ชื่อ ‘B-Floor’ อาจไม่คุ้นหูคนส่วนใหญ่ แต่ในแวดวงคนที่สนใจศิลปะการแสดง B-Floor คือกลุ่มทำละครที่สื่อสารประเด็นการเมืองและสังคมอย่างจริงจังมาตลอด 20 ปี ยิ่งช่วงที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร จนบีบให้คนไทยจำยอมอยู่กับความเงียบ ละครของพวกเขาเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่ชวนให้คนตั้งคำถามต่อสภาวะสังคมที่เราเผชิญอยู่
‘คาเงะ’ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง B-Floor ทั้งยังเป็นผู้กำกับและนักแสดงที่มีผลงานด้าน physical theatre มาหลายเรื่อง ที่ผ่านมาละครของ B-Floor มักได้รับคำชื่นชมว่าเต็มไปด้วยความแหลมคมทั้งในเชิงเนื้อหา และวิธีนำเสนอที่ผสมผสานระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกาย แสง สี เสียง และสิ่งของที่มีนัยเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างสดใหม่
แต่วันนี้เมื่อเพดานถูกทลายลง ทุกคนกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา B-Floor ซึ่งทำหน้าที่ในการสื่อสารเรื่องนี้มาตลอดโดยใช้ศิลปะการแสดงสื่อสารประเด็นทางสังคม พวกเขาต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อการสื่อสารของสังคมถูกดันทะลุเพดาน เมื่อคนต้องการความจริงอย่างตรงไปตรงมา จนเกิดคำถามว่า หรือนี่จะเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของคนทำงานศิลปะ…
หลายคนอาจจะเพิ่งรู้จัก B-floor ได้ไม่นาน แต่ทราบมาว่าก่อตั้งมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว
คาเงะ : วงการละครเวทีมันไม่เหมือนกับวงการอื่นๆ มันแคบ แล้วก็มีผู้ชมที่ค่อนข้างจำกัด เฉพาะในกรุงเทพฯ เองก็มีไม่ถึง 50 กลุ่ม และมีแค่ 20 กลุ่มที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภาพที่ออกไปจึงไม่เหมือนกับทีวีหรือคนทำหนัง มันเป็น small audience ที่เฉพาะมากๆ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีทิศทางที่ดี เริ่มมีการขยายมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำไมศาสตร์ของละครเวทีในบ้านเราถึงเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มมากๆ ขณะที่ในต่างประเทศมีวัฒนธรรมการดูละครเวทีเป็นเรื่องปกติ
คาเงะ : ผมว่ามี 2 ส่วน คือวัฒนธรรมของละครเวทีเริ่มต้นมาจากนักศึกษามหาวิทยาลัย เพราะละครมันเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานี้เอง เขาเรียกว่า ‘ละครสมัยใหม่’ ส่วนละครขนบก็มีมาตั้งนานแล้วแต่ว่ายังไม่มีความแพร่หลาย เรามีความรู้สึกว่าละครเวทีอยู่ยากหรืออยู่ไม่ได้ เพราะการทำธุรกิจเกี่ยวกับละครไม่เหมือนการทำธุรกิจเกี่ยวกับโชว์ เราต้องแยกกันนะครับ อย่างที่สยามนิรมิตหรืออัลคาซาร์ทำแบบนัันเป็นรูปแบบการขายนักท่องเที่ยว สมัยก่อนมี Dass Entertainment มีภัทราวดีเธียเตอร์ที่เป็นโรงใหญ่ๆ แต่ในช่วงเศรษฐกิจที่แย่ลงทำให้เกิดเป็นโรงละครโรงเล็กเกิดขึ้น โรงละครโรงเล็กจึงไม่ได้มีเงินที่จะโปรโมตให้แพร่หลาย จะมีโปรโมตแค่ในกลุ่มโซเชียลมีเดีย หรืออยู่ในทวิตเตอร์เฉยๆ
พอเป็นละครโรงเล็ก มันหมายความว่าเราเล่นกันในห้องแถว เล่นในแกลเลอรีบ้าง เล่นในพื้นที่ทางเลือกที่ไม่ได้เป็นโรงละครชัดเจน และก็มีพื้นที่อย่าง BACC ที่ให้การสนับสนุน ด้วยความที่อยู่ใจกลางเมืองคนเลยเริ่มรู้จักมากขึ้น แต่ถ้าเป็นเมืองนอก ละครเวทีเขาเป็นเหมือนสาขาอาชีพหนึ่งเหมือนกับหนัง คนทำโรงละครเองก็พัฒนาในการสร้างงานด้วยตัวเองและก็มีกลุ่มต่างๆ มากมาย อย่างในญี่ปุ่น แค่โตเกียวก็มีโรงละครเล็กๆ อยู่ประมาณพันโรง ดังนั้น เรารู้สึกว่าฐานของผู้ชมและฐานของการผลิตเขามองศิลปะการละครเป็นอีกขาหนึ่งเหมือนกับวรรณกรรมหรือหนังที่มีที่ยืน ตัวของคนทำละครเองก็สามารถมีรายได้และพัฒนาตัวเองเป็นดาราหนัง เป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างอเมริกานั้นนักแสดงหลายคนมาจากโรงเรียนการแสดง ผ่านการเล่นละครบรอดเวย์ สุดท้ายคุณก็ได้กลายเป็นดาราฮอลลีวูด สเต็ปเมืองนอกมันเป็นแบบนั้น แต่เมืองไทยเอาใครก็ไม่รู้ที่ดูดีไว้ก่อน แล้วค่อยไปเวิร์กช็อปตาม เพราะอยู่ในหนังแล้วมันโอเค แต่ของเมืองนอกไม่ว่าจะเป็นใคร คุณมีพื้นฐานทางด้านการละครทั้งหมด การให้ความสำคัญกับละครในเมืองนอกกับบ้านเราจึงแตกต่างกัน
ไม่ใช่แค่เรื่องของละครเวที แต่งานวรรณกรรม ตลอดจนงานศิลปะแขนงอื่น บ้านเราก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก เรื่องนี้สะท้อนอะไร
คาเงะ : เรารู้สึกว่าถ้าเป็นละครเวที ข้อเสียเปรียบก็คือ ถ้าเป็นงาน visual art นักสะสมสามารถซื้องานได้ และเขาจะมีกลุ่มที่สามารถสร้างมูลค่าได้ เหมือนตลาดพระเครื่อง (หัวเราะ) แต่ว่างานศิลปะการละคร เป็นงานที่เกิดขึ้น เป็นอยู่ และดับไป ต้องลงทุนลงแรง ทั้งแรงเงินและแรงเวลา เพราะละครต้องซ้อม เต็มที่คุณก็เล่นได้แค่ 2 อาทิตย์ แล้วมันก็หายไป ฉะนั้น ละครเวทีไม่ใช่ของที่นักสะสมจะสนใจ แต่เป็นแค่อีเวนต์หนึ่ง ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วผู้สนับสนุนเองก็จำกัด ถ้าคนที่สนใจเขาก็เห็นคุณค่าตรงนี้ แต่ว่าหน่วยงานของรัฐหรือว่าภาครัฐเองไม่ค่อยให้ความสนใจขนาดนั้น
ในแง่ของคนทำงานอยู่ได้อย่างไร เมื่อเรื่องเงินก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างสรรค์ผลงาน
คาเงะ : ผมว่าคนทำงานศิลปะแนวๆ นี้ไม่ว่าจะแขนงไหน โดยเฉพาะสายละคร คุณสมบัติหนึ่งคือต้องดื้อด้าน หัวชนผนังก็ยังทำต่อ ทั้งๆ ที่ก็เห็นอยู่แล้วว่าไม่ได้เป็นรายได้หลัก แต่คำว่าใจรักนี่ลืมไปได้เลย เพราะ 5 ปี ถ้าใจไม่รักมันก็หายไปแล้ว แต่คนที่ยังอยู่ต่อเขามองเห็นคุณค่าของมัน มองเห็นว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะสื่อสารกับคนส่วนใหญ่ได้ แต่อาจจะเป็นความถนัดและความรักความชอบของคนในด้านนี้ก็ได้ เช่น คนชอบเขียนรูปก็เขียนรูป ใครอยากทำหนังรู้เรื่องกล้องก็ไปถ่ายรูป เรารู้สึกว่าคือเครื่องไม้เครื่องมือแบบนี้มันคือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขายืนหยัดและไปต่อได้
อย่าลืมว่าเมื่อสมัยก่อนคนทำงานละครอายุสั้นนะ ทำแค่ 3-5 ปี ก็เลิกแล้ว เพราะมันไม่ยั่งยืน เขาเลยต้องไปหางานที่เป็นงานจริงๆ ทำ จากนั้นก็หายไปเลย แต่ของพวกเรานี่พอเลยจาก 5 ปีไปแล้ว ยังมีความรู้สึกว่ามันไปต่อได้อีก แล้วเอาเข้าจริงๆ งานที่ไม่ใช่แค่งานละครเราก็ทำ มีบางคนไปเขียนบทหนัง ไปเขียนบทซีรีส์ ไปเขียนบททีวี อย่างเราไปเป็นแอ็กติ้งโค้ชและไปเป็นนักแสดงหนัง หรือแม้กระทั่งไปกำกับงานแสงสีเสียง เราได้ใช้ทักษะของละครเวทีนี่แหละไปทำงานที่มันเป็นเชิงพานิชย์หรือสเกลที่มันใหญ่มากๆ ตรงนั้นเป็นรายได้ที่ทำให้เราดำเนินชีวิตได้
ด้วยทรัพยากรที่จำกัดและกลุ่มคนดูที่ไม่ได้กว้างมาก ตรงนี้ถือเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่คนทำงานจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำให้ละครเวทียังสามารถอยู่ต่อได้ไหม
คาเงะ : ข้อได้เปรียบของละครเวทีที่ต่างจากศิลปะแขนงอื่นก็คือ ละครเวทีเป็นสื่อแสดงสด เป็นประสบการณ์ที่ผู้ชมสามารถเข้ามารับรู้ด้วยตา ได้ยินด้วยหู ได้ใช้โสตประสาททั้ง 5 ผัสสะ มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ศิลปะอย่างอื่นทำไม่ได้ ถือเป็นงานละครที่เล่นครั้งแรกและครั้งเดียวของผู้ชม ดังนั้น intimacy หรือความมีส่วนร่วมต่างๆ ในบรรยากาศหรือในมวลจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของละครเวที นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวผู้ชมโหยหาบรรยากาศนี้ จริงๆ อยู่บ้านเราดูหนังได้ ฟังเพลงได้ แต่การมีประสบการณ์สดๆ สามารถเติมเต็มคุณค่าของความเป็นมนุษย์ได้เหมือนกัน มันเป็นการรับฟัง เป็นการแบ่งปันกันและทำให้เกิดบทสนทนาในหัวของเขาด้วย
“เราไม่ได้บอกว่าเราทำละครเพื่อให้ความรู้เขา หรือเทศนาเขา หรือบอกว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แต่ถ้าสไตล์ของผมหรือของ B-Floor เป็นลักษณะการแชร์ในเรื่องของประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์เรื่องปัญหา ผลกระทบ หรือสิ่งที่ต้องดิ้นรนในสังคมไทย เราจะโยนสิ่งเหล่านี้ลงไป เผื่อว่าผู้ชมเองจะช่วยกันขบคิดหรือช่วยกันหาทางออก”
ดังนั้น มันค่อนข้างจะเป็นงานที่ประเด็นค่อนข้างหนักหนาหน่อย โดยเฉพาะงานผม (หัวเราะ) ผมจะสนใจวนเวียนอยู่กับเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงโครงสร้างหลายๆ อย่าง ผมจะหยิบจับงานตรงนี้เข้ามาทำเป็นส่วนใหญ่
ยากไหมในแง่ที่ต้องทำให้คนดูขบคิดด้วย แต่ก็ต้องพยายามไม่ให้เป็นการเหมือนไปสั่งสอนเขา
คาเงะ : ผมว่าหลายๆ ปัญหายังเกิดขึ้นอยู่นะ ยังไม่ใช่ปัญหาสำเร็จรูปไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่กำลังแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของสังคม และเป็นปัญหาที่เราในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราจะมีส่วนร่วมได้ยังไง ผมเลยเอนจอยมากเมื่อละครแต่ละเรื่องที่ผมทำ ผู้ชมดูเสร็จเขาเข้ามาคอมเมนต์และตีความเยอะแยะหลากหลาย เรารู้สึกว่านั่นคือการเติบโต เราอยากจะทำงานที่เป็น artistic ที่ทำให้คนได้เติบโตทางสุนทรียะอย่างหนึ่งในแง่ของการแชร์ว่าเขามีประสบการณ์ร่วมแบบนี้ โดยเฉพาะประเด็นเชิงสังคม
สังเกตว่างานที่พูดถึงประเด็นทางสังคม จะมีความเปิดกว้างให้คนดูขบคิดเอง แต่สังคมตอนนี้เราต้องการอะไรที่ตรงไปตรงมา จนบางครั้งอะไรที่ล้อมก็ถูกตำหนิ แต่สำหรับละครเวทีนั้น การเล่าเรื่องตรงๆ ทำให้ความเป็นศิลปะขาดหายไปไหม
คาเงะ : สังคมทุกวันนี้ต้องพูดกันตรงๆ มากขึ้น เพราะการพูดอ้อมค้อมเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมเป็นอย่างนี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องดูเจตนาด้วย ในงานของผมจริงๆ แล้วตรง แต่เล่นอ้อม มันมีสัญลักษณ์ มีสื่อหรืออะไรบางอย่างที่เอาเข้าจริงๆ ก็ตีความไม่ยากในแง่ของเจตนา ซึ่งผมรู้สึกว่านั่นเป็นแนวทางของศิลปะที่พยายามสอดแทรก แต่บางช็อตโผงไปตรงๆ เลยก็มี ไม่อ้อมค้อมก็มี แต่มันเป็นท่วงทำนอง หรือ rhythm ของจังหวะในการที่จะเล่นมากกว่า อย่าลืมนะว่าเคยมีละครที่พูดตรงๆ โผงๆ และโดนคดีมาตรา 112 มาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมก็เสียใจ มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเขามาเล่นในตอนนี้ ผมว่าเล่นได้เลย จึงเป็นความพร้อมของสังคมด้วยเหมือนกัน ตอนนี้เพดานมันไม่มีแล้ว คนบนฝ้าก็ไม่มี ทุกอย่างเลยเริ่มมาพูดกันบนดินมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้เขาก็พูดกันนะ แต่พูดใต้ดินแบบลับๆ ล่อๆ ผมคิดว่าเราควรจะต้องมีบรรยากาศแบบนี้แหละ เราต้องไม่มีบรรยากาศในการสร้างหรือทำให้เกิดความกลัว เพราะว่าความกลัว หรือ self-censorship นี่แหละที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่
แต่ในแง่แนวทางของศิลปะก็มีศิลปะแบบพูดตรงๆ และศิลปะแบบพูดอ้อมๆ ไม่ได้บอกว่าอย่างไหนดีกว่ากัน แต่เราจะหาสัดส่วนยังไง เพราะบางทีผมยังคิดเลยว่าละครผมอาจจะกำลังพูดกับคนตรงข้ามที่คิดไม่เหมือนกันด้วย เพราะถ้าคุณเล่าเรื่องแบบชกเขาที่หน้าเลย เขาอาจจะไม่ฟังคุณ แต่หากเราเล่าแบบอ้อมค้อมอาจจะสร้างภาวะความเจ็บปวดหรือสร้างภาพเสมือน ด้วยการใช้ศิลปะจำลองสิ่งที่เกิดขึ้น อาจช่วยให้เขาเปิดใจหรือมองเห็นจนเกิดบทสนทนาได้
ผมไม่ได้คิดว่าอย่างไหนดีหรือไม่ดีนะ แต่มันเป็นกุศโลบาย เป็นเรื่องเทคนิควิธีการของคนทำงานศิลปะที่จะเลือกใช้มากกว่า เช่น เวลาผมทำละครไปแสดงในม็อบ ผมก็ต้องพูดตรงๆ เล่นให้ตรงประเด็นเลย เพราะเวลาสั้นและคุณไม่สามารถจะควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ก่อนเล่นผมหาข้อมูลก่อนว่าข้อเรียกร้องมีอะไรบ้าง มีเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมก็ทำละครเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีตัวละครที่เห็นชัดๆ เลยว่าเป็นทหาร เป็นชนชั้นนำใดๆ เข้ามาเอี่ยวและทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง นี่พูดตรงๆ เลย แต่เราทำในที่ชุมนุม ซึ่งเราต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย
รู้สึกอย่างไรที่คนมักบอกว่าละคร B-Floor เข้าใจยาก
คาเงะ : เวลาผมเรียนศิลปะ มีวิชาสุนทรียศาสตร์ 101 หรือ Art Appreciation เพื่อทำให้เข้าใจว่าเราจะซาบซึ้งยังไงในศิลปะยุคโมเดิร์นหรือว่ายุคคลาสสิก แต่ประเทศไทยไม่มีอะไรแบบนี้ไง ผมโชคดีที่ได้เรียนศิลปะเลยเข้าใจสกุลช่างต่างๆ ว่าทำไมเขาทำแบบนี้ ทำไมมันถึงมีการประกอบร่างขึ้นมาแบบนี้ ทำไมถึงมีการฆ่าสกุลช่างนี้ตั้งสกุลช่างขึ้นมาใหม่ มันมีการรื้อสร้างเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ จนทำให้เราเข้าใจว่าศิลปะเป็นโครงสร้างความนิยมหรือรสนิยมของยุคสมัยหนึ่ง เราเห็นว่าสมัยก่อนเราอาจจะชอบละครร้อง ละครรำ สมัยหนึ่งก็หันมาชอบ melodrama สมัยหนึ่งก็เริ่มมาชอบแบบ absurd แบบ expressionism หรือ symbolic ต่างๆ นานา
นี่คือคนที่เรียนมา แต่รัฐบาลเราไม่เคยสนใจที่จะมองเรื่องให้การศึกษาแบบนี้ เลยตกมาเป็นหน้าที่ของคนทำงานหรือคนเป็นศิลปินเอง แต่เราก็ไม่อยากจะให้ความรู้แบบนั้น อยากจะชวนให้มาดูเลยดีกว่า ถ้าเกิดว่าคนดูงาน B-Floor มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว จะไม่สงสัยเลยว่าดูยากดูง่าย เขาจะเห็นอย่างอื่นมากกว่า แต่ว่าคนที่ไม่เคยรู้จัก B-Floor เลยอาจจะงงๆ เหมือนโดนไม้หน้าสาม ท้ายที่สุดแม้เขาอาจจะบอกว่าไม่เข้าใจ แต่เขารู้สึกอะไรบางอย่าง เขารู้สึกประทับใจ รู้สึกว่ามันสะเทือนมาก มันท้าทายมาก
ดูงานบางทีดูแค่นี้ก็ได้ คือไม่ต้องไปขบคิดให้มันแตกทุกอย่างก็ได้ เหมือนเวลาเราดูงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องไปรู้ทุกอย่าง เอาง่ายๆ แค่ชอบไม่ชอบ แต่ผมก็ไม่ได้ปิดกั้น จริงๆ จะไม่ชอบก็ได้นะ แต่ว่าผมถือว่าพอทำงานออกไป มันเป็นสมบัติของประชาชนที่จะมีอิสระในการตีความ อย่างน้อยเขาอาจเพียงได้เห็นแสงสีเสียงที่อลังการก็ได้
B-Floor ทำงานเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมืองผ่านศิลปะการแสดงมาตลอด โดยเฉพาะในยุครัฐประหารที่ทุกคนถูกปิดปากให้เงียบ แต่วันนี้ที่เพดานในการเงียบมันถูกทำลายไปแล้ว มองว่าหน้าที่ของ B-Floor ต่อจากนี้คืออะไร
คาเงะ : สิ่งที่ดำเนินมาก็จะยังคงดำเนินไป เราเองจะทำหน้าที่เหมือนเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ทำงานและตั้งคำถาม กระตุกให้เกิดการตระหนักรู้ในสังคมเท่าจำนวนผู้ชมที่มาดูแต่ละรอบ (หัวเราะ) อย่างการแสดง Flu-Fool ครั้งนี้เราสื่อสารได้แค่ประมาณ 500-600 คน ซึ่งถ้าเทียบกับสื่ออื่นๆ ก็ถือว่าส่งเสียงได้น้อย แต่ตราบใดที่สังคมยังมีปัญหาอยู่ ตราบใดที่สังคมยังไม่ได้ถูกแก้ไข ยังไม่ปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง ยังไม่แคร์ประชาชน ยังเห็นความอยุติธรรมอยู่ เราคิดว่าเราจะยังไม่หยุดทำงาน
ไม่รู้สิ อาจเพราะมันหล่อเลี้ยงเราด้วยความโกรธ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรากังวลใจหงุดหงิด งุ่นง่าน ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นคนทั่วไปคือโพสต์ในเฟซบุ๊ก เขียนอะไรออกไป วาดอะไรออกไป แต่งเพลงอะไรออกมา นั่นคือสิ่งที่ระบายความอัดอั้น แต่นอกเหนือจากระบายความอัดอั้นยังสามารถสร้างแนวร่วมที่มีแนวทางใกล้เคียงกันได้เผื่อว่าผู้ชมเองจะได้เป็นอีกสื่อหนึ่ง อีกกระบอกเสียงหนึ่ง อีกตัวตนหนึ่งที่จะขยายแนวร่วมออกไปเรื่อยๆ อย่างน้อยเรามีจุดหมายเดียวกัน มีเจตนารมณ์เดียวกันในการมองเห็นประเทศนี้มีทางสว่างมากขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น ผมว่าไม่หยุดหรอกที่ทุกคนทำงานกันอย่างนี้ต่อไป เพราะผมยังไม่เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะยุติลง
หากวันหนึ่งประเทศเราสามารถมีประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง จนปัญหาเชิงโครงสร้างค่อยๆ หมดหายไป ทาง B-Floor จะทำประเด็นอะไรต่อ
คาเงะ : ตอนนี้ B-Floor เป็นกลุ่มของผู้กำกับ ไม่ได้มีแค่ผมคนเดียว ผมเป็นเพียง co-artist director ถ้าทุกคนเห็นแนวทางในการทำงานของผมก็จะเห็นลายเซ็นผมชัดเจน ผมจะดุเดือดหน่อย แต่เรายังมีผู้กำกับอีกหลายคน เช่น ‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ ซึ่งทำงานที่ใช้ art therapy หรือ movement therapy ที่เขาเรียนมา เขาจะแชร์ประเด็นที่ละเอียดอ่อนระหว่างของคนกับคน ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงโครงสร้างด้วยเหมือนกัน และมี ‘จารุนันท์ พันธชาติ’ ที่ทำงานแบบ text-based ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของการใช้บท และเป็นการใช้ร่างกาย นอกจากนี้ยังมีผู้กำกับหน้าใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งทุกคนจะมีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับสังคม แต่หลากหลายประเด็น หลากหลายความสนใจโดยอยู่ภายใต้ร่มของ B-Floor เราไม่ห่วงที่ปีหนึ่งๆ เราอาจจะทำงานได้หนึ่งชิ้น แต่จบปีเรามีงาน 3 ชิ้น และหลากหลาย
ส่วนเรื่องต่อไปที่ผมคิดว่าอยากจะพัฒนามากขึ้นก็คือ การแสดงบนท้องถนน ตอนนี้เราได้เริ่มไปแล้ว อยู่ในรูปของวงที่มีการตีกลอง แต่เราอยากจะพัฒนาให้มีการแสดงในท้องถนนแบบซีเรียสมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าการชุมนุมจะยังคงมีไปยาวนานแน่นอน ขณะเดียวกันเราก็อยากจะพัฒนาในเชิงเทคนิคหรือทักษะของคนที่มาร่วมกับทาง B-Floor ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นอาสาสมัครและเป็นเด็กใหม่ ไม่ได้มีประสบการทางด้านการละคร มีคนที่มีทักษะทางด้านการตีกลองแล้ว แต่เราอยากให้มีคนที่มีทักษะทางด้านการละครบวกเข้ามาด้วย นี่เป็นสิ่งผมมองไปข้างหน้า
จากคำตอบของคุณ ดูเหมือนว่าการแสดงเป็นการสื่อสารอย่างสิ่งหนึ่งที่ทำงานต่อจิตใต้สำนึกหรือความรู้สึกนึกคิดของคนดู
คาเงะ : ผมว่ามันทำงานได้หลายระดับนะ ถ้าเป็นการสื่อสารแบบ information อย่าง what when where why เล่าเหตุการณ์และสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น อันนี้คนดูก็จะเข้าใจในเชิงความคิดหรือเชิงเหตุผล แต่ว่าในเชิงความรู้สึกต้องมีการทำงานบางอย่างให้เกิดขึ้น งานของผมมีการทำงานในเชิงความรู้สึกหรือจิตวิทยาเข้ามาด้วย เป็นไปได้ยังไงที่สุดท้ายผู้ชมเห็นจานที่ปัดเป็นคน เป็นผู้สูญเสีย (ฉากหนึ่งในการแสดงเรื่อง Flu-Fool) โดยที่เราไม่ได้บอกเขาเลย ตอนแรกฟังก์ชันของจานคือที่กินข้าว มันแปรเปลี่ยนมาเป็นที่เล่นไพ่ แปรเปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์ต่างๆ สุดท้ายเปลี่ยนกลายมาเป็นคน มันเป็นการเดินทาง ท้ายที่สุดผู้ชมก็คิดได้เองโดยไม่มีคำพูดอธิบายอะไรบอกไปเลย นี่แหละการทำงานเชิงความคิดหรือเชิงความรู้สึก
ผมว่ามันไม่ได้ทำงานแค่เรื่องของประเทศชาติ แต่ยังทำงานในเชิงอะไรสักอย่างที่อยู่ภายในความคิดของเราหรือจิตใต้สำนึกของเราด้วย คิดว่างานผมกำลังทำงานตรงนั้นอยู่ ไม่ใช่ทำงานแค่เชิง information สิ่งเหล่านี้แหละที่น่าสนุก ถ้าผมเป็นผู้ชมผมก็ว่าน่าสนุกนะในการได้ขบคิดหรือแปลความหมายของมันที่ไหลเรื่อย ไม่ราบเรียบ ไม่ต่อกัน
เพราะงานผมไม่ได้เป็นแบบ linear หรือเส้นตรง แต่ค่อนข้างเป็นงานคอลลาจ (collage) ที่เป็นภาพตัดแปะต่างๆ เหมือนกองความคิดของคนที่จริงๆ แล้วไม่ได้ต่อเนื่องกัน บางอย่างก็แวบเข้ามา ผุดขึ้นมา ผมเลยรู้สึกว่า งานคอลลาจพวกนี้ทำให้ไทม์ไลน์ปั่นป่วน เห็นสังคมที่มีความยาวนาน ลึกมากขึ้น หรือทำให้เห็นปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า
จะเห็นได้ว่าปัญหาทุกอย่างที่ประดังมาล้วนซ้อนทับหมดเลย งานของผมก็ทำงานกับเรื่องความซ้อนทับแบบนี้แหละ เราจะเล่าแบบกระต่ายกับเต่าไม่ได้ เพราะสังคมไทยซับซ้อนกว่านั้น เราแตะอะไรก็ไปโดนอันหนึ่ง เราแตะอีกอันก็ไปโดนอีกอัน มันเป็นสภาวะ butterfly effect ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งเรากำลังทำปรากฏการณ์นั้นบนเวที เรามองเป็นปรากฏการณ์ว่ามีซ้อนทับกัน มีความเหลื่อมกัน มีการพลิกผันและแปลความหมายได้ อย่างในพาร์ตที่ 2 ชัดมากที่แค่ซีนเก้าอี้และไม้ไผ่ สไลด์ไหลลื่นไปแบบประหลาดๆ ผมเลยรู้สึกว่านี่แหละภาวะความอิหลักอิเหลื่อที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา จะเล่าไปแบบ 1 แล้วไป 2 แล้วไป 3 ไม่ได้
คิดว่าทุกวันนี้เป็นยุคที่ศิลปะกำลังเบิกบานไหม เพราะในการชุมนุมประท้วงเองก็ได้มีการแสดงละครล้อเลียน มีการเต้น และมีการใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมือง
คาเงะ : ตอนที่ผมไปหาข้อมูลในอินโดนีเซีย มีนักวิจารณ์ศิลปะคนหนึ่งเขาบอกว่า ยุคที่ศิลปะอินโดนิเซียเฟื่องฟูที่สุดคือยุคซูฮาร์โต หรือ 30 ปีก่อนที่มีเผด็จการครองเมือง เพราะหมายความว่าเขามีการเซ็นเซอร์ ถ้าคุณทำละคร คุณต้องส่งบทไป 6 ที่ เพื่อให้เขาดูว่าคุณจะเล่นได้ไหม และถ้าเล่นได้ เขาจะมาดูก่อนแสดงรอบแรก ถ้าเขาบอกให้เอาอันนี้ออกก็ต้องเอาออก
นักแสดงหรือคนทำงานศิลปะเลยคิดค้นหาวิธีอย่างชาญฉลาดเพื่อที่จะพูดเรื่องการเมืองโดยที่สามารถยังแสดงต่ออยู่ได้เรื่อย ๆ ทำให้มีงานที่เป็น physical theater เกิดขึ้น มีงานที่ไม่พูดมากขึ้น มีแดนซ์ มีหลายๆ อย่างทั้งคมคาย ขบขัน เพื่อเล่นยั่วล้ออำนาจรัฐในอินโดนีเซีย
“แล้วอย่าลืมว่าม็อบนี้ที่เกิดขึ้นเป็นคนรุ่นใหม่ เลยมีมุกต่างๆ มีการเล่นเรื่องคำพูด เรื่องภาพ เอาเกมเข้ามา เอา pop culture เข้ามา ผมรู้สึกว่านี่เป็นวิธีการเล่นกับอำนาจ และเป็นวิธีการที่ฉลาดมากๆ โดยที่เหมือนว่ามุกพวกนี้ไม่มีวันหมด”
ฝ่ายนู้นเล่นมายังไงเล่นกลับได้เฉย แล้วมันทำลายความศักดิ์สิทธิ์ นี่คือศิลปะในการต่อต้าน และผมรู้สึกว่าคุณไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน ที่คนทำอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนศิลปะเพื่อการต่อต้านในตัวมันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์เฟซบุ๊ก การสร้างภาพประกอบใดๆ ขึ้นมา มันคือศิลปะของการต่อต้าน เราเองในฐานะศิลปิน เห็นปรากฏการณ์นี้มาสักพักหนึ่งแล้ว มันมีชีวิตและทำงานอย่างแข็งแรง อย่าลืมว่าสมัยหนึ่งรัฐบาลเคยบอกว่านี่เป็นม็อบมุ้งมิ้ง แล้วเป็นไงล่ะ ทำลายทุกอย่างได้เพียงแค่ไม่กี่เดือนมานี่เอง ข้อเรียกร้องต่างๆ ถูกขยับเพราะความตลกร้าย ความขบขัน ในขณะเดียวกันเขาก็มีความคม เขามีความซีเรียส เขามีข้อเรียกร้องที่แท้จริง และแน่นอน มันดึงกลุ่มต่างๆ ให้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงาน กลุ่ม LGBTQ กลุ่มพระ กลุ่มนักเรียน กลุ่มต่างๆ เริ่มพูดถึงเรื่องปัญหาของตัวเองด้วยเทคนิควิธีการของตัวเองด้วย นี่คือศิลปะที่มันกำลังเบ่งบานนะ อย่าไปพูดถึงศิลปะที่อยู่ในขนบหรือแกลเลอรี
บางทีถ้าคนเหล่านั้นไม่เห็นอะไรในการเมืองหรือความเป็นไปพวกนี้ พวกนั้นจะเอาต์ไปเลยนะ ดังนั้น ผมจึงรู้สึกว่า ศิลปะ การเมือง และสังคม ตอนนี้กำลังประสานอย่างลงตัวกัน มันกำลังขับเคลื่อนไปอยู่ในมูฟเมนต์เดียวกัน สมัยแรกๆ จะมีแค่คนปราศรัยอย่างเดียว แต่ตอนนี้ปราศรัยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว คุณต้องมีทริก คุณต้องมีวิธีขาย ต้องมีจุดยืน คนก็จะสนุกไง ผมเองก็ปรับเปลี่ยนวิธี อย่างเช่น ช่วงแรกผมเอาละครไปเล่น ก็เป็นละครหน้ากาก เล่นเป็นเรื่องๆ ไป พอเป็นม็อบที่แกนนำโดนจับกุมหมดเลย ทุกคนเลยเล่นอิสระ ผมก็ปรับวิธี เปลี่ยนมาเป็นตีกลองเพื่อเอนเตอร์เทนคนในที่ชุมนุมและทำให้เขามีส่วนร่วม บางทีก็เวิร์กช็อปตีกลอง บางทีก็มารำวงด้วยกัน จะได้เป็นที่ระบายให้กับคน
เราเองก็ได้อะไรจากในม็อบมาใช้ทำงานหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ผมมองว่าศิลปินต้องหูไวตาไว ลดอีโก้ตัวเองลงให้เป็นประชาชนคนหนึ่ง ไม่ได้มีอภิสิทธิ์เป็นศิลปินแบบนั้น แต่คุณต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมขับเคลื่อนไป
ศิลปะในเธียเตอร์ที่ผมทำ ก็ทำงานได้คมคายและโชว์ artistic ในภาวะที่เราควบคุมได้ อาจจะปัญญาชนหน่อย คิดเยอะ ต้องปีนบันไดดู (หัวเราะ) แต่ว่านั่นเป็นทักษะที่เราเองต้องพัฒนาด้วยเหมือนกันที่เราอยากให้ผู้ชมเห็นงานแบบ artistic แต่ในอีกมือเรารู้สึกว่าเมื่อเราออกไปนอกถนนแล้ว เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ไม่ต้องไปทำให้ยากจนคนดูรู้สึกว่า อะไรวะ แต่อาจจะทำก็ได้เพื่อท้าทายตัวเอง (หัวเราะ)
คนทำงานศิลปะแบบเก่าจะโดนดิสรัปต์ไหม ถ้าไม่มีการปรับตัว
คาเงะ : ศิลปะแบบเก่าผมว่าเฉยๆ นะ หมายถึงว่าใครอยากทำอะไรก็ทำไป แต่ละคนก็มีจุดยืนของตัวเอง ถ้าคนไม่อยากจะสนใจประชาธิปไตย ก็แล้วแต่คุณ ผมก็ไม่ได้คิดจะไปก้าวล่วงอะไร แต่การเคลื่อนใหญ่ๆ นี้ ถ้าคุณอยากจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงก็จงออกมา เพราะเราต้องการเสียงที่มากขึ้นเรื่อยๆ อย่าลืมว่าเสียงของชนชั้นกลางคือเสียงที่ทำลายคนเสื้อแดงใน พ.ศ. หนึ่งเลยนะ แล้วเป็นเสียงที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ชนจะฟัง
ศิลปินก็อยู่ในกลุ่มอภิสิทธิ์ชนแบบหนึ่ง คือชนชั้นกลางแบบหนึ่ง ถ้าศิลปินมีปากมีเสียงผมว่าน่าจะสร้างสำนึกบางอย่างให้แผ่ออกไปได้เรื่อยๆ แต่ผมไม่ได้คิดว่าศิลปินคือผู้วิเศษวิโสนะ คนกลุ่มน้อยๆ ที่มีปากมีเสียงออกมา เขาก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกับพวกเรา แต่ไม่ว่าจะภาคส่วนไหนควรออกมาพูดออกมา ออกมาส่งเสียง มันต้องเปลี่ยนแปลงแล้วละ ถ้าไม่ใช่จังหวะนี้ก็ไม่รู้ว่าจะจังหวะไหน ตอนนี้เสียงมันมาขนาดนี้แล้ว ท้ายที่สุดเรายังหวังจะการเห็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีการเลือกตั้ง สสร. เท่านั้น (เน้นเสียง) ไม่มี ส.ว. สรรหาต้องเลือกตั้งเท่านั้น อันนี้คือการเปลี่ยนหน้าใหม่ของสังคมไทยอย่างแท้จริง และเราต้องไปให้ถึงตรงนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปินหรือไม่ใช่ ผมคิดว่าเจตนารมณ์ร่วมกันปลายทางต้องเป็นแบบนั้น
เพราะนี่เป็นช่วงเวลาเหมาะสมแล้วที่เอื้อให้ศิลปินที่อยู่ในมุมมืดได้ออกมาแสดงผลงานหรือเปล่า
คาเงะ : อย่าลืมนะว่าบรรยากาศหลังรัฐประหารใหม่ๆ ใครออกมาก็โดน แค่ยืนเฉยๆ ก็โดน ในตอนนั้นมันอาจจะใหม่มาก และมีกระแสมาว่า รอๆ ดูเขาไปก่อน แต่กระทั่งเลือกตั้งไปแล้วตอนนี้ก็ 6 ปี กูว่ากูไม่รอแล้ว ไม่ทนแล้ว ตอนนี้ก็เลยมีแนวร่วมมากขึ้น เหมือนผลไม้ที่สุกด้วยตัวเองและก็หล่นลงมาทั้งแผ่นดินเลย การตอบรับก็ดีขึ้นเพราะเขาว่าเห็นปัญหาไง อย่างแรกเลยคือ เศรษฐกิจ คุณบริหารงานไม่เป็น คุณเอาภาษีไปทำอะไรไม่รู้ ตรวจสอบก็ไม่ได้ บางคนบอก รัฐบาลปราบโกง โกงอะไรล่ะ ขนาดหนี้ 7 ล้านล้านยังเฉยเลย ตรรกะแบบนี้มันอะไร เรารู้สึกว่าคนที่ถูกกดทับ ไม่ว่าประชาชนใดๆ ที่ถูกทำลายเรื่องผลประโยชน์เขาก็ออกมา เพราะรัฐบาลทำแบบโจ่งแจ้งแบบไม่อายมากๆ ในการทำลายหรือลิดรอนผลประโยชน์ของประชาชน คนที่เห็นต่างก็ถูกไล่ล่ามาตลอด 5-6 ปี คนถูกอุ้มหาย คนลี้ภัย มีเยอะแยะ ปัญหาเยอะไปหมด คนที่อยู่เฉยๆ ได้นี่ โห… นั่นแหละ (หัวเราะ )
มองว่าแนวโน้มของศิลปะต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
คาเงะ: ผมรู้สึกว่ามันเป็นยุคทองของศิลปะเพื่อสังคมและการเมือง ศิลปะแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ ศิลปะแห่งการเสียดสียั่วล้อ ศิลปะที่จะทำให้คนตื่นรู้ ศิลปะที่กำลังพูดถึงเรื่องโครงสร้าง มันเป็นโอกาสเพราะว่าคุณมีวัตถุดิบเยอะมาก วัตถุดิบที่รัฐบาลป้อนให้ทุกวัน (หัวเราะ) ทั้งของสังคม ผู้คนที่เดือดร้อน เยอะมาก แทบจะเรียกว่าป้อนให้เลยดีกว่า คุณก็ควรจะเคี้ยวแล้วย่อยมันออกมาให้กลายเป็นงานศิลปะในทางของคุณ ในรูปแบบใดๆ ที่คุณสามารถทำได้ นี่เป็นโอกาสที่จะได้ส่งเสียงใดๆ ออกไปในรูปแบบของคุณ เราคิดว่ามันทำลายกำแพงทุกอย่างและเป็นยุคของการตื่นรู้ ถ้าไม่ตื่นรู้ตอนนี้ก็ไม่รู้จะตื่นตอนไหน
ในฐานะที่ทำ B-Floor มากว่า 20 ปี ถ้ามองย้อนกลับไปตลอดเวลาที่ผ่านมา นี่เป็นยุคที่ดีที่สุดของกลุ่มไหม
คาเงะ : ดีที่สุดในแง่ไหน เงินก็ไม่มี สปอนเซอร์ก็ไม่เข้า (หัวเราะ) แต่แน่นอนว่ามันดีในแง่ของวัถตุดิบ ตั้งแต่ B-Floor ประกาศตัวออกไปว่าเราจะสนับสนุนการชุมนุม ก็มีทั้งความเสียวและเสี่ยงในบรรยากาศที่ผู้ชุมนุมโดนหมายจับไปหลายใบ เรารู้สึกถึงความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐ ตั้งแต่การบริหารการจัดการ การพยายามที่จะใช้กฎหมาย การพยายามใช้องคาพยพทุกอย่าง ไม่ว่าจะทหาร ตำรวจ และดึงเอาฝ่ายตรงข้ามกับม็อบมาปะทะกันเอง คือใช้ทุกองคาพยพที่เป็นภาษีของประชาชน แล้วทุกคนก็รู้ เมื่อเรารู้ทั้งรู้แบบนี้ ถ้าไม่สู้ก็ไม่ไหวแล้ว เพราะทุกคนเปิดหน้าออกมาแล้ว ละครหน้ากากไม่มีแล้ว นี่เป็นช่วงเวลาที่ความกลัวหายไป ทุกคนมองไปข้างหน้า เห็นสเต็ปของปัญหา เห็นทริกของฝั่งนั้นทุกอย่าง เราก็ไปอีกทาง เล่นตลกกลับต่างๆ นานา ผมคิดว่ามันเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งที่เรามองเห็นมัน และมันต้องดำเนินไปแบบนี้ ตราบใดที่การสู้ครั้งนี้ยังไม่ชนะ ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็จะต้องสู้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเสียอะไร
ท้ายที่สุด อำนาจของกฎหมาย อำนาจปืน หรือความรุนแรงต่างๆ ที่รัฐพยายามใช้อยู่ เมื่อคนทั้งหมดเห็นแล้วว่าไม่มีความชอบธรรม คิดว่าคนจะลุกขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีศาลที่ตัดสินออกมา ทำไมพรรคนี้ขยับอะไรก็โดนหมดเลย แต่ฝั่งตัวเองไม่มีใครโดนเลย ความชอบธรรมแบบนี้ถูกทำลายโดยองคาพยพของรัฐเอง ผมว่าตรงนี้แหละ ทั้งกฎหมาย ทั้งความรุนแรงต่างๆ ที่กำลังใช้อยู่ พอหมดความชอบธรรมไป คนจะไม่ยอม คนก็จะตาสว่างกันทั้งแผ่นดิน ตรงนี้เขาทำลายตัวเขาเอง โดยที่จริงๆ แล้วเราแค่หยิบสิ่งที่เขาพูดเขาทำนั่นแหละมาพูดต่อ เราไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งหมดทั้งมวลเขาทำตัวเขาเอง เพียงแต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเปิดบาดแผลหรอก เขามีเรื่องแบบนี้มาเป็นรายวันเลย แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าคนที่เหลือจะทนได้แค่ไหน คนไทยนี่ถือว่าเป็นคนที่อดทนมากนะ เหลือเชื่อเหมือนกัน
คาดหวังอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้
คาเงะ : ใน Flu-Fool พาร์ต 2 เราพูดว่าเลือดเนื้อทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่ทำให้ประเทศมานี้ มันคือเลือดเนื้อของไพร่ ของราษฎร ตั้งแต่เริ่มการสร้างเมือง อิน จัน มั่นคง และก็เป็นอย่างนี้มาตลอด กลายเป็นว่าเราจะสละเลือดเนื้อกันไปเท่าไหร่เพื่อรักษาความมั่งคั่งของชนชั้นนำไว้ เราต้องลุกขึ้นมาตื่นรู้แล้ว เราต้องปลดปล่อยวิญญาณของราษฎรทั้งหมดให้ไปผุดไปเกิด และประชาชนต้องดูแลกันเอง
ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรามีความหวังกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เรารู้สึกว่าสมัยก่อนเขาก็โดนปรามาสว่า เป็นนักเลงคีย์บอร์ด เป็นใดๆ พอเขาลุกขึ้นมาแล้ว เราทุกคนก็ต้องช่วยซัพพอร์ตเขา เพราะเอาเข้าจริงๆ เขาพูดในเสียงที่เราอยากพูด แต่เราไม่กล้าเปล่งเสียงออกมา นั่นคือสิ่งที่เราไม่ว่าจะเป็นหัวดำหัวหงอกที่ปฏิวัติแล้วไม่เคยสำเร็จก็ควรจะลงมาช่วยเขา ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปินแบบไหน ถ้าคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ออกไปในขบวนนี้ จงออกมาให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าการต่อสู้นี้มันไม่จบในวันสองวัน หรือปีนี้ปีหน้า แต่เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ความขัดแย้งในกลุ่มใดๆ ที่เกิดขึ้นก็จงรักษาแนวร่วมกันไปเรื่อยๆ เราอยากเห็นประเทศที่ ‘ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ มันเป็นคำพูดที่พูดมานานแล้ว แต่เราไม่อยากพูดต่อไป แต่เราอยากเห็นมันจริงๆ แล้ว
Tags: art, การเมือง, ละครเวที, B-Floor, ศิลปะการแสดง, Politcs, ธีระวัฒน์ มุลวิไล, ศิลปินศิลปาธร