เครื่องบินลงจอดตรงเวลา ตี 01.15 น. ณ สนามบินไจปูร์ ประเทศอินเดีย เมื่อเข้าสู่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เราต้องพบกับแถวผู้โดยสารยาวเหยียด แม้จะเลือกช่อง E-Visa ที่เล็งแล้วว่าน่าจะสั้นและเร็วที่สุด แต่กลับไม่เห็นวี่แววของเจ้าหน้าที่ และเมื่อจะติดต่อกับโรงแรม ก็พบว่าทั้งซิมการ์ดและ Airport Free WIFI ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อได้

สิริรวมเวลากว่าจะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอินเดียและไปรับกระเป๋าได้รวมเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ทำให้ถึงกับต้องอุทานว่า บร๊ะเจ้า!! นี่คือบทเรียนแรกว่า มาอินเดียต้องใจเย็นๆ นะจ๊ะนายจ๋า

โชเฟอร์อินเดียร่างผอมที่โรงแรมจัดมารับเรา ใช้เวลาขับรถเพียง 5 นาที ก็พาเราเข้าเช็คอินถึงที่พักได้อย่างน่าหวาดเสียว เพราะขับสวนเลนกลางถนนใหญ่ ประมาณว่าไม่ต้องขับอ้อมเพื่อไปกลับรถ แต่เบี่ยงไปอีกเลนมันเสียเลย

เมื่อรอดชีวิตมาเช็คอินห้องพักและทำธุระต่างๆ เสร็จ อีกไม่นานฟ้าก็จะสว่างแล้ว

เสียงแตรบนท้องถนน จากความรำคาญสู่ความคุ้นเคย

หลังจากข่มตาให้หลับเพียงไม่กี่ชั่วโมง เราก็ตื่นขึ้นมาแบบสะโหลสะเหล ออกเดินทางไปยังเมืองอัครา ระยะทางจากเมืองไจปูร์ประมาณ 250 กิโลเมตร

จุดหมายแรก คือ บ่อน้ำขั้นบันได แชนด์ เบารี (Chan Baori Step Well) สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Batman ภาคสุดท้าย และ The Fall ซึ่งเป็นบ่อน้ำที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสองเมือง

แต่ที่ตั้งใจว่าจะมานอนต่อบนรถก็หาทำได้ไม่ เพราะตลอดเส้นทางการจราจรอินเดียขวักไขว่ รถราแซงกัน เบียดเสียดทั้งรถ ทั้งสัตว์ เสียงบีบแตรดังสนั่นทุกๆ นาที โดยเฉพาะทุกครั้งที่ผ่านด่านเก็บค่าผ่านทาง รถจะติดแบบไม่มีเหตุผล โชเฟอร์ของเราก็จะบีบแตรใส่รถคันหน้า เปิดกระจกตะโกนด่ากันหรือคุยกันแบบเสียงดังก็ไม่แน่ใจได้ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ หลังจากบีบแตรใส่กัน เปิดกระจกด่ากันเสร็จ ก็แล้วๆ ไป ไม่มีเก็บอารมณ์มาหงุดหงิด ผ่านทางไปได้ก็ยิ้มร่า หัวร่อแบบไม่ได้มีวี่แววความโมโหเมื่อครู่หลงเหลือ

ผ่านไปชั่วครู่ใหญ่ เมื่อเราค่อยๆ ปรับตัวกับจังหวะการขับที่กระชาก เบรคแรง และปรับประสาทสัมผัสทางหูให้เริ่มคุ้นชินกับเสียงแตรได้ โชเฟอร์ก็จอดข้างทางและบอกว่าถึงจุดหมายแล้ว ให้พวกเราเดินต่อเข้าไปกันเอง

ทางเดินเข้าไปเป็นทางเดินดินทรายแคบๆ ดูสกปรก มีบ้านเรือนห้องแถวที่ชาวอินเดียชอบมานั่งตากแดดตากลมกันหน้าบ้าน

เราเดินผ่านแพะ วัว ม้า เดินหลบก้อนอึ (บางก้อนก็คล้ายอึคน) ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เจอกับประตูเล็กๆ ซึ่งเมื่อขึ้นบันไดไปไม่กี่ขั้นก็ได้พบกับความยิ่งใหญ่ของบ่อน้ำขั้นบันได แชนด์ เบารี บ่อน้ำที่ติดอันดับบ่อน้ำขั้นบันไดที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย..

ไกด์ท้องถิ่นรีบปรี่เข้ามาเล่า (พร้อมขอทิปหลังเล่าจบ) ว่าบ่อน้ำแห่งนี้สร้างขึ้นกว่าพันปีที่แล้ว เพื่อให้ชาวเมืองได้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง และเพราะบ่อลึกถึง 33 เมตร มหาราชาเลยสั่งให้ออกแบบเป็นขั้นบันได เพื่อให้คนลงไปตักน้ำได้หลายคนพร้อมๆ กัน และตักได้จนถึงหยดสุดท้ายแม้ว่าระดับน้ำจะเหลือเพียงก้นบ่อก็ตามที ถ้าลองนับดูก็จะพบว่ามีบันไดมากถึง 3,500 ขั้น

จากที่เมื่อก่อนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินลงบันไดไปถ่ายภาพสวยๆ ตามแต่ละขั้นได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่อนุญาตแล้ว เพื่อเป็นการอนุรักษ์สถานที่

แม้ไม่ได้ถ่ายภาพ แต่เพียงแค่เราได้มาเห็นด้วยตาจริงๆ และเดินชมรอบๆ ก็ต้องร้องว้าวออกมาดังๆ จากความยิ่งใหญ่ที่มหาราชาได้เนรมิตไว้ และกลายเป็นหนึ่งในสมบัติโบราณสถานพันปีให้เราได้มาเยือน

กว่าเราจะออกจากบ่อน้ำมาก็บ่ายแล้ว และเนื่องจากเราเพิ่งทราบว่า ทัช มาฮาล ปิดทุกวันศุกร์ จากแผนเดิมที่ตั้งใจจะไปทัช มาฮาล ในวันรุ่งขึ้น จึงเปลี่ยนแผนให้โชเฟอร์ตรงไปยัง ทัช มาฮาล ก่อนเข้าโรงแรมเลยทันที

เช่นเคย เมื่อขึ้นรถ เสียงแตร เสียงโหวกเหวก ประสานกับเสียงร้องเพลงแขกของโชเฟอร์ จะด้วยว่าเริ่มชิน หรืออาหารตกถึงท้อง หนังตาเริ่มหย่อนก็ไม่แน่ใจได้ เราเริ่มเพลิดเพลิน หลับๆ ตื่นๆ จนเวลาสามชั่วโมงบนรถผ่านไปไวในความรู้สึก

ทัช มาฮาล ความงดงาม กับเรื่องราวความรักและความสูญเสีย

เมื่อถึงทัชมาฮาล คนขับจอดรถตรงฝั่งประตูตะวันออก (East Gate) แล้วจัดแจงให้พวกเราขึ้นรถสามล้อริคชอว์ เพื่อพาไปส่งที่จุดซื้อตั๋ว

เมื่อลงจากรถตุ๊กตุ๊กปุ๊บ ไกด์ท้องถิ่นร่างใหญ่ก็รีบปรี่มาโชว์บัตรสร้างความน่าเชื่อถือ และเพราะทัช มาฮาล กำลังจะปิดในอีกชั่วโมงเศษๆ เราจึงตัดสินใจจ้างไกด์หลังจากที่ได้ต่อรองราคาแบบลดครึ่งๆ ไกด์ร่างใหญ่จึงจัดแจงซื้อตั๋ว (โดยไม่ลืมโชว์พาสปอร์ตไทยเพื่อได้เรทค่าเข้าเท่ากับคนอินเดีย) พร้อมฝากของที่ห้ามนำเข้า (น่าแปลกมากที่ตุ๊กตากาชาปองเป็นสิ่งของต้องห้าม)

เมื่อเข้ามาด้านใน ไกด์ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องที่ดีมาก และเมื่อฟังจบ เราก็บรีฟพี่ไกด์ใหม่ว่า “ไอขอเน้นจุดถ่ายภาพสวยๆ” พี่ไกด์ก็ช่างเก็ตไวยิ่งนัก ยังไม่พ้นทางเข้า ก็จัดภาพโค้งประตู มองเห็น ทัช มาฮาล ทั้งภาพเดี่ยว ภาพคู่ ภาพหมู่ มีสั่งให้ทำท่าเหม่อ ทำเป็นก้าวเดิน และอีกมากมายหลายมุม เราได้ภาพสวยๆ มุมแปลกตามามากมายจริงๆ

ก่อนจะออกจาก ทัช มาฮาล เราหันกลับมามองและยืนสงบนิ่งดื่มด่ำในความงดงามของสถาปัตยกรรมหินอ่อนสีขาวนวลอีกครั้ง และนึกถึงเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ที่ผู้ชายคนหนึ่งจะมีให้แก่หญิงที่ตนรักได้มากมายยิ่งใหญ่เหลือเกิน

ภาพ ทัช มาฮาล ตรงหน้าโดดเด่นงดงาม แสงอาทิตย์สีส้มเริ่มสาดทอแสงลงบนเนื้อหินอ่อนระยิบระยับงามตา แต่เบื้องหลังของความงามที่เราเห็นตรงหน้านี้แฝงไปด้วยความโหดร้าย ความทุกข์ยากทรมาน หยาดเหงื่อของแรงงาน ชีวิตผู้คน ความแตกร้าวของครอบครัว

สาดสี Happy Holi Fest เทศกาลแห่งมิตรภาพ

เช้าวันที่สาม ห้องพักแบบเห็นทิวทัศน์ทัชมาฮาลในราคาแพงกว่าห้องธรรมดาถึงเท่าตัว ไม่สามารถสนองความต้องการที่จะตื่นมาเห็นทัชมาฮาลจากบนเตียงนอนได้เลย เพราะฝนที่ตกพรำๆ แต่เช้า ไอน้ำเกาะจนฝ้าขึ้นเต็มกระจก จึงมองเห็นทัชมาฮาลเป็นจุดเล็กๆ ไกลลิบจางแสนจาง

ขึ้นจากสระว่ายน้ำบนดาดฟ้าโรงแรมในตอนเช้า เรากลับขึ้นมาแต่งตัวด้วยชุดเสื้อยืดกางเกงสบายๆ ชุดละ 250 รูปี (120 บาท) ที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตเมื่อเย็นวาน เพื่อตรียมพร้อมรับสีที่จะสาดมา

ใช่แล้ว.. เช้านี้เราจะไปลุยเทศกาล Holi Fest กับชาวอินเดียและนักท่องเที่ยวอื่นๆ กัน

เทศกาลโฮลี (Holi Festival) เป็นเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม ทุกคนจะสาดผงสีใส่กันอย่างสนุกสนาน บ้างอาจสาดน้ำใส่กัน คล้ายๆ สงกรานต์บ้านเรา

โชเฟอร์และไกด์ต่างให้ข้อมูลกับเราว่า คนจะออกมาเล่นสาดสีกันเยอะช่วงเช้าถึงเที่ยง เราเดินออกจากถนนหน้าโรงแรมมุ่งหน้าสู่ทัชมาฮาล อีกครั้ง อากาศยามเช้าเย็นสบาย มีลมเย็นพัดผ่านต่างจากเมื่อวานที่ร้อนระอุ ระหว่างทางเดินได้เห็นชาวอินเดียหน้าตาเปื้อนสีเดินสวนผ่าน

เราแวะจิบกาแฟร้อนพร้อมดื่มด่ำวิวทัชมาฮาลที่โรงแรม The Oberoi Amarvilas Hotel โรงแรม 6 ดาวที่มีค่าห้องพักแพงเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งทริปของเรา เป็นโรงแรมที่มีล็อบบี้ สระว่ายน้ำ สวนดอกไม้ และ Coffee Terrace ตกแต่งได้อย่างงดงามมาก

แม้จะดื่มด่ำได้ไม่รู้เบื่อ แต่ก็ต้องตัดใจเรียกพนักงานสวมชุดสวยอย่างเจ้าชายมาเช็คบิล เพื่อออกเดินไปร่วมเทศกาลแห่งสีสัน สองข้างถนนผู้คนเริ่มมากขึ้น เราได้รับการทักทาย Happy Holi, Happy Holi ตลอดทาง

ว่ากันว่าเทศกาลนี้เป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ มิตรสหายได้แสดงไมตรีเข้าสวมกอดกัน ซึ่งเราสัมผัสได้เช่นนั้นจริงๆ คนแปลกหน้าเข้ามาปะสีบนหน้า กล่าวอวยพรด้วยภาษาที่ฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง สวมกอด สัมผัสมือ ซึ่งน่าแปลกที่เราไม่รู้สึกอึดอัดใจเลย แม้จะเป็นคนต่างเชื้อชาติที่เราไม่รู้จัก

โชเฟอร์บอกกับเราก่อนออกเดินทางไปยัง อัครา ฟอร์ท ว่า การเล่นสาดสีให้เลอะเทอะนั้นมีกุศโลบายที่ลึกซึ้งแฝงไว้ เพราะคนอินเดียเชื่อถือกันว่า สีบนเสื้อผ้าที่ซักไม่ออก หรือซักออกไม่หมดนั้น หมายถึงความเข้มแข็งลึกซึ้งของมิตรภาพที่ตราตรึงอยู่ไม่มีวันจาง เสื้อผ้าที่ใส่เล่นโฮลีจึงนิยมชุดเสื้อผ้าสีขาว แม้จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนด้วยสีต่างๆ พวกเขาก็จะไม่ทิ้ง

ภาคจบภาพยนตร์รักของโลก กษัตริย์ชาห์และมเหสีมุมตัซ มาฮาล

ถ้า ‘ทัช มาฮาล’ คือภาคแรกแห่งความรักของกษัตริย์ชาห์ จาฮาล และมเหสีมุมตัซ มาฮาล ‘อัครา ฟอร์ท’ ก็คือภาคจบ ปิดฉากความรักของ ชาห์ จาฮาล ได้อย่างโศกเศร้าและเป็นอมตะ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า หนังรักของชายหญิงคู่นี้คงไม่จบสมบูรณ์ ถ้าได้ไปเยือนทัช มาฮาล แล้วกลับไม่ได้มาเยือนอัครา ฟอร์ทต่อ

จากโรงแรม รถวิ่งเลียบแม่น้ำยมุนา ผ่านระยะทางเพียงสามกิโลเมตร ก็มาถึงอัคราฟอร์ท

ทางเดินขึ้นป้อมปราการช่างตระการตา โทนอิฐสีส้มแดงให้ความเคร่งขรึม ดุดัน ความหนาของกำแพงป้อมให้ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ลมเย็นอ่อนๆ ทำให้เราเพลิดเพลิน และไม่รู้สึกเหนื่อยแม้เดินขึ้นทางชัน

จุดหมายของเราคือห้องพระบรรทมด้านในสุด ซึ่งเป็นห้องที่กษัตริย์ชาห์ จาฮาลได้ถูก จักรพรรดิออรังเซพ (Aurangzeb) พระโอรสของพระองค์เองกักขังไว้นานถึงแปดปี ก่อนจะสิ้นพระชนม์

ณ จุดนี้ การก่อสร้างเปลี่ยนจากโทนสีอิฐเป็นหินอ่อนสีขาวนวล เรียกขานกันว่า พระตำหนักหินอ่อน ชีช์ มาฮาล (Shish Mahal) และหอคอยแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นพระตำหนักมูซัมมัน เบิร์จ (Musamman Burj) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา ซึ่งอยู่ในมุมที่มองเห็นทัชมาฮาลได้ชัดเจนที่สุด

ที่ตำหนักนี้ กษัตริย์ชาห์จาฮาล ได้เฝ้ามองอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์และพระนางมุมตัสมาฮาลอยู่ทุกวัน จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1666

ไกด์เล่าว่า แม้กระทั่งยามที่ ชาห์ จาฮาล ใกล้สิ้นพระชนม์ พระองค์ยังคงกำกระจกบานเล็กไว้ในมือเพื่อมองภาพสะท้อนของทัชมาฮาลจนสิ้นลมหายใจสุดท้าย พระศพของชาห์จาฮาลได้นำมาประดิษฐานในทัช มาฮาลเคียงข้างกันกับพระศพพระมเหสีมุมตัซ มาฮาล

แอบคิดเล่นๆ ว่าถ้าท่านชาห์ จาฮาล ไม่ถูกลูกชายจับขังไว้เสียก่อน สุสานหินอ่อนสีดำที่ท่านตั้งใจจะสร้างไว้บนพื้นที่ว่างริมฝั่งแม่น้ำยมุนาเพื่อฝังศพตัวเองจะงดงามซักเพียงใด

ไจปูร์ นครสีชมพู เที่ยววังเก่าที่กลายเป็นโรงแรมสุดหรู

เราลาจากอัครากลับเข้าเมืองไจปูร์ (หรือชัยปุระ) เมื่อพระอาทิตย์เย็นย่ำ แวะอีกหนึ่งบ่อน้ำขั้นบันไดที่มีชื่อเรียกว่า พานนา มีนา กา คุนด์ (Panna Meena Ka Kund) แม้ไม่ใหญ่โตอลังการสวยงามเท่า แชนด์ เบารี แต่ที่นี่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงไปถ่ายภาพได้

จากนั้นก็แวะไปที่ป้อมนาหรครห์ (Nahargarh Fort) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง แม้รูปลักษณ์จะใหญ่โตกว้างขวางแต่เข้าถึงง่าย มีที่จอดรถที่เดินใกล้มาก

ป้อมนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา มีร้านอาหารวิวงาม ชื่อ Once Upon A Time เรานั่งชมพระอาทิตย์ตกดินจนหกโมงกว่า ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่เริ่มมาเคลียร์นักท่องเที่ยวออก เพราะถึงเวลาปิดแล้ว

โรงแรมของเราคืนนี้เป็นคฤหาสน์เก่าแก่ที่เคยเป็นที่ประทับของอดีตครอบครัวมหาราชาอุไดคาราน (Udaikaran) เมื่อ 50 ปีก่อน หลานชายของท่านอุไดคารานได้นำคฤหาสน์และพระราชวังเก่าของครอบครัวมาปรับปรุงและดัดแปลงกลายเป็นโรงแรมหลากหลายแห่งทั่วราชสถาน หนึ่งในนั้นคือโรงแรม Alsisar Haveli Heritage Hotel แห่งนี้

ที่นี่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบราชปุต ไม่เพียงแต่โครงสร้างที่งดงาม การประดับตกแต่งโถงล็อบบี้ ห้องอาหาร โถงทางเดิน โดยเฉพาะสระว่ายน้ำที่ประดับซุ้มประตูโค้งและภาพนกยูงก็สวยจนเราตะลึงงัน

นอกจากความเป็นพระราชวังเก่าแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลคือ ‘หมาน้อยสเตล่า’ หมาพันธุ์เฟรนช์ บูลด็อกที่เราเจอภาพสเตล่าในอินสตาแกรมของโรงแรม หมาหน้าดำข้างเดียวประดุจฝาแฝดของ ดัมเบลล์ หมาหนุ่มที่เราเลี้ยงที่บ้านในกรุงเทพฯ

จุดหมายแรกของเช้าวันใหม่ คือ ฮาวา มาฮาล (Hawa Mahal) เราไปต่อคิวซื้อบัตรพร้อมบัตรเบ่งหนังสือเดินทางไทยเพื่อส่วนลดพิเศษ (ราคาลดเหลือ 50 รูปี) แต่ปรากฏว่าที่นี่ไม่ได้ร่วมในโครงการ ต้องจ่ายราคาตั๋วนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 200 รูปี

ทางเดินข้างในเป็นทางลาดชันขึ้นไป บรรยากาศมืดๆ มีเพียงแสงที่ลอดผ่านรูเล็กๆ ของช่องหน้าต่าง ซึ่งทำไว้เพื่อให้นางสนมมองออกไปชมโลกภายนอกได้ แต่คนด้านนอกจะมองไม่เห็นนางๆ ทั้งหลาย

รอละหมาด

สังเกตได้ว่านักท่องเที่ยวเป็นคนอินเดียที่นุ่งสาหรีและชุดแขกฮินดูจำนวนมาก ทั้งเด็กผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ เมื่อทนความเบียดเสียดไม่ไหว เราจึงมุ่งหน้าไปยังร้านกาแฟฝั่งตรงข้ามซึ่งมีอยู่สองร้านติดกัน คือ Wind View Café และ The Tatto Café ซึ่งเราจะสามารถถ่ายภาพกลับมาเห็น ฮาวา มาฮาลได้แบบเต็มๆ นับว่าเป็นทัวร์ริสสปอร์ตที่ต้องยอมเสี่ยงชีวิตข้ามถนนมาเช็คอิน

เราข้ามถนนกันด้วยความหวาดเสียว ยิ่งมีเด็กชายอินเดียพยายามพาช่วยข้ามเพราะหวังจะได้ทิปเล็กๆ น้อยๆ จากนักท่องเที่ยว ก็ยิ่งหวาดเสียวไปใหญ่ เพราะเด็กน้อยไม่มองหลังว่าป้าๆ เดินพ้นรถหรือยัง

เราไปต่อยังซิตี พาเลซ (City Palace) เลือกซื้อตั๋วแบบ Royal Grandeur Ticket คนละ 2,500 รูปี ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าชมห้อง จันทรา มาฮาล (Chandra Mahal) ได้พร้อมไกด์ส่วนตัว และมีชา กาแฟ หรือน้ำผลไม้ให้เลือกหลังจากการเดินชม

ภายในนั้นมีห้องโถงสีฟ้าประดับประดากระจกสี หินสี และภาพเขียนสวยตื่นตะลึง ห้องจัดเลี้ยงห้องหนึ่งปิดไฟและจุดเทียนให้เปลวเทียนวิบวับไปมา  แสงเทียนที่สะท้อนเพดานและกำแพงระยิบระยับน่าตื่นตา

ห้องที่รัฐบาลจัดให้ศิลปินมาวาดภาพ

ภายในโซนพิเศษของ City Palace – Chandra Mahal

จากนั้นก็ไปต่อกันที่ อนุสรณ์สถานมหาราชาแห่งชัยปุระ (Royal Gaitor) ตั้งอยู่ด้านล่างของป้อมนาหรครห์ เป็นอนุสรณ์สถานที่ออกแบบเป็นรูปทรงโดมเล่นระดับหลายชั้นลดหลั่นกันไป บางหลังสร้างขึ้นจากหินอ่อน บางหลังก็สร้างจากหินทราย

แม้วันนี้จะเป็นวันสุดท้าย แต่ไฟลท์บิน เวลา 02.15 น. ทำให้เรามีเวลาเหลือเฟือ โชเฟอร์ของเราไม่มีบ่นอิดออด แม้จะดูทำงานเกินเวลา พาเราไปดริ้งค์ที่โรงแรม Rambagh Palace และบาร์ Palladio Jaipur ซึ่งกำลังฮิตมากสำหรับคนที่มาเที่ยวชัยปุระ

Bar Palladio Jaipur บาร์สุดฮิปแห่งไจปูร์

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ครั้งแรกในอินเดีย ประเทศที่อยากไปแสวงบุญมานานหลายปี แต่บุญยังคงไม่ถึง จึงยังไม่มีโอกาส เป็นประเทศที่จากที่เคยกล้าๆ กลัวๆ ทั้งกลิ่นที่ไม่คุ้น สภาพบ้านเมือง และมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ ฯลฯ กลายเป็นหลงเสน่ห์ และจะกลับไปอีกครั้งแน่นอน

…Incredible India

Fact Box

  • การเดินทางไปชัยปุระ หรือ ไจปูร์ มีสองสายการบินที่บินตรง คือ ไทยสไมล์ และ แอร์เอเชีย ทั้งสองสายการบินมีไฟลท์บินหลังเที่ยงคืนทั้งคู่
  • การเช่ารถในอินเดีย นิยมเช่ารถพร้อมคนขับ ราคาไม่แพง เฉลี่ยวันละ 2,000 กว่าบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนที่นั่งและรุ่นรถ
  • การซื้อของ หรือ ต่อรองราคาค่ารถริกชอว์ ให้ต่อราคาไปครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า คนอินเดียใจดี ไม่ว่า แต่ราคาค่ารถก็ถูกมากอยู่แล้ว.. ถ้าตกลงไม่ได้ก็แค่เดินจากมา หลายๆ คันที่เจอจะไม่บอกราคา แต่จะบอกว่า “As you like” ขอแนะนำว่าให้ตกลงราคาไปเลย เพื่อป้องกันการผิดใจกันทีหลัง
  • ที่เจอมา คนอินเดียมีใจบริการอย่างดีเยี่ยม ทุกครั้งที่ต่อราคา ทั้งไกด์ ทั้งคนขับจะบอกว่าถ้ายูชอบบริการไอ ก็ขอทิปแล้วกัน ซึ่งไม่มีครั้งไหนที่ไม่อยากให้เลย
Tags: , , , , , ,