สืบมรรคา โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่กำลังทำการแสดงอยู่นี้ นับเป็นตอนที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นตอนที่มีเนื้อหาสนุกสนาน ครบรสรัก รบ และตลก เต็มไปด้วยสีสันของบทและฉากเทคนิคพิเศษยิ่งกว่าทุกปี 

เรื่องราวของรามเกียรติ์ตอน สืบมรรคา ว่าถึงการเดินทางของหนุมานในการหาหนทางไปกรุงลงกาตามคำสั่งของพระราม ภารกิจครั้งนี้จึงเป็นการผจญภัยผ่านด่านต่างๆ โดยมีด่านสำคัญเป็นด่านแม่น้ำที่หนุมานต้องเนรมิตกายทอดเป็นสะพานให้เหล่าวานรข้ามไป การต่อกรของหนุมานกับนางผีเสื้อสมุทรที่หนุมานเหาะเข้าปากเพื่อผ่าท้องออกมา การรบการนางยักษ์อากาศตไลซึ่งรักษาด่านอากาศ ไปจนถึงการวางอุบายให้ตัวถูกจับไปลานประหารเพื่อวางอุบายเผากรุงลงกา ทั้งยังแทรกฉากรักยามเกี้ยวนางสีดาของทศกัณฐ์ที่ต้องสวมหัวโขนสีทองที่สร้างขึ้นใหม่ ผัดแป้งแต่งองค์จนเป็นที่มาของคำกล่าว “หน้าผ่องเหมือนทองทา” ฯลฯ 

นอกจากเทคนิคใหม่ๆ ที่นำมาใช้ ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจอย่างการทำหัวโขน เครื่องแต่งกายสำหรับการแสดง การออกแบบท่วงท่าการแสดงและร่ายรำ ไปจนถึงการทำงานของคนทำบท ทีมพากย์ นักดนตรี ที่ต้องสอดสัมพันธ์กันเพื่อให้การแสดงนั้นตรึงคนดูเอาไว้ได้ตลอด 2 ชั่วโมงครึ่ง

เบื้องหลังของการทำงานชิ้นนี้เป็นอย่างไร เราติดตามไปถึงสถานที่ทำฉาก ทำหัวโขนและเครื่องแต่งกาย ไปจนถึงการฝึกซ้อม ก่อนมาถึงการแสดงจริงที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้จนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 

ณ วันออดิชั่น

โขนไม่ใช่เวทีของคนรุ่นเก่าที่เหนียวแน่นกับการอนุรักษ์ดังภาพที่เคยเห็นหากมองย้อนไปในอดีต เพราะตั้งแต่วันแรกที่ประกาศรับคัดเลือกตัวแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน ‘สืบมรรคา’ นักแสดง 750 คนจากทั่วประเทศ อายุ 15-25 ปี จากหลายโรงเรียนหลายสถาบัน ต่างก็ตามฝันของตัวเองที่ต้องการจะได้ยืนอยู่บนเวทีการแสดงโขนบนเวทีใหญ่ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยสักครั้ง

จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ต้องการให้เยาวชนไทยได้สืบทอดการแสดงโขนต่อไป ทำให้เกิดการรับสมัครคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ.2552 ในการแสดงโขน ตอน ‘นางลอย’ แทนการใช้ครูหรือศิลปินจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร อย่างที่เคยเป็นมา ในครั้งแรกนั้นด้วยการประชาสัมพันธ์ที่มีน้อย จึงมีเด็กๆ เข้ามาสมัครเพียง 30 คน และเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ มา จนครั้งหนึ่งเคยมีเด็กมาคัดเลือกสูงถึง 800 กว่าคน ซึ่งมีทั้งนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ นักเรียนโขนจากสถาบันต่างๆ รวมถึงในมหาวิทยาลัย จากทุกจังหวัด

โขน ตอน สืบมรรคา ใช้เวลาในการคัดเลือกนักแสดงนาน 3 สัปดาห์ กว่าจะได้ผ่านเข้าไปเป็นนักแสดง พวกเขาต้องผ่านการคัดเลือก 3 รอบ โดยดูจากทักษะการแสดง สรีระร่างกายที่เหมาะกับตัวแสดง และความจำเพาะกับบทมากขึ้นอย่างเช่นหนุมานที่ต้องการความแคล่วคล่องว่องไว และมีทักษะทางยิมนาสติก บทพระรามที่ต้องรำได้สวย บททศกันฐ์ที่ต้องมีทักษะในท่าทางกระบวนการรบ ฯลฯ 

หลังการคัดเลือกในรอบสุดท้าย มีนักแสดง 200 คน ที่ผ่านการคัดเลือกจาก 750 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยหนุมาน 7 ตัวแสดงต่อ 1 รอบ และยังมีการใช้หุ่นหนุมานอีก 3 ตัว เพราะสืบมรรคาเป็นการเดินทางของหนุมาน ที่ต้องเข้าออกเวทีทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง จึงต้องแสตนด์บายตามจุดเพื่อไม่ให้การแสดงขาดตอน โดยแต่ละคนจะแบ่งบทและเล่นแทนกันไม่ได้ ขนาดตัวหนุมานก็จะต้องต่างกันไปตามบท เช่น ถ้ารบกับสหัสกุมารจะต้องใช้หนุมานตัวเล็กเพราะการรบต้องมีการยกลอย ตัวใหญ่จะใช้ในบทเข้าห้องนางบุษมาลี ส่วนทศกันฐ์จะใช้ 2 ตัวต่อการแสดง 1 รอบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีสำรองไว้อีกอย่างละ 4 ตัวในกรณีที่เกิดมีอะไรผิดพลาดด้วย 

ตัวแสดงในบทสำคัญ รวมถึงไพร่พลลิง ยักษ์ นางรำ จะได้รับการถ่ายทอดวิชาโขนจากครูและศิลปินแห่งชาติ ในการต่อท่ารำและฝึกซ้อมเป็นเวลาประมาณเกือบ 1 เดือนก่อนแสดงจริง และด้วยโอกาสสำคัญแบบนี้ จึงทำให้ในแต่ละปีมีนักเรียนโขนมาสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี และบางคนก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้รับการคัดเลือก  

กว่าจะเป็นฉากสำคัญ  

ที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดอยุธยา เหล่าช่างฝีมือแขนงต่างๆ ที่เกิดจากการฝึกฝนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงจากอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับการฝึกปรือฝีมือจากครูผู้เชี่ยวชาญงานช่างและช่วยสร้างสรรค์งานมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว บางคนมาตั้งแต่ยังเด็กจนมีครอบครัวมีลูกก็ยังทำงานที่ศูนย์นี้อยู่  

ในระหว่างปี พวกเขาจะลงมือสร้างสรรค์งานชิ้นสำคัญกันอย่างขะมักเขม้น ทั้งงานฉาก งานหัวโขน และเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีทั้งงานฉากอลังการที่ต้องเนรมิตหนุมานที่มีความยาว 15 เมตร และสูง 6 เมตร เพื่อใช้ในฉากที่หนุมานต้องเนรมิตกายให้ใหญ่โตเพื่อเอาหางทอดเป็นสะพานให้กองทัพวานรไต่ข้ามแม่น้ำ เป็นประติมากรรมชิ้นใหญ่ที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดในการแสดงโขนครั้งนี้ เพราะเทคนิคที่หนุมานขนาดมหึมานี้สามารถเคลื่อนไหวแขนขา กรอกตาไปมาได้ ฉากนางผีเสื้อสมุทรซึ่งรักษาด่านน้ำของกรุงลงกา ที่มีความสูง 5.5 เมตร ที่หนุมานจะต้องเข้าไปในท้องผีเสื้อสมุทราแล้วแหวกร่างกายนางยักษ์ออกมา ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดถูกต้องตามบทพระราชนิพนธ์ด้วย

เบื้องหน้าที่เห็นจากการแสดงบนเวที คือความเหมือนจริงตามจินตนาการ ซึ่งเบื้องหลังนั้น อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและสร้างฉากโขนศิลปาชีพฯ มาตลอดทั้ง 12 ตอน ได้เล่าให้ฟังว่า ฉากครั้งนี้ตระการตาและน่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับทั้งคนดูและคนทำ 

“เราเตรียมงานกันปีต่อปี ทั้งเตรียมคน เตรียมรายละเอียดในการทำงาน ใช้เวลากับการคิดและหาวิธีการจะนานหน่อย ส่วนลงมือทำราว 2-3 เดือนก็เสร็จ ข้อที่ต้องคำนึงในการออกแบบฉากคือต้องทนทาน แต่น้ำหนักเบา เพราะต้องเคลื่อนย้ายบ่อย แต่เคลื่อนย้ายบ่อยก็จะพังได้เพราะเราเล่นกัน 52 รอบ ดังนั้นจบการแสดงทุกรอบจะต้องมีการตรวจเช็กและซ่อมแซมในจุดที่ชำรุดทันที ในการออกแบบต้องใช้หลักวิชาด้านทัศนศิลป์เข้ามาพิจารณา ซึ่งคนที่ไม่มีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม จะทำไม่ได้”

ความใหญ่โตและทนทานของผีเสื้อสมุทรและหนุมานนั้น ทีมฉากได้นำวัสดุซึ่งมีความเบาอย่างโฟมมาใช้ในการสร้าง โดยเป็นโฟมเนื้อแน่นสำหรับงานประติมากรรมโดยเฉพาะ สเก็ตช์แบบตามสเกลแล้วขยายเพื่อสร้างทีละส่วนแล้วนำมาประกอบเข้ากัน เขียนลวดลายตามแบบศิลปะชั้นสูงของช่างหลวง สร้างความคงทนด้วยเทคนิคการเคลือบสมัยใหม่ โดยใช้กาวโฟม สีที่เป็นรับเบอร์หรือยางผสม รวมถึงผ้าใบ มาใช้ประกอบ แต่แน่นอนว่าด้วยฉากนี้ที่กองทัพวานรต้องไต่ไปบนหาง การจะให้ไต่ไปบนโฟมเคลือบย่อมเป็นไปไม่ได้ เทคนิคพรางสายตาจึงถูกนำมาใช้โดยการซ่อนสะพานไว้ข้างหลัง แล้วใช้เทคนิคของเส้นเดินระยะเปอร์สเปกทีฟมาทำงานร่วมกับแสงสีบนเวที ทำให้กลมกลืนจนจับสังเกตไม่ได้ 

ฟื้นงานสถาปัตยกรรมโบราณจากร่องรอยที่เหลืออยู่

ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา ที่มองเห็นไกลๆ จากมุมคนดูนั้น หากพิศเข้าไปในรายละเอียดจะเห็นการทำงานอันน่าทึ่ง เบื้องหลังการออกแบบนั้น อาจารย์สุดสาครเล่าว่า ได้ใช้การจำลองภาพมาจากหลายแห่งอ้างอิงซึ่งสามารถสืบค้นต่อได้ อาทิ สถาปัตยกรรมปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนต้น ที่มีร่องรอยปรากฏอยู่ในวัดไชยวัฒนาราม วัดพระราม วัดส้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงวัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก 

หรือฉากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ซึ่งปรากฏในตอนที่หนุมานหลอกล่อให้อินทรชิตจับตัวได้และส่งไปลานประหาร ก่อนใช้อุบายเผากรุงลงกา ก็จำลองขึ้นจากยอดปรางค์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นปราสาทที่ไม่มีผนัง ประดับพระปรางค์ 5 ยอด เป็นพระที่นั่งที่สร้างบนกำแพงพระราชวังชั้นใน เพื่อทอดกระเนตรกระบวนสวนสนาม ก็เกิดจากการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และสร้างขึ้นจากซากปรักหักพังที่เหลืออยู่เพียงซากอิฐ 

“เราใช้วิธีอ่านจากบันทึกในประวัติศาสตร์ ว่าพระที่นั่งองค์นี้มีรูปร่างเป็นอย่างไร มียอดพระปรางค์เป็นอย่างไร ฉากของโขนไม่ได้เกิดจากการนั่งคิดแล้วจินตนาการแบบเพ้อเจ้อ แต่เราใช้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มารื้อฟื้นและสร้างขึ้นใหม่ ทำให้งานโขนดูเข้มขลังและดูศักดิ์สิทธิ์ ก็นับเป็นคุณูปการณ์อย่างหนึ่งของโขนที่ทำให้เราได้ใช้งานช่างไปกู้เก็บสิ่งที่ไม่มีแล้วกลับคืนมา” 

และในบางฉากที่ปรากฏอยู่บนจิตรกรรมฝาผนัง ก็ได้กลายมาเป็นฉากมีชีวิต เช่น ฉากสวนขวัญ ที่ทศกัณฐ์ลงไปเกี้ยวนางสีดา ก็ได้ภาพชั้นครูของเจ้ากรมอ่อน ซึ่งเขียนไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 

“การทำงานฉากเราไม่ได้มีแค่ศิลปกรรมอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความเป็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภูเขา หินผา สัตว์ ต้องใช้ความรู้ผสานเข้ากับจินตนาการอย่างมาก ฉากท้องพระโรงในกรุงลงกา มีทั้งคชสีห์ ราชสีห์ ช้างเอราวัณสามเศียรตัวใหญ่มาก ผมก็ต้องออกแบบและลงมือปั้นเองด้วย รวมทั้งมีบรรดาช่างฝีมือที่เกาะเกิดช่วยด้วย”

หัวโขนที่รวมฝีมือของช่างสิบหมู่

ท่ามกลางหัวโขนจำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งที่สร้างขึ้นใหม่และซ่อมแซมจากของเดิมเพื่อเตรียมการแสดง มีหนึ่งหัวโขนเราคุ้นเคยกันดีกับดวงหน้าสีเขียว มีหน้ายักษ์ 3 ชั้น มีเขี้ยวดุดัน คือหน้าทศกัณฐ์ปกติ แต่ในสืบมรรคานี้ จะมีทศกัณฐ์หน้าทอง ซึ่งปรากฏในตอนเกี้ยวนางสีดา ที่ทำขึ้นใหม่ตามบทซึ่งทศกัณฐ์จะต้องมีความละมุนละไม และไม่ดุดัน เพราะกำลังอยู่ในอารมณ์รัก การออกแบบหัวโขนสีทองจึงต้องแสดงให้เห็นถึงความผ่องใส และแต่งองค์ทรงเครื่องให้สะดุดตา รวมถึงหัวสหัสกุมาร ยักษ์พันตน ลูกของทศกัณฐ์ ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่อีก 14 หัวโขน เพื่อนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการแสดงตอนนี้

ทั้งหมดนี้คืองานจากช่างฝีมือหลายประเภท อาทิ ช่างปั้น ช่างเขียน ช่างปัก ช่างมุก ช่างปิดทอง ช่างทำกระดาษ ที่ต่างมีส่วนร่วมต่อหัวโขนหนึ่งหัว จึงเป็นการรวมกันของประติมากรรม จิตรกรรม และประณีตศิลป์ โดยวิธีการทำหัวโขนของศูนย์ศิลปาชีพฯ นี้ จะต่างไปจากเดิมที่เคยใช้กระดาษหรือเรซิ่น เพราะได้มีการฟื้นฟูเทคนิคโบราณ นำกระดาษข่อยมาขึ้นรูปหัวโขน ซึ่งใช้มาตั้งแต่การแสดงโขนมูลนิธิฯ พ.ศ. 2560  ข้อดี คือน้ำหนักเบา มีความทนทาน ไม่บุบ โดยหลังจากจบการแสดง หัวโขนเหล่านี้จะได้รับการรักษาเอาไว้อย่างดีในห้องรักษาอุณหภูมิ เพื่อใช้ในการเรียนรู้และนำออกมาแสดงครั้งใหม่

แต่งองค์ ทรงเครื่อง ด้วยงานผ้าโบราณ

รายละเอียดเล็กๆ อย่างเครื่องแต่งกาย ผ่านการทำงานอย่างประณีตและพิถีพิถันตามจารีตโบราณ โดยการระดมฝีมือของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง สมาชิกศิลปาชีพบางไทร จังหวัดอยุธยา และสมาชิกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ซึ่งจะมีการทอ การเย็บ และปักกันตลอดทั้งปี โดยทุกปีจะมีทั้งการออกแบบชิ้นใหม่ และซ่อมแซมชิ้นเดิม โดยเฉพาะชุดลิงและชุดยักษ์ ที่จะชำรุดมากที่สุดเพราะต้องใช้ในการรบ 

ผ้ายกทองที่นักแสดงนุ่ง เกิดการฟื้นฟูการทอผ้ายกแบบโบราณซึ่งครั้งหนึ่งเคยเหลือเป็นเพียงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ นำมาปักลวดลายไทย ทั้งลายราชวัตร ลายกนก ลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายขนทักษิณาวัตร สำหรับตัวแสดงที่หลากหลาย แต่ในโขนตอนสืบมรรคา ได้มีการทำผ้าผืนใหม่ ซึ่งเป็นผ้าสไบของนางอากาศตไล ที่จะต้องรบรากับหนุมาน ด้วยการปักลวดลายนางยักษ์คือลายพุ่มหน้ากาลก้านแย่งที่ออกแบบขึ้นใหม่ และชุดนกสัมพาทีในชุดที่ถูกสาปให้หัวโล้นขนร่วงทั้งตัว และชุดปักดิ้นหลังจากที่กลับมามีขนงดงามดังเดิม 

“ลายที่ปักยากที่สุดคือผ้าห่มนาง กับเสื้อทศกัณฐ์ ตัวแสดงที่เป็นตัวเอกจะปักยาก ต้องละเอียดลออ เพื่อรักษาฝีมือช่างโบราณเอาไว้ด้วย ต่อให้คนดูมองไม่เห็นก็จะละเลยรายละเอียดไม่ได้ ต้องดูใกล้ก็งาม ดูไกลก็สวย” ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้กำกับการแสดง ให้คำอธิบาย

ปัดฝุ่นท่ารำแม่บทเก่าแก่

การทำงานของทีมที่ดูแลท่าร่ายรำของ ‘สืบมรรคา’ ครั้งนี้มีความน่าสนใจไปจากเดิมตามบทที่มีการปรากฏของตัวละครตัวใหม่ อาจารย์สมศักดิ์ ทัดติ ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์โขนซึ่งดูแลเรื่องท่าร่ายรำฝ่ายยักษ์ เล่าถึงกระบวนท่ารำ ‘ฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน’ เอาไว้ว่า เป็นท่ารำที่ยากและไม่ค่อยได้ใช้ในการแสดง ต้องมีความสวยงามเข้มแข็งแต่อ่อนช้อยอยู่ในคราวเดียวกัน ด้วยลีลาของทศกัณฐ์ที่ต้องแสดงความกรุ่มกริ่มเจ้าชู้ แต่ก็ต้องมีการปรับปรุงให้กระชับและเข้ากับยุคสมัยด้วย 

ส่วนท่วงท่าของนางอากาศตไล ยักษ์ซึ่งมีนิสัยทอมบอยที่ต้องต่อกรหนุมานนั้น ได้มีการรื้อฟื้นท่ารำแม่บทเก่าแก่อย่าง ‘ท่าขึ้นลอยหนุมานรบนางอากาศตไล’ ที่ครูโขนเคยออกแบบเอาไว้เมื่อ 40 ปีก่อน และสร้างท่ารำใหม่ให้เหมาะกับอาวุธต่างๆ และสอดสัมพันธ์ไปกับความซุกซนของหนุมานที่หยอกล้อกับนางระหว่างรบด้วย 

เดินเรื่องด้วยการพากย์

ณ ลานซ้อมการแสดง วิทยาลัยนาฏศิลป์ ที่สถาบันพัฒนศิลป์ ก่อนถึงการแสดงจริงในอีกไม่กี่วัน นักแสดงโขนนับร้อยชีวิต นุ่งโจงกระเบนสีแดง สวมหัวโขน แสดงบทบาทของตัวเองตามเสียงขับและคำพากย์ของคนพากย์

ผศ.ดร.ธีรภัทร์ ทองนิ่ม ซึ่งอยู่เบื้องหลังและรับหน้าที่เป็นผู้พากย์โขนมาตลอดชีวิตตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน กระทั่งรับราชการเป็นครู จนถึงวัยเกษียณ เล่าให้ฟังถึงความสำคัญของการพากย์โขนและการทำงานในครั้งนี้ โดยมีนักพากย์รุ่นเยาว์ซึ่งยังเป็นนักเรียนมัธยมฯปลาย 2 คน ที่ฝึกฝนการพากย์มาตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถมฯสี่ และได้รับโอกาสในการพากย์โขนมูลนิธิฯครั้งแรก กำลังซ้อมการแสดงร่วมกับนักแสดงและนักดนตรี 

“โขนดำเนินเรื่องด้วยการพากย์กับเจรจาเป็นหลัก ใช้คำประพันธ์ประเภทกาพย์ คือกาพย์ฉบัง 16 และกาพย์ยาณี 11 เมื่อจบหนึ่งคำพากย์ ตะโพนซึ่งเป็นเครื่องตีสองหน้าในวงจะตีท้า แล้วให้กลองทัดซึ่งเป็นกลองสองใบตีรับสองครั้ง ต้อม ต้อม แล้วคนในโรงจะร้องรับด้วยคำว่า ‘เพ้ย’ ซึ่งคนมักจะได้ยินเป็น ‘เฮ้ย’ กัน แต่ที่ถูกต้องคือเพ้ย ส่วนคำเจรจาครูบาอาจารย์ท่านได้ผูกไว้เป็นคำเจรจาที่สอดคล้องกัน มีสัมผัสอักษร สัมผัสสระ เล่นคำต่างๆ

การพากย์ต้องสอดสัมพันธ์กับผู้แสดง โดยที่ผู้พากย์ส่งบทให้เขา แล้วนักแสดงจะตีบทตามหลังเป็นลูกคลื่น หน้าที่ของคนพากย์จึงเหมือนเป็นผู้กำกับเวที ต้องส่งอารมณ์ให้นักแสดงด้วยน้ำเสียง เช่น บททศกัณฐ์ก็ต้องพากย์ดุ พอเกี้ยวนางสีดาก็ต้องมีความนุ่มนวล แต่ต้องมีเสียงที่มีภูมิอยู่ในตัว”

โขนตอน ‘สืบมรรคา’ นี้ ใช้ผู้พากย์จำนวน 6 คน ซึ่งแต่ละคนจะต้องสามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้ทุกบททุกตอน ข้อสังเกตหนึ่งคือในการพากย์โขนนั้นไม่มีผู้หญิงรับหน้าที่ในการพากย์เลย 

“เท่าที่ผมเคยเห็นในวงการโขนมีเพียงสองสามคนเท่านั้น และท่านหนึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว เหตุที่การพากย์โขนไม่ได้ใช้ผู้หญิงในการพากย์นั้น เนื่องจากว่าต้องใช้น้ำเสียงจากท้อง เสียงจึงจ้าและใส่กันเต็มเสียง ผู้หญิงจะออกเสียงได้ไม่เต็มที่ จะทำให้เสียงเหน่อ หรือหากเอานักร้องมาพากย์เขาก็กลัวว่าเสียงจะแตกและเสียงเสียไปเลย จึงไม่นิยมมาพากย์โขนกัน มีคนถามว่าทำไมไม่เอาผู้หญิงพากย์นางสีดา ถ้ามองกันให้ดี โขนเล่นด้วยผู้ชายมาก่อนตั้งแต่โบราณ เพิ่งเปลี่ยนเมื่อมีละครในเข้ามาผสม แต่เดิมผู้ชายก็พากย์ทั้งหมด เพียงแต่พอถึงตัวนางเราจะใช้วิธีการทำเสียงให้เบาลงมาหน่อย มีทำนองที่ยืดกว่าปกติ แต่ต้องแค่นิดเดียว ไม่ยืดจนยาน เพราะถ้ายานไปคนฟังจะเบื่อ”

ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กับการแสดงโขน ตอน ‘สืบมรรคา’

หลังผ่านการทำงานอย่างประณีตของช่างแขนงต่างๆ และการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นของนักแสดงและนักดนตรี ม่านผืนใหญ่บนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยก็ได้เวลาเปิดออก นักแสดงสวมหัวโขนและเครื่องแต่งกายลายวิจิตร เบื้องหลังม่านนั้นมีทีมงานประจำการตามจุดต่างๆ อีกกว่า 200 คน ที่คอยอำนวยการแสดงให้เป็นไปอย่างลื่นไหล ทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหวของฉากและเปลี่ยนฉากด้วยมือคนและรีโมตคอนโทรล โดยไม่ให้เกิดการเดดแอร์บนเวที และการดำเนินเรื่องที่ตื่นเต้น สนุก กระชับ ในเวลา 2.30 ชั่วโมง 

“เรื่องการแสดงเราต้องทำรีเสิร์ชด้วย ต้องใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง ถ้าสามชั่วโมงคนจะอึดอัด และการดำเนินเรื่องต้องไม่อืด เพราะคนในสังคมปัจจุบันใจร้อน สมาธิสั้น เราก็ต้องปรับ และหาวิธีที่จะทำยังไงให้การแสดงชวนติดตามตลอด เราดึงความร่วมสมัยมาใช้ด้วยเทคโนโลยี เทคนิคฉาก แสงสี ด้วยฟังก์ชั่นของโรงละคร ที่ทำให้มีการแปลงกายได้ เวทียืดยุบได้ ใช้รอกสลิงในการโหนตีลังกา ฉากก็ต้องเปลี่ยนให้รวดเร็วและต่อเนื่องกัน” ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้กำกับการแสดงกล่าวถึงการทำงาน รวมถึงบทที่ใช้ในการแสดงด้วยว่า 

“การทำบทโขนเรายึดบทร้องจากพระราชนิพนธ์เป็นหลัก มีการแต่งบทเจรจาเป็นร่ายยาว ซึ่งเราต้องทอนจากบทพระราชนิพนธ์เดิมเพราะต้องกระชับให้ได้ในเวลาที่มี ระหว่างซ้อมตอนไหนยาวเกินไปก็หั่นออก เราปรับกันไปจนสมบูรณ์และจบได้ในเวลาสองชั่วโมงครึ่ง ซึ่งการแสดงโขนทั่วไปก็มีการตัดทอนเอาแต่ใจความสำคัญอยู่แล้ว ช่วงไหนเล่าด้วยการพากย์ ช่วงไหนเล่าด้วยเจรจา หรือช่วงไหนเล่าด้วยตลก”

ม่านผืนเดิมรูดปิดฉากอีกครั้งหลังการแสดงจบลงพร้อมเสียงปรบมือกึกก้อง หลังจากจบการแสดงทั้ง 52 รอบ ทุกองค์ประกอบที่เห็นบนเวที จะถูกนำไปจัดแสดงให้ผู้ที่อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงงานฝีมือของช่างหลวงให้ผู้สนใจได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ได้มองเห็นภาพกว้างผ่านการแสดงบนเวที และบางส่วนจะถูกนำกลับมาขึ้นเวทีแสดงอีกในการแสดงครั้งต่อไป ตามเจตนารมณ์ของการสืบสานนาฎกรรมชิ้นนี้ 

Fact Box

  • การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน สืบมรรคา จัดแสดงถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com ติดตามความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ทาง www.khonperformance.com และเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 
  • อาคาร ‘เรียน-รู้-เรื่องโขน’ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ตั้งอยู่ที่ ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 8.30-15.30 น.
Tags: , , , , ,