สภาพชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยแรงกดดันมหาศาล ทำให้หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นคิดถึงเรื่องการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่น้อยลงจากอดีตมาก ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้หนุ่มสาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ชีวิตลำพังคนเดียวในมหานครโตเกียว
Deutsche Welle (DW) สื่อของเยอรมนีนำเสนอรายงานชิ้นหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว กล่าวถึงผลการศึกษาโดยบริษัทประกันภัยในโตเกียว ที่ชื่อเมจิ ยาสุดะ พบว่าสัดส่วนผู้ชายในช่วงวัย 20-30 ปี มีความต้องการแต่งงานลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับสามปีก่อน โดยลดลงจากร้อยละ 67.1 เหลือร้อยละ 38.7 ขณะที่หญิงสาวชาวญี่ปุ่นช่วงวัยเดียวกัน ความต้องการแต่งงานลดลงจากร้อย 82.2 ในปี 2556 เหลือร้อยละ 59 ในปีที่ผ่านมา
รายงานบอกถึงสาเหตุที่ทำให้การแต่งงานของหญิงสาวชาวญี่ปุ่นลดลงว่า เกิดจากค่านิยมดั้งเดิม 3 ประการของผู้หญิงญี่ปุ่น ได้แก่ อยากจะหาคู่แต่งงานที่การศึกษาสูง รูปร่างหน้าตาดี และรายได้สูง โดยรายได้เฉลี่ยที่หญิงสาวคาดหวังคือไม่ต่ำกว่า 4 ล้านเยนต่อปี หรือไม่ต่ำกว่าราวปีละ 1.16 ล้านบาท ความต้องการคู่สมรสที่สมบูรณ์แบบทำให้ยากที่จะหาชายหนุ่มซึ่งมีคุณสมบัติเพียบพร้อมครบทั้งสามประการนี้ได้
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ชายหนุ่มญี่ปุ่นตัดสินใจไม่แต่งงานเมื่ออายุยังน้อย หรือเลื่อนการแต่งงานออกไปในตอนที่มีอายุมากขึ้น DW บอกว่า เพราะยังไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ยังไม่สามารถหาเงินได้มากพอจะเลี้ยงดูภรรยาและลูกๆ แต่เมื่อล่วงเข้าสู่วัย 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หน้าที่การงานและฐานะทางการเงินมั่นคงแล้ว ด้วยภาระงานที่หนักหนาสาหัส ผู้ชายญี่ปุ่นก็ไม่มีเวลาหรือไม่ต้องการทุ่มความสนใจไปกับเรื่องการแต่งงานหรือการสร้างครอบครัวอีก
ปัจจุบันมีหญิงสาวชาวญี่ปุ่นมากกว่า 1.4 ล้านคนเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตลำพังตัวคนเดียวในโตเกียว แม้ว่าโตเกียวจะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยสูงมาก และปลอดภัยกว่าเมืองหลวงในหลายๆ แห่งทั่วโลก แต่ก็มีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะคนร้ายจะพุ่งเป้าไปที่หญิงสาวที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ลำพังตัวคนเดียว
เดือนมกราคมที่ผ่านมา เดอะเจแปนไทมส์ รายงานภาพรวมของจำนวนการเกิดอาชญากรรมในญี่ปุ่นปีที่แล้วว่าลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ แต่กระนั้น โตเกียวก็ยังคงเป็นเมืองที่มีการก่ออาชญากรรมสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 125,258 ครั้ง รองลงมาคือ โอซาก้า 107,032 ครั้ง
มาอิ ชิบาตะ พนักงานสาววัย 25 ปี ของบริษัทในเครือลีโอพาเลซ 21 ซึ่งอาศัยอยู่คนเดียวในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในโตเกียว บอกว่า หลังเลิกงานตอนดึกและเดินทางกลับที่พัก ตามถนนต่างๆ จะเปลี่ยวมาก เธอรู้สึกกลัวเมื่อต้องเดินบนถนนคนเดียว
เดือนเมษายนที่ผ่านมา ลีโอพาเลซ 21 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจให้เช่าอพาร์ตเมนต์ของญี่ปุ่น เปิดตัวการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารไร้สาย มาช่วยสร้างมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับหญิงสาวซึ่งพักอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ตามลำพัง โดยมีนวัตกรรมที่ชื่อว่า ‘Man on the Curtain’ หรือ ‘ชายบนผ้าม่าน’ ขึ้น
‘ชายบนผ้าม่าน’ คือ ภาพฉายวิดีโอการเคลื่อนไหวของชายหนุ่มในขณะทำกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านลงไปบนผ้าม่าน ภาพเงาของชายบนผ้าม่านจะทำให้คนที่อยู่ภายนอกอาคารมองเข้ามาแล้วจะเข้าใจว่า มีผู้ชายอยู่ในห้องพักนั้นจริงๆ
วิธีทำงานของชายบนผ้าม่าน ใช้การเชื่อมต่อสมาร์ตโฟนเข้ากับเครื่องฉายหรือโปรเจคเตอร์แบบพกพา ผู้ใช้สามารถเลือกให้ชายบนผ้าม่านทำกิจกรรมได้ 12 แบบ อาทิ ขณะทำงานบ้านอย่างพับผ้า ดูดฝุ่นบนพื้น หรือสไตล์ดุดันอย่างการซ้อมมวย คาราเต้ ยกน้ำหนัก เหวี่ยงไม้เบสบอล หรืออิริยาบทสบายๆ อย่าง จิบกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ หรือเล่นกีตาร์ โดยแต่ละบุคลิกสามารถฉายได้ต่อเนื่องนานครั้งละ 30 นาที
เคอิชิ นาคามูระ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของลีโอพาเลซ 21 บอกว่า ชายบนผ้าม่านเป็นการประชาสัมพันธ์มาตรการความปลอดภัยของอพาร์ตเมนต์ในเครือของบริษัทเท่านั้น และขณะนี้รูปแบบของชายบนผ้าม่านยังมีจำกัดมากเพียง 12 แบบ ซึ่งถ้ามีการฉายซ้ำบ่อยๆ ก็อาจเป็นที่สังเกตได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังพัฒนาให้ชายบนผ้าม่านหลากหลายมากขึ้น และในอนาคต หากจะวางขาย จะต้องทำให้สามารถอัพเดตชายบนผ้าม่านแบบใหม่ๆ ได้ทุกวัน และอาจจะเพิ่มเสียงและทำให้สามารถควบคุมการทำงานจากระยะไกลได้
นาคามูระ บอกด้วยว่า ชายบนผ้าม่านจะทำให้คนร้ายที่จะก่ออาชญากรรมต้องหยุดคิดทบทวนและชั่งใจว่าจะบุกเข้ามาภายในอพาร์ตเมนต์ของหญิงสาวหรือไม่
อ้างอิง
- Why fewer Japanese are seeking marriage, DW
- Japan’s crime rate hits record low as number of thefts plummets, Japan Times