หลายคนน่าจะเคยเห็น เทรนท์ ฤกษ์สังเกตุ จากรายการ This is Me Vatanika ในบทบาทของบัตเลอร์ที่ช่วยจัดการมื้อดินเนอร์สุดหรู แถมยังช่วยเติมเต็มบรรยากาศในปาร์ตี้ให้ครึกครื้นยิ่งขึ้น เขาคนนี้คือบัตเลอร์มืออาชีพที่มีโอกาสไปเรียนคอร์สบัตเลอร์ที่ประเทศอังกฤษ และกลับมาบ่มเพาะประสบการณ์ต่อที่นายเลิศบัตเลอร์ (Nai Lert Butler)

วันที่พบกัน เทรนท์มาในชุดทักซิโด้ดูภูมิฐาน เขาทักทายทุกคนอย่างเป็นกันเอง ให้บรรยากาศที่ชวนสบายใจ และนี่คงเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่บัตเลอร์สักคนพึงมี อย่างที่เขาเองบอกไว้ว่า “งานบริการคือการแสดง”

ต้องรีบบอกก่อนว่าการแสดงที่ว่านี้ไม่ใช่ ‘การแสดง’ อย่างที่เรามักจะรับรู้เกี่ยวกับละครหรือภาพยนตร์ แต่คือการเปิดตัวเองต่อสิ่งแวดล้อมจนกระทั่ง ‘รู้สึก’ และ act / react ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นๆ

ก่อนหน้านั้น เทรนท์คือนักจัดอีเวนท์และไกด์ของปาร์คนายเลิศ ซึ่งเป็นงานประจำแรกของเขาหลังจากการตามหาตัวเองเมื่อเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาคการละคร เอกการเขียนบท —ในแวบแรกที่ได้ยิน เราอดรู้สึกไม่ได้ว่านี่คือการเปลี่ยนสายอาชีพไปไกลมาก…

คุณต้องเรียนรู้ใหม่อีกไหม กับการเปลี่ยนสายจากการละครไปสู่การเป็นบัตเลอร์

ไม่เรียกว่าเปลี่ยนสายเลยครับ เพราะการบริการก็คือการแสดง ศาสตร์ที่ใช้มันเหมือนเดิม เราต้องใช้ทั้งการพูด กิริยาท่าทาง อารมณ์ความรู้สึกที่สื่อออกมา ทั้งหมดเราใช้เครื่องมือเดิมครับ นั่นก็คือ mind, body แล้วก็ voice เหมือนการแสดงเป๊ะ เพียงแต่มีจุดมุ่งหมายต่างกัน ไดเร็กชั่นต่างกัน แค่เปลี่ยนจากบนเวที เป็นห้องอาหาร เป็นโรงแรม เป็นบ้านพัก

คือถ้าการเล่นละครมันต้องมีบทละคร มีสคริปต์ การทำงานบริการก็ต้องมี SOPs (Standard Operation Procedures: หลักปฏิบัติสำหรับอาชีพหรือองค์กรนั้นๆ) ซึ่งมันเป็นเพียงสิ่งที่เอาไว้ยึดจับ เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกบังคับให้เป็นนักบริการ วิธีการก็เหมือนตอนเล่นละคร มันคือการโต้ตอบกัน เราส่งไป เขาส่งกลับมา เราใช้ mindset เดียวกัน

การแสดงในที่นี้ คือการ act มากกว่า pretend ใช่ไหม

ใช่ครับ บางคนอาจจะมองว่าการเล่นละครเท่ากับไม่จริงใจใช่ไหม ตอบเลยว่า ไม่ใช่ การเป็นนักแสดงยิ่งต้องจริงใจเวลาเล่น เราต้องรู้สึก เราถึงจะแสดงออกมาได้ การบริการก็เช่นกัน อาจต้องจริงใจมากกว่าปกติด้วยซ้ำ สิ่งที่เราต้องใช้เลยคือการเปิด awareness ให้รอบด้าน ไม่ว่าจะอยู่บนเวทีหรือในห้องอาหาร โต๊ะนี้น้ำหมดหรือยัง โต๊ะนี้น้ำเหลือกี่แก้ว คนนี้ต้องการอะไร ไม่ใช่ให้ลูกค้ายกมือเรียกเรา แต่หางตาเรามองก็ต้องมองให้ทั่วห้อง แล้วเขาจะรู้ว่าเราพร้อมให้บริการตลอดเวลา กับสิ่งที่เราส่งออกไป แม้เราจะยืนอยู่มุมห้องก็ตามแต่

มีช่วงที่เหนื่อยไหม กับการต้องเปิด awareness ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่บัตเลอร์

มีช่วงที่เหนื่อยครับ มีเบลอบ้าง เชื่อว่าทุกอาชีพก็ต้องมี ถ้าเราไม่ได้พักผ่อนหรือเตรียมตัวมาไม่ดี เราก็จะล้าเป็นธรรมดา แล้วงานก็จะออกมาไม่ดี ดังนั้น บัตเลอร์จึงมีเวลาทำงานที่เคร่งครัดมากๆ ว่าเราทำแค่นี้ หลังจากนั้นเราต้องพักผ่อนแล้วถึงจะกลับมาใหม่ ก่อนนั้นเราก็ต้องส่งต่องานให้ราบรื่น

เราจะมีคู่มือสำหรับการบริการ มีตารางเอาไว้ว่าวันนี้เราทำอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องทำอีกบ้าง ร้านอาหารนี้ต้องเซ็ตจานชามแบบนี้ มีผ้าเช็ดปาก มีน้ำร้อน มีนมเย็น เราก็เซ็ตไว้ ถ่ายรูป ใส่ในคู่มือ ส่งให้บัตเลอร์คนอื่นทำงานต่อได้ ไม่ใช่ว่า โอ้โห ขาดเราแล้วงานจะไม่รอด มันไม่ใช่ บัตเลอร์คือการทำงานเป็นทีม กลับมาที่ละคร มันก็คือการทำงานเป็นทีมเหมือนกัน เราทำงานคนเดียวไม่ได้

แล้วระหว่างทำงานเราก็ต้องละเอียดอ่อน เพราะบางทีแขกที่มาพักก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จีนฮ่องกง จีนไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ จีนที่อยู่ในเมืองไทย จีนที่โตที่อื่น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เราต้องค่อยๆ เก็บข้อมูล คุยกับทีมว่าคนนี้ต้องการแบบนี้ คนนั้นต้องการอีกแบบ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ แต่ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาทำงานใหม่ เราไม่ได้เตรียมตัว มันก็มีข้อผิดพลาดบ้าง อันนั้นยอมรับเลย เรายังเด็ก ก็ต้องเรียนรู้ แล้วก็ไปคุยกับทีม คุยกับเจ้านาย ว่ามันเกิดแบบนี้ขึ้น เราก็ขอข้อแนะนำ ขอคำปรึกษา ว่าควรจะทำยังไง

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการทำงาน คุณพอจะเล่าได้ไหม

ตอนนั้นเป็นไกด์อยู่ครับ ข้อผิดพลาดคือผมพยายามจะพูดภาษาจีนกลางกับแขก เด๋อมาก สรุปว่าเขาเป็นคนฮ่องกง เขาพูดจีนกวางตุ้ง แล้วเราก็พยายามเสนอว่าเรามีศาสตร์โน้น ศาสตร์นี้ในแบบจีน มีบริการนี้ๆๆ แต่ปรากฏว่าเขาก็เป็นคนจีนที่ค่อนข้างฝรั่ง ซึ่งนั่นไม่ดีแล้ว เรารู้สึกว่าเรากำลัง stereotype เขา มันเป็นสิ่งที่อันตรายมากๆ เพราะแขกแต่ละคนมีความต้องการที่เป็นปัจเจก มันเป็นเรื่องที่มากกว่าการจะไปตัดสินเขาว่า คนชาตินี้เป็นอย่างนี้ ไม่จริงเลย มันเพียงแต่จะมีข้อควรระวังบางอย่างที่พอจะจับไว้เป็นหลักได้

เช่น มีข้อหนึ่งที่ผมเพิ่งเรียนรู้ คือถ้าเป็นชาวจีนในอเมริกา เขาจะไม่ชอบให้เรียกเขาว่าเป็น oriental เขาชอบให้เรียกเป็น Asian ไปเลย หรืออีกอย่างที่ต้องระวังเลยคือเรื่อง cross-cultural ซึ่งถ้าเราไม่รู้จริงๆ เราควรถามแขกก่อน ว่าเขาต้องการให้เสิร์ฟแบบไหน ถามตรงๆ แล้วเขาจะบอกสิ่งที่เขาต้องการให้เราเอง ไวน์ที่เขาต้องการเป็นไวน์อะไร แก้วแบบไหน ทานกับอะไร บางคนก็อยากให้เสิร์ฟเรื่อยๆ ห้ามหยุด บางคนก็อาจจะรอให้โฮสต์เติมก่อน แล้วเขาค่อยเติม ดังนั้นถ้าเราไม่ทราบจริงๆ อย่าเดาเด็ดขาด

ดูเหมือนจะเป็นศาสตร์ในการทำความเข้าใจมนุษย์อยู่กลายๆ

ไม่กลาย ตรงๆ เลยครับ เพราะผมเรียนเรื่องของ Character Observation จากที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งมันใช้ได้กับการเป็นบัตเลอร์โดยแท้จริง เช่นลูกค้าเดินมา มองหาอะไรบางอย่าง เราต้องเข้าไปช่วยแล้ว “ต้องการให้ช่วยอะไรไหมครับ” เขาอาจจะหลงทาง หาห้องน้ำไม่เจอ เราต้องเปิด awareness เสมอ เช่นลูกค้าคนนี้ร้อน เราเอาน้ำเย็นให้เขาก่อน คนนี้รอคิวนาน เรามีสแน็กให้เขาก่อน ทั้งหมดนี้มันก็กลายเป็นศาสตร์ของการบริการ มันเกิดจากการฝึกฝน ทำความเข้าใจ และเชื่อมโยง บูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน และมันก็สามารถเกิดเป็นสกิลล์เฉพาะของแต่ละคน

ดังนั้นบัตเลอร์แต่ละคนจะมีสกิลล์ต่างกัน บางคนเก่งด้านการเป็น PA (Personal Assisstant: ผู้ช่วยส่วนตัว) บางคนเก่งด้านมื้ออาหารมากๆ บางคนเก่งด้านการจัดการในบ้าน การคำนวณงบประมาณ นั่นจึงย้อนกลับมาที่ว่าทำไมเราต้องทำงานกันเป็นทีมตลอดเวลา

การจะเป็นบัตเลอร์อาชีพ ต้องเรียนนานไหม

เรียนไม่นาน แต่ฝึกฝนนาน มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนที่จะบอกว่า นานแค่ไหน คุณถึงจะพร้อมที่จะเป็นบัตเลอร์ บางคนเรียน 5 วัน ฝึกอีกประมาณ 3 เดือนแล้วเป็นได้เลยก็มี ซึ่งสิ่งที่จะบอกว่าคุณสามารถเป็นบัตเลอร์ได้แล้วก็คือตัวคุณเอง บัตเลอร์จะต้องมีเช็กลิสต์ในทุกๆ เรื่อง สกิลล์ของบัตเลอร์มีอยู่ไม่กี่อย่างหรอก เราก็ทำเช็กลิสต์ขึ้นมา ถ้าตอบคำถามทั้งหมดผ่านหมดแล้ว ก็จะได้คำตอบสำหรับตัวเอง

เช็กลิสต์เหล่านั้นมีอะไรบ้าง ที่จะบอกว่าตัวเองพร้อมสำหรับการเป็นบัตเลอร์

ของผมมีเยอะ (หัวเราะ) เคยมีการแชร์กับเพื่อนเหมือนกัน ว่าบัตเลอร์ต้องทำอะไรบ้าง ก็ต้องบอกว่าถ้าเป็นลูกค้าคนไทยคือต้องทำทุกอย่าง ทำหมดเลย แต่หลักๆ​ ก็เช่นว่า เราพร้อมที่จะรับแรงกดดันหรือยัง เราพร้อมที่จะให้บริการคนอื่นหรือยัง พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาในทุกวันหรือยัง มีความคิดในแง่บวกกับการบริการหรือยัง แล้วเราแบ่งเวลาให้กับตัวเองได้หรือยัง ข้อนี้สำคัญมาก ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า พร้อม ถึงจะเริ่มทำ

สำหรับคุณ สิ่งที่ยากที่สุดในการเป็นบัตเลอร์คืออะไร

ยากหมด (หัวเราะ) งานที่เข้ามาแต่ละวันมันไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ผมว่าบัตเลอร์หลายคนเลือกทำเพราะมันท้าทายกับเขา แรงกดดันที่จะเจอมันอาจจะเป็นเรื่องเวลาในภารกิจนั้นๆ มากกว่า เช่น ต้องเตรียมของภายใน 10 นาที จัดกระเป๋าภายใน 15 นาที สำหรับการไปต่างประเทศ 2 อาทิตย์ เราต้องทำให้ทันและเรียบร้อย เพราะเวลาเป็นสิ่งที่เรียกคืนไม่ได้ สมมติว่านายต้องบินภายในครึ่งชั่วโมง แต่เราเตรียมรถไม่ทัน เตรียมกระเป๋าไม่เสร็จ แล้วเขาพลาดไฟลต์นั้นไป พลาดการติดต่อธุรกิจ มันเกิดจากแค่ 5 นาทีที่เราพลาดไป มันก็จบ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งนี้มีอยู่ในทุกงานแหละครับ ไม่ว่าจะทำโฆษณา เป็นนักแสดง หรือทำสื่อฯ เป็นแรงกดดันที่ต้องเจอ ทุกคนคงไม่ได้มีชีวิตที่เรียบง่ายอยู่ตลอดเวลาหรอกครับ ถ้ามองให้มันสนุก มันก็สนุกนะ

นักแสดงบางคนอาจมีช่วง ‘อิน’ จนออกจากบทบาทไม่ได้ การเป็นบัตเลอร์มีเวลาแบบนั้นไหม

มีครับ แต่เป็นในทางที่ดีนะ (หัวเราะ) แม่เพิ่งทักว่าทำไมเดี๋ยวนี้ดูแลแม่ดีจังเลย ปกติเวลาไปกินข้าวด้วยกัน ผมจะรอให้แม่สั่ง ให้แม่ตักให้ ให้แม่รินน้ำให้ ให้แม่จัดแจงทุกอย่าง แต่มาตอนนี้ผมเป็นคนจัดแจง จัดจานให้ ทำทุกอย่างให้ก่อนเลย ก็น่าจะนับว่าเป็นการอินตัวละครในแง่ดีครับ มันทำให้คนอยากปาร์ตี้กับเรามากขึ้น เพื่อนจะบอกว่า หมี (ชื่อเล่นของเทรนท์) ทำไมดูแลดีจังเลย หรือ ทำไมชงเหล้าเก่งขึ้น (หัวเราะ)

การเรียนวิชาบัตเลอร์ที่อังกฤษ มันเปลี่ยนคุณไหม

มันเป็นช่วงสั้นๆ ที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาครับ เรียนเช้าจรดเย็นทุกวัน และนอกจากเรียนในคลาสแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือ เพื่อนร่วมคลาสก็เปลี่ยนเรา เพราะเขามาจากหลายประเทศ ทั้งเยอรมัน อิตาลี อังกฤษ มองโกเลีย คนจากหลายประเทศบินไปเรียน แล้วก็เป็นเจ้าของธุรกิจเสียส่วนใหญ่ เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน จากที่เคยเป็นเด็กโลกแคบ เราก็ได้พัฒนาตัวเอง ได้เปิดโลกมากขึ้น เพราะนั่นไม่ใช่การไปเที่ยว ไม่ได้อยู่แต่กับคนกลุ่มที่เราคุ้นเคย เราต้องเจอกับคนต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม เราพบว่าเราเป็นแค่จุดเล็กๆ บนโลกนี้ แล้วเราจะทำยังไงให้เราเป็นประชากรโลก ซึ่งบัตเลอร์ก็คือการเข้าไปรู้จักผู้คน เข้าไปอยู่ในโลกของวีไอพี เข้าไปอยู่ในโลกของคนนั้นคนนี้ มันเป็นบททดสอบของเราทั้งหมด

การเข้าไปอยู่ในโลกของวีไอพี เปลี่ยนความคิดของคุณอย่างไรบ้าง

เปลี่ยน อย่างแรกก็คือเรื่องการวางตัว เรื่อง positioning มันดีที่ว่า เราได้ถามตัวเองว่าเราเป็นใคร เราชอบอะไร เป้าหมายของเราคืออะไร เราทำอะไรอยู่ แล้วเขาเป็นใคร ต้องการอะไร มันคือการวิเคราะห์คนตลอดเวลา จะว่าเปลี่ยนก็เปลี่ยน แต่ก็ไม่เสียทีเดียว เพราะสุดท้ายเราก็ยังใช้ mindset เดิมตอนทำละครมาจับ เราอาจจะเจอคนที่เป็นมหาเศรษฐี ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับมือยาก เพียงแต่ต้องสังเกตเขา มองเขา แล้วเราจะรู้ว่าเราควรปฏิบัติกับเขาอย่างไร ขณะเดียวกันเราก็ต้องประสานงานกับคนทำงานฝ่ายอื่นๆ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิบัติกับเขาลดหลั่นลงไป การพูดดีๆ กับผู้คนมันเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้วนะผมว่า

นอกจากเรื่องความถนัดส่วนตัวแล้ว มีการแบ่งประเภทบัตเลอร์ด้วยไหม

มีครับ เช่นบัตเลอร์โรงแรม บัตเลอร์ส่วนตัว ก็จะทำงานต่างกัน แล้วก็จะมีบัตเลอร์ฟรีแลนซ์ที่เขาจะเป็นผู้ช่วยตามบ้านพักหรือคฤหาสน์ แต่ว่าบัตเลอร์เป็นอาชีพที่ไม่สามารถเสิร์ชหาตามอินเทอร์เน็ตได้ มันต้องอาศัยปากต่อปาก ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเชื่อการแนะนำจากผู้ที่รับรองได้ ซึ่งทั้งนี้ การมีสังกัดก็จะดีกว่า

ซึ่งอันที่จริงงานบัตเลอร์เราทำที่ไหนบนโลกก็ได้ ถ้าหากภาษาเอื้ออำนวย ถ้าคนนี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ประตูของเขาก็อาจจะแคบลง ถ้าคนนี้พูดได้หลายภาษา ก็อาจจะมีประตูหลายบาน ส่วนสำคัญมันคือเรื่องของมารยาทและการวางตัว หากคุณทำได้ดี ก็ไม่มีปัญหา เขาจะเรียกว่าบัตเลอร์คือผู้ดีที่ดูแลผู้ดี นี่ผมกำลังบอกว่าตัวเองเป็นผู้ดีสินะ (หัวเราะ)

การเป็นบัตเลอร์ต้องเจอกับปัญหาเรื่องเจเนอเรชั่นบ้างไหม

ถ้าลองถามง่ายๆ เช่น คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เข้าใจยากไหม ผมว่าไม่นะ คนรุ่นเดียวกับเรานี่แหละเข้าใจยากกว่า คนรุ่นผมหลายคนทำตัวซับซ้อนมาก ทำไมคนเราถึง complicated ได้ขนาดนั้น แต่สำหรับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่รู้สึกว่าคุยไม่ยาก เราถาม เขาก็ตอบ จบ แค่นั้น แต่กลับกัน คนยุคเราเนี่ยซับซ้อน ว่าต้องการอะไรกันแน่ ไม่ใช่เรื่องการบริการอย่างเดียวหรอก เรื่องความสัมพันธ์ก็ตาม บางคนจะเป็นแฟนก็ไม่เป็น อะไรแบบนี้มันทำให้เราเหนื่อยกับตัวเอง คิดมากเกินไป แล้วทำน้อยลง

เทียบกับคนรุ่นเดียวกันแล้ว คุณรู้สึกว่าตัวเองโตกว่าคนอื่นหรือเปล่า

ผมหน้าแก่ลง (หัวเราะ) แต่ถามว่าโตขึ้นไหม เพื่อนก็บอกนะว่าเราโตขึ้น จัดการกับปัญหาได้ละมุนละไมขึ้น ไม่โวยวาย ไม่แพนิก เรารับฟังมากขึ้น มันเป็นข้อดีนะ คือต้องบอกตามตรงว่าเราเป็นคนแบบนี้อยู่แล้วด้วย เราเป็นคนฟังคนมากกว่าที่จะพูดก่อน หลายคนในสมัยนี้ มักจะต้องมี react ตลอดเวลา คนนี้พูดแบบนี้ฉันต้องตอบกลับทันที แต่เรารอเป็น เรารอ แล้วค่อยหาจังหวะที่จะพูดกลับไป

ขออนุญาตกลับมาที่เรื่องละครอีกแล้ว การแสดงเราต้องรับฟังไลน์ให้จบ แล้วคุณค่อยส่งออกไป เช่นกัน บัตเลอร์ก็ต้องรับฟังให้เคลียร์ แล้วค่อยให้บริการ มันเหมือนกันเลย มันน่าจะดีถ้าเราทุกคนมีศิลปะในการฟังมากขึ้น รีบร้อน react ให้น้อยลง เมื่อเราฟังมากขึ้น เราก็อาจจะดูเป็นผู้ใหญ่ไปเอง แต่จริงๆ มันไม่เกี่ยวหรอกนะ เด็กๆ ก็เป็นคนที่รับฟังคนได้เก่งได้

การเป็นคู่สนทนาที่ดี นับเป็นหนึ่งในภารกิจของบัตเลอร์ไหม

เป็นครับ บัตเลอร์ต้อง entertain แขกอยู่แล้ว รับฟังแขกด้วย อย่างที่นี่เราก็จะมีสอน Etiquette Master Class สอนมารยาทบนโต๊ะอาหาร คุณจะพูดยังไง จะพูดเมื่อไหร่ คุณจะเล่นโทรศัพท์ตอนไหน แล้วคุณจะพูดเรื่องอะไร บัตเลอร์จะรู้แค่เรื่องตัวเองไม่ได้ เราต้องอ่านทวิตเตอร์ ต้องดูว่าเทรนด์ตอนนี้เขาคุยเรื่องอะไรกัน บัตเลอร์ต้องอ่านการเมืองต่างประเทศ ต้องอ่านเรื่องศิลปะ กีฬา สังคม เราต้องรู้หมด

สมมติว่าคุณสามารถเปิดเฟซบุ๊กได้เวลาที่คุณเดินเล่นหรือเข้าห้องน้ำ มันมีเป็นล้านล้านสิ่งให้เราเสพในแต่ละวัน  ก็ต้องเลือกแล้วว่าจะดูอะไร เราอยากรู้ให้รอบ เราจะชอบเรื่องที่ช่วยให้เราคุยกับคนอื่นได้มากขึ้น เอาไปคุยกับ รปภ.ได้ เอาไปคุยกับแม่บ้านได้ คุยกับนายได้ คุยกับครอบครัวของนายได้ คุยกับผู้บริหารได้ เราพยายามเสพทุกสื่อที่ช่วยเรา เช่น เราอาจจะไม่ดูบอล แต่เราดูผลการแข่งขันผ่านทวิตเตอร์

ไม่ว่าในการเป็นบัตเลอร์หรือการแสดงละครก็ตาม คุณจัดการกับความรู้สึกส่วนตัวอย่างไรให้มีพลังอยู่เสมอ

คุณแกรี วิลเลียมส์ (Gary Williams ผู้อำนวยการ The British Butler Institute) ได้สอนสิ่งที่เรียกว่า external boost เหมือนโทรศัพท์มือถือที่จะมีพาวเวอร์แบงค์ไว้เติมตลอดเวลา ดังนั้นเราก็สามารถใช้สิ่งภายนอกเติมพลังได้ครับ เช่นเวลาเราเครียดๆ จะไปชอบร้องคาราโอเกะ ร้องเพลงเก่าๆ นั่งจิบชา ซึ่งสิ่งนี้มันช่วยให้เราดีขึ้นในเสี้ยววินาที ส่วนระหว่างวัน บางคนอาจจะใช้รูปภาพ ใช้เพลง ก่อนไปนัดสำคัญอาจจะเปิดดูวิวทิวทัศน์สักรูปหนึ่ง แล้วก็-พร้อม-ไป

นั่นคือระหว่างวัน แต่เมื่อหมดวันแล้ว เราจะพยายามหา quality time ที่ไม่ต้องมีโทรศัพท์มาเกี่ยวข้อง เช่นการเจอเพื่อน การมีบทสนทนาที่ดีกับคนที่เรารักและเขารักเรา การอยู่กับครอบครัว เหล่านี้จะช่วยได้ในระยะยาว เมื่อเรามีปัญหากับคน ก็แก้ปัญหาด้วยคนนี่แหละ

เท่าที่ผ่านมาในการเป็นบัตเลอร์ ภารกิจที่สนุกที่สุดสำหรับคุณคืออะไร

ทุกวันเลย พูดเหมือนเวอร์ใช่ไหม อืม ภารกิจที่สนุกที่สุดเหรอ อาจจะงานคุณแพร (วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้าของรายการ This is Me Vatanika) มั้งครับ ได้ออกรายการ (หัวเราะ) จริงๆ เพราะยังใหม่อยู่ด้วย มันเลยสนุกทุกอย่าง ไม่แน่ว่าอีกสักห้าปี อาจจะเบื่อไปเลยก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่คิดแบบนั้น บัตเลอร์ตอบโจทย์เราอยู่ เป้าหมายสำคัญของเราในตอนนี้ก็คือทำมันให้ดีที่สุด

Fact Box

  • คำว่า Butler ที่มีมาจากรากศัพท์ภาษานอร์มานโบราณ ที่หมายถึง ‘ผู้ดูแลขวดไวน์ของกษัตริย์’ โดยในยุคกรีกโบราณ ถังไวน์นับเป็นสมบัติสำคัญของตระกูล และทาสที่ได้รับความไว้วางใจสูงเท่านั้นจึงจะได้รับหน้าที่ดูแล ขณะที่ในอังกฤษมี ‘สจ๊วต’ เป็นผู้ทำหน้าที่คล้ายกันนี้ โดยดูแลทั้งห้องเก็บไวน์และห้องอาหาร ต่อมาจึงค่อยขยายขอบเขตเป็นการดูแลคฤหาสน์ ภายหลังมีการเรียกผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้ว่าบัตเลอร์เช่นกัน
  • อาชีพบัตเลอร์ในสมัยใหม่ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1920s มีการว่าจ้างบัตเลอร์อย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา บัตเลอร์ได้ขยายขอบเขตจากผู้ดูแลบ้านมาเป็นผู้ช่วยหรือเลขาส่วนตัว ที่จะดูแลเจ้านายอย่างใกล้ชิด ในไทยเองมีตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับหน้าที่บัตเลอร์ก็คือ ต้นห้อง
  • รายได้สำหรับบัตเลอร์มือใหม่ในประเทศไทย เริ่มต้นที่เฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท เป็นต้นไป สำหรับบัตเลอร์ที่มีประสบการณ์สูงขึ้นมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตั้งแต่ 60,000-100,000 บาท
  • บัตเลอร์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็มีบัตเลอร์ที่เป็นผู้หญิงเช่นกัน
  • หลังจากเรียนจบ เทรนท์เริ่มทำงานเป็นครูสอนการแสดงให้เด็ก และทำการแสดงในละครโรงเล็ก ต่อมาเขาเริ่มงานประจำแรกด้วยการเป็นไกด์ที่ปาร์คนายเลิศ เนื่องจากชื่นชอบศิลปะไทย และขยับขึ้นมาเป็น museum educator จนกระทั่ง เล็ก—ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร (ผู้บริหารบริษัทในเครือนายเลิศกรุ๊ป) มองเห็นแววและชวนเขาไปเรียนที่ The British Butler Institute กับ มร.แกรี วิลเลียมส์ ผู้อำนวยการสถาบัน
  • นายเลิศบัตเลอร์นับเป็นพาร์ทเนอร์หนึ่งของ The British Butler Institute สถาบันที่มีความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่ง ได้แก่ จีน กรีซ กัวเตมาลา ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก ไต้หวัน และอิตาลี
Tags: , , , , , ,