“จิ๊บเพิ่งเข้าเรียนคลาสเต้นวันนี้เลย เมื่อวานเห็นเขาเต้นกันแล้วน่าสนุก แล้วงานนี้เขามีเวิร์กช็อปด้วยก็เลยไปเข้าคลาส อยากมาเต้นกับเขา” จิ๊บ-ศันสนีย์ จริตงาม คุยกับเราฝ่าเสียงดนตรีที่กำลังกล่อมคนอยู่บนเวทีริมลำน้ำปาย เธอซ่อนร่างอยู่ในกระโปรงบานยาวพลิ้ว โพกพันรอบศีรษะด้วยผ้าย้อมหลากสีในลุคกึ่งๆ โบฮีเมียนแบบปายนิยม เนื้อตัวพวกเราเปียกชื้นเพราะละอองฝนที่รินสายลงมาเบาๆ สลับกับหยุดและตกใหม่ เป็นฝนต้อนรับเทศกาลดนตรีเล็กๆ ที่เติมสีสันให้ปายในช่วงโลว์ซีซั่นนักท่องเที่ยวบางตา เพราะคิดว่าปายหน้าฝน คงไม่มีอะไร

          “แต่ผมว่าปายหน้าฝนนี่สวยกว่าทุกฤดูเลยนะ ภูเขาจะอ้วนๆ เขียวๆ” กองทุน พงษ์พัฒนะ เจ้าของเสียงกีตาร์ของวง Bachswing ช่างเป็นนักสังเกต เขาเป็นอีกคนที่ตกหลุมรักปาย เมื่อรู้ว่าจะได้มาเล่นดนตรีที่ปาย เขาจึงจองที่พักต่ออายุวันเวลาที่จะใช้ในปายให้มากยิ่งขึ้น อ้อ… และ Bachswing วงที่มีดนตรียิปซีแจ๊ซเป็นแนวหลักนี้เอง ที่ทำเอาจิ๊บ ครูสอนภาษาอังกฤษที่ใช้ชีวิตเรื่อยเฉื่อยอยู่ทุกวันในปาย อยากจะลุกขึ้นมาปลดปล่อยตัวเองไปกับดนตรีเมื่อวานนี้ เพราะได้ดูพวกเขาเล่นอยู่ที่ The Jazz House แล้วคนก็ลุกขึ้นมาเต้นสวิงกันใหญ่

          ปลายสัปดาห์ที่สามของเดือนกรกฎาคม เรากำลังอยู่ปายในช่วงที่ฝนตกลงมาทุกวัน เทศกาลดนตรีขนาดกะทัดรัดที่ชื่อว่า ‘Pai Jazz and Blues Fest 2018’ จึงเย็นฉ่ำและเลยเถิดไปถึงขั้นเปียกปอนในบางยาม คนต่างชาติหลากภาษา การเต้นรำที่ห่อหุ้มร่างกันไว้ด้วยเสื้อกันฝนหลากสี ว่ากันจริงๆ แบบไม่ได้มองโลกสวย ก็สนุกไปอีกแบบ  

          “มันยิ่งกว่าดี ผมว่ามันเยี่ยมเลยล่ะ” แดเนียลเป็นนักท่องเที่ยวจากอเมริกา เขาแบ็กแพ็กมาจากทางเหนือของเวียดนาม เชียงใหม่ และมาปายในช่วงที่มีเทศกาลดนตรีพอดี “ผมชอบปาย มันมีความสงบให้เราออกไปเจอในตอนกลางวัน มีสีสันของเมืองในตอนกลางคืน พอมาเจอเฟสติวัลแบบนี้ มันดีเลย ไม่ต้องใหญ่โต ง่ายๆ ทุกคนสนุกด้วยกัน”

          นี่เป็นปีที่สองที่ปายยามเหงามีเทศกาลดนตรีมากล่อมไม่ให้เหงา แต่คำว่า ‘เทศกาล’ ของงานนี้ เราจำต้องลบภาพของเวทีกลางแจ้งขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนลานกว้างสักลาน แล้วทุกผู้คนรวมตัวอยู่บนลานนั้น เพราะเทศกาลดนตรีแจ๊ซแอนด์บลูส์ในปาย คือการนำวงดนตรีที่น่าสนใจจากหลายทิศ มาเล่นสดกันในกินดื่ม เสร็จจากร้านหนึ่ง ย้ายไปต่อกันที่ร้านหนึ่ง แล้วไปจบกันอีกร้านหนึ่งก่อนนาฬิกาจะข้ามวันแบบเฉียดฉิว นักดนตรีกับคนดูเดินไปด้วยกัน เมื่ออีกฝ่ายขึ้นเล่น อีกฝ่ายเป็นผู้ชม เมื่อเล่นจบ นักดนตรีก็ลงมาเป็นคนดูบ้าง โดยมีวงอื่นๆ ขึ้นเล่นต่อตามตารางเวลา เป็นความยืดหยุ่นของชีวิตที่ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับ อยากจะแวบออกไปถนนคนเดินเพื่อหาของกินรองท้องหรือช้อปปิ้งข้าวของงานมือสักนิดหน่อย แล้วมาชมดนตรีกันต่อ เพราะสถานที่อยู่ใกล้กันแค่เดินถึง เมืองปายในคืนนี้จึงต่างไปจากปายที่เคยรู้จัก

          “พอเราเห็นว่ามันเป็นงานแจ๊ซ เห็นไลน์อัพว่ามีวงที่เล่นเพลงสวิงด้วย เราก็เลยมา” ใหม่-เนติมา ปิงกุลธนกิจ เป็นสมาชิกของกลุ่ม Swing Dance ในเชียงใหม่ เราเห็นเธอเต้นรำอยู่ทุกวันจากร้านนั้นมาร้านนี้ การเต้นสำหรับเธอคือการคลายเครียด เหมือนนั่งสมาธิแต่มีสิ่งนำเป็นดนตรี

          “การเต้นไม่มีอะไรเฉพาะทาง มันคือการปลดปล่อยท่าทางอย่างอิสระ แต่ก็มีจังหวะของการเต้นของมันอยู่ แล้วอยู่ที่ว่าลีดเดอร์อยากจะทำอะไร เราก็แค่ฟอลโลว์แล้วปล่อยมันออกมา ท่าทางก็อิมโพรไวส์ไปได้ตามเพลง

          “ปายเป็นเมืองที่น่ารักอยู่แล้ว และการมีดนตรีแบบนี้มันทำให้เราอยากจะมาใช้เวลาที่นี่ พูดถึงปายคนจะนึกภาพเร็กเก้ ฮิปปี้ พี้ยา แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ปายเหมือนเชียงใหม่ที่มีดนตรีดีๆ หลายวงมาเล่นที่นี่ แล้วพอยิ่งมีเทศกาลแจ๊ซแบบนี้ มันเปลี่ยนคาแรกเตอร์ของปายได้เลย สถานที่ก็น่ารัก มันสบายๆ ทุกคนเป็นกันเอง เราแฮปปี้มากๆ ที่ได้มา”

          ปีนี้เทศกาลดนตรีแจ๊ซแอนด์บลูส์ ปักหลักเล่นกันอยู่หลายแห่ง The Jazz House ช่างเหมาะกับดนตรีชิลล์ๆ เบาๆ แบบนอนไกวเปลฟังได้ในยามเย็น แต่จะลุกขึ้นมาออกท่าทางให้ไหลไปกับท่วงทำนองก็ไม่มีอะไรให้ต้องเคอะเขินกัน Pai River Corner ร้านอาหารติดริมน้ำปาย จัดพื้นที่ติดกับร้านอาหารเป็นเวทีเล็กๆ ให้คนดูได้หันหน้าสู่แม่น้ำ จะมีสักกี่แห่งกันที่เราสามารถไปนั่งดูดนตรีได้ในบรรยากาศแบบนี้ ส่วนที่ Mojo Cafe Pai ให้บรรยากาศที่ควรค่ากับการดื่มแกล้มดนตรีแบบเก๋าๆ  มีองค์ประกอบที่เหมาะสำหรับวงฟูลแบนด์ ถนนหน้าร้านล้นทะลักไปด้วยผู้คนที่ดนตรีกำลังสร้างความสุขจนได้ที่

          ตลอดเวลาสามวันของเทศกาล มีวงดนตรีผลัดกันขึ้นเวทีที่เวียนกันไปในแต่ละที่ นับตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่าง The Tuk หรือ ตุ๊ก บราสเซอรี่-วัชระ เจริญพร ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มอบฉายาให้ว่าเป็น ‘จิมี่ เฮนดริกซ์ แห่งลุ่มน้ำปิง’ ชาติ BeBop นักดนตรียอดฝีมือของเมืองปาย Cha & Aek ft. Pooh สองนักดนตรีจับมือกับนักร้องคุณภาพ ปู-วัฒนาวรรณ ขันอาษา Chiang Mai Blues, PaPaPao และอีกหลายวงทั้งรุ่นกลางและรุ่นเล็กที่ฝีไม้ลายมือไม่แพ้กัน บางวงก็นำผลงานอัลบั้มมาวางขายด้วย เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นกำลังและแรงใจให้คนทำดนตรี

          “ตอนที่พี่โหน่ง (สมชาย ขันอาษา-บรรณาธิการนิตยสาร HIP ผู้จัดงาน) ชวนมางานนี้ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ผมนึกภาพไม่ออกเลย น้าทิวา (ทิวา สาระจูฑะ-บรรณาธิการนิตยสารสีสัน) โทรมาบอกว่าไปช่วยพี่โหน่งหน่อย (หัวเราะ) ก็ต้องมา แต่มาแล้วสนุก น่ารักมาก เล่นเสร็จก็มาตากฝนกับกลุ่มคนดู พอปีนี้เป็นปีที่สองรู้นึกจะคึกคักกว่าเดิมอีก” ป๊ง-ดุลยสิทธิ์ สระบัว เจ้าของ Adhere13th Blues Bar ย่านบางลำพู และเป็นเจ้าของวง Banglumpoo Blues Company ซึ่งมีตารางขึ้นโชว์ในคืนที่สองที่ Mojo Cafe เล่าให้เราฟังก่อนที่เขาจะขึ้นเวที เราได้ยินมาว่ามีคนประทับใจการโชว์ของเขามากเมื่อปีที่แล้ว และปีนี้ทางวงจัด ‘ชุดใหญ่’ กว่าเดิม ทั้งนักดนตรีและเครื่องดนตรีที่มากขึ้น แนวดนตรีที่หลากหลาย รวมถึงเพลงใหม่ของวงที่อัลบั้มเต็มกำลังจะวางขายปลายเดือนสิงหาคมนี้

          “ผมมาปายค่อนข้างบ่อย” เจ้าของ Adhere13th Blues Bar ส่งบทสนทนาแทรกเสียงฝนที่กำลังเริ่มเล่นงานเราหนักขึ้นอยู่นอกชายคาร้าน เสียงดนตรีที่หนักหน่วงจากอีกวงหนึ่งกำลังทำหน้าที่อยู่ในร้าน ก่อนที่วงของป๊งจะขึ้นไปเล่นต่อ “ปกติผมจะไม่ได้มาหน้าไฮกับเขา แต่จะมาช่วงฝนแบบนี้แหละ ซึ่งช่วงนี้ปายจะค่อนข้างเงียบ แต่พอมีงานแจ๊ซแบบนี้มันก็ช่วยให้เมืองปายสนุกขึ้น”

          “จิ๊บอยากให้ปายมีแบบนี้ทุกวันเลย” ครูสาวยังคงปรากฏตัวตามการย้ายบาร์ของวงดนตรี เราเห็นเธอยังสนุกกับดนตรี บางครั้งก็หยุดทักทายคนที่รู้จัก “ปกติปายก็มีดนตรีแหละ แต่ก็จะเป็นนักดนตรีที่เรารู้จักกัน เห็นกันอยู่แล้ว คนนี้เล่นร้านนี้ วันนี้ เพลงนี้ แต่พอมีงานแจ๊ซมันสร้างสีสันด้วยวงดนตรีที่เราไม่เคยดูมาก่อน เป็นวงดนตรีแปลกๆ หน้าใหม่ ดนตรีทำให้คนได้มาเจอกัน ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ ด้วย”

          “เป็นเทศกาลเล็กๆ ที่อบอุ่นและน่ารักมาก” กองทุนบอกกับเราหลังจากเขาและวงวางเครื่องดนตรีและกลายมาเป็นคนดูบ้าง “เราเล่นดนตรีแล้วคนสนุกกับเราเป็นเรื่องที่ดีมาก มันทำให้เราไม่ได้เล่นแค่ให้เราสนุก หรือเล่นให้คนดูฟังแล้ว แต่เราเล่นให้คนที่เต้นเพื่อซัพพอร์ตเขา เราพยายามจะทำให้ทุกคนเป็นมวลเดียวกัน ผมดีใจมากที่ผมเห็นคนข้างห้องพักผม เขาพาลูกเล็กๆ มาสองคน แล้วพามาเต้นอยู่หน้าเวที มันเป็นภาพที่น่ารักมาก

          “พอเล่นที่ร้านนี้เสร็จก็ตามไปดูร้านอื่นต่อ จบก็กลับ ทุกคนเคารพกติกา ผมอยากให้งานนี้มั่นคงในคอนเซ็ปต์ตัวเอง มันสนุก มันเป็นเฟสติวัลที่ไม่ต้องแต่งตัวสวยเลิศหรู ทุกคนแต่งตัวกันมาลุยๆ เพื่อมาฟังดนตรี แล้วการจัดแบบย้ายไปตามร้านแบบนี้ ทำให้ได้เห็นว่าระหว่างทางมีอะไร มันทำให้เราได้รู้จักปายมากขึ้น”

          แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ Pai Jazz and Blues Fest ก็สร้างเสน่ห์ที่แตกต่างให้กับปายในฤดูที่สวยที่สุดอีกยามหนึ่งของเมืองกลางหุบเขา

          ที่คุณอาจจะอยากไปสนุกกับพวกเขาดูสักครั้งในปีหน้า

Fact Box

  • Pai Jazz and Blues Fest 2018 (Vol.2) คือเทศกาลดนตรีที่ HIP Magazine นิตยสารแจกฟรีในเชียงใหม่ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 และจะจัดเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการรวมเอาศิลปินแจ๊ซและบลูส์ที่น่าสนใจ มาแสดงที่ร้านอาหารต่างๆ ในปาย เพื่อให้คนในเมืองปายและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้มีความสุขกับเสียงดนตรีในฤดูฝนด้วยกัน
Tags: , , ,