดิ์ศรีและความรักของหญิงสาว หากแก่นแกนเรื่องการเมืองรวมศูนย์นั้นยังคงเกาะกุมไว้มั่น ประเทศมหาอำนาจหรือส่วนกลางเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ของจากประเทศหรือพื้นที่ที่ด้อยพัฒนากว่า 

สาวเครือฟ้า เป็นการดัดแปลงวรรณกรรมตะวันตกโดยฝีมือของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งใหม่และเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของวงการประพันธ์ จนกลายเป็นต้นแบบให้กับนักเขียนไทยหลายคน

ลองคิดเล่นๆ ว่า ยุคนั้นคือยุคที่สยามกำลังหมิ่นเหม่กับการถูกยึดครองโดยอังกฤษ​หรือฝรั่งเศส ผู้นำประเทศพยายามแสดงตนเป็นประเทศ​ศิวิไลซ์ ไม่แน่นักว่า บทละครเรื่องสาวเครือฟ้านี้ก็อาจหนึ่งในความพยายามพยายามทำตนเป็นผู้ศิวิไลซ์นั้น โดยเพียรสร้างบทละครเรื่องการเมืองเกี่ยวกับการแสวงอำนาจของผู้ (ที่คิดว่าตน) เหนือกว่าในพื้นที่อันด้อยกว่า เพื่อจะได้รอดพ้นจากสถานะผู้โดนยึดครอง (อีกที) 

ละครทั้งสองเรื่องถูกดัดแปลง ตีความใหม่ ทำซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนหลากรูปแบบ ตามมาด้วยการวิเคราะห์วิจารณ์มากมาย (แนบบางบทมาไว้ตอนท้าย เผื่อใครจะสนใจลองอ่านประกอบเสริมเพื่อจะได้ภาพที่ชัดขึ้น)

ละครเวทีเรื่อง คุณนายผีเสื้อ เดอะมิวสิคัล นี้ก็เป็นความพยายามอีกครั้งที่จะตีความใหม่ในปีพ.ศ. 2563 ซึ่งย่อมน่าสนใจ 

แต่ผลที่ออกมากลับน่าเสียดาย 

เพราะตัวผู้กำกับ (อัครพล ปรีชารักษ์) กลับเลือกใช้กรอบแว่นพลาสติกแห่งปัจจุบันมองย้อนไปตีค่าตัวละครสาวเครือฟ้า (โปรดอย่าลืมว่า นี่คือเรื่องที่ถูกหยิบมาดัดแปลงอีกที) 

ช่วงเสวนาหลังละครรอบหนึ่ง ผู้กำกับเล่าให้ฟังที่เขาพยายามสำรวจไถ่ถามผู้หญิงรอบตัว ว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับตน (สามีทิ้งไป) จะทำอย่างไร จะฆ่าตัวตายอย่างสาวเครือฟ้าไหม แน่นอนคำตอบของสาวเครือฟ้าในยุคมิลเลนเนียมต้องตอบว่า “ไม่ จะทำทำไม ฉันเลี้ยงลูกตามลำพังด้วยตัวเองได้”

แต่นั่นเป็นการตัดสินการกระทำหนึ่งโดยใช้เงื่อนไขของสังคมคนละห้วงเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมได้ผลลัพท์แตกต่างกันอย่างมาก (ลองนึกถึงถ้าถามว่าเราจะฝังศพที่ไหนหรือรักษาอหิวาต์อย่างไร คงพอคาดเดาคำตอบจากสองยุคได้) เมื่อลองทำความเข้าใจกันแบบแฟร์ๆ หากเราเดินทางย้อนเวลาไปอยู่ยุคเดียวกับโจโจ้ซัง (ต้นฉบับสาวเครือฟ้า) ผู้เป็นถึงลูกสาวซามูไรผู้ยึดถือวิถีบูชิโด เราจะพบว่า สังคมแบบนั้นไม่เหลือพื้นที่ให้เธอมากนัก 

กับสาวเครือฟ้าเองก็เช่นกัน (ถ้าไม่คิดว่า การดัดแปลงก็ย่อมต้องเขียนไปตามต้นฉบับ) โดยลักษณะสังคมนั้นมันก็อาจเกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ขึ้นได้เช่นกัน 

ยังไม่พักไปต้องแตะเรื่องความยึดมั่นถือมั่นใน ‘ความรัก’ ที่ทั้งเป็นปัจเจก และขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมอันแตกต่างไปจากยุคสมัยนี้จนไม่อาจหยิบมาเปรียบ

และจริงๆ ตัวผู้กำกับก็คงจะเข้าใจดีว่า ตอนจบแบบโศกนาฏกกรรมนั้นเป็นเสมือนธรรมเนียมปฏิบัติของโอเปรา ถ้าโจโจ้ซังไม่ตาย เรื่องมันจะไม่สะเทือนใจพอ และอาจไม่อยู่คงทนมาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนจะเถลไถลไปไกล ผู้เขียนขอกลับมาที่ คุณนายผีเสื้อ เดอะมิวสิคัล ที่เพิ่งปิดม่านไป ณ โรงละครกาดเธียเตอร์ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

อย่างที่กล่าวข้างต้น

ผู้เขียนนึกเสียดายที่ผู้กำกับ คุณนายผีเสื้อ เดอะมิวสิคัล มิได้หยิบเอาประเด็นการเมือง ใน มาดามบัตเตอร์ฟลาย หรือ สาวเครือฟ้า มาเล่นแร่แปรธาตุให้จับต้องได้สักเท่าใด

หากเพียงหยิบมายาคติเก่าอย่าง ‘สาวเหนือใจง่าย’ มาใช้ มายาคติที่ตอนนี้อาจหลุดยุคไปแล้วด้วยซ้ำ หลุดยุคพอๆ กับพล็อตเรื่องที่พยายามสร้างขึ้นมาเพื่อตีความใหม่ก็ไม่ปาน

แน่ล่ะ หากผู้กำกับเพียงต้องการจะทำแค่เรื่องผู้หญิงเรื่องเพศที่ถูกกดขี่ ก็ย่อมต้องทำได้ และควรทำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยในยุคสมัยปัจจุบันที่เรามีทั้งเฟมินิสต์ มีการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องเจนเดอร์เป็นที่พูดคุยถกเถียงตีความในวงกว้าง 

แต่เรากลับไม่อาจสัมผัสเรื่องผู้หญิงในแง่มุมสังคมจาก คุณนายผีเสื้อ เดอะมิวสิคัล  ได้ ด้วยเพราะบุคลิกและเรื่องราวของผู้หญิงใน คุณนายผีเสื้อ นั้นไปไม่ถึงเรื่องเจนเดอร์ เรื่องผู้หญิงกับสังคม หากกลับสวมชุดคิกขุหวานแหววแบบละครรอมคอมอันไม่สมจริงราวกับเป็นละครฟองสบู่แนวพ่อแง่แม่งอนไทยในยุคหลายสิบปีก่อน

เรื่องมีอยู่ว่า พิงค์ (เดาว่าคงมาจาก นครพิงค์) ลูกสาวของแม่หญิงเชียงใหม่ผู้แยกทางกับสามีเพราะโดนดูถูกชาติกำเนิด พ่อพาพิงค์ไปอยู่คฤหาสน์ในเมืองหลวงตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนจะไปจบละครมาจากเมืองนอก เธออยากกลับไปอยู่เชียงใหม่ เพียงเพราะความทรงจำแสนหวานในวัยเยาว์

พิงค์ได้รับการติดต่อให้มาทำงานโดยไม่มีตำแหน่งว่าง (และไม่ได้ค่าจ้าง?) โดยผอ.เจ้าชู้บ้าอำนาจที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ตามพล็อตแบบละครฟองสบู่ที่ไม่เน้นความสมจริง เพียงเพราะผอ.อยากเขี่ยเจ้าหน้าที่คนเก่าออก ผอ.ต้องการให้พิงค์มารับผิดชอบงานแสดงประจำปีที่เป็นงานใหญ่จนไม่น่าเชื่อว่า ผอ.จะเอาชื่อเสียงไปฝากกับไว้เด็กใหม่ที่ไม่เคยเห็นผลงาน และก็มีเรื่องพ่อแง่แม่งอนกับเจ้าหน้าที่หนุ่มชาวกรุงเทพอย่าง นพ ที่ดันมาตกหลุมรักเชียงใหม่ และอยากทำอะไรเพื่อคนเชียงใหม่เข้าอีกคน 

ดูเหมือนความอยากพิสูจน์ตัวเองของ ‘พิงค์’ กับ ‘นพ’ นั้นราวกับภาพสะท้อนความตั้งใจของผู้กำกับเอง ความตั้งใจว่าอยากกลับมาทำอะไรที่เชียงใหม่ แถมยังมาเพราะ “อยากให้คนเชียงใหม่ตระหนักในคุณค่าของตัวเองหรือวัฒนธรรมตัวเอง”  ที่ตัวละครพยายามพูดอยู่หลายหนนั้นฟังดูยัดเยียดและประดักประเดิดชอบกล 

สิ่งที่พิงค์ทำนั้นก็เป็นเพียงการอยากพิสูจน์ตัวเองด้วยความคิดเข้าข้างตัวเองว่า “กำลังทำอะไรดีๆ ให้คนเชียงใหม่” หากก็ยังดีที่พิงค์ยังยอมรับ (แบบนางเอกๆ) ว่าการมาของเธอนั้นได้ทำความวุ่นวายเดือดร้อนให้ผู้คน ผู้คนซึ่งหมายถึงชาวเชียงใหม่

แต่ก็อีกนั่นแหละ ชาวเชียงใหม่ในละครเรื่องนี้กลับเป็นเพียงภาพพร่าเลือนที่มองมาจากภายนอกไกลๆ  ผ่านภาพจำของนางเอกผู้พลัดพรากจากเชียงใหม่เป็นเวลาเพียงสิบกว่าปี แต่ภาพกลับโบราณราวครึ่งทศวรรษที่แล้วก่อน แล้วจู่ๆ ก็กลับมาเป็นวัยรุ่นทันสมัย และกลับมาเป็นกลุ่มชาวบ้านสวมชุดนุ่งผ้าถุงโบร่ำโบราณมาร่วมแสดงละครด้วยกัันแบบละครชุมชน

ยังร่วมด้วยคอนฟลิกต์จากพ่อ ผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าคุณย่าให้พาตัวพิงค์กลับไปช่วยธุรกิจของครอบครัวให้ได้ ไม่งั้นจะชวดสมบัติ พ่อพิงค์กลายเป็นตัวร้าย ชายชาวกรุงอ่อนแอผู้อิงแอบกับกองมรดก ทั้งเลิกกับแม่และออกอุบายไล่ที่ชาวบ้าน (ที่มาร่วมแสดงละคร) ถ้าพิงค์ไม่กลับไปกับเขา 

ราวกับพ่อของพิงค์นี่เองที่คือภาพสะท้อนของร้อยตรีพร้อม ภาพอำนาจเก่าอันโจ่งแจ้ง แต่อนิจจา บทกลับไม่ขับเน้นส่วนนี้ให้เกิดพลัง

เรื่องทั้งหมดนั้นสลับด้วยฉากของโจโจ้ซังและสาวเครือฟ้าผ่านการอ่านและเล่าของพิงค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นฉากอันไร้คำพูด แม้ท่วงท่าเคลื่อนไหวของนักแสดงยังไม่ถึงขั้นมืออาชีพ แต่อิมเมจโจโจ้บนฉากหลังปีกผีเสื้อยักษ์ ผ่านม่านบางใสยังส่งพลังรุนแรงถึงผู้เขียนจนพูดได้ว่า มันข่มฉากอื่นของพิงค์ให้ด้อยลงไปถนัดใจ 

  ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่า สาวเครือฟ้า ได้กลายเป็นมายาคติให้คนไทยมองสาวเหนือทุกคนว่าคือ ‘สาวเครือฟ้าผู้ใจง่าย’ ตามผู้กำกับละครตั้งโจทย์ หรือไม่ เพราะถ้าว่ากันตามบทละคร สาวเครือฟ้า คือผู้ที่ยึดมั่นอยู่กับรักเดียว และถูกล่อลวงจากผู้ที่เหนือกว่าทั้งทางอำนาจและเพศ หากผู้เขียนค่อนข้างแน่ใจว่า ในยุคสมัยของผู้เขียนสาวเหนือจะเป็นเหยื่อเสมอ ไม่ว่าจะโดยวาทกรรม ในเรื่องแต่ง หรือเรื่องจริง

การใช้ค่านิยมที่เปลี่ยนไปของยุคสมัยมาเป็นกรอบมองโลกคนละยุคสมัยนั้นอาจเป็นความเข้าใจโลกที่ตื้นเขินและนำมาซึ่งมุมมองที่ผิดพลาด ไม่ต่างอะไรกับที่ ร้อยโทพร้อมมองสาวเครือฟ้า หรือ พิงเคอร์ตันมองโจโจ้ซัง คือมองเห็นแต่ความงามแรกแย้มของดรุณีราวผีเสื้อปีกบาง หากมองไม่เห็นบริบทที่มาของผีเสื้อตัวนั้น 

การฆ่าตัวตายของมาดามบัตเตอร์ฟลายหรือสาวเครือฟ้านั้นคือการตระหนักอย่างยิ่งใน ‘ตัวตนของตน วิถีของตน เป็นตัวตนที่ยอมหักไม่ยอมงอ อย่างยิ่ง 

ทำให้นึกถึงที่ผู้กำกับพยายามหยิบยกคำสอนแบบพุทธของนักบวชล้านนาอย่างครูบาศรีวิชัยที่ว่า …คือให้หมั่นรําลึกถึงตัวตนอยู่เสมอ ว่า บ่ใช่ตัว บ่ใช่ตน จนเห็นแจ้งด้วยปัญญาของตน จึงเป็นสมุทเฉทประหานกิเลส หมดแล้ว จึงเป็นวิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้” มาบิดเบือนเป็นว่า “รู้ว่า ตัวเราเป็นใคร แล้วจะตัวทำให้ดีมีความสุข” ไปเสียอย่างนั้น 

เมื่อตีโจทย์โดยไม่อิงแก่นเดิมของ มาดามบัตเตอร์ฟลาย หรือ สาวเครือฟ้า มันก็อาจทำให้การตีความใหม่นี้กลับกลายเป็นสร้าง มายาคติ ขึ้นมาแทนอีกชุดหนึ่งก็เป็นได้ เพราะในเชิงวรรณกรรมแล้ว การจะลบล้าง มายาคติ (จากส่วนกลาง) นั้นต้องมาจากรากหญ้าลูกหม้อท้องถิ่นเอง อย่างเช่น มาลา คำจันทร์ ผู้สร้างวรรณกรรมล้านนามากมายออกมาเพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมตามมุมมองของคนล้านนาเอง จะเรียกว่าเป็นการต่อต้านชุดความเชื่อจากส่วนกลางก็คงไม่ผิด

แต่จริงๆ แล้ว ใครก็ตามหากหมายจะใช้งานเชิงวรรณกรรมมาล้มล้างมายาคติก็ย่อมพึงกระทำได้ เพียงแต่ชิ้นงานนั้นต้องผ่านการสำรวจค้นคว้า สังเกตุสังกา คลุกคลีกับวัฒนธรรมที่ตนอยากจะหยิบมาถ่ายทอดมา เรียกว่าต้องเคี่ยวกรำอย่างหนักหน่วงทีเดียว

การสะท้อนมายาคติ (เก่า) ผ่าน พิงค์ ลูกของสาวเครือฟ้า  (ยุคใหม่) ผู้ไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับสังคมล้านนาเลย (นอกจากภาพจำนอสตัลเจียที่หลุดมาจากภาพนิทานปรัมปราในโปสการ์ด) จึงเป็นการตั้งโจทย์ที่ไม่ตรงกับเรื่องที่อยากสื่อสาร ตัวละครที่จะสะท้อนและตีความสาวเครือฟ้ายุคใหม่ได้เหมาะที่สุดน่าจะเป็นตัวแม่ กับ เพียงฟ้า (เด็กที่มารับบทเป็นสาวเครือฟ้าในละคร) เสียมากกว่า 

หากละครกลับมองสองตัวละครนี้เป็นตัวรอง ไม่ได้ให้น้ำหนักมากพอ แถมยังไปใส่ภาพจำเก่า (มายาคติ?) เช่น เรื่องอยากส่งลูกไปแสวงหาความสำเร็จที่ส่วนกลางแทนที่จะดักดานอยู่ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่แรกเริ่ม แม่ของเพียงฟ้าไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องการแสดงละครด้วยซ้ำ เพียงแค่เดินผ่านมาพบการประกาศคัดตัว และมองมันเป็นการแสวงหาชื่อเสียง ไต่ขึ้นที่สูง ดูเธออยากให้ลูกเอาจริงเอาจังกับการเรียนการสอบแข่งขันเสียมากกว่า เช่น ฉากหนึ่งที่แม่ดุเพียงฟ้าเรื่องเกรดตก แต่แล้วฉากนั้นกลับไปจบที่แม่ให้เพียงฟ้าไปประจบหัวหน้าเพื่อความสบาย แถมยังไร้ซึ่งน้ำหนัก เพราะผู้ชมมองไม่ออกว่า แม่ต้องการให้เพียงฟ้าไปประจบหัวหน้าเพื่ออะไร? 

จะได้มาซึ่งบทนำ? ก็ไม่ใช่ เพราะได้บทนำมาแล้ว

หรือเพื่อเงิน? ก็ไม่แน่? 

อีกทั้งละครไม่ได้บอกกับเราว่าตัวเพียงฟ้ามีความสามารถพิเศษอย่างไรถึงได้บทเป็นสาวเครือฟ้า เพราะมีแต่เพียงฉากประกาศแคสต์ และอยู่ๆ เธอก็ได้บท  เมื่อเราไม่เห็นถึงความต้องการของเพียงฟ้าชัดพอ เราไม่รู้ว่า เธออยากทำอะไรหรือไม่อยากทำอะไร นอกจากจะเอนไปทางแม่ที ทางพิงค์ที (ใช้เป็นตัวเล่าเรื่องสาวเครือฟ้า) เราจึงไม่สามารถติดตามเอาใจช่วยเธอได้สักเท่าไหร่ นอกจากฟังเสียงร้องอันไพเราะของตัวนักแสดง (ในบางรอบ) ที่ยอมรับว่าทำได้ดีเกินมาตรฐานนักเรียนไปมาก 

หากผู้กำกับลองหาข้อมูลเรื่องแม่หญิงเชียงใหม่ยุคนี้กับการส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯ ดูบ้าง แบบเดียวกับที่ไปหาข้อมูลถามสาวเชียงใหม่เรื่องตอนจบของสาวเครือฟ้า อาจจะได้คำตอบบางอย่างที่ต่างไปจากบทความคิดเหมารวมเดิมๆ แบบที่ปรากฏในละคร

ต่อมาเมื่อเกิดเรื่องชู้สาวขึ้น ทันทีที่พิงค์รู้เรื่องผอ.กับเด็กสาวเพียงฟ้า แทนที่เธอจะตระหนักเรื่องสิทธิ การละเมิดทางเพศ การละเมิดเด็ก ตามประสาคนร่ำเรียนเมืองนอกเมืองนา เธอกลับแก้ปัญหาแบบไฮโซด้วยหว่านเงินส่วนตัวชดเชย และจะล้มเลิกการแสดงละคร  ซึ่งจริงๆ แล้วเธอไม่อาจทำได้ เพราะละครนั้นจัดโดยศูนย์ฯ อย่าลืมว่าเธอไม่ใช่แม้กระทั่งลูกจ้าง ด้วยซ้ำไป (เป็นเพียงลูกของสปอนเซอร์)

นอกจากความไม่ชัดเจนในเรื่องสิทธิสตรีแล้ว เรายังได้ยิน บทพูดที่แสดงถึงความเข้าใจอันผิดพลาดอย่างต่อกรณี ‘ละเมิดเด็กต่ำกว่าสิบห้า’ ในการแสดงรอบแรก หากยังดีที่มีการแก้ไขในรอบต่อๆ มา 

อาจด้วยความที่ละครเวที คุณนายผีเสื้อ เดอะมิวสิคัล นี้เป็นงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาตรี ผู้กำกับจึงยังขาดประสบการณ์ทั้งเชิงศิลปะและความรู้ทางสังคม ขาดการค้นคว้าข้อมูลอย่างรอบด้าน ทำให้มุมมองไม่เฉียบคมพอจะใช้ตีความละครโอเปร่าคลาสสิคออกมาในสังคมยุคใหม่ ยิ่งด้วยมันเป็นละครสเกลใหญ่ เขาจึงมองไม่เห็นรูรั่วต่างๆ ที่ต้องแก้ไขสดหน้างาน หรือถึงเห็น เขาก็อุดปะได้ไม่แนบเนียน

อีกส่วนคงมาจากการมาทำงานกับทีมงานและสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย การปรับเปลี่ยนบทและฉากต่างๆ ในนาทีสุดท้ายจึงทำให้บางชิ้นส่วนของภาพขาดหายไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าไม่นับจุดตำหนิอันต้องพิจารณาหลายจุด เช่น เนื้อหา (ตามที่กล่าวมาทั้งหมด), การเคลื่อนไหวของนักแสดงในฉากนิ่งๆ สองคน แอคติ้งก็มักจะจบที่การกุมสองมือยกขึ้นอยู่ร่ำไป, เสียงร้องของนักแสดงบางคนที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้หากมีการการแนะแนวทางอันเหมาะสม, อารมณ์ความต่อเนื่องในแต่ละฉาก  และช่วงหลังของละครนั้นไร้ฉากเต้นหมู่ซึ่งเป็นจุดเด่นและจุดขายของละครมิวสิคัล

ก็ต้องถือว่า คุณนายผีเสื้อ เดอะมิวสิคัล เป็นละครนักศึกษาที่ดูได้เพลิดเพลินพอใช้ (จะมากน้อยขึ้นอยู่กับความลงตัวของแต่ละรอบ) ส่วนหนึ่งคงคือเสน่ห์แบบละครเวทีที่ได้ปล่อยพื้นที่ว่างให้จินตนาการของเราได้ทำงาน 

งาน โปรดักชัน แสง การออกแบบเครื่องแต่งกาย ทำได้ดี ท่าเต้นหมู่ออกแบบมาดีและสวยงาม แม้วง Chamber Orchestra จาก The Chiang Mai Youth Philharmonic Band and Symphony Orchestra Foundation (CPO) อาจยังไม่ใช่มือระดับอาชีพ และการประพันธ์และเรียบเรียงนั้นถือว่าทำได้มาตรฐาน

ตัวผู้กำกับนั้นเคยผ่านคอร์สเรียนการแสดงกับโรงเรียนสอนการแสดงกาดสวนแก้ว ครั้งนี้จึงถือว่า คือการกลับมาร่วมสร้างผลงานของศิษย์เก่ากับโรงเรียน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่ามันเกิดประโยชน์โภชผลมากกว่าเพียงละครเวทีหนึ่งเรื่อง มันคือการกระตุ้นศิลปะการละครขึ้นในพื้นที่นอกเมืองหลวง

กระบวนการตั้งแต่ เมื่อคณะละครท้องถิ่นรวมถึงทีมโปรดักชั่นได้มีโอกาสทำละครร่วมกับผู้กำกับที่ร่ำเรียนมาโดยตรงจากสถาบันที่ได้มาตรฐาน (ม.กรุงเทพ) การเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่หรือเหล่านักแสดงที่เป็นเด็กเล็กๆ ได้สัมผัสกับโปรดักชันแบบละครใหญ่  มาจนถึงการเปิดให้สาธารณชนคนเชียงใหม่เข้าร่วมรับชมละครเวทีที่ค่อนข้างมีมาตรฐาน (ในระดับหนึ่ง) ในโรงละครชั้นดี นั้นย่อมเป็นการปลูกฝังต้นอ่อนของศิลปะแขนงนี้ขึ้นในท้องถิ่น (ซึ่งดูเหมือนทางโรงเรียนสอนการแสดงกาดสวนแก้วได้ทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว) 

ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร แม้ละครยังไม่สมบูรณ์แบบ หากเมื่อมีคนทำมีคนดู (ทั้งผู้ปกครองและคนในครอบครัวของเด็กๆ ที่มาเรียนการแสดง, โรงเรียน, หน่วยงาน และประชาชนจากที่ต่างๆ ที่ทางโรงเรียนสอนการแสดงกาดสวนแก้วได้เชิญมา) มีการพูดถึงช่วยกันติกันชมในวงกว้าง มันก็จะหมายถึงการเคลื่อนไหวเติบโต  ต่อไป

การเกิดของละครแบบนี้นั่นเองที่พึงนับได้ว่าคือ การทำอะไรให้เชียงใหม่ จริงๆ และนับได้ว่าเป็นความตั้งใจอันน่าภาคภูมิใจของคณะละครกาดเธียเตอร์

วันหนึ่งข้างหน้า เราก็อาจจะได้ดู ละครเวทีของเชียงใหม่สยายปีกกว้างราวปีกผีเสื้อมหึมาในฉากหลังของ คุณนายผีเสื้อ และสร้างแรงกระเพื่อมได้มากขึ้น ไกลขึ้น 

แม้ขยับปีกอย่างไร้ทิศทาง หากมันก็อาจนำเราไปยังที่สักแห่ง

ด้วยความรัก 

แนะนำบทความอ่านประกอบ

https://blogazine.pub/blogs/atthasit-muangin/post/5797

https://www.matichonweekly.com/column/article_120115

http://journal.human.cmu.ac.th/ojs//files/journals/1/articles/70/public/70-343-1-PB.pdf