เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ออกข้อบังคับในกฎบัตรโอลิมปิก ให้หลีกเลี่ยงการแสดงออกเพื่อประท้วงทางการเมือง เพื่อนำมาใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 2020 ที่จะจัดในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม นี้
โดยเนื้อหาของข้อบังคับที่มีความยาว 3 หน้ากระดาษระบุว่า ห้ามนักกีฬาที่มาร่วมการแข่งขันคุกเข่าประท้วง แสดงสัญลักษณ์มือที่ส่อความหมายไปในทางการเมือง หรือสวมเครื่องแต่งกายหรือปลอกแขนที่มีสัญลักษณ์การเมืองในสนามแข่งขัน บนสแตนด์เชียร์ และในหมู่บ้านนักกีฬา รวมถึงการแสดงออกในพิธีมอบเหรียญด้วย
อย่างไรก็ตาม นักกีฬาสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในโซเชียลมีเดียของตัวเองหรือในสื่อทางการได้ โดยสามารถให้สัมภาษณ์สื่อได้ ซึ่งรวมถึงในงานแถลงข่าว และในพื้นที่ที่นักกีฬาพบปะกับสื่อมวลชนหลังการแข่งขัน
ข้อบังคับนี้ ยังบอกด้วยว่า “ไม่อนุญาตให้มีการประท้วง การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ศาสนา และเชื้อชาติ ในพื้นที่จัดแข่งขันโอลิมปิก พื้นที่ที่ทุกคนมารวมตัวกัน และพื้นที่อื่นๆ”
โดยนักกีฬาที่ฝ่าฝืนกฎดังกล่าวในโอลิมปิกครั้งนี้จะได้รับบทลงโทษจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โดยจะประเมินและพิจารณาโทษเป็นกรณีๆ ไป
โธมัส แบช ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลกล่าวว่า ภารกิจของโอลิมปิกก็เพื่อรวมให้เป็นหนึ่งและไม่แบ่งแยก เราเป็นงานเดียวในโลกที่รวมทั่วโลกเข้าด้วยกันในการแข่งขันอย่างสันติ
“ผมขอให้พวกเขา (นักการเมืองและนักกีฬา) เคารพภารกิจของการแข่งขันโอลิมปิก และเพื่อที่จะให้ภารกิจนี้สำเร็จเราต้องเป็นกลางทางการเมือง มิเช่นนั้นเราจะจบด้วยการแบ่งแยกและการคว่ำบาตร ผมขอให้พวกเขาเคารพความเป็นกลางทางการเมืองด้วยการไม่ใช้โอลิมปิกเป็นเวทีแสดงออกที่มีจุดประสงค์ทางการเมือง”
คู่มือฉบับใหม่นี้ออกมาหลังจากที่มีกรณีนักกีฬาชาวอเมริกัน 2 คน ถูกตำหนิโดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกาจากการที่ประท้วงในพิธีรับเหรียญในการแข่งขันแพนอเมริกันเกมส์ ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดย เรซ อิมโบเดน นักกีฬาฟันดาบ คุกเข่าลงบนแท่นรับเหรียญ และ เกว็น เบอร์รี นักกรีฑาขว้างค้อน ชูกำปั้นขึ้นประท้วงขณะอยู่บนแท่นรับเหรียญเช่นกัน ส่งผลให้นักกีฬาทั้งสองถูกทำทัณฑ์บนเป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งครอบคลุมถึงช่วงโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียวด้วย
ในโอลิมปิกเกมส์ ปี 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร อิสลาม เอล ชีฮาบี นักกีฬายูโดชาวอียิปต์ ถูกส่งกลับประเทศหลังจากที่เขาปฏิเสธการจับมือหลังจบการแข่งขันกับ ออร์ แซสซัน คู่ต่อสู้ชาวอิสราเอล และอีกกรณีในเดือนตุลาคม 2019 นักกีฬายูโดชาวอิหร่านถูกแบนอย่างไม่มีกำหนดจากการแข่งขันระดับนานาชาติ จนกว่าจะมีการรับรองอย่างเป็นทางการว่า นักกีฬาอิหร่านจะลงแข่งขันกับนักกีฬาชาวอิสราเอลได้ ซึ่งการแบนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีนักกีฬาอิหร่านถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐอิหร่าน ให้ออกจากการแข่งขันเวิลด์ยูโดแชมเปียนชิปส์ ที่เขาต้องเจอกับคู่แข่งจากอิสราเอล
ที่มา
ภาพ: KAZUHIRO NOGI / AFP
Tags: โอลิมปิก, ประท้วง, โอลิมปิก 2020, โอลิมปิกเกมส์, เซนเซอร์