เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกคริสติอง มาส์เซ่ต์ (Christian Masset) ทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศอิตาลี กลับประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกหลังจากที่ประเทศอิตาลีประกาศสงครามกับฝรั่งเศสเมื่อปี 1940

ส่วนสาเหตุที่เรียกกลับ ก็เพื่อเป็นการตอบโต้ท่าทีและถ้อยคำที่ยั่วยุของรัฐบาลผสมของอิตาลีซึ่งมีต่อฝรั่งเศสในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งการเรียกตัวทูตกลับนี้ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสและอิตาลี รวมถึงซ้ำเติมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แย่ลง

ก่อนหน้าที่จะมีการเรียกตัวทูตฝรั่งเศสกลับ ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้บอกเป็นนัยถึงความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีว่า “การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝรั่งเศสในอิตาลีนั้น ไม่สามารถเป็นไปได้”

กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เก ดอร์เซย์ (Quai d’Orsay) ได้ออกประกาศผ่านแถลงการณ์ว่า ถ้อยคำที่ผ่านๆ มาของบรรดารองประธานคณะรัฐมนตรี อันได้แก่ มาเตโอ ซาล์วีนี่ (Matteo Salvini) ซึ่งเป็นผู้นำพรรคฝ่ายขวาจัด ลีก้า โนร์ด (Lega Nord) และ ลุยจี ดิ มาโย (Luigi Di Maio) ซึ่งเป็นผู้นำพรรคต่อต้านสหภาพยุโรป Five Star Movement (หรือ เรียกโดยย่อว่า M5S) เป็น “การโจมตีที่ไม่มีหลักฐาน” และเป็น  “การกล่าวหาที่ซ้ำซาก” และ “อุกอาจ”

แต่สิ่งที่จุดชนวนให้รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงโรมกลับ คือ ท่าทีของรัฐบาลอิตาลีที่สนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง (Gilets jaunes – ชีเลท์ โชน) อย่างออกนอกหน้า และเข้ามาก้าวก่ายในกิจการภายในฝรั่งเศส

ในเดือนมกราคม ลุยจี ดิ  มาโยได้ประกาศเห็นด้วยกับผู้ประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง บนเว็บบล็อกของพรรค M5S และหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ก็เข้าไปพบปะกับตัวแทนของกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองกว่า 11 คนอย่างลับๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคริสตอฟ ชาลองซง (Christophe Chalençon) ผู้สมัครลงเลือกตั้งสหภาพยุโรป ซึ่งเคยออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ลาออก

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์แย่ลง ทำให้สามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนาของรัฐบาลอิตาลีที่มีต่อความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส” โฆษกของกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส อักเนส ฟอน เดอร์ มูห์ล (Agnès von der Mühll) ได้ออกมาชี้แจง หลังจากมีคำสั่งเรียกตัวทูตฝรั่งเศสกลับ

ความตึงเครียดระหว่างอิตาลีและฝรั่งเศสมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อิตาลีได้จัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง Lega Nord และ M5S ซึ่งประเด็นความขัดแย้งหลักระหว่างสองประเทศ มาจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นโยบายที่มีต่อผู้อพยพ และสถานการณ์ในแอฟริกา

ความไม่ลงรอยระหว่างสองประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การเข้ามาซื้ออู่ต่อเรือที่ เซงต์ นาซาร์ (Saint-Nazaire) ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่โดยบริษัทอิตาเลียนต้องหยุดชะงัก เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมนีได้ยื่นเรื่องไปบรัสเซลส์เพื่อให้ตรวจสอบว่า การเข้าซื้อดังกล่าวมีผลทางลบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมการต่อเรือหรือไม่

หรือการขุดอุโมงค์เชื่อมต่อสถานีรถไฟระหว่างลียงกับตูริน ที่ฝ่ายรัฐบาลของอิตาลีชุดปัจจุบันประกาศชัดเจนว่า เป็นโปรเจ็กต์ที่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าอิตาลีอาจถอนตัวจากโปรเจ็กต์ดังกล่าว แม้ว่าจะมีการเซ็นข้อตกลงอนุมัติขุดเจาะอุโมงค์อย่างถาวรไปแล้วเมื่อปี 2017 ก็ตาม

เรื่องที่สองคือประเด็นขัดแย้งเรื่องนโยบายผู้อพยพ จุดยืนของรัฐบาลอิตาลีที่ปฏิเสธผู้อพยพเมื่อกลางปี 2018 ทำให้ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ออกมาประณามรัฐบาลอิตาลีว่า เป็น “รัฐบาลที่ไม่มีความรับผิดชอบ” รวมถึงเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือน “โรคเรื้อนที่กำลังระบาด” ในยุโรป

ส่วนด้านนายมาเตโอ ซาล์วีนี่ รัฐมนตรีมหาดไทยของอิตาลี จากพรรค Lega Nord ในฐานะรัฐบาล ออกมาตอบโต้ “ประธานาธิบดีมาครงผู้หยิ่งยโส” ว่า “…เราเป็นขี้เรื้อนประชานิยม แต่ผมจะฟังแค่คนที่เปิดประตู(ให้กับผู้อพยพ)เท่านั้น”

ทางด้านนายลุยจี ดิ มาโย รองนายกรัฐมนตรีอิตาลี จากพรรค M5S ได้โจมตีฝรั่งเศสว่า “ทำให้ทวีปแอฟริกายากจน” และส่งผลให้ผู้อพยพมายังยุโรป เนื่องจาก “ประเทศฝรั่งเศส ไม่หยุดที่จะยึดประเทศแอฟริกัน” และยังเสริมอีกว่า ฝรั่งเศสใช้เงิน Franc CFA ซึ่งเป็นสกุลเงินของ 14 ประเทศแอฟริกาที่พิมพ์ในฝรั่งเศส สำหรับ “จ่ายหนี้สาธารณะฝรั่งเศส”

หลังจากที่นายลุยจี ดิ มาโย โจมตีฝรั่งเศสได้เพียงสองวัน นายมาเตโอ ซาล์วีนี่ ก็ได้ออกมาพูดว่า อีกไม่นานนัก ชาวฝรั่งเศสก็จากเป็นไทจาก “ประธานาธิบดีที่แย่มากๆ”

คำพูดที่ชวนยั่วยุจากลุยจี ดิ มาโย  และมาเตโอ ซาล์วีนี่ ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง สืบเนื่องจากการที่บุคคลทั้งสองอยากดึงฐานเสียงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในอนาคต ทั้งในระดับประเทศและระดับสหภาพยุโรปซึ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ รวมถึงความพยายามที่จะขยายฐานเสียงภายในรัฐบาลผสมระหว่างลุยจี ดิ มาโย (จากพรรค M5S) และ มาเตโอ ซาล์วีนี่ (จากพรรค Lega Nord)

ผลสำรวจต่างๆ พบว่า คะแนนความนิยมของลุยจี ดิ มาโย อยู่ที่ 17% ซึ่งลดลงไปกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงตอนที่ชนะการเลือกใหม่ๆ ในขณะที่มาเตโอ ซาล์วีนี่ มีคะแนนนิยมอยู่ที่ 34% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ในขณะที่พรรค Lega Nord หวังจะเก็บฐานเสียงในกลุ่มผู้ที่โหวตพรรคฝ่ายขวา พรรค M5S พยายามจะหาพันธมิตรที่มีอุดมการณ์ร่วมกันนอกอิตาลี ไม่เพียงเพื่อต่อสู้ในการเลือกตั้งสหภาพยุโรปที่จะมีขึ้นปลายเดือนพฤษภาคมปีนี้ แต่เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของ M5S เนื่องจากพรรค M5S เป็นพรรคที่ไม่ใช่ทั้งพรรคฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ทำให้การหาพันธมิตรหรือฐานเสียงที่ยั่งยืนนั้นเป็นไม่ง่ายนัก

การตอบโต้ระหว่างฝรั่งเศสและอิตาลีในระยะหลัง จึงดูเหมือนว่าจะเป็นการปะทะกันระหว่าง 2 ขั้วทางการเมืองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีฝรั่งเศสที่เป็นตัวแทนของ ฝ่าย “สนับสนุนอียู – เปิดประเทศ” และอิตาลีที่เป็นผู้แทนของกลุ่ม “ต่อต้านอียู – ปิดประเทศ”

 

 

อ้างอิง

Tags: , , , , , ,