ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกผู้แทนราษฎรต่อไปได้ แม้จะเคยถูกตัดสิน ‘จำคุก’ จากกรณีนำเข้าและส่งออกยาเสพติดเมื่อปี 2536 ที่ประเทศออสเตรเลีย ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก ทั้งภาคประชาชน นักวิชาการด้านกฎหมาย และผู้คนในแวดวงตุลาการ ที่ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ

The Momentum ชวน ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า พูดคุย เพื่อถามความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับคำวินิจฉัยนี้ และมองยาวไปถึงการ ‘ปฏิรูป’ ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรมีขั้นตอนอย่างไร ในฐานะผู้ที่กำลังรณรงค์ภายใต้ชื่อกลุ่ม Re-Solution ที่ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” อยู่ในขณะนี้

พริษฐ์มองว่า คำวินัจฉัยของศาลที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเป็นกลาง หรือมาตรฐานทางจริยธรรมนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเรื่องความผิดนอกประเทศจึงไม่ถือว่าเข้าข่ายคุณสมบัติ ที่ตีความคำว่า ‘ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด’ ตามมาตรา 98 (10) ของรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่า บุคคลใดก็ตามที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีข้อครหา หรือกระทำผิดร้ายแรงในอดีตที่ผ่านมา และสิ่งนี้ก็ต้องตรงกับเจตนารมณ์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี 2525 เพราะฉะนั้น หากมองตามเจตนารมณ์ การกระทำผิดร้ายแรง เช่น การค้าขายยาเสพติด หรือคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ควรที่จะครอบคลุมไปด้วย

“สรุปง่ายๆ เลยคือ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตามลายลักษณ์อักษร หรือที่หลายคนคาดหวัง คือให้รัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติเหล่านี้ นั่นคือป้องกันให้บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่มีความผิดร้ายแรงในอดีต ในความผิดฐานยาเสพติดนั้น คดียาเสพติดก็เป็นความผิดที่มีโทษทั้งในประเทศไทย และประเทศเกิดเหตุคือออสเตรเลีย จึงต้องตั้งคำถามแย้งกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า ถึงที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความตามลายลักษณ์อักษร หรือตีความกว้างในเจตนารมณ์ของกฎหมาย”

ประเด็นต่อมาคือ การตั้งคำถามว่าทำไมฝ่ายค้านถึงไม่ยื่นเรื่องจริยธรรมของศาล แทนการยื่นเรื่องการติดคุกของต่างประเทศ ขออธิบายดังนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 160/4 ระบุว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมาตรา 160/5 ระบุว่า ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งมาตราเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการใส่มาตรฐานจริยธรรมและคำว่าซื่อสัตย์สุจริตเข้าไป ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มคำว่ามาตรฐานจริยธรรมและซื่อสัตย์สุจริตเข้าไปในกฎหมาย เพราะสิ่งนี้เป็นนามธรรม สามารถตีความได้หลายวิธี และขึ้นอยู่กับคนตีความว่าจะตีไปในทิศทางไหน แต่ในกรณีของร้อยเอกธรรมนัส ไม่ว่าจะตีความแบบไหน ก็จะต้องได้ผลเป็นการกระทำที่ขัดกับความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน

“นอกจากประเด็นว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีคุณธรรมนัส อีกประเด็นหนึ่งที่น่าชวนตั้งคำถามคือ ถ้าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่คุณธรรมนัส แต่เป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน คำวินิจฉัยจะออกมาเช่นนี้ไหม ด้วยกระบวนการแต่งตั้งของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง”

ส่วนแนวทางการดำเนินการต่อกับร้อยเอกธรรมนัสนั้น พริษฐ์แสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจไว้อีก 3 ประเด็น

  1. ใครมีอำนาจทางรัฐธรรมนูญในการถอดถอนนักการเมืองที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ในกฎหมายระบุว่าอำนาจอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 เขียนไว้ว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางรัฐธรรมนูญที่จะใช้กับสมาชิกผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี บุคคลใดฝ่าฝืนให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ในการไต่สวนและส่งให้ศาลฎีกา อำนาจนี้ไม่ได้อยู่กับประชาชน แต่ ป.ป.ช. กลับออกมาปฏิเสธยื่นเรื่องนี้ เพราะอ้างว่าเป็นความผิดก่อนการดำรงตำแหน่ง

  1. เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้ตัดอำนาจของประชาชนในการถอดถอนสมาชิกผู้แทนราษฎร ยกตัวอย่าง สมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ได้เปิดให้ประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อและถอดถอนสมาชิกผู้แทนราษฎรได้ หากเป็นฉบับ 2540 ต้องรวมรวมรายชื่อจำนวน 5 หมื่นรายชื่อ ส่วนปี 2550 ต้องรวบรวมรายชื่อจำนวน 2 หมื่นรายชื่อ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กลับถอดถอนอำนาจของประชาชนออกไป

“คำตอบสั้นๆ ก็คือ อาจไม่มีช่องทางการกฎหมายในการดำเนินการ เพราะอำนาจในการไต่สวนและมาตฐานทางจริยธรรมไปตกที่ ป.ป.ช. และอำนาจทางตรงของประชาชนในการถอดถอน ส.ส. รัฐธรรมนูญ 2560 เอาออกไป”

  1. ส่วนตัวมองว่านักการเมืองหรือบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรมีความรับผิดชอบ แม้ว่าจะผิดกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรหรือไม่ แต่หากเป็นประเด็นที่ไม่เหมาะสมก็ควรแสดงความรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง เมื่อปี 2535 หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ณรงค์ วงศ์วรรณ ก็ถอนตัวเองออกมาจากการเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีข้อกล่าวหาในคดียาเสพติด แม้ว่าพรรคที่ตัวเองดำรงเป็นหัวหน้าพรรคจะชนะเลือกตั้งก็ตาม

“แต่วันนี้ผ่านมา 30 ปี คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานค้ายาเสพติด กลับไม่มีความรู้สึกความรับผิดชอบที่ต้องลาออก”

และสุดท้าย จะทำอย่างไรต่อกับศาลรัฐธรรมนูญ พริษฐ์บอกว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ในขณะนี้ ร่วมกับกลุ่ม ‘Re-Solution’ คือการรณรงค์ล่ารายชื่อ ‘ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์’ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อหลักก็คือการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนตั้งคำถามอย่างมากว่า ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญตีความ-วินิจฉัย ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่ละฝ่ายด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ และสิ่งที่เห็นชัดอีกเรื่องก็คือที่มา ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ซึ่งล้วนมาจากการคัดเลือกของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าทั้งสิ้น

“การที่ใครไปนั่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ต้องผ่านการรับเลือกจาก ส.ว. 250 คน ซึ่ง ส.ว.เหล่านี้ก็มาจากการจิ้มเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 194 คน และอีก 50 คน มาจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา ขณะที่อีก 6 คน เป็นผู้นำเหล่าทัพ ที่ได้ดำรงตำแหน่ง ส่วนคนที่แต่งตั้งทั้งหมด ตอนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้เล่นทางการเมือง เพราะฉะนั้น หากอยากเรียกความศรัทธามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องปฏิรูปที่มา ให้กระบวนการแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญยึดโยงกับประชาชน และมีความเป็นกลางทางการเมือง

“เราต้องทำให้ ส.ส. เป็นผู้รับรอง เพราะ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ต้องเพิ่มเงื่อนไขด้วยว่า ใครจะมาดำรงตำแหน่งต้องได้เสียงข้างมาก ไม่ใช่เพียง 50% แต่ต้องเป็น 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่มาดำรงตำแหน่ง ต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน”

ขณะเดียวกัน การตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเพิ่มกลไกให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยการแต่งตั้งให้มี ‘คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ’ โดยมีสัดส่วนเป็นตัวแทนของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่สามารถตรวจสอบงบประมาณและการใช้อำนาจของตุลาการ เพื่อให้มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน และเพิ่มกลไกให้ประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อ 2 หมื่นคน เพื่อยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ หากมีพฤติการณ์ ประพฤติผิดขั้นร้ายแรง

“ผมมองว่าเราต้องทำให้เกิดขึ้นได้ ทั้งในเชิงระบบและเชิงวัฒนธรรมการเมือง เชิงระบบต้องระบุให้ชัดเจนว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ป.ป.ช. หรือองค์กรอิสระต่างๆ ต้องเป็นคนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยกตัวอย่าง เกมกีฬาที่ทั้งสองทีมมาแข่งขันกัน อย่างน้อยทุกคนยอมรับตรงกันว่า กรรมการคนนี้สามารถทำงานเป็นกลางได้ ซึ่งเราต้องสร้างระบบตรงนี้

“ส่วนเชิงวัฒนธรรมการเมือง ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี สามารถแต่งตั้งตุลาการศาลสูงสุดได้ แต่เมื่อศาลสูงสุดเข้ารับตำแหน่ง แต่ละคนก็ทำหน้าที่เป็นกลาง พูดง่ายๆ คือ แม้ว่าพรรครีพับลิกันเป็นผู้แต่งตั้งเข้ามา ก็ไม่ใช่ว่าตุลาการศาลต้องตัดสินเข้าข้างรีพับลิกัน นอกจากระบบที่ต้องเป็นกลางแล้ว บุคคลที่เข้ารับตำแหน่งก็ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าสามารถตัดสินในมาตรฐานเดียวกันได้

“ผมว่าทั้งสองสิ่งนี้ ทั้งระบบการแต่งตั้งที่ไม่ได้เป็นกลางที่ผ่านมา และคำตัดสิน พฤติกรรมขององค์กรอิสระหลายๆ ครั้ง ที่ดูเหมือนให้ท้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจนมาก ทำให้ประชาชนตั้งคำถาม และหมดศรัทธากับองค์กร ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ”

Tags: , , ,