จู่ๆ เพจล้อการเมืองชื่อดังที่สื่อสารผ่านรูปวาดการ์ตูน อย่างเพจ ‘ไข่แมว’ ก็หายไปจากเฟซบุ๊ก กลายเป็นปริศนาที่สังคมออนไลน์ประหลาดใจ เกิดเป็นกระแสติดแฮขแท็ก #ไข่แมว #ทวงคืนไข่แมว
เพจไข่แมว มีตัวละครเด่นเป็นผู้นำในชุดทหาร มีหนวดแบบฮิตเลอร์ มักมาพร้อมกับตลกร้าย ไร้ไดอะล็อกอธิบาย จะเข้าใจได้ก็ต้องตีความ แต่ก็โดนใจจนมีผู้ติดตามกว่า 450,000 ราย
ยังไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงว่าทำไมในช่วงบ่ายของวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ไข่แมวจึงหายตัวไป ซึ่งมีความเป็นไปได้หลายอย่าง ตั้งแต่การตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะยุติบทบาท เพจถูกเฟซบุ๊กปิดกั้น ไปจนถึงการถูกจับกุมดำเนินคดี คล้ายกับที่เกิดขึ้นแล้วกับเพจการเมืองหลายเพจในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
น่าสนใจว่า ข้อสมมติฐานส่วนใหญ่พุ่งเป้าที่เหตุผลทางการเมืองเสียมาก สาเหตุเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงขอบเขตเสรีภาพว่าเรากำลังถูกตีกรอบมากน้อยแค่ไหน
‘ไม่ถูกแจ้งก็ถูกจับ’ ทางเลือกของการท้าทายอำนาจรัฐ
การแสดงความคิดเห็นทางเมืองหรือการวิพากษ์วิจารณ์ติชมรัฐบาล เป็นเรื่องปกติที่ใครก็สามารถทำได้ แต่หลังรัฐประหาร กิจกรรมดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่ปกติที่รัฐต้องควบคุมตรวจสอบ บางครั้งรัฐอาจจะขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ช่วยจำกัดการเข้าถึง แต่ก็มีหลายครั้งที่รัฐเลือกใช้การฟ้องร้องดำเนินคดีกับเหล่าผู้ท้าทายอำนาจ
เพจล้อเลียนเสียดสีสังคมและการเมืองอย่างเพจ ‘กูkult’ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นการจำกัดการเข้าถึง ถ้าลองกดเข้าเพจในประเทศไทย จะเจอคำตอบจากเฟซบุ๊กว่า เนื้อหาดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงจากประเทศไทย เพราะขัดต่อกฎหมายท้องถิ่น
การดำเนินการเช่นนี้เป็นนโยบายของเฟซบุ๊กเองที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ โดยเฟซบุ๊กจะประเมินความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว หรือหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ออกคำสั่งและกฎหมายท้องถิ่น
นอกจากการจำกัดการเข้าถึงแล้ว รัฐอาจใช้ไม้แข็ง อย่างการใช้มาตรการทางกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การจับกุมและปิดเพจ ‘เรารัก พล.อ.ประยุทธ์’ เพจล้อเลียนการเมืองที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. โดยผู้ดูแลเพจดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกควบคุมตัวในที่พักอาศัยแบบไม่มีหมายค้นและหมายจับ บางรายถูกปิดตาระหว่างที่ถูกควบคุมตัวไปและถูกสอบสวนในค่ายทหาร ก่อนจะถูกแจ้งข้อหาว่านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
การดำเนินการเช่นนี้เป็นนโยบายของเฟซบุ๊กเองที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ โดยเฟซบุ๊กจะประเมินความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว หรือหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ออกคำสั่งและกฎหมายท้องถิ่น
แต่อย่างไรก็ดี การหายตัวไปของไข่แมวครั้งนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากมีผู้กดรีพอร์ตเพจจนระบบเฟซบุ๊กเชื่อว่าเพจสมควรโดนปิดจริงๆ เพราะตัวผู้ดูแลเพจก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองก็เตรียมใจไว้แล้วที่เพจจะถูกปิด เพราะที่ผ่านมาก็มีคนมากดรีพอร์ตผลงานของเขาอยู่เรื่อยๆ เฟซบุ๊กก็เคยลบภาพผลงานของเขาออกไป แม้ว่าเขาจะไม่ค่อยพึงพอใจกับระบบนี้ของเฟซบุ๊กเท่าไรก็ตาม
ไทยถูกจัดอันดับไร้เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต 3 ปีซ้อน
ด้วยสภาพแวดล้อมการแสดงความคิดเห็นที่หดแคบลง ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยจากทั่วทุกมุมโลก ประเมินประเทศไทยว่า ‘ยังคงไร้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต’ ซึ่งไทยตกอยู่ในสถานะนี้ต่อเนื่องมาแล้วสามปีนับแต่ปี 2014 และมีทิศทางที่ย่ำแย่เพิ่มมากขึ้นติดต่อกัน
ในรายงานของฟรีดอมเฮาส์ปี 2017 ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่มิถุนายน 2016 ถึงพฤษภาคม 2017 ระบุว่า ประเทศไทยมีการปิดกั้นเนื้อหาบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระบุว่า ได้มีการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ มากกว่า 6,300 URL พร้อมทั้งมีการตั้งคณะทำงานเพื่อจับตาการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์
ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ประเมินประเทศไทยว่า ‘ยังคงไร้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต’ ต่อเนื่องมาแล้วสามปีนับแต่ปี 2014
ในขณะเดียวกัน สถานการณ์การละเมิดสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เช่นการจับกุมดำเนินคดีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและบล็อกเกอร์ ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพระบุว่า หลังรัฐประหารจนถึงสิ้นปี 2560 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์อย่างน้อย 87 ราย
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังออกกฎหมายที่ลดความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ให้อยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้น รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2560 กำหนดให้บริษัทเอกชนและปัจเจกปลดล็อคการเข้ารหัสข้อมูล (encryption) เพื่อให้ทางการสามารถเข้าดูเนื้อหาการสื่อสารต่างๆ ที่เป็นความลับได้ อีกทั้ง ให้ตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจขอศาลสั่งปิดเนื้อหาในโลกออนไลน์ได้ แม้ว่าเนื้อหาดังกล่าวจะไม่ขัดต่อกฎหมายก็ตาม
รัฐไทยยังคิดขยายเครื่องมือควบคุมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประกาศ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแสดงออกในโลกออนไลน์อย่างน้อยสี่ฉบับ ได้แก่ การห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบ และความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงมีการขอให้ผู้ใช้และผู้ประกอบการสื่อสังคมออนไลน์ป้องกันเนื้อหาที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง กระตุ้นให้เกิดการประท้วง หรือต่อต้านการปกครองของ คสช. และให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเฝ้าระวังและป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ พร้อมกับให้มีตัวแทนของกองทัพเฝ้าระวังและสอดส่องสื่อสังคมออนไลน์
แต่ความพยายามของรัฐไทยที่จะควบคุมพื้นที่ออนไลน์ก็ยังไม่สิ้นสุด อันจะเห็นได้จาก แนวคิดการสร้าง ‘ระบบศูนย์กลาง’ เพื่อบริหารจัดการการระงับข้อมูล เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง โดยอาจไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการ ซึ่งหมายความว่า รัฐอยากจะสร้างระบบศูนย์กลางให้เจ้าหน้าที่บล็อคข้อมูลเอง คล้ายกับแนวคิด Single Gateway ที่ให้รัฐมีอำนาจสอดส่องคัดกรองการไหลเวียนของข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาล คสช. ก็ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นมาสานต่องานปฏิรูปในอดีตที่ค้างคา โดยข้อเสนอที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ต่างก็มีข้อเสนอเพื่อการควบคุมโลกออนไลน์แทบทั้งสิ้น เช่น ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่ถูกมองว่า เป็น ‘กฎอัยการศึกออนไลน์’ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าสามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารของประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งศาล
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต่างก็มีข้อเสนอเพื่อการควบคุมโลกออนไลน์แทบทั้งสิ้น เช่น ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่ถูกมองว่า เป็น ‘กฎอัยการศึกออนไลน์’
หรือการเสนอให้รัฐบาลใช้ ม.44 จัดตั้ง ‘คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ’ (กปช.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านความมั่นคงไซเบอร์ มีอำนาจเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐและเอกชนได้ เมื่อเกิดเหตุที่เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมไปถึงให้ใช้ระบบสแกนใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ รวมถึงใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนก่อนจะเล่นโซเชียลมีเดียผ่านมือถืออีกต่างหาก
สุดท้ายแล้ว แม้จะยังไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงของการหายตัวไปของเพจไข่แมว แต่ก็น่าตั้งคำถามว่า การหายตัวไปอย่างปริศนาในครั้งนี้จะบอกอะไรได้บ้างกับเรา รวมถึงพาให้เราทบทวนถึงอนาคตว่า เสรีภาพของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยหลังจากนี้ควรจะเป็นอย่างไร
อ้างอิง:
https://prachatai.com/journal/2016/05/65631
https://freedom.ilaw.or.th/case/716
https://prachatai.com/journal/2016/06/66383
https://freedomhouse.org/report/freedom-net/2017/thailand
https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged
https://thainetizen.org/2016/05/freedom-on-the-net-2015-report-thailand/
https://thematter.co/quick-bite/back-to-the-future-440/28787
Tags: กสทช., พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, Cartoon, ไข่แมว, สิทธิเสรีภาพ, การ์ตูน, Freedom House