19 พฤษภาคม ของทุกปี กลายเป็นเดือนสำคัญทางการเมืองและประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “คนเสื้อแดง” ในปี 2553 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 2,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย
ตลอดระยะเวลาร่วม 10 ปี หลังเกิดเหตุ ทำให้สังคมไทยได้พบข้อเท็จจริงเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ทว่า กระบวนการยุติธรรมเพื่อตามหาคนที่ต้องรับผิดชอบในความรุนแรง หรือต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียในครั้งนี้ กลับ ‘หยุดนิ่ง’ โดยเฉพาะหลังปี 2557 ที่มีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในปี 2553 ได้เข้าสู่อำนาจทางการเมือง
บทความนี้จะเล่าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งส่วนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นผลให้การเดินทางของความจริงและความยุติธรรมไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการเห็นคนผิดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบในความผิดที่ก่อไว้
คอป. V ศปช.: เมื่อ “ความจริง” ถูกแบ่งออกเป็นสองทาง
หลังการสลายการชุมนุมภายใต้กำกับของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มี ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และแต่งตั้งศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการ
ขณะที่ที่มาของคณะกรรมการที่มาจากรัฐบาลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนผู้เสียหาย รวมถึงจุดยืนทางการเมืองของคณะกรรมการและคณะทำงานทำให้เกิดคำถามถึง ‘ความเป็นกลาง’ อาทิ กิติพงษ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมและเป็นหนึ่งในกรรมการ ศอฉ. หรือ สมชาย หอมลออ นักกฎหมายที่ทำงานเอ็นจีโอที่มีจุดยืนต่อต้าน‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย
ท้ายที่สุด บรรดานักวิชาการและภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในนามศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) เพื่อหาความจริงคู่ขนานไปด้วย
ต่อมาใน ปี 2555 ศปช. จัดแถลงข่าวรายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53” โดยพยายามอธิบายการเกิดขึ้นของขบวนการคนเสื้อแดงที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง และการบันทึกรายละเอียดและข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม รวมถึงปฏิบัติการของรัฐและเจ้าหน้าที่ทหาร และตอกย้ำให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ
ในขณะที่รายงานของ คอป. ซึ่งเผยแพร่ในปีเดียวกัน กลับชี้ให้เห็นความขัดแย้งทางการเมืองโดยพุ่งเป้าไปที่ ‘ทักษิณ’ คือต้นเหตุของความขัดแย้ง รวมถึงมีการพาดพิงกลุ่มผู้ชุมนุมว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงหรือส่วนเกี่ยวพันกับกลุ่มที่ก่อเหตุความรุนแรง จนเจ้าหน้าที่ทหารต้องยกระดับมาตรการขั้นรุนแรง
หลังการเผยแพร่รายงานของ คอป. นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เขียนบทความวิชาการเพื่อชี้ให้เห็นว่า คอป. ขาดความเป็นกลางและอิสระในการทำหน้าที่ค้นหาความจริง เนื่องจากพวกเขาไม่ปิดบังอคติต่อตัวทักษิณ อีกทั้ง คอป. ยังไม่เข้านิยามมาตรฐานคณะกรรมการค้นหาความจริงและไม่ใช่การแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะผู้ที่ก่อตั้ง คอป. คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งโดยตรง และทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ยังคงมีอำนาจต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ที่จะเอื้ออำนวยให้การทำงานของคณะกรรมการเป็นอิสระและเอื้อให้เกิดความยุติธรรมแก่เหยื่อได้จริง
ด้าน รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ศปช. ได้เขียนบทวิเคราะห์เพื่อชี้ให้เห็นว่าจุดบกพร่องในรายงาน คอป.หลายจุด เช่น ความพยายามเชื่อมโยงความรุนแรงที่เกิดจากชายชุดดำเข้ากับเหตุผลในการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งที่บางกรณีไม่มีหลักฐาน อาทิ บริเวณวัดปทุมวนาราม ที่ คอป. ยกหลักฐานที่ไม่มีการพิสูจน์มายืนยันการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ แต่ผลการไต่สวนการตายของศาลในคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ พบว่าผู้เสียชีวิตจากการกระทำของทหาร รวมถึงมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การว่า ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร
ทั้งยังวิจารณ์ว่า ในรายงาน คอป. ยังละเลยไม่พูดถึงการใช้มาตรการรุนแรงที่ไม่สมเหตุสมผลของรัฐ เช่น การไม่พูดถึงสรรพกำลังและอาวุธที่รัฐบาลและ ศอฉ. อนุมัติเพื่อปฏิบัติการ ซึ่งเทียบเท่ากับแผนปฏิบัติการรบเต็มรูปแบบเสมือนทำสงครามรบในเมืองทั้งที่ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมถึงละเลยไม่พูดถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทหารยังเกินกว่าเหตุเพราะมีการใช้อาวุธที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมในตำแหน่งที่เป็นอันตรายถึงชีวิตโดยไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตมีอาวุธร้ายแรงที่จะทำอันตรายต่อชีวิตเจ้าหน้าที่ในระยะไกลได้ นอกจากนี้ คอป. ยังละเลยข้อเท็จจริงที่ว่ามีนักการเมืองที่พยายามเป็นคนกลางเข้าเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง แต่รัฐบาลกลับไม่ยินยอมเพราะได้วางแผนการสลายการชุมนุมไว้แล้วซึ่งสะท้อนเจตนาต้องการยุติการชุมนุมตามแผนที่วางเอาไว้ซึ่งเป็นมาตรการที่รุนแรง
จากดีเอสไอสู่ศาล: กระบวนการยุติธรรมกับความรับผิด
หลังการสลายชุมนุมในเดือนพฤษภาคม ที่ประชุม ศอฉ. มีมติในวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นหน่วยงานหลักจัดตั้งชุดสืบสวนสอบสวนกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 21 พฤษภาคม 2553 เป็นการเฉพาะแต่ละราย โดยให้รายงานผลดำเนินการต่อ ศอฉ.
ต่อมาในปี 2554 ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ออกมาแถลงว่า ดีเอสไอแบ่งคดีผู้เสียชีวิตออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
(1) กลุ่มที่เชื่อได้ว่าความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่ม นปช. และกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี เช่น การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร 5 ราย เมื่อวันที่ 10 เมษายน
(2) คดีที่พบพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าเป็นความตายที่อาจเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐรวม 8 คดี มีผู้เสียชีวิต 13 ราย แต่พนักงานสอบสวนเห็นควรให้มีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เช่น การเสียชีวิต 3 รายในวัดปทุมวนาราม และการเสียชีวิตของ ฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพชาวญี่ปุ่น
(3) คดีการเสียชีวิตซึ่งสอบสวนแล้วยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 8 คดี มีผู้เสียชีวิตรวม 64 ราย เช่น กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา หรือ ฟาบิโอ โปเลงกิ ช่างภาพชาวอิตาลี
ต่อมาในช่วงปี 2555-2558 ศาลทยอยออกคำสั่งในการไต่สวนการตายของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมรวม 33 ราย แบ่งเป็น ศาลมีคำสั่งว่า กระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หรือทหาร 18 ราย ส่วนอีก 15 ราย ศาลระบุว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำแต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เพียงพอให้อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนมีมติให้ดำเนินการแจ้งข้อหา “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288 แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ.และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.
คดีเอาผิดผู้สั่งการการสลายการชุมนุมเริ่มมาสะดุดลง หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ทบ. ส่วนสมาชิก คสช. เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อยู่ในตำแหน่งอดีต ผบ.ทบ. หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
การสะดุดลง เช่น ขั้นตอนการไต่สวนการตายดูเหมือนจะหยุดชะงักไป ไม่มีกรณีใหม่ แม้จะเหลือรายชื่ออีกครึ่งร้อยที่ยังไม่มีคำสั่งไต่สวนการตายก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีกรณี ‘สำนวนมุมดำ‘ ที่สื่อนำเสนอโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่าดีเอสไอมีความเห็นว่าไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้จริง เห็นควรส่งให้อัยการมีคำสั่งงดสอบสวนและอัยการสั่งให้ยุติการสอบสวนเป็นสำนวนมุมดำ
ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จำเลยที่ 1-2 ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยระบุว่า
“การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ. ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ จึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน”
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาดังกล่าว ปรากฏความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่า การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนหลังการชันสูตรพลิกศพ และการไต่สวนการตาย เมื่อได้ข้อเท็จจริงการตายก็ต้องส่งต้องต่อให้พนักงานสอบสวน ซึ่งก็คือดีเอสไอดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 10
ในความเห็นยังระบุด้วยว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเพียงคำบรรยายเพื่อให้ปรากฏที่มาของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสอง โดยคำฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุมัติใช้อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนปฏิบัติหน้าที่ จำเลยทั้งสองมีเจตนาเล็งเห็นผลว่าเจ้าพนักงานจะใช้อาวุธสงครามยิงประชาชนได้ จึงเป็นเรื่องการกระทำนอกเหนือตำแหน่งราชการ เป็นการก่อหรือใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
โดยการฟ้องคดีดังกล่าว มีการต่อสู้จนถึงชั้นศาลฎีกา แต่ในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลในเชิง ‘เทคนิคกฎหมาย’ ว่า ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่ง ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน
คำพิพากษาดังกล่าว อาจเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่จะถูกนำมาใช้กับ “ผู้สั่งการ” อื่นๆ ในอนาคต ดังนั้น การที่ศาลสั่งให้ยกคำร้องเนื่องจากดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน และเปลี่ยนความรับผิดฐานมีส่วนร่วมในการฆ่าคนตาย ซึ่งมีโทษสูงตั้งแต่ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี ให้เหลือเพียง “ความผิดต่อหน้าที่” ซึ่งมีโทษจำคุกแค่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็มีความน่ากังวลว่า ผู้สั่งการอาจจะรับผิดเบากว่าสิ่งที่พวกเขากระทำ
องค์กร ‘อิสระ’
หลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช. มีมติตีตกคำร้องคำกล่าวหาและคำขอให้ถอดถอน นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในช่วงการสลายชุมนุมเมื่อปี 2553 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยระบุด้วยว่า
“ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน”
ต่อมา จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ วรัญชัย โชคชนะ มีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนมติที่ให้ข้อกล่าวหาตกไปดังกล่าว แต่ในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นให้ตีตกต่อไป โดยระบุว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่สรุปได้ว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล
มติของ ป.ป.ช. ดังกล่าวเปรียบเสมือนการตอกตะปูปิดฝาโลง ที่นอกจากจะไม่มีคดีร่วมกันฆ่าคนตายแล้ว การปฏิบัติหน้าที่สั่งการจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 94 ศพ ก็เป็นปฏิบัติการที่ไม่เกินกว่าเหตุ ผู้สั่งการไม่จำเป็นจะต้องรับผิดในการกระทำเหล่านี้
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตต่อความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ปี 2549 และคณะกรรมการบางรายได้รับการ ‘ต่ออายุ’ ให้อยู่ในตำแหน่งต่อทั้งที่หมดวาระไปแล้วหลังการรัฐประหาร โดยหนึ่งในคนที่ได้รับการต่ออายุราชการ คือ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ซึ่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ยังไปรับตำแหน่งแต่งตั้งอื่นๆ จาก คสช.
อีกทั้ง มติของ ป.ป.ช. ที่ไม่มีการรื้อคดีก็เป็นช่วงที่มีการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ ที่ถูกอนุมัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมา โดยมีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีต สนช. และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (ช่วยงาน พล.อ.ประวิตร) มาเป็นหนึ่งในกรรมการและได้รับเลือกเป็นประธาน ป.ป.ช. ในท้ายที่สุด
ทางเลือกและทางเดินบนขวากนามของผู้สูญเสีย
เมื่อศาลยุติธรรมและ ป.ป.ช. มีมติไปในทางเดียวกัน คือ ไม่ดำเนินการเอาผิดผู้สั่งการในคดีมีส่วนร่วมในการฆ่าคนตาย ทางเลือกเท่าที่มีในตอนนี้ของผู้เสียหายจะแบ่งออกเป็น สองส่วนหลักๆ ได้แก่
หนึ่ง การดำเนินการเอาผิดกับ “ผู้ปฏิบัติการ” หรือเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากการชันสูตรและไต่สวนการตายโดยศาล เพียงแต่ว่า การเอาผิดผู้ปฏิบัติการนั้นจะเป็น ‘เขตอำนาจของศาลทหาร’ ซึ่ง ศาลทหารมีปัญหาในเชิงหลักการว่าไม่เป็นอิสระ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร กำหนดให้การแต่งตั้งโยกย้ายตุลาการและอัยการทหารอยู่ภายใต้การกำกับและการบังคับบัญชาทหารหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร
ที่ผ่านมา พะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ศพวัดปทุมฯ ได้ใช้ช่องทางเอาผิดกับผู้ปฏิบัติการจำนวน 8 คน แต่ผลปรากฏว่า อัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายทหาร โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และไม่มีพยานบุคคล ว่าทหารทั้ง 8 นายได้กระทำการยิงปืนเข้าไปในวัดเพื่อฆ่าผู้อื่น แต่พะเยาว์ชี้ว่า มีทั้งคลิปวิดีโอ ภาพถ่าย พยานหลักฐานปลอกกระสุนและหัวกระสุนที่ฝังอยู่ที่ศพผู้เสียชีวิตก็เป็นชนิดเดียวกับที่นายทหารทั้ง 8 คนใช้ และทั้ง 8 คนเคยให้ปากคำด้วยตัวเองต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า ทุกคนอยู่บนรางรถไฟฟ้าในวันดังกล่าวจริง และยอมรับว่าได้ยิงเข้าไปในวัดจริง
สอง การดำเนินการเอาผิดกับ “กระบวนการยุติธรรม” เนื่องจากการเอาผิดผู้สั่งการติดเงื่อนไขอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น ประชาชนที่เห็นต่างกับมติ ป.ป.ช. ทำได้เพียงตรวจสอบการทำงาน เช่น หากพบเห็นการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการดำเนินการในลักษณะทุจริตต่อหน้าที่ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาและให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อ “ตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ” จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง และเอาผิดกับ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเอาผิดคณะกรรมการ ป.ป.ช. จนต้องพ้นออกจากตำแหน่ง แต่วิธีการได้มาซึ่งองค์กรอิสระชุดใหม่ ก็ยังผูกขาดไว้ที่ คสช. ซึ่งมีสมาชิกหลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ปี 53 เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ส.ว. แต่งตั้ง คือ ร่างทรงของ คสช. ที่จะเข้ามามีอำนาจเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเป็นที่ครหาถึงความไม่เป็นอิสระขององค์กรอิสระต่อไป
ภาพ: REUTERS/Fayaz Kabli
Tags: ศปช., กระบวนการยุติธรรม, สลายการชุมนุม, 19 พฤษภาคม 2553