ย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ฤดูกาลแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ถูกคั่นจังหวะด้วยการเข้ามาของโควิด-19 ที่ตอนนั้นยังคงเป็นปริศนาและเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกต่างต้องหาคำตอบร่วมกัน ว่าจะรับมือต่อสถานการณ์นี้อย่างไร
หน่วยงานทางการแพทย์ของประเทศไทยได้รับเสียงชื่นชมต่อการรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที จนทางองค์กร Global COVID-19 Index (GCI) จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 184 ประเทศ
เบื้องหลังความสำเร็จในการรับมือต่อสถานการณ์โควิด-19 นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญแล้ว กองหนุนก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข คนทำงานในพื้นที่อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หลายหน่วยงานต่างร่วมแรงร่วมใจกันเข้ามาเป็นกำลังเสริมในการช่วยรับมือกับปัญหาเหล่านั้น
รวมถึง ‘สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ’ ของสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เห็นว่ากลุ่มอดีตผู้ป่วยโควิด-19 ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
แพทย์หญิง ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ได้ชวนภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมกันติดตาม และให้คำปรึกษาอดีตผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนจะขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั้งเด็กและคนในชุมชน
ความพิเศษอย่างหนึ่งของสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ คือ การเป็นเสมือน ‘คนกลาง’ ที่มีเพื่อนจากหน่วยงานต่างๆ มากมายเป็นพันธมิตร เมื่อมีโจทย์ให้ลงมือทำงาน ทางสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพจะประสานความร่วมมือเปิดพื้นที่กลาง ให้แต่ละหน่วยงานล้อมวงนั่งคุยกันจนเกิดเป็นโครงการหนึ่งขึ้นมา
แพทย์หญิงขจีรัตน์มองว่า นี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของไทย เพราะผลพลอยได้ของสถานการณ์โควิด-19 คือการที่ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น และความจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้บริการทางการแพทย์ ต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างจริงจัง แต่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเหล่านี้ อาจหายวับไปในพริบตาหากหน่วยงานทางด้านสุขภาพไม่รีบคว้าโอกาสไว้ และพัฒนาต่อจนสามารถกลายเป็นโครงสร้างบริการระบบสุขภาพแบบใหม่
ผสานรวมพลัง ได้ผลลัพธ์ยกกำลังทวีคูณ
เราต่างได้ยินกันมาว่า ‘การทำงานร่วมกัน’ เป็นหนทางสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ เหมือนเทรนด์การตลาดยุคนี้ ที่บรรดาแบรนด์ดังต่างจับมือกันสร้างสรรค์ชิ้นงานออกมา ยิ่งหากเป็นการร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐที่มีต้นทุนทางด้านบุคลากร ทรัพยากร องค์ความรู้ และมีใจอยากช่วยเหลือเต็มเปี่ยม อาจสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้อย่างคาดไม่ถึง
แพทย์หญิงขจีรัตน์เริ่มเล่าให้ฟังว่า ช่วงการระบาดโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อปีก่อน หน่วยงานทางด้านการแพทย์ต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของการรักษาหรือการแก้ปัญหาเฉพาะ แต่ยังขาดการรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ทาง สสส. จึงประสานภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือด้านใดเพิ่มเติมได้บ้าง ประกอบกับขณะนั้น ทางโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 หลังตรวจไม่พบเชื้อและต้องเข้าสู่ระยะฟื้นฟูที่บ้านอีก 14 วัน เพราะสิ่งต่อไปที่พวกเขาต้องเผชิญอาจเป็นปัญหาทางสังคมหรือปัญหาทางด้านสุขภาพจิต โครงการพัฒนาสมรรถนะและรูปแบบการดูแลทางสังคมและเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแล และจัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ
โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์, สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคลินิกเทเลเมดิซีน
“จากการระดมความคิดกันว่า มีผลกระทบอะไรบ้างที่คนไข้ต้องเจอหลังออกโรงพยาบาล ได้ข้อสรุปว่ามี 3 ประเด็นใหญ่ๆ ด้วยกัน 1. เกิดการตีตราหรือรังเกียจคนเคยติดเชื้อโควิด-19 2. ตกงาน บางคนตกงานชั่วคราวและกลายเป็นถาวรไปเลย เราจึงต้องมีกระบวนการในการดูแลเขาอย่างต่อเนื่อง 3. หายป่วยแล้วแต่กลับไม่ได้ เพราะไม่ได้อาศัยอยู่ที่พักส่วนตัว และตอนนั้นเรายังไม่มีองค์ความรู้เพียงพอว่าไม่พบเชื้อแล้ว กลับไปจะมีโอกาสแพร่เชื้ออยู่ได้หรือเปล่า จึงต้องกักตัวต่อ 14 วัน ซึ่งบางครอบครัวก็ไม่สามารถทำได้เพราะอยู่ร่วมกัน”
“เราจึงขอฐานข้อมูลจากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองที่เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 มาให้นักสังคมสงเคราะห์เข้าไปประเมินเบื้องต้น โดยสนทนาผ่านทางโทรศัพท์และแอพพลิเคชัน ‘Clicknic’ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องคุยเห็นหน้า ซึ่งคนไข้บางรายไม่มีปัญหาอะไร สามารถปรับตัวได้ แต่บางรายก็มีปัญหา นักสังคมสงเคราะห์จึงให้การช่วยเหลือประสานส่งต่อข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
เดิมทีโรงพยาบาลต่างๆ จะมีนักสังคมสงเคราะห์ประจำอยู่แล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือกรณีไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้หรือดูแลคนไข้ที่ทางแพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือในด้านสังคมต่อ แต่การทำงานติดตามอดีตผู้ป่วยโควิด-19 ลักษณะการทำงานต่างจากการทำงานแบบเก่าโดยสิ้นเชิง ศาสตราจารย์ ระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมองว่าควรเปิดเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ขึ้นมาใหม่ โดยรับสมัครคนทั่วไปที่สนใจอยากเป็นอาสาสมัครเข้ามาร่วมทำงานในโครงการนี้ ซึ่งมีผู้สมัครเข้ามามากกว่า 300 คน ทั้งนักสังคมสงเคราะห์ที่อยู่ในโรงพยาบาลและเครือข่ายต่างๆ รวมถึงคนที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในงานด้านสังคมสงเคราะห์เลยก็มี
ด้วยความที่ทุกคนมาจากพื้นเพต่างกันและโควิด-19 ยังเป็นเรื่องใหม่ ทางสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. จึงต้องมีการอัพเดตองค์ความรู้หรือผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นสำหรับกลุ่มอาสาสมัครขึ้นมา เพราะเรื่องที่สำคัญมากๆ ก็คือทักษะการให้ปรึกษาแบบออนไลน์ นักสังคมสงเคราะห์ต้องรู้วิธีในการฟังน้ำเสียงคู่สนทนา หรือการต้องวางตัวอย่างไรในระบบวิดีโอคอล
“เราใช้วิธีการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ค่อนข้างเยอะ เรียกว่าที่ผ่านมาเกือบ 100% ไม่ได้ให้คำปรึกษาแบบเจอกันตัวต่อตัวเลย เพราะเรามีการทำงานร่วมกันกับแอพพลิเคชัน ‘Clicknic’ แต่ก็มีบางเคสที่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายและทางนักสังคมสงเคราะห์ขอลงพื้นที่ไปดูที่บ้านต่อ แต่มีน้อยมาก เนื่องจากผลกระทบของอดีตผู้ป่วยโควิด-19 เกิดขึ้นเฉียบพลันและเฉพาะหน้า จะไม่เหมือนเคสดูแลทางสังคมสงเคราะห์อื่นๆ ที่มักจะเป็นปัญหาเรื้อรัง เราจึงสามารถแก้ไขได้รวดเร็วพอสมควร ไม่จำเป็นต้องให้คำปรึกษาหรือดูแลในเชิงลึกมาก ส่วนใหญ่เราจึงเป็นการช่วยปรับตัวระยะสั้นแบบนี้มากกว่า”
นอกจากการให้กับปรึกษากับผู้ที่หายจากโควิด-19 แล้ว ทางนักสังคมสงเคราะห์ยังเล็งเห็นว่า ‘เด็ก’ คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน มิติการให้ความช่วยเหลือจึงขยายออกไปดูแลเด็กเพิ่มเติม พร้อมๆ กับการพยายามสร้างความเข้มแข็งในชุมชนด้วยการปรับทัศนคติ เพื่อขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ให้ชุมชนสามารถยอมรับผู้ที่หายจากโควิด-19 กลับคืนสู่ชุมชน
“วิกฤตทำให้ความแกร่งของวัฒนธรรมไทยชัดเจนขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าเรายังมีรากฐานที่ดีอยู่มาก อย่างในโซเชียลมีเดียเองก็เห็นการช่วยตรวจตราคนที่อาจจะทำให้สถานการณ์โควิด-19 หนักขึ้น หรือในบางครั้งอาจมีกลุ่มคนที่เรายังไม่เคยเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วม อย่างเช่นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่พอเราเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ ก็สามารถที่จะดึงศักยภาพของเขาเข้ามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น การที่ อสม. เข้ามาร่วมประสานพลัง ทำให้การยับยั้งสถานการณ์โควิด-19 มีประสิทธิภาพอย่างก้าวกระโดด เรียกได้ว่าเป็นการสานพลังกันอย่างแท้จริง อันนี้เป็นจุดที่ประเทศไทยเราแข็งแกร่ง ระบบบริการสาธารณสุขมูลฐานบ้านเรายกให้ อสม. เป็นแกนหลัก ซึ่งทาง สสส. เองก็มีโปรเจกต์ร่วมกับ อสม. อยู่แล้วในเรื่องตำบลจัดการสุขภาพของตนเอง แต่เมื่อมีโควิด-19 เข้ามา อสม .ถามว่าขอพักโครงการฯ เราไว้ก่อน เพื่อจะไปจัดการโควิด-19 ได้ไหม เราบอกเต็มที่เลย อสม. เขาก็ไปทำเรื่องแจกหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แจกใบปลิวให้ความรู้ ตามนโยบาย ‘อสม. เคาะประตูบ้าน’ ก็ปรับเปลี่ยนภารกิจกันไปตามสถานการณ์ฉุกเฉิน”
“อสม. มีภารกิจคือการช่วยระบบบริการปฐมภูมิ ในเรื่องการสื่อสารข้อมูลหรือช่วยติดตามคนไข้ ช่วงโควิด-19 ถือว่ามีบทบาทมากมายในการไปรณรงค์ ไปค้นหากลุ่มเสี่ยง ไปดูแลคนกักตัวที่บ้าน บางครั้งส่งยาให้คนไข้ด้วย เพราะเราไม่อยากให้คนไข้ไปอยู่โรงพยาบาลเยอะ โดยเฉพาะคนไข้บางรายที่ไม่มีความจำเป็นต้องให้คุณหมอดูแลอย่างใกล้ชิด อสม. จึงมีบทบาทมาก จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกชื่นชม”
ปีที่ผ่านมา ดอกเตอร์ แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยออกมาชื่นชม อสม. ว่าเป็นพลังฮีโร่เงียบที่ทำงานเพื่อสนับสนุนการป้องกัน การตรวจพบ และการรายงานผู้ป่วยโควิด-19 จนสถานการณ์ดีขึ้น และกว่า 4 ทวรรษแล้วที่พวกเขามีบทบาทในการส่งเสริมระบบสาธารณสุขในประเทศไทยมาโดยตลอด
พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามวิถีใหม่
ระบบบริการสุขภาพบ้านเราอาจยังขาดความคล่องตัวด้านการให้บริการประชาชน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจำนวนบุคคลกรทางการแพทย์และผู้มารับบริการที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่อีกส่วนหนึ่งก็มีความเกี่ยวข้องกับการจัดระบบให้บริการ ดังนั้น เวลาจะไปโรงพยาบาลครั้งหนึ่งคนไข้จึงต้องหมดเวลาไปกับการรอคิวหลายชั่วโมง แต่การระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบจองคิวออนไลน์ การไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ ตลอดจนการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์
“หลายคนอาจจะรู้สึกว่าโควิด-19 เป็นวิกฤต แต่อยากจะให้มองถึงการพลิกวิกฤตมาเป็นโอกาสของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นการทำให้แต่ละคนมีความตระหนักถึงวิธีการดูแลตัวเองไม่ให้ป่วย รวมทั้งการขับเคลื่อนระบบต่างๆ อีกหลายระบบของประเทศ อะไรที่เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงเชื่องช้า โควิด-19 ได้เข้ามาทำให้ระบบตรงนี้เปลี่ยนไปตามกระแสโลก เราต้องอาศัยจุดนี้มาเคลื่อนระบบเทคโนโลยีหรือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม
“แต่เดิม อะไรๆ คนก็ไปโรงพยาบาล แต่บริการหลายอย่างตอนนี้ถูกเคลื่อนมาไว้ที่ชุมชน เนื่องจากเราอยากจำกัดการเดินทาง เราอยากลดความแออัด ซึ่งเรื่องนี้เป็นอะไรที่พูดถึงกันมานาน จนกระทั่งโควิดทำให้เกิดการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ เดิมเราต้องไปรอคิวตั้งแต่ตี 4 ตอนนี้ปรับตัวไปเป็นคิวออนไลน์หมด เมื่อใกล้ถึงคิวจะแจ้งเตือนไปที่มือถือเลย แม้จะไม่ได้ครอบคลุมโรงพยาบาลทุกแห่ง แต่มันเป็นเทรนด์ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้”
ความยากของการปรับระบบบริการสุขภาพมาสู่การใช้ช่องทางออนไลน์ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ระบบบริการที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าคนไข้จะมี Self-management หรือสามารถดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดีหากไม่ได้มาพบแพทย์ นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ สสส. กำลังพยายามผลักดัน
“ตอนนี้คำว่าบริการวิถีใหม่ที่จะเห็นต่อไปเป็นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการพัฒนาศักยภาพของคน แต่ละสำนักแต่ละหน่วยงานก็ต้องตีความคำว่า ‘New normal’ ของตัวเองว่าอยากเห็นการดูแลระบบบริการวิถีใหม่เป็นอย่างไร และสนับสนุนให้เกิดเป็นโครงสร้างงานหลัก ซึ่งเราเห็นโอกาสเลยว่าต่อไปนี้ คุณจะต้องทำให้ผู้ป่วยรู้ว่าเขาจะสามารถดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีได้อย่างไร ไม่ใช่แค่รับยา แต่รู้ปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เขาสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้โดยไม่กลับมาเป็นโรคอีก เพราะขณะนี้ทั่วโลกตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ในส่วนของชุมชนเองก็เหมือนกัน จากเมื่อก่อน อสม. ทำงานอยู่คนเดียว ตอนนี้ อสม. เป็นบุคคลที่ทุกคนควรรับฟัง โควิด-19 จึงเป็นโอกาสในการสื่อสารเรื่องสุขภาพมากขึ้น ต่อไปจะสื่อสารเรื่องเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ก็สามารถทำได้ เราจึงรีบดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเห็นแล้วว่าการเคลื่อนไหวของเรามีพลัง”
แม้โควิด-19 จะเป็นโอกาสที่ดีในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพให้ดีกว่าเดิม แต่ภาพรวมของสังคมตอนนี้คนจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การจะมองวิกฤตให้เป็นโอกาสจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่มันอาจเป็นความท้าทายที่ทุกคนต้องหาโอกาสเพียงน้อยนิดเหล่านั้นให้เจอ
ก้าวต่อไปของสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. คือความก้าวหน้าของสาธารณสุขไทย
แพทย์หญิงขจีรัตน์เผยว่า แต่เดิมโครงการที่ทางสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. เดินหน้าอยู่มีประมาณ 2-3 โครงการด้วยกัน แต่ข้อจำกัดในการควบคุมโรคทำให้บางกิจกรรมต้องหยุดชะงักไป ดังนั้น ในการระบาดครั้งแรกจึงร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สานต่อโครงการสร้างความเข็มแข็งในหมู่บ้านจัดสรร ที่มีความตั้งใจอยากดำเนินงานมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19
“เวลาเราพูดถึงงานในส่วนชุมชนหรือหมู่บ้าน จะไม่ค่อยนึกถึงหมู่บ้านจัดสรรเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะนึกถึงหมู่บ้านในชนบทต่างๆ ซึ่งมี อสม. ดูแลอยู่แล้ว แต่หมู่บ้านจัดสรรยังขาดการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข การจะไปให้ความรู้ต้องทำเรื่องกับนิติบุคคล กระบวนการต่างๆ ค่อนข้างซับซ้อน เมื่อโควิดมาเราจึงใช้ตรงนี้เป็นกลไกเพื่อเข้าไปคุยกับหมู่บ้านพร้อมนำรถเคลื่อนที่เข้าไปตรวจสุขภาพ ตรงนั้นจึงเหมือนเป็นบทเรียนแรกๆ ของเราในการทำงานเชิงรุก
“อีกโครงการหนึ่งเราทำร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นการหาวิธีจัดการสุขภาพของประชาชนในแต่ละอำเภอ แต่เมื่อโควิด-19 มา เราก็คุยกันเลยว่าให้ทุก พชอ. ขับเคลื่อนเรื่องโควิด-19 แทน
นอกจากนี้ก็มีโครงการระยะยาวในชื่อ ‘สร้างองค์กรความรอบรู้ด้านสุขภาพ’ (Health Literate Organization) ซึ่งเราทำร่วมกับสมาคมส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพไทย และพยายามทำเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน และสถานประกอบการต่างๆ ว่าทำยังไงจะให้เกิดเป็น Health Literate Organization ได้
“การระบาดของโควิด-19 ทำให้เราคิดว่าจะเอาโครงการนี้เป็นตัวทดสอบการทำงานระยะยาว เพราะเมื่อมีสิ่งมากวนระบบ ระบบก็ถึงคราวต้องปรับตัว ซึ่งเราได้ชวนมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) มาถอดบทเรียนว่าตกลงแล้วโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปรับตัวในรูปแบบไหน เพื่อนำข้อมูลตรงนั้นมาประกอบแผนการขับเคลื่อนระยะยาวหรือในระยะต่อไป”
สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงรอบใหม่นี้ ถือเป็นบททดสอบสำคัญที่ช่วยถอดบทเรียนให้สังคมไทย ภาพที่ไม่นึกว่าจะเห็นอย่างการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งจากเดิมอาจใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเกิดขึ้น เราก็เห็นแล้วสามารถทำได้ หรือการ Work from Home ที่หลายบริษัทคิดว่าไม่น่าจะรอด กลับเปิดทางเลือกใหม่ในการทำงาน โควิด-19 จึงเหมือนเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งใหม่ๆ และแน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม
Fact Box
- สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ เป็นหนึ่งในหน่วยงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีภารกิจหลักในการสนับสนุนผลักดันให้ระบบบริการสุขภาพของไทย ดำเนินงานด้านการป้องกันโรค เพื่อลดภาระค่ารักษาพยาบาลในระดับประเทศ โดยอาศัยการประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานทุกระดับ
- โครงการที่สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพกำลังเดินหน้าอยู่ปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาสมรรถนะและรูปแบบการดูแลทางสังคมและเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวังดูแล และจัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19, โครงการเสริมศักยภาพพยาบาลเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน, โครงการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับสุขภาวะประชาชนด้วยกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ ฯลฯ