นักกิจกรรมรวมตัวกันยืนอ่านแถลงการณ์ 25 หน้า ความยาวต่อเนื่อง 40 นาที ของคณากร เพียรชนะ ที่บริเวณหน้าหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกำลังจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สื่อสารความอึดอัดในวิชาชีพผู้พิพากษาที่ไม่เป็นอิสระ
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาที่ศาลจังหวัดยะลา จัดไลฟ์เฟซบุ๊ก กล่าวแถลงการณ์ จากนั้นยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดีหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษานั้น จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก
สำหรับคดีที่นายคณากรเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนั้น มีจำเลยชาวมุสลิม 5 คนซึ่งถูกกล่าวหาว่ายิงคนตายเมื่อปี 2561 และโดนตั้งข้อหาในความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร ศาลพิพากษาได้ยกฟ้องจำเลยหมด
ข้อมูลจากกลุ่มปาตานีโน้ตระบุว่า ในวันเกิดเหตุระหว่างที่ญาติจำเลยยังคงอยู่ในห้องพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ศาลอีกหลายราย ผู้พิพากษาคณากรแจ้งกับญาติว่ามีเรื่องจะคุยด้วย โดยให้เจ้าหน้าที่บางส่วนออกจากห้อง เช่น เจ้าพนักงานบันทึกข้อความ แต่ในห้องยังมีเจ้าหน้าที่จากกอ.รมน.ร่วมอยู่ด้วย นายคณากรแจ้งกับผู้ที่อยู่ในห้องว่า จะไลฟ์ทางเฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือ จากนั้น เขาอ่านแถลงการณ์ที่เตรียมไว้หลายหน้า และมีเนื้อหาที่ระบายความอัดอั้นในการทำงาน ญาติของจำเลยบางรายเริ่มร้องไห้ ผู้พิพากษาคณากรกล่าวห้ามไม่ให้ร้องเพราะตนเองจะพูดไม่จบเกรงจะร้องไห้ไปด้วย
เมื่ออ่านแถลงการณ์จบ นายคณากรกล่าวทิ้งท้ายว่า ให้คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน ก่อนจะเดินเข้าไปในบัลลังก์ผู้พิพากษา ล็อคช่องกั้นระหว่างส่วน เข้าไปยืนต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ กล่าวคำถวายสัตย์ปฎิญญาน จากนั้นได้ดึงเสื้อครุยขึ้นแล้วชักปืนออกมายิงใส่หน้าอกตัวเองท่ามกลางเสียงหวีดร้องของคนในห้อง เจ้าหน้าที่ได้กระโดดขึ้นไปบนบัลลังก์ แย่งปืนออกจากมือ แล้วส่งตัวนายคณากรส่งโรงพยาบาล
เอกสารคำแถลงความยาว 25 หน้า ถูกเผยแพร่โดยระบุปัญหาการถูกแทรกแซงโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ในการตัดสินคดีในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2561 ซึ่งมีประชาชนถูกยิงตาย 5 คน ในคดีนี้มีจำเลย 5 คนเช่นกัน ตามความเห็นของเขา คดีนี้มีหลักฐานมีไม่เพียงพอจะเอาผิดจำเลย นอกจากนี้เนื่องจากมิใช่คดีความมั่นคง แต่กลับมีการนำเสนอหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ เท่ากับว่าการนำตัวจำเลยไปควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานคำให้การนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
แถลงการณ์ระบุว่า คดีนี้ถูกเลื่อนการอ่านคำพิพากษาจากวันที่ 19 ส.ค. มาเป็นวันที่ 4 ต.ค. เนื่องจากเขาได้รับคำสั่งจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ให้ส่งร่างคำพิพากษาและสำนวนที่เขียนไปให้ตรวจ ซึ่งคดีนี้ เขาเห็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่อธิบดีผู้พิพากษาฯ มีคำสั่งเป็น ‘บันทึกลับ’ ให้แก้คำพิพากษาเป็นประหารชีวิตจำเลย 3 คน ส่วนอีก 2 คนให้จำคุก ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย
“เหตุใดบุคคลทั้ง 3 (อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 รองอธิบดีผู้พิพากษาและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำภาค) จึงมีอำนาจออกคำสั่ง (ที่อ้างว่าเป็นเพียงคำแนะนำ) ให้กลับคำพิพากษาจากพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5 ร่วมกันกระทำความผิด จากให้ยกฟ้องเป็นให้ลงโทษจำเลยทั้ง 5”
“การตรวจร่างคำพิพากษา (โดยอธิบดีผู้พิพากษา) ก่อนอ่านให้คู่ความฟัง การแก้ไขถ้อยคำในคำพิพากษาของผู้พิพากษาจนแทบไม่เหลือสำนวนเดิม การมีหนังสือลับให้ผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาใหม่ให้ผลเป็นไปตามที่อธิบดีต้องการ ย่อมทำให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา เป็นการทำให้ผู้พิพากษามีศักดิ์ลดลง ให้มีฐานะและสภาพเป็นเพียง ‘นิติกรบริการ’ คอยรับใช้ทำตามคำสั่งอธิบดี”
“ขณะนี้มีเพื่อน ๆ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศก็ถูกกระทำไม่ต่างกับผม เจ็บช้ำระกำใจไม่ต่างกัน เพียงแต่พวกเขามีความอดทนสูงและเหตุการณ์อาจไม่รุนแรงเท่าที่ผมพบเจอ สิ่งที่ผมทำในวันนี้ ผมอาจถูกตั้งกรรมการสอบและถูกวินิจฉัยว่ากระทำผิดวินัยอันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผมคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับเงินบำเหน็จ เพราะผมเป็นไม้ซีกแต่บังอาจไปงัดไม้ซุง ไม้ซีกย่อมแตกหัก”
นอกจากนี้ นายคณากรยังกล่าวถึงปัญหาความเป็นธรรมทางการเงินด้วยว่า “ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเงิน อันทำให้เกิดความไม่มั่นคงต่อการดำรงชีพมาเป็นเวลานาน ประการแรก ในเวลาราชการ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีทำการสืบพยานในห้องพิจารณาและต้องสั่งคำร้องคำขอต่าง ๆ ตรวจร่างคำพิพากษาและคำสั่งที่พิมพ์แล้วทั้งวัน เมื่อคดีเสร็จ การพิจารณาสืบพยานเสร็จต้องเขียนคำพิพากษา แต่ในตารางการทำงานกลับไม่มีเวลาเพื่อการเขียนคำพิพากษา…ดังนั้นผู้พิพากษาต้องอาศัยความสามารถส่วนตัว จัดเวลาให้ได้ ท้ายสุดต้องเขียนคำพิพากษานอกเวลางานและต้องเขียนให้เสร็จภายในระยะเวลาอันจำกัด เรียกได้ว่าสวย เก๋ เท่ ไว แต่นั่นคือการเสียสละเวลาส่วนตัวโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน…ประการที่สอง ผู้พิพากษาถูกห้ามมิให้ประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ดังนั้นจึงไม่อาจหารายได้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้นได้”
“ความไม่เป็นธรรมทางการเงินเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาขาดความมั่นคงทางการเงิน อาจก่อให้เกิดความอ่อนแอ ไม่มั่นใจ อาจถูกขู่ให้กลัวได้ง่ายและถูกชักจูงใจได้ง่าย การแทรกแซงคำพิพากษาหรือคำสั่งสามารถทำได้ง่ายขึ้น แล้วหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาอยู่ที่ใด”
หน้าสุดท้ายของแถลงการณ์ทิ้งท้ายว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
Tags: กระบวนการยุติธรรม, ผู้พิพากษา, คณากร เพียรชนะ