“ก่อนตัดสินใจมาทำงานที่นี่ คุณเปิดไพ่มั้ย”
“ไม่เปิด ถ้าเป็นการตัดสินใจที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ”
เรารู้ว่า ‘โตมร ศุขปรีชา’ เป็นบรรณาธิการผู้รอบรู้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่รู้ว่าเขาอ่านไพ่ยิปซีเป็นด้วย
‘เรื่องใหญ่ๆ’ ของโตมรในวัย 50 คือการเข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร a day BULLETIN นิตยสาร Free Copy ที่โดดเด่นในการเล่าเรื่องปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
งานหลักของบรรณาธิการบริหาร ดูจะไม่พ้นการประชุมสารพัน ทั้งการกำหนดแนวทางของเนื้อหา และวางโจทย์ทางการตลาด ยิ่งในภาวะ ‘อยู่ยาก’ ของธุรกิจสื่อในยุคนี้ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่เหมือนจะมอดไหม้ดับสูญไปเกือบสิ้น โตมรกลับมองว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นเป้าหมายมากกว่าปัญหา ท้าทายมากกว่าทดท้อ เหมือนทางวิ่งเทรลบนเขาในฮ่องกงที่เจ้าตัวเคยพิชิตมาแล้ว
และดูเหมือนพลังของเขาไม่มีพร่อง ยิ่งเมื่อได้ร่วมงานกับทีมงานที่อ่อนวัยกว่าเขาหลายปี ที่ต่างเต็มไปด้วยเรี่ยวแรงและความคิดสร้างสรรค์
“โดยส่วนตัวผมสนใจมาก ว่าคนที่อายุห่างจากเราสองทศวรรษกว่าๆ เขาคิดอะไรอยู่ อยากทำงานอย่างไร เขามีอะไรในตัว แล้วเขาอยากสื่อสารอะไร เพราะคนที่อยู่ในวัย 30 ต้นๆ หรือ 20 ปลายๆ ดูเหมือนว่าได้ผ่านอะไรในชีวิตมาพอสมควร บ่มเพาะอะไรมามากพอ แต่ยังไม่ถึงขั้น burn out
“ตอนนี้ตัวเองอายุ 50 ก็คิดว่าจริงๆ อยู่ในวัยที่มันเชื่อมกันอยู่ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน น้องๆ ก็น่าจะเป็นอนาคต การได้เรียนรู้จากคนที่เป็นอนาคต มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็คิดว่าน่าลองทำดู”
ตอนคุณอายุ 20 ปลายๆ 30 ต้นๆ คุณทำอะไรอยู่
ผมเริ่มต้นเป็นบรรณาธิการที่ Reader’s Digest ก่อน สมัยนั้นพวกเราเป็นบรรณาธิการกันเร็ว อายุ 27 ก็เป็นกันแล้ว เช่น พี่โหน่ง—วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เป็น บ.ก. Trendy Man น่าจะอายุ 27 ผมเป็น บ.ก.ที่ Reader’s Digest ก็ประมาณ 27-28 แล้วก็มาเป็น บ.ก.ที่ GM ตอนอายุประมาณ 30
ถ้าเราดูคนสมัยก่อน คนที่ทุกวันนี้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เขาเริ่มทำงานตั้งแต่อายุน้อยมาก บางคนเริ่มตั้งแต่ก่อน 20 ด้วย เริ่มเป็นเจ้าของกิจการอาจจะอายุ 20 กลางๆ ยุคนั้นมีเพลงชื่อ ‘30 ยังแจ๋ว’ สะท้อนให้เห็นว่าคน 30 นี่เริ่มแก่แล้วนะ แต่ในปัจจุบัน 30 ถือว่ายังเพิ่งเริ่มต้นชีวิตมากๆ สมัยก่อนคนอายุ 40 นี่คือผู้อาวุโสแล้ว
ช่วงเวลาช่วงวัยของคนมันยืดออกเรื่อยๆ ตอนนี้เราจะรู้สึกว่าคนอายุ 27 ยังไม่ค่อยโตเท่าไร บางคนก็ยังเรียนอยู่ด้วยซ้ำ การที่เราจะรู้สึกโตเป็นผู้ใหญ่อาจจะสัก 35 หรือนานกว่านั้น เมื่อก่อนนี้คนที่เลย 30 ไปแล้วไม่ได้แต่งงานโดยเฉพาะผู้หญิง ถือว่าอยู่บนหอคอยงาช้างไปแล้ว ไม่ได้แต่งแน่นอน Life span ของชีวิตทุกวันนี้มันยืดออก
อย่างในนิตยสาร The Economist ฉบับธันวาคมบอกว่า ทศวรรษหน้าจะเป็นทศวรรษของคนที่เป็น YOLD หรือ Young Old ก็คือคนที่จะแก่ แต่ยังไม่แก่ เป็นคนแก่ที่ยังอายุน้อย เช่น อายุ 60-65 ซึ่งสมัยก่อน 60 เขาก็เกษียณกันแล้ว หมดอายุใช้งานแล้ว แต่ทุกวันนี้ลองไปดูคนอายุ 60 สิ ไปดูหมีเซียะหรือพี่เบิร์ด ธงไชย เขายังทำงานผลิตงานอะไรต่อมิอะไรได้อีกเยอะแยะอย่างที่คนอายุ 20 จะทำไม่ได้ด้วยซ้ำ
คนสูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่เป็นจำนวนมากขึ้น คิดว่าส่งผลอะไรต่อธุรกิจบ้าง
ถ้าเราดูในแง่การตลาด เวลาถามว่า demographic คืออะไร เราจะบอกว่ากลุ่มลูกค้าของเราคือกลุ่มอายุ 20-30 แต่วันนี้ มันแบ่งแบบนั้นแทบจะไม่ได้ เพราะคนที่อายุ 20 หรือ 50-60 ถ้าเขาสนใจอะไรบางอย่างร่วมกัน อายุก็ไม่สำคัญ หรือเพศ เมื่อก่อนก็ต้องบอกว่านี่คือนิตยสารผู้ชาย นิตยสารผู้หญิง แต่คำว่าเพศทุกวันนี้เราก็เห็นอยู่แล้วว่าเส้นแบ่งของเพศมันเลือนมาก แทบจะไม่มีอะไรที่บอกว่าอันนี้สำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง ผู้หญิงก็ใช้น้ำหอมผู้ชาย ผู้ชายก็ใส่กระโปรงเป็นแฟชั่นได้ คำว่า demographic ที่แบ่งอายุ วัย และเพศ ผมคิดว่ามันจะเลือน มันขึ้นอยู่ที่คนคนนั้นว่าจะแอคทีฟแค่ไหน สนใจความเป็นไปในโลกแบบไหน แล้วความเป็นไปในโลกก็ไม่ได้มีแบบเดียว คนก็สนใจสิ่งที่มันแตกย่อยเป็นแวดวงเล็กๆ เต็มไปหมด
คุณคิดว่าเพราะอะไรเส้นแบ่งขอบเขตที่ว่าถึงเลือนลาง
เดิมทีมันอาจจะมีขอบเขตที่ว่า เมื่อก่อนโลกมันไม่ได้ fragmented ไม่ได้แตกแยกย่อยมากเท่านี้ พอโลกมันเป็นแนวระนาบมากขึ้น ด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย เทคโนโลยี โลกออนไลน์ และความเข้าใจโลกแบบใหม่ๆ มันเลยไปทำลายขอบเขตที่ว่า
เมื่อก่อนโลกจะเป็นลักษณะเป็นแนวตั้งค่อนข้างเยอะ สมมติว่าคนอายุน้อยก็อาจจะอยู่ในลำดับขั้นทางสังคมที่อยู่ข้างล่าง คนอายุมากก็อาจจะอยู่ข้างบน คือมีอำนาจมากกว่า หรือเรื่องเพศก็ชัด ผู้หญิงก็จะอยู่ข้างล่าง ถ้าเป็นเพศทางเลือก เกย์ เลสเบี้ยน LGBTQ ก็อาจจะถูกเบียด อาจจะไม่อยู่ในแท่งนั้นเลยด้วยซ้ำ เส้นแบ่งพวกนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะอำนาจ เพราะมันมีการสมมติว่าคนบางกลุ่มมีอำนาจมากกว่า ต้องเดินทางให้ไปถึงตรงนั้นให้ได้ เช่น เรื่องอายุ หรือเรื่อง status ในสังคม
เส้นแบ่งพวกนี้เลือนไปทุกอย่าง เรื่องเพศ เรื่องวัย เรื่องการแต่งตัวด้วย มีสารคดีเรื่องหนึ่งของ Vox ที่พูดถึงคำว่า Athleisure ก็คือการแต่งตัวในแบบสปอร์ตแวร์ ในแบบที่ใช้เสื้อผ้านักกีฬา ถ้าเป็นสมัยก่อนจะมีโรงแรมหรือห้องอาหารหรูๆ ที่คุณต้องแต่งตัวแบบใส่สูทผูกไทเข้าไปนั่ง แต่ในปัจจุบันมีการเข้าไปทำโพลถามคนที่ขายของแบรนด์เนมว่าถ้ามีคนเดินเข้ามาในร้าน คนหนึ่งแต่งตัวแบบใส่สูทผูกไทหรือใส่ชุดแบบสวยงามมา กับอีกคนหนึ่งใส่รองเท้าผ้าใบ เสื้อยืด เสื้อวิ่ง กางเกงวิ่ง เป็นชุดกีฬา เขาคิดว่าจะขายของให้คนแบบไหนได้มากกว่า ปรากฏว่าโพลบอกว่า—คนขายบอกว่าน่าจะขายให้คนใส่ชุดกีฬาได้มากกว่าประมาณ 70% ต่อ 30% คนไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องแต่งตัวแบบทางการถึงจะมีอำนาจ แต่อำนาจมันแตกไปอยู่กับเรื่องอื่นๆ อย่างรองเท้าสนีกเกอร์กีฬาดังๆ ทุกวันนี้คู่ละหมื่น อาจจะแพงกว่ารองเท้าหนังที่ดูเป็นทางการกว่าด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นการทำลายหอคอยนี้มันเกิดขึ้นเอง หอคอยนี้มันพังลงมาแล้วกลายเป็นแนวราบ เส้นที่เคยแบ่งแบบชัดๆ ว่าคนวัยนี้จะต้องแบบนี้ คนอายุ 50 แล้วทำตัวเป็นผู้ใหญ่หน่อย คนที่จะเป็นเด็กห้ามแก่แดด มันผสมกันไปหมด สมัยก่อนคนเป็นเนิร์ดเป็นพวกเก็บตัว ไม่เข้าสังคม ทุกวันนี้ก็มี social nerd เกิดขึ้นมา หรือว่าเนิร์ดอาจจะเข้าสังคมเก่งกว่าด้วยซ้ำเมื่อเป็นเรื่องออนไลน์ เพราะว่าเขาใช้งานสิ่งเหล่านั้นได้มากกว่า
ขอบเขตที่เลือนหาย ทำให้ใช้ชีวิตง่ายลงหรือยากขึ้น
ก็ทั้งคู่ บางเรื่องก็ง่าย เช่น เราอาจจะไม่ต้องคิดว่าต้องแต่งตัว formal ตลอดเวลา ต้องไปงานแบบนั้นแบบนี้ คือมันจะไม่ถูกบงการ หรือถูกกำกับด้วยการแต่งตัวหรือเรื่องเพศมากเท่าเมื่อก่อน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยากขึ้น เช่น สมมติว่าเราไปงานแล้วมี dress code ว่า smart casual ซึ่งนี่เป็นชุดที่โคตรยากเลย แต่งแค่ไหนมึงถึงจะมองว่ากูสมาร์ท แค่ไหนจะ casual มันกว้างขึ้น อำนาจมันโยนกลับมาที่ตัวเรา เราไม่ถูกกำกับโดยอำนาจอื่นๆ ความยากคือว่าเวลาที่ถูกกำกับโดยอำนาจอื่นๆ ถ้าเราทำตามกฎของอำนาจนั้น ก็จบแล้ว เวลาบอกว่าแต่งตัว black tie ฉันใส่ทักซิโด้ไป จบ แต่ smart casual มันกลับมาที่เรา เรามีอำนาจมากขึ้น อาจจะไม่เต็มที่ในตัวเอง แต่เราก็ต้องดูว่าจะแต่งตัวอย่างไร เราจะทำอะไร รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร
ย้อนกลับมาที่การทำนิตยสาร มันก็ทั้งยากขึ้นและง่ายขึ้นด้วย ง่ายขึ้นก็คือเรามี authority ที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น สมมติเราเป็น a day BULLETIN เราก็ให้นิยามได้ว่ามันคืออะไร แต่ว่าความยากขึ้นก็คือว่าการให้นิยามนั้นจะอธิบายให้คนอื่นคล้อยตามเราได้มากน้อยแค่ไหน ก็อาจจะอยู่ที่การทำงาน การยืนหยัดกับมัน การรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้ แล้วก็ปล่อยของออกไป ซึ่งก็ต้องใช้เวลา
สองเดือนที่ผ่านมากับงานใหม่นี้ คุณเริ่มชัดหรือยังว่าอยากทำ a day BULLETIN ไปในทิศทางไหน นิยามแบรนด์นี้ว่าอย่างไร
พอพูดคำว่า a day BULLETIN ผมเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่บันทึกชีวิตผู้คนและความเป็นไป คำว่า BULLETIN มันเป็นเหมือนปฏิทินข่าว เพราะฉะนั้นมันมีความ current อยู่ระดับหนึ่ง แต่ว่าตอนที่แบรนด์นี้ตั้งขึ้นมา โลกของสื่อยังไม่มีออนไลน์ ซึ่งตอนนี้ความ current แบบเดิมไม่น่าจะใช้ได้แล้ว
ข้อดีของ a day BULLETIN คือมันไม่ได้เป็นรายวัน แต่เป็นรายสัปดาห์ จังหวะของหนังสือมันกระตุกคนให้กลับมาคิดได้ว่า ในหนึ่งสัปดาห์โลกมีเรื่องอะไรที่เราควรจะคิดกับมัน ในแบบที่ก็ไม่ได้คิดแบบครุ่นคิดลึกซึ้งที่ใช้เวลายาวนานเกินไป แต่ก็ไม่ได้คิดโดยใช้เวลาสั้นๆ แบบอะไรเข้ามาก็มองมันแล้วสื่อออกไปทันที มันเป็นจังหวะที่ผมคิดว่าเหมาะสมกับคนรุ่นใหม่อยู่ คนรุ่นที่รับข้อมูลข่าวสารเร็ว มีเวลาให้คิดกับมันหน่อยนึง อาจจะหนึ่งสัปดาห์ ว่าคนควรจะมองเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างไร
ถ้าถามว่าอยากให้ a day BULLETIN เป็นอย่างไร ผมว่ามันเป็นจังหวะของสื่อที่บอกเล่าข่าว และชวนคิด ให้มันลึกลงไปกว่าแค่การรับรู้ข่าวสาร เราควรจะมองมันอย่างไร ถอดรหัสเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างไร จะมีบทสัมภาษณ์คนหลากหลายวงการมาช่วยกันถอดรหัสสังคม ไฟป่าออสเตรเลียบอกอะไรเราบ้าง มาถึงเมืองไทยได้มั้ย ทำไมโรตีสดถึงเกิดขึ้นได้ ทำไมการงดใช้ถุงพลาสติกในสังคมไทยถึงเกิดการโต้เถียงเต็มไปหมด ฯลฯ
รวมถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะ เรื่องความเป็นคนเมือง เรื่องการใช้เงินทองของเรา การใช้เวลาว่าง การทำงาน ความรักความสัมพันธ์ ทุกมิติของมนุษย์ ทีนี้ถามว่ามนุษย์แบบไหน พอเราตอบว่ามนุษย์เมืองหรือคนเมือง เมื่อก่อนเราอาจะรู้สึกว่าคนเมืองคือคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว
คนจำนวนมากของโลกเป็นคนเมือง เทรนด์ urbanization ทำให้คนอยู่ในเมืองมากกว่าคนชนบท ต่อให้คนที่อยู่ในชนบทโดยกายภาพหลายคนก็มีวิถีชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้น ทุกคนกินแบบเดียวกัน เสพแบบเดียวกัน ดู NETFLIX เหมือนกัน มันมีไลฟ์สไตล์บางอย่างที่นิยามความเป็นคนเมือง แทนที่จะเป็นเรื่องทางกายภาพ คือเขตเมืองหรือเขตเทศบาล เพราะฉะนั้นเวลาที่สื่อไปถึงคนเมือง มันเลยกว้างกว่าสมัยก่อน แทบจะเรียกได้ว่า a day BULLETIN พูดได้ทุกเรื่อง
แต่คนทั่วไปมักบอกว่า สิ่งพิมพ์ตายแล้ว ควรเลิกทำได้แล้ว
ผมว่าเลิกไม่ได้หรอก แม้ในสภาวะที่สิ่งพิมพ์ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป แต่ผมคิดว่ามันยังมีคุณค่าบางอย่างในตัวอยู่ ก่อนหน้านี้ผมเคยทำนิตยสาร MAD ABOUT กับนิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) จะจำกันได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่ทำกันแค่ 3 เล่ม เพื่อที่จะบอกว่า เรายังสามารถทำอะไรกับสิ่งพิมพ์ได้เยอะ มันไม่ได้ตายไปซะทั้งหมด ถามว่าทำไม ก็เพราะว่า มันมีหลายอย่างที่ออนไลน์ให้หรือทดแทนสิ่งพิมพ์ไม่ได้ทั้งหมด
สมมติว่าดู a day BULLETIN พอเปิดออกมา ดูไซส์ของมันสิครับ ใหญ่เกินกว่าไอแพดที่ไหนจะมาใหญ่ได้เท่า แล้วถามว่าขนาดใหญ่มันมีประโยชน์อย่างไร สมมติว่าเวลาที่เราจะดูแผนที่ ถ้าดูในมือถือหรือไอแพดอาจจะไม่ใหญ่มากพอที่จะทำให้เราเห็นภาพได้ทั้งหมด เราต้องซูมมันเข้าไปถ้าอยากเห็นรายละเอียด
เพราะฉะนั้นในเวลาหนึ่งที่เราต้องเลือกว่าเราจะเห็นภาพใหญ่ที่ไม่เห็นรายละเอียดเพราะมันเล็กเกินไป หรือจะเห็นรายละเอียดที่มันขยายออกมาแล้วจะไม่เห็นโครงสร้างใหญ่ แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าเป็นแผนที่ที่เราคลี่ออกมาเป็นกระดาษแล้วมันใหญ่เท่าโต๊ะ เราเห็นได้สองอย่างพร้อมกัน หนึ่งคือเห็นโครงสร้างใหญ่ของแผนที่นั้นทั้งหมด และสองคือเราเห็นรายละเอียดทั้งหมดได้อย่างคมชัดด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ออนไลน์ทำไม่ได้
สื่อออนไลน์ทำให้เราได้เห็นข่าวที่เร็ว ทำให้โลกของเรา fragmented มากขึ้น คือแตะส่วนเสี้ยวเล็กๆ มากขึ้น ในแง่หนึ่งเราก็จะรู้สึกวุ่นวายไปหมด แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ช่วยทำลายหอคอยที่ว่า ทำให้มันเป็นประชาธิปไตยได้มากขึ้น นิตยสารสมัยก่อนก็ยังมีความเป็นหอคอยอยู่ นิตยสารบางหัวก็จะถูกมองว่าอยู่ข้างบน บางหัวอยู่ข้างล่าง
โดยเนื้อหาของนิตยสารหนึ่งฉบับ จะมีการจัดลำดับว่าเปิดมาจะต้องเจอเนื้อหาอะไร อะไรเป็นแก่น แก่นคือสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งที่เป็นปกิณกะ หรือปกิณะกะที่รับใช้โฆษณาดึงเงินเข้ามาได้สำคัญกว่าปกิณกะที่ไม่ได้ทำเงิน มันจะมีลำดับชั้น แต่ในโลกออนไลน์ไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วแต่ว่าใครสนใจอะไรก็สามารถเลือกอ่านได้เลย ความสำคัญของเนื้อหาเท่าๆ กัน อันนั้นถือเป็นคุณูปการของออนไลน์
ถามว่า a day BULLETIN น่าสนใจอย่างไร เพราะเราเป็นสื่อที่มีทั้งสองอย่างทั้งออนไลน์และสิ่งพิมพ์ นี่แหละคือสิ่งที่มันได้เปรียบ ช่วยให้เราสามารถกระโดดไปกระโดดมาระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ได้
การทำสื่อยุคนี้จำเป็นต้องมีการกระโดดข้ามแพลตฟอร์มไหม
ไม่จำเป็น แล้วแต่ว่าเราอยากจะทำอะไร แต่โดยส่วนตัวผมชอบการข้ามแพลตฟอร์ม ชอบการทำให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกันได้ ถ้าเราอยู่ในโลกออนไลน์อย่างเดียว มีโอกาสค่อนข้างมากที่เราจะเจอ filter bubble หรือ echo chamber เพราะเนื้อหาจะถูก personalize เยอะแยะไปหมด จนกระทั่งเราออกจากมันค่อนข้างยาก แต่กับสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์ เวลาเราหยิบมาหนึ่งเล่มแล้ววางตรงหน้า เราจะเจอสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ
เช่น ตอนอ่าน The Economist ก็เจอว่า GDP growth ของคิวบาอยู่ที่ -0.2% แล้วเราคิดต่อจากตรงนั้นได้ แต่เวลาอยู่ในออนไลน์ เวลาเปิดขึ้นมา เราจะอยู่ในโลกของเรา เราจะไม่นึกอยากหา GDP คิวบา หรือคำว่า YOLD ถ้าไม่เจอคำนี้มาก่อนในชีวิต เราจะนึกถึงมันไม่ออก การหาอะไรใหม่ๆ ในโลกออนไลน์จึงใช้เวลามาก เหมือนการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหาธรรมชาติ กว่าจะขับรถออกไปได้ ไกลมาก
สำหรับผม หนังสือเป็นเหมือนประตูวิเศษของโดราเอมอน พอเปิดประตูนั้นปุ๊บคุณไปอยู่ที่ดอยอินทนนท์เลย มันพาเราออกจากที่ที่เราอยู่ทันที มันสนุกกว่าถ้าเราได้กระโดดไปกระโดดมา ออกจากโลกที่เราอยู่ ไปเจอโลกใหม่ได้ในแบบฉับพลันทันที แล้วเอาสิ่งใหม่นั้นกลับมาในโลกที่เราอยู่ สมมติเราไปเจอเรื่องใหม่ๆ แล้วเรากลับมาที่เฟซบุ๊ก โพสต์เรื่องที่ไปเจอมา คนอื่นก็ได้รู้ด้วย แต่ถ้าเราหมกอยู่แต่ในเฟซบุ๊กของเราอย่างนี้ เราก็จะบ่นเรื่องเดิมๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่โดยส่วนตัวเป็นคนขี้เบื่อ เลยพยายามไปหาเรื่องใหม่ๆ
ความทุกข์ของคนทำสื่อที่ยังเชื่อมั่นในสิ่งพิมพ์คือ มันค่อนข้างยากที่จะทำให้ลูกค้าหรือเอเจนซี่เชื่อว่าสิ่งพิมพ์ยังมีคุณค่ามากพอต่อการลงทุน คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้
ถ้าหันไปดูเรื่องการทำเงินของนิตยสาร ยุคแรก ก่อนปี พ.ศ. 2540 บรรณาธิการหรือกองบรรณาธิการเป็นพระเจ้า สามารถเอาใครมาขึ้นปกแล้วคนนั้นก็เกิดได้ เพราะฉะนั้นโฆษณาก็จะวิ่งเข้ามาหา เชื่อกองบรรณาธิการได้เลย สมมติมีลูกค้าเชิญไปต่างประเทศ กลับมาแล้วไม่เขียนยังได้เลย ถ้าทริปนั้นไม่ดีพอ เพราะเรามีอำนาจเยอะมาก
ยุคที่สอง พอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ทุกอย่างดิ่งลงหมดเลย มีนิตยสารจำนวนหนึ่งปิดตัวไป หัวที่แข็งแรงรอดมาได้ก็เยอะเหมือนกัน แต่เงินน้อยลง มันก็จะเกิดวิธีทำงานใหม่ที่ marketing oriented มากขึ้น อำนาจย้ายไปอยู่ในมือของการตลาด เราจะเริ่มเจอเรื่องของการทำ advertorial หรือการคิดโปรเจ็กต์เพื่อไปรับใช้ลูกค้า แล้วทุกครั้งที่เราไปขายงานกับลูกค้า เขาก็จะตอบว่าไม่ต้องฮาร์ดเซลล์นะคะ แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ไม่พ้นฮาร์ดเซลล์ทุกครั้ง ก็ต้องพยายามทำ แล้วก็จะต้องถูกด่าจากคนอ่านว่า นี่คือ advertorial นี่นา นั่นเป็นยุคหนึ่งของสื่อสิ่งพิมพ์
หลังจากนั้นก็จะเกิดยุค The real decline เป็นการตกต่ำอย่างแท้จริงของนิตยสาร ก็คือเมื่อเกิดโลกออนไลน์ ความจริงมันเกิดมาตั้งแต่ 2000 สมัยที่คลื่นดอตคอมเข้ามา 2-3 คลื่น นิตยสารก็ถูกขู่มาตลอดว่ามันจะพัง แล้วมันไม่พังสักที เพราะฉะนั้นคนนิตยสารก็จะรู้สึกว่า ไม่จริงหรอก ออนไลน์ทำอะไรฉันไม่ได้
เราเคยมีสมาคมนิตยสาร มีอยู่ปีหนึ่งที่สมาคมนิตยสารมาประชุมกัน มีหัวข้อการประชุมว่า Where is the money? เงินอยู่ที่ไหนในโลกออนไลน์ เพราะตอนนั้นนิตยสารก็พยายามจะหันมาหาออนไลน์เพื่อจะรับมือกับออนไลน์ที่กำลังจะมา ประมาณปี 2007 ก่อนเหตุการณ์ Subprime แต่ปรากฏว่ามันไม่มีเงินอยู่ในนั้นเลย ก็เลยต้องมาเสวนากันว่าเงินอยู่ไหน เสร็จแล้วทุกคนก็สรุปว่าเราไม่ต้องสนใจมันก็ได้ ออนไลน์มันยังไม่มีเงินหรอก
แต่หลังจากเกิด Facebook และโซเชียลมีเดียต่างๆ พอเงินมันมา มันมาจริง แล้วนิตยสารก็พังจริงในช่วง 1-2 ปี การทำตลาดของนิตยสารหรือลูกค้าในยุคใหม่ก็เปลี่ยนไป ลูกค้าเองก็ตกใจนะ เมื่อไม่มีนิตยสารให้เอาเงินไปลง แล้วจะต้องเอาไปลงกับใคร คนที่เป็นสื่อใหม่ก็ไม่ได้เป็นสื่อใหม่แบบ generalize เหมือนที่สื่อเดิมเป็น
ถ้าย้อนกลับไปดูนิตยสารสมัยก่อน นิตยสารทำหน้าที่อะไร หน้าที่ของนิตยสารคือ การกำหนดรสนิยม ความคิด ไลฟ์สไตล์ หนังสือพิมพ์บอกว่าคุณควรรู้อะไร โทรทัศน์บอกว่าคุณควรมีความบันเทิงกับอะไร แต่นิตยสารบอกว่าคุณควรมีชีวิตอย่างไร ควรใส่เสื้อผ้าอะไร คิดกับเรื่องนี้อย่างไร มีบทวิเคราะห์ สารคดี บทสัมภาษณ์ของผู้คน เพราะฉะนั้นนิตยสารเป็นฐานที่สำคัญมากกับสังคม เพราะมันบอกว่าคุณควรมีชีวิตอย่างไร
เมื่อออนไลน์มาถึง สื่อแรกที่พังก่อนคือหนังสือพิมพ์ เพราะออนไลน์เร็วกว่า แต่หน้าที่ที่บอกว่าคุณควรมีชีวิตอย่างไร ออนไลน์ใช้เวลาระดับหนึ่งในการค่อยๆ ไต่ขึ้นมา จนกระทั่งมีโซเชียลมีเดีย มันคือการบอกว่าคุณควรมีชีวิตอย่างไรเหมือนที่นิตยสารเคยบอก คุณดู Instagram ก็จะเห็นว่าคนดังคนนี้มีชีวิตอย่างไร คุณก็พยายามมีชีวิตแบบนั้นบ้าง คุณเปิด Facebook เห็นเพื่อนซื้อสิ่งนี้มาใช้ หรือคิดแบบนั้นแบบนี้ คุณก็พยายามใช้ของแบบนั้น หรือคิดว่า อ๋อ ฉันก็คิดแบบเดียวกับเพื่อนนี่นา หรือ —ฉันไม่คิดแบบเพื่อนคนนี้เลย มันเปิดเผยตัวตนออกมาแล้ว ในทางการเมืองเพื่อนเรามันเป็นกลุ่มนี้ เราเลิกคบกับมันดีกว่า
ในที่สุดโซเชียลมีเดียเลยมาแทนนิตยสารในบางระดับ แม้จะไม่ได้แทนได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้เกิดสื่อใหม่ที่มีตัวตนชัดเจนขึ้นมา เช่น สมมติว่า Instagram ของดาราคนนี้ ลงภาพแบบนี้ๆ ซึ่งคนอื่นไม่มีภาพแบบนี้ โทนสีแบบนี้ๆ เวลาลูกค้าจะมาลง ก็ไม่ได้ลงแบบ advertorial เหมือนนิตยสาร แต่ลูกค้าจะลงโฆษณาด้วยการบอกว่า เพราะตัวตนของคนคนนั้นเป็นแบบนั้น เขาถึงเลือกที่จะไปลง คือยอมเป็นผู้ตามให้กับ influencers เหล่านั้น ถามว่าสิ่งนี้เหมือนอะไร ก็เหมือนนิตยสารยุคก่อน 2540 อำนาจมันไปอยู่ตรงนั้นมากกว่า
ในเมื่อสถานการณ์ของการตลาดและธุรกิจเป็นแบบนี้ ในฐานะบรรณาธิการบริหาร คุณมีวิธีหาเงินอย่างไร
ตอนที่ผมกลับไปทำ GM ช่วงกลางปี 2562 ผมมองว่าลูกค้ายังต้องหาที่ลง ยังต้องหาที่ที่จะสื่อสารไปหาผู้คน นิตยสารต้องพยายามสร้างตัวตน สร้างกลุ่มคนที่ติดตามตัวเองให้เห็นได้ชัดมากขึ้น อาจจะไม่เยอะมากเหมือนเมื่อก่อน ความแมสมันหายไป แต่ความเป็นตัวตนยังคงอยู่กับเรา และสร้างขึ้นมาได้ แล้วลูกค้าก็จะเข้ามาเพราะตัวตนอันนั้นแหละ มันจะทำให้สินค้าหรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการจะสื่อสารไปถึงกลุ่มที่เล็กลงแต่ชัดเจนมากขึ้นได้
ถ้าเราดูเรื่องของลูกค้าสมัยก่อน เวลาผลิตของออกมาขาย เขาก็อยากขายให้ได้เยอะๆ บางทีก็หลอกผู้บริโภคได้ ผลิตสบู่มาเยอะๆ แล้วโฆษณาหลอกๆ ว่ามันดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่อาจจะไม่ได้ดีจริง กระบวนการผลิตอาจจะทำร้ายสิ่งแวดล้อม คนเราก็ผ่านความเจ็บปวดแบบนี้มาแล้วในยุคหนึ่ง ถัดมาคนก็เริ่มรู้สึกว่า Mass Production พวกนี้หลอกหลวงหรือเปล่า ก็จะเริ่มมีการควบคุม มีคำว่า ผู้บริโภค เกิดสิทธิของผู้บริโภคต่างๆ แล้วมันก็เลยไปถึงเรื่องของการที่จะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม เริ่มเกิดเรื่องของ CSR ขึ้นมา
แต่ CSRในสมัยแรกๆ แยกขาดจากกระบวนการผลิต สมมติว่าโรงงานปล่อยน้ำเสีย แต่คุณบอกว่าฉันทำ CSR ด้วยการปลูกป่า ชดเชยกันได้มั้ย คำตอบคือไม่ได้ คุณจะปลูกป่าร้อยล้านไร่แต่ถ้ายังปล่อยน้ำเสียลงไป คนที่เดือดร้อนก็คือคนที่เจอน้ำเสีย ถัดมาบริษัทก็เอา CSR เข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิตเลย คือเข้าไปดูสิว่าคุณจะทำการผลิตอย่างไร คุณดูแลคนงานของคุณอย่างไร แต่มันก็มีเรื่องใหม่เข้ามาอีก
สมมติว่ามีบริษัทหนึ่งที่สร้างคอนโดแล้วจัดพื้นที่ต่างๆ ที่ทุกอย่างดีงามหมดเลย แต่บริษัทอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมแย่หมด แล้วคอนโดที่ดีงามสะพรั่งพร้อมหนึ่งตึกมันจะขายได้มั้ย มันก็เลยเกิดเทรนด์ใหม่ก็คือ บริษัทต้องเข้าไปร่วมกันผลักดันในระดับโครงสร้างของประเทศด้วย เพื่อให้เกิดกฎหมายการควบคุม ทำให้โครงการอื่นๆ ที่อยู่รายรอบดีเหมือนกันด้วย แล้วสังคมทั้งหมดก็จะดีไปด้วยกัน
แล้วถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้ทุกโครงการทำตามนโยบายนี้ล่ะ
บทบาทหนึ่งที่สำคัญคือบทบาทของสื่อ สื่อที่ดีไม่ใช่คนที่วิ่งเข้าไปแล้วขอตังค์มาทำเนื้อหาเพื่อฟอกโครงการ แต่เข้าไปช่วยกันคิด และบอกลูกค้าว่า มีผู้ผลิตอื่นที่เขาทำอีกแบบหนึ่งนะ หรือในโลกนี้มีเทรนด์แบบอื่นๆ ถ้าคุณแก้ตรงนี้ เรายินดีมากที่จะช่วยกันสื่อสารออกไป ถ้าคุณยังไม่แก้สิ่งนี้ เราช่วยคุณไม่ได้นะ เพราะในฐานะของสื่อเราก็มีเกียรติและ legacy ของเราที่ต้องรักษาเหมือนกัน สื่ออาจจะช่วยดึง consultant จากที่อื่นเข้ามาให้ ช่วยพาผู้บริหารของคุณไปดูงาน สื่อมีข้อมูลค่อนข้างเยอะ เราอาจจะช่วยประสานได้ ไปแล้วกลับมาช่วยกันทำอะไรให้มันดีขึ้นมั้ย
มันเป็นโอกาสที่จะย้อนกลับไปหายุคที่สื่อมีคุณค่าที่ต้องรักษา เหมือนสมัยก่อนปี ’40 โลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนเร็ว ถ้าเราไม่รักษาสิ่งนี้ให้แข็งแรง มันก็มีโอกาสพังเร็ว ใครๆ ก็อยากได้เงินง่าย แต่การที่ทำสิ่งนี้แล้วขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน ยากกว่าเยอะ แต่สนุก มันคือความสนุกที่ทำให้ผมอยากมาทำงาน
การทำเนื้อหาใน a day BULLETIN อย่างที่คุณบอกว่า มีเวลาให้คนอ่านใช้เวลาคิดกับข่าวสารที่รับเข้ามา สำคัญกับชีวิตอย่างไร
มันไม่แค่สำคัญ มันจำเป็นเลยล่ะ เพราะถ้าเราไม่ได้คิดกับมันเลย เหมือนเราอยู่ในแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว แล้วเดี๋ยวมีผักตบชวาลอยมา มีหมาเน่า ศพ อะไรก็แล้วแต่ ไหลมาแบบไม่มีตัวกรอง ในที่สุดเราจะไม่ได้อะไรเลย ไม่เหลืออะไรที่อยู่ในชีวิตของเรา
ผมเพิ่งได้อ่านบทความที่บอกว่าเด็กสมัยใหม่ เวลาที่เขาอยู่ในห้องเรียน ถ้าเป็นรุ่นเรา เราก็จะฟังไปด้วย จดไปด้วยได้ แต่เด็กสมัยใหม่ไม่มีทักษะนี้ ฟังไปด้วยแล้วก็จดไปด้วยไม่ได้ สมาธิไม่ได้ถูกฝึกมาให้ทำงานแบบนี้พร้อมกัน แล้วเขาทำอย่างไร ก็เปิดเครื่องอัดเสียงครูเอาไว้ แล้วค่อยไปฟังทีหลัง
ยิ่งกว่านั้นคือทุกวันนี้มีแอปพลิเคชันที่สามารถฟังเสียงครูพูด แล้วแปลงเป็นไฟล์ตัวอักษรได้ เด็กคุ้นเคยกับวิถีเสพเนื้อหาแบบนั้นไง วันหนึ่งอาจไปดูแท็กในทวิตเตอร์ มีข่าวที่เป็นแท็กใหญ่ๆ เป็นสิบอัน ก็ตื่นเต้น โกรธ ใจฟูกับข่าวนั้นข่าวนี้ อาจจะเข้าไปด่าคนบ้าง แต่พอมีเรื่องใหม่มา เราก็ลืม
การหยุดคิดกับข่าวบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องเรียกว่า vital คือจำเป็นกับชีวิตของเรามากกว่าที่จะปล่อยให้มันผ่านๆ ไป เหมือนการสร้างตะแกรงเอาไว้กรองสิ่งที่ลอยมาในแม่น้ำ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องกรองเก็บทุกอย่าง บางอย่างเราก็ปล่อยมันไหลไปเถอะ แต่บางเรื่องมันก็ชวนให้ฉุกคิด เช่น ถามว่าทำไมวันนี้น้ำเริ่มเปลี่ยนสี ธรรมชาติบอกอะไรเรา ทำไมมีศพคนตายลอยมา นี่มันเรื่องใหญ่นะ คนตายทั้งคน แต่ถ้าเป็นแมลงวันตายลอยน้ำมาเราปล่อยผ่านไปก็ได้ a day BULLETIN จะทำหน้าที่ในการ curate สิ่งเหล่านี้
พอคุณพูดเรื่องการหยุดคิด ทำให้ผมคิดถึงหนังสือ In Praise of Wasting Time (เราทำงาน อย่าปล่อยให้งานทำเรา) ที่คุณแปล คุณเชื่อในเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ไหม
เชื่อมากกว่านั้นอีก ความขี้เกียจควรจะเป็นระบบ ควรจะเป็นสิ่งที่ผนึกอยู่ในชีวิตคน เราควรมีสิทธิ์ที่จะขี้เกียจ หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้ไปไกลถึงขนาดนั้น แต่มันพูดว่าเราควรจะมีเวลาปล่อยให้ตัวเองได้ daydream ฝันกลางวันบ้าง
ทุกวันนี้เราถูกครอบด้วยตารางเวลา เดี๋ยวผมคุยกับคุณเสร็จ บ่ายสองต้องไปคุยกับน้องในทีมต่อ มีเวลาให้คุณสัมภาษณ์ได้แค่หนึ่งชั่วโมง หรือเรากำหนดเวลากับทุกอย่าง เช่น เราจะไปยิมหนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นจะกินข้าวครึ่งชั่วโมง ประชุมอีกหนึ่งชั่วโมง เขียนงานอีกหนึ่งชั่วโมง หนังสือเล่มนี้บอกว่ามันควรจะมีบางเวลาที่เราสละตารางนี้ทิ้งไป แล้วใช้ชีวิตราวกับว่าเราจะมีเวลาเป็นนิรันดร์ มันอาจจะเป็นแค่การนั่งอยู่ริมทะเลสาบ ดูระลอกน้ำที่กระทบฝั่ง เห็นแมลงปอบินไปบินมาโดยไม่ต้องกังวลว่าอีกสิบห้านาทีฉันต้องไปแล้ว
มันคล้ายๆ กับการเขียนหนังสือครับ เวลาเขียนคอลัมน์ ผมอาจจะต้องกำหนดเวลาว่าใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในการเขียน แต่เมื่อไรที่เขียนเรื่องสั้น ผมไม่สามารถบอกได้ว่าฉันจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง การเขียนเรื่องสั้นต้องรู้สึกราวกับมีเวลาเป็นนิรันดร์ถึงจะเขียนได้ คือต้องไม่มีอะไรมากวนอยู่ข้างหน้า แต่จริงๆ อาจจะเขียน 15 นาทีเสร็จ daydream จะต้องมีอะไรบางอย่าง มีบางช่วงเวลาที่เราสละออกไปจากตารางเวลาในชีวิต สลับกับความคิดที่ว่าเราควรจะต้อง productive ตลอดเวลาบ้าง ถ้าเราสลับได้ เราจะโปรดักทีฟมากขึ้น แต่เราต้องไม่ตั้งใจทำมันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ว่าจะโปรดักทีฟ ถ้าตั้งใจทำอย่างนั้นสุดท้ายก็จะไม่โปรดักทีฟ
ทุกวันนี้คนเราพยายามหากิจกรรมมาเติมตารางเวลา เช้าตื่นขึ้นมา ไปส่งลูก เอาผ้าไปซัก มาทำงาน ทำให้ชีวิตเราเต็มแน่น เพราะเราจะไม่ต้องถามคำถามสำคัญที่สุดในชีวิต ว่ากูอยู่ที่นี่ทำไม มีชีวิตอยู่ทำไม แต่เมื่อไรก็ตามที่เราหลุดไปจากโลกต่อติด เราไปนั่งอยู่ริมทะเลสาบ นั่งมองแมลงปอ สักพักคำถามนี้มันจะกลับมา ฉันเป็นใคร ทำอะไรอยู่ นั่นคือเรื่องสำคัญ
คุณคิดอย่างไรกับกระแสความโปรดักทีฟ ที่คนยุคนี้คิดว่าต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตมีความหมายจากความโปรดักทีฟ
ผมว่าเป็นเรื่องของแต่ละคน เดี๋ยวนี้มีคนเขียนเรื่อง Mission to the Moon Syndrome (Mission to the Moon คือรายการ Podcast ของ แท็บ-รวิศ หาญอุตสาหะ) ผมไม่ได้ว่าแท็บนะ รู้จักกัน ที่แท็บเขาทำอย่างนั้นเพราะมันเหมาะกับเขาไง แต่ละคนมีจังหวะชีวภาพในตัวไม่เหมือนกัน แท็บก็เล่าให้ฟังว่าทำอะไรบ้าง เขาค้นพบจังหวะที่เหมาะกับตัวเอง ผมเชื่อว่าเขาก็มีช่วงเวลาที่หลุดไปจากโลกต่อติด อาจจะเป็นช่วงที่เขานั่งเล่นกับลูก ประเด็นคือเราก็หาช่วงเวลาแบบนี้ได้ ความโปรดักทีฟที่ดีที่สุดคือ โปรดักทีฟที่เป็นผลพลอยได้จากการมีชีวิต แต่ถ้าเราเอาโปรดักทีฟเป็นเป้าหมาย เป็นไปได้ว่าจะพังทั้งคู่ ทั้งชีวิตของเราและความโปรดักทีฟของเรา
เรามีชีวิตอยู่เพื่อความสนุก หรือเพื่อทำตามวินัยที่เราวาง ถ้าเราสนุกกับวินัยก็ไม่เป็นไร ถ้าเมื่อไรที่เราไม่สนุกกับวินัย ตื่นมาแล้วจะต้องทำหนึ่ง-สอง-สาม-สี่ สุดท้ายก็พัง ความสนุกก็ไม่มี แต่ถ้าเราสนุก วินัยมันตามมา ถ้าเราสนุกกับการวิ่ง เราจะอยากลุกขึ้นมาวิ่งทุกเช้า ทุกคนก็จะบอกว่าคุณมีวินัยจังเลย แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีวินัย เราสนุก เราอยากทำมัน
สิ่งสำคัญคือ รู้จักตัวเอง รู้ว่าข้างในเป็นอย่างไร การออกแบบชีวิต—ถ้าเราออกแบบด้วยตารางหรือวินัย มันอันตราย แต่ถ้าออกแบบด้วยความสนุก วินัยมันจะตามมา จริงๆ ในแต่ละวันเราก็เลือกได้ด้วยว่าอยากมีชีวิตที่สนุกหรือสงบ แล้วทำสองอย่างนี้ให้มันบาลานซ์กัน
Fact Box
- โตมร ศุขปรีชา จบปริญญาตรี สาขาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กลับขลุกอยู่กับงานหนังสือมาเกือบทั้งชีวิต เริ่มจากการเป็นกองบรรณาธิการที่นิตยสาร Trendy Man / หัวหน้ากองสารคดีที่บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด / ผู้ช่วยบรรณาธิการที่ Trendy Man และ IMAGE / และรับตำแหน่งบรรณาธิการครั้งแรกที่ Reader’s Digest
- พ.ศ. 2543 เขาทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารที่นิตยสาร GM ประจำการเป็นเวลายาวนาน และลาออกไปใช้ชีวิตคนทำงานฟรีแลนซ์อยู่หลายปี ก่อนจะกลับมาเป็นบรรณาธิการบริหารที่ GM อีกครั้งเมื่อกลางปี 2562
- ปัจจุบัน โตมรคือบรรณาธิการบริหาร a day BULLETIN หนึ่งในแบรนด์ของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด
- นอกจากงานประจำในฐานะบรรณาธิการ เป็นที่รู้กันดีว่าโตมรมีผลงานหนังสือทั้งเขียนและแปลจำนวนนับไม่ถ้วน บางเวลาก็ผันตัวเองไปเป็นพิธีกรรายการสารคดีโทรทัศน์ และวิทยากรรับเชิญตามงานเสวนาต่างๆ ทั้งยังมีเวลาให้กับการวิ่งระยะไกลในสนามต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ
- โตมรยืนยันเสมอว่าเขาเป็น ‘คนขี้เกียจ’ แต่ที่ทำงานและสิ่งต่างๆ มากมายอยู่(แทบ)ตลอดเวลานั้นก็เพราะ ‘สนุก’ ตัวอย่างยืนยันง่ายๆ เช่น DECODE รายการพอดแคสต์ที่เขาสามารถอัดเสียง(เล่นๆ)ถึงวันละ 2 ep.