17 สิงหาคม 2560 นักเคลื่อนไหวซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของฮ่องกง อย่าง โจชัว หว่อง และเพื่อนรวมสามคน ถูกจับตัวเข้าเรือนจำ หลังศาลพิพากษาจำคุกแกนนำขบวนการปฏิวัติร่ม (Umbrella Movement) ที่มีการชุมนุมประท้วงในปี 2557 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกงโดยปราศจากการแทรกแซงจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน
โจชัว หว่อง ถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือน เพื่อนของเขาอีกสองคนถูกตัดสินจำคุก 7 และ 8 เดือนตามลำดับ เขาเหล่านี้ถูกลงโทษฐานที่เป็นแกนนำเยาวชนคนสำคัญ ซึ่งสร้างปรากฏการณ์พาคนหนุ่มสาวไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในฮ่องกงออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้เงาของจีน
จากการต้านหลักสูตรล้างสมอง สู่การเรียกร้องประชาธิปไตย
ย้อนไปเมื่ออายุ 14 ปี โจชัวเริ่มต้นเคลื่อนไหวทางสังคมจากแคมเปญเล็กๆ เกี่ยวกับปัญหาการศึกษา เมื่อรัฐบาลฮ่องกงเตรียมประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติที่จะครอบงำความคิดเยาวชน ปลูกฝังให้เด็กๆ ในฮ่องกงต้องจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน โจชัวเป็นหนึ่งในคนที่เรียกหลักสูตรนี้ว่า ‘หลังสูตรล้างสมอง’
เขาค่อยๆ ก่อตัวและรวบรวมพรรคพวก จนเกิดเป็นกลุ่มชื่อ ‘สกอลาริซึม’ (Scholarism) เริ่มจากแจกใบปลิวบนท้องถนน ทำแผ่นป้ายรณรงค์ ใช้โทรโข่งปราศรัย ต่อมา พวกเขายกระดับการกดดันด้วยการเดินประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล ครั้งนั้นเองที่โจชัวและเพื่อนเริ่มเป็นที่รู้จักผ่านการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเป็นกลุ่มเยาวชนอายุน้อยที่เคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญ และกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในเกาะฮ่องกง
สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงโหมไม่หยุด เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมและแกนนำกลุ่มสกอลาริซึมตระหนักได้ว่า รากฐานของปัญหาคือ ‘ฮ่องกงไม่ได้เป็นอิสระจากจีน’
สี่วันก่อนที่รัฐบาลฮ่องกงจะประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ กลุ่มสกอลาริซึมและนักเรียนจากที่ต่างๆ กว่าร้อยชีวิตตัดสินใจปักหลักประท้วงที่จัตุรัสหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลถอนนโยบายการศึกษานี้ แต่คลื่นของการเปลี่ยนแปลงยังไม่ออกมาจนกระทั่งเช้าของวันที่รัฐบาลจะประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ โจชัวและเพื่อนเรียกมันว่า ‘ปาฏิหารย์’ ประชาชนที่ไม่อาจทนเห็นลูกหลานต่อสู้กับการแทรกแซงของจีนแต่เพียงลำพังหลั่งไหลมาร่วมชุมนุมไม่ขาดสาย จากหลักร้อยสู่หลักพัน และมากที่สุดถึงหลักแสน จนรัฐบาลฮ่องกงตัดสินใจยกเลิกการประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติในที่สุด
ดูเหมือนสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะโหมไม่หยุด เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมและแกนนำกลุ่มสกอลาริซึมตระหนักได้ว่า รากฐานของปัญหาก็คือ ‘ฮ่องกงไม่ได้เป็นอิสระจากจีน’
ถ้าย้อนกลับไปที่ปี 1997 ซึ่งเป็นปีที่ฮ่องกงถูกส่งคืนให้กับจีนหลังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักรมา 150 ปี คนฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่ได้ดีใจที่จะต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สิ่งที่ทำให้ทั้งสองดินแดนพออยู่ด้วยกันได้ก็คือสัญญาใจที่จีนจะยอมให้ฮ่องกงมีระบบกฎหมาย เศรษฐกิจ และการเมืองของตัวเอง ภายใต้นโยบาย ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวฮ่องกงมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้นำของตัวเองได้
แต่สำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ จีนจะเป็นฝ่ายเลือกผู้นำสูงสุดของฮ่องกงให้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ ซี หวาย เหลียง ผู้นำสูงสุดของฮ่องกงจะต้องผลักดันหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน
และนี่คือหนึ่งในชนวนที่ทำให้โลกต้องจารึกการปฏิวัติร่มในฐานะการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญของคนฮ่องกง
ขบวนการปฏิวัติร่มกับบทเรียนราคาแพงที่ต้องจ่าย
ก่อนที่โลกจะได้รู้จักชื่อขบวนการปฏิวัติร่ม แกนนำคนสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยจากจีนคือ เบนนี ไถ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง เขากดดันรัฐบาลฮ่องกงด้วยการยึดย่านเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า ‘เซ็นทรัล’ แล้วเขาเรียกขบวนการของเขาว่า ‘Occupy Central’
ส่วน โจชัว หว่อง ยังคงเป็นแกนนำกลุ่มสกอลาริซึมที่หันมาทำงานมวลชนกับกลุ่มคนรุ่นใหม่และนักเรียนนักศึกษา เพื่อแสดงออกว่าพวกเขาต้องการกำหนดอนาคตบ้านเกิดตัวเอง
จากกระแสที่โจชัวเคยทำไว้ เมื่อมีการชุมนุมเพื่อปลดปล่อยฮ่องกงจากอิทธิพลของจีนจึงมีคนสนใจเข้าร่วมมหาศาล จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อโจชัวตัดสินใจยกระดับการชุมนุมด้วยการพาคนไปยึดจัตุรัสหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ราบรื่นเหมือนครั้งก่อน ตำรวจนำกองกำลังเข้าจับกุมเขาและเพื่อนอีกสองคน แม้เขาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกกักขังนาน 46 ชั่วโมง แต่สถานการณ์การชุมนุมเริ่มสุกงอม ผู้คนออกมาปิดถนนเส้นหลักของเมือง วางรั้ว และปิดถนนย่านการค้า ตำรวจใช้ไม้แข็งสลายการชุมนุม ใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย ทำให้ผู้ชุมนุมต้องพกร่มไปป้องกันเครื่องมือของตำรวจ กลายเป็นสัญลักษณ์โด่งดังไปทั่วโลก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการ ‘ปฏิวัติร่ม’ อย่างเป็นทางการ
เมื่อภาพผู้ชุมนุมที่ต้องปกป้องตัวเองจากเจ้าหน้าที่รัฐถูกเผยแพร่ออกไป ยิ่งปลุกให้คนทยอยกันออกมาชุมนุมมากขึ้น จากแค่ยึดพื้นที่ย่านเซ็นทรัลก็ขยายตัวเข้ายึดพื้นที่สำคัญต่างๆ ในเกาะฮ่องกง ถึงตรงนี้ รัฐบาลฮ่องกงเริ่มเรียนรู้แล้วว่า หากใช้วิธีการรุนแรงจะยิ่งเป็นผลเสียต่อรัฐบาล จึงปล่อยให้การชุมนุมยืดเยื้อ รอจนกว่าผู้ชุมนุมจะหมดแรงไปเอง ประกอบกับเสียงคัดค้านของผู้ประกอบการในย่านธุรกิจ ก็ค่อยถึงเวลาที่รัฐบาลจะเข้าเก็บกวาดผู้ต่อต้าน
การกระชับและขอคืนพื้นที่กลายเป็นฝันร้ายของบรรดาแกนนำที่ต้องยอมรับว่าการชุมนุมมาถึงช่วงสุดท้าย ด้วยภาวะที่ดูเหมือนสิ้นหวังและเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง เบนนี ไถ ตัดสินใจเข้ามอบตัวและยุติบทบาท โดยหวังให้นักศึกษายอมถอยตาม แต่ โจชัว หว่อง และกลุ่มนักเรียนนักศึกษายังยืนกราน เริ่มอดอาหารประท้วงและขอปักหลักอยู่ในพื้นที่การชุมนุมต่อ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจฝืนสังขารตัวเองได้ ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล
จากนั้น ขบวนการ Occupy Central ก็ยุติบทบาทหลังชุมนุมมาได้ 79 วัน
นอกจากความพ่ายแพ้สิ้นหวัง โจชัวและเพื่อนยังถูกตั้งข้อหาว่าปลุกปั่นให้คนออกมาชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจและละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงที่เขาถูกบังคับให้ต้องจ่าย เพียงเพราะอยากได้อิสระในการเลือกผู้นำของตัวเอง
การปะทะกันระหว่างมหาอำนาจกับคนรุ่นใหม่
ภายหลังการชุมนุมที่ย่านเซ็นทรัล จีนยังคงไม่ลดราวาศอกจากฮ่องกงไปง่ายๆ เมื่อมีข่าวการอุ้มหายชาวฮ่องกง หลายคนสันนิษฐานว่าเป็นเพราะเขาเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์หนังสือวิพากษ์ผู้นำคอมมิวนิสต์จีน เหตุครั้งนี้ทำให้นักกิจกรรมคิดหนัก เพราะเห็นได้ว่าจีนกำลังกระชับอำนาจเข้ามา และหลักประกันในสิทธิเสรีภาพกำลังเสื่อมลง
โจชัวและเพื่อนตัดสินใจยุบกลุ่มสกอลาริซึม พวกเขาเรียนรู้จากการต่อสู้ที่ผ่านมาว่า เพียงแค่การกดดันบนท้องถนนไม่อาจไปถึงเป้าหมาย จึงมองหาโอกาสต่อสู้ผ่านระบบการเมือง โดยตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า ‘เดโมซิสโต’
แล้วพรรคของคนรุ่นใหม่อย่างเดโมซิสโตก็สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง ในการเลือกตั้งปี 2016 พรรคเดโมซิสโตได้ที่นั่งในสภาไปครองตั้งแต่ลงสนามการเมืองครั้งแรก นาธาน ลอว์ หัวหน้าพรรคเดโมซิสโต เข้าไปเป็นสมาชิกสภา ส่วนโจชัวที่อายุไม่ถึงก็เตรียมตัวสำหรับการลงเลือกตั้งครั้งถัดไปในปี 2020
เรื่องราวคล้ายจะจบแบบมีความสุข แต่คดีความยังไม่สิ้นสุด ในปี 2016 ศาลพิพากษาว่าพวกเขามีความผิดฐานชุมนุมโดยขัดต่อกฎหมาย ศาลลงโทษสถานเบาโดยให้เหตุผลว่า เป็นการชุมนุมตามความเชื่อทางการเมืองและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
แต่รัฐบาลฮ่องกงภายใต้เงาของจีนก็ยังไม่ลดละ ยื่นอุทธรณ์คดีว่าโทษเบาเกินไป ผลคำตัดสินชั้นอุทธรณ์ทำให้โจชัวและพวกต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ และยังทำให้เขาและนาธาน ลอว์ ถูกตัดสิทธิ์ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นเวลา 5 ปี
อาจเรียกได้ว่า คดีนี้คือภาพสะท้อนการปะทะกันระหว่างมหาอำนาจอย่างจีนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง
หลังคำพิพากษา โจชัว หว่อง โพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาว่า การคุมขังเขาจะไม่มีทางทำลายความต้องการที่จะมีสิทธิเลือกตั้งของฮ่องกงได้
“พวกเขาสามารถปิดกั้นการประท้วง ไม่ให้เราเข้าร่วมในสภาฯ และคุมขังเราได้ แต่พวกเขาจะไม่มีทางเอาชนะหัวใจและความคิดของชาวฮ่องกงได้”
“ท่านสามารถคุมขังตัวเราได้ แต่ไม่อาจขังใจเราได้! เราต้องการประชาธิปไตยในฮ่องกง และเราจะไม่ยอมแพ้”
ที่มา:
www.hongkongfp.com/2017/08/17
www.theguardian.com/world/2016/may/24
www.theguardian.com/world/2016/sep/05
www.scmp.com/news/hong-kong/law-crime/article/2004016
www.bbc.com/thai
twitter.com/joshuawongcf
twitter.com/joshuawongcf
สารคดี Joshua: Teenager vs. Superpower ผลงานของ Joe Piscatella
FACT BOX:
โจชัว หว่อง เกิดเมื่อ 13 ตุลาคม 1996 ปัจจุบันอายุ 21 ปี นิตยสารไทมส์ จัดให้เขาอยู่ในรายชื่อวัยรุ่นที่มีอิทธิพลของโลก ประจำปี 2014
Tags: ฮ่องกง, จีน, คอมมิวนิสต์, ปฏิวัติร่ม, Umbrella Movement, สกอลาริซึม, Scholarism, Occupy Central, พรรคเดโมซิสโต, โจชัว หว่อง, Demosistō, หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ