สี่ปีก่อน กั๊ก สุพิชญา สูรพันธุ์ นำโปรแกรมที่ช่วยแก้ปัญหาวินัยการใช้บัตรเครดิตของตัวเองที่เขียนเองอย่างงูๆ ปลาๆ ไปยื่นให้เพื่อนๆ ที่เชี่ยวชาญสายการเขียนโปรแกรมลองดู ว่าพวกเขามองเห็นหรือเปล่า

มองเห็นไหมว่ามันจะกลายเป็นธุรกิจที่โตไวอย่างก้าวกระโดด และเห็นไหมว่ามันจะเป็นประโยชน์ ทำให้คนจัดการการใช้เงินของตัวเองได้ดีขึ้น

จากวันนั้น Piggipo ก็กลายเป็นสตาร์ตอัปที่มีผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน และเมื่อนำไอเดียและตัวอย่างแอปฯ ที่มีให้ดาวน์โหลดในแอปเปิลสโตร์และกูเกิลเพลย์สโตร์ไปนำเสนอโครงการต่าางๆ พวกเขาก็คว้าเงินทุนจากนักลงทุนมาเป็นกอบเป็นกำหลายวาระ เช่น จาก dtac Accelerate และ MayBank ในมาเลเซีย และปัจจุบันก็กำลังฝันใหญ่กว่าการเป็นแอปฯ จัดการบัตรเครดิต

แม้ภาพฉากหน้าคือจำนวนผู้ใช้ที่เติบโตพุ่งพรวด แต่ขวบปีแรกของสตาร์ตอัปที่ชื่อ Piggipo นี้ ไม่หมูอย่างที่คิด สุพิชญาเจอโจทย์ท้าทาย ทั้งการขยายตลาด เติบโตให้ทันความคาดหวังของนักลงทุน การบริหารจัดการคน จนสุดท้าย เงินหลักล้านที่ได้มาก็หมดกลางทาง จนต้องถามตัวเองว่า เครื่องบินที่พุ่งขึ้นฟ้าอย่างแรงลำนี้จะลงจอดก่อนดีไหม

“ตอนนั้นโง่ด้วยแหละ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งรู้สึกว่า ทำไมเราโง่ร้อยครั้งเลย มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ”

เมื่อปี 2018 สุพิชญา ได้รับเลือกให้เข้าโครงการ eFounder Fellowship ของอาลีบาบา โครงการที่เธอบอกว่าทำให้เปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองและองค์กรเล็กๆ นี้ไปอย่างสิ้นเชิง

ในวันนี้ที่คำว่าสตาร์ตอัปและฟินเทคเป็นศัพท์ที่ได้ยินบ่อยจนชวนสับสนว่าตกลงแล้วมันคืออะไรกันแน่ เราชวนสุพิชญาทบทวนเส้นทางธุรกิจ ที่สุดท้ายแล้วเธอบอกว่า ก่อนคิดจะเลือกเส้นทางสตาร์ตอัป ต้องถามตัวเองก่อนว่านั่นใช่ชีวิตของธุรกิจในแบบที่เราต้องการหรือเปล่า เพราะสตาร์ตอัปอาจไม่ได้เท่ากับความเท่

Startup แตกต่างตั้งแต่ออกสตาร์ต

เมื่อรู้ตัวตั้งแต่มัธยมปลายว่าอยากเป็นผู้ประกอบการ สุพิชญาเลือกเรียนเอกบริหารธุรกิจที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ หลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท 5 ปี จนมีไอเดียอยากทำธุรกิจแอปฯ จัดการบัตรเครดิต เพราะเจอปัญหากับตัวเองว่า ทั้งที่ยังไม่ทำงาน แต่ใช้บัตรเครดิตที่เป็นบัตรเสริมจากพ่อแม่และพี่ๆ อย่างไม่ได้วางแผน จนใช้จ่ายเกินตัว หากมีเครื่องมือที่บอกว่า หนี้ที่ก่อด้วยบัตร 4-5 ใบที่มีนี้ รวมๆ กันแล้วจะทำให้เราต้องจ่ายเงินเท่าไรในอนาคต ก็คงจะควบคุมการใช้จ่ายได้ดีขึ้น

เมื่อลองสำรวจตลาดแอปฯ ในสโตร์ พบว่ายังไม่มีใครทำ เธอจึงเดินหน้าต่อ แต่เป็นการเรียนรู้และหัดเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองโดยเริ่มจากศูนย์ เพราะไม่มีเพื่อนในสายโปรแกรมเมอร์เลย

“นั่งเขียนโปรแกรมต๊อกแต๊กๆๆ ทุกวัน 6 เดือน ได้ออกมาเป็นโปรโตไทป์ของ Piggipo เวอร์ชันหนึ่ง มันไม่สวย แต่ทำให้เราเริ่มเข้าไปอยู่ในชุมชนของคนที่เขียนโปรแกรม และมีเพื่อนๆ เป็นนักพัฒนาแอป (developer) เราเลยได้รู้ว่า 6 เดือนที่เราใช้เขียนโปรแกรม ถ้าเทียบกับคนในสายนี้ที่อายุเยอะกว่าเราแค่ 1-2 ปี เขาใช้เวลาแค่ 2 เดือนเอง เรารู้สึกว่า ไม่ได้การแล้ว เราคนเดียวไม่น่านำแอปฯ นี้ไปอยู่ในสโตร์ได้ ก็เลยเริ่มนำโปรโตไทป์ที่มีไปโน้มน้าวคนมาร่วมทีม ก่อตั้งมาเป็น Piggipo ในปี 2014”

“ประกอบกับปีนั้น ทาง dtac Accelerate เขาเริ่มโปรโมตโครงการ โดยมีคุณกระทิง (เรืองโรจน์ พูนผล) ซึ่งเขียนหนังสือ บทเรียนธุรกิจร้อนๆ จาก Silicon Valley ที่ทำให้เราอยากทำธุรกิจไอที เป็นหัวหน้าของโครงการนี้ เราเลยลองสมัครเข้าไป ไม่ใช่แค่ได้เข้าร่วม กลายเป็นว่าดีแทคจะเข้ามาถือหุ้นแล้วให้เงินลงทุน ปีนั้นมีทีมสมัครราวๆ 100 ทีม (ปัจจุบันน่าจะมีราวๆ 500-600 ทีม) ดีแทคเลือกแค่ 5 บริษัทที่จะลงทุนด้วย จุดที่ทำให้เขาเลือก Piggipo น่าจะเป็นเพราะคนอื่นมีแค่ไอเดียหรือการพรีเซนต์ แต่เรามีแอปฯ บนสโตร์แล้ว และมียอดดาวน์โหลดหลักหมื่น ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้มีแค่ไอเดีย

“ดีแทคลงทุน 500,000 บาท และมีอีกบริษัทที่เราเคยไปพิชต์ ลงทุนร่วมอีก 1,500,000 บาท จากจุดนั้นเราเลยรู้ว่าจะเล่นแบบเด็กขายของไม่ได้อีกต่อไป คงจะต้องตั้งเป็นบริษัท จากที่มีกันอยู่แค่สามคนซึ่งเป็น co-founders ปัจจุบัน ก็เริ่มรับพนักงานคนแรกเข้ามา”

ไม่ใช่แค่เงินลงทุนหลักล้านที่ได้รับ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้สุพิชญาได้รู้จักนิยามสตาร์ตอัปในแง่มุมที่ลึกขึ้นกว่าเดิม

“คณะที่เราเรียนมา เขาสอนให้เราเป็นผู้ประกอบการ แต่หลักสูตรดีแทคพยายามเปิดโลกให้เราได้เห็นว่า ในโลกของสตาร์ตอัป จะต้องมีการระดมทุนเข้ามาในแต่ละรอบ อาจต้องยอมดำเนินธุรกิจที่ขาดทุนบ้างใน 3 ปีแรก เพื่อดึงเอาผู้ใช้ (user) หรือฐานข้อมูลมาก่อน”

แต่เช่นเดียวกับที่หลายๆ คนอาจสงสัย สตาร์ตอัปกับธุรกิจขนาดย่อมต่างกันอย่างไร เมื่อใครๆ ก็ชอบเรียกตัวเองว่าสตาร์ตอัป การยอมขาดทุนช่วงแรกก็อาจเป็นวิธีคิดของผู้ประกอบการบางรายได้

“ในความคิดเราเมื่อก่อน สองอย่างนี้ต่างกันแค่เอสเอ็มอีกู้เงินแบงก์ ส่วนสตาร์ตอัประดมทุนจาก VC (Venture Capital-การร่วมลงทุน) มาเติบโต เอสเอ็มอีถ้าขาดทุนสามปี ธนาคารอาจจะไม่ให้กู้แล้ว แต่สตาร์ตอัปขาดทุนสามปี ไม่เป็นไร เพราะ VC อาจจะมองตัวเลขของข้อมูลและผู้ใช้ที่เป็นฐานว่าในอนาคต 5 ปี คุณจะโตมากแน่ๆ เพราะสตาร์ตอัปเพิ่มสเกลด้วยการใช้ไอที แต่เอสเอ็มอีคือการเปิดโรงงานเพิ่ม

“แต่ที่เราเข้าใจใหม่ และคิดว่าหลายคนไม่รู้ ก็คือมันต่างกันตั้งแต่ mindset ของผู้ก่อตั้งเลยว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน เป้าหมายของสตาร์ตอัปที่แท้จริงก็คือ ฉันจะเปิดธุรกิจอะไรก็ได้ที่โตเร็วมากๆ ใน 5 ปี แล้วมุ่งสู่การเป็นธุรกิจหมื่นล้านได้ ซึ่งจะดึงดูด VC หรือนักลงทุนเข้ามา อย่าง Grab ที่ขาดทุนในปีแรกๆ เพราะว่าตัวเลขขาดทุนไม่ใช่สิ่งที่เขาโฟกัส เพราะเขาไปดูการเติบโตที่รวดเร็วแทน เอสเอ็มอีจะไม่เป็นแบบนี้ รับความเสี่ยงได้น้อยกว่า แต่สตาร์ตอัปส่วนใหญ่ในบ้านเราที่เรียกๆ กัน มักจะเป็นผู้ประกอบการที่ใส่ไอทีเข้าไปเพื่อลดต้นทุนได้เร็วกว่ามากกว่า

“ยกตัวอย่างสตาร์ตอัปเจ้าหนึ่งที่สิงคโปร์ ระดมทุนไป 40$ ล้าน แล้วหายไปลองทำดู 6 เดือน เขากลับมาบอกว่าไอเดียที่เขาทำนั้นจะไม่สามารถโตเป็นยูนิคอร์นได้ภายใน 5 ปีอย่างที่คิดไว้ จะเป็นเพียงเอสเอ็มอี เขาก็ตัดสินใจคืนเงินนั้นให้นายทุนไปเลย เลิกทำ แล้วไปเริ่มไอเดียใหม่ที่จะโตหมื่นล้านได้

“เพราะฉะนั้นไอเดียที่เราเลือกทำ มันก็บ่งบอกตั้งแต่วันแรกเลยว่าเราจะเป็นสตาร์ตอัปหรือเอสเอ็มอี มันมี growth ที่เร็วมากๆ ได้หรือเปล่า ตลาดในประเทศมีพอหรือเปล่า ถ้าไม่พอ เราก็ควรวางแผนว่าจะเปิดที่ไหนที่พร้อมจะสเกลออกไปในภูมิภาค มันมีความแตกต่างมาถึงกลยุทธ์และแอคชันเลย”

 

จุดอ่อน CEO มือใหม่

และก็เช่นเดียวกับมือใหม่ทั้งหลาย ซึ่งไม่เข้าใจหนทางของสตาร์ตอัปดีพอ เงินทุน 2 ล้านนั้นหมดไปในช่วงปี 2014-2015 ขณะที่การเติบโตไม่สูงขึ้นในระดับที่ตั้งใจไว้

“มันก็ต้องหมดเพราะเราไม่ได้กะหารายได้ ตอนนั้นคิดว่า ถ้ามียอดผู้ใช้ ยอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นอย่างเดียว เราก็จะระดมทุนได้เรื่อยๆ แบบเฟซบุ๊กที่ไม่มีรายได้จนกระทั่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราคิดแค่ว่า (ดีดนิ้ว) เราต้องเป็นสตาร์ตอัป นี่แหละเท่ โฟกัสไปที่ยูเซอร์ แต่เรามองอีโคซิสเต็มไม่ออกว่า จริงๆ แล้วผู้ใช้ของเราถูกจำกัดด้วยตลาด เราหลงทางเพราะเข้าใจผิดคิดว่าแอปฯ บัตรเครดิตที่เราทำเป็นแอปฯ แมส เพราะคิดว่าใครก็ตามที่มีบัตรเครดิตเกินสองใบ น่าจะมาเป็นยูเซอร์ Piggipo ได้ แต่ความเป็นจริง ตลาดเราเล็กกว่านั้น คือ ใครก็ตามที่มีบัตรเครดิตเกินสองใบ มีความใส่ใจทางการเงิน และอยากติดตามค่าใช้จ่ายตัวเอง

“ความรู้ด้านการเงินของคนเป็นเพดานที่ทำให้ตลาดนี้ไม่สามารถพุ่งไปอย่างชันได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มี financial literacy สูง ในขณะที่ปี 2014 cashless society ก็ยังไม่มา เราต้องมองให้ออกอยู่แล้วว่าเพดานมันไม่ได้ทำให้ 60 ล้านคนมาใช้ได้”

ทิศทางหลังได้เงินก้อนโตมานั้นเดินไปอย่างสะเปะสะปะและอุ้ยอ้าย สุพิชญามองย้อนไปว่า ความผิดข้อใหญ่ในฐานะเด็กจบใหม่อย่างเธอก็คือ เมื่อหาคนไม่ได้ ก็พยายามลงไปทำทุกอย่างเองทั้งหมด

“ช่วงนั้นเป็นช่วงล้มลุกคลุกคลาน วิธีคิดเราอาจจะผิด เราคิดว่าเราจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้มันประสบความสำเร็จได้เร็ว เช่น ตอนที่เดเวลอปเปอร์ทำงานไม่ทัน เราก็คิดว่าเราลงไปช่วยได้ งานดีไซน์ UX/UI เมื่อหาคนทำไม่ได้ เราก็ เฮ้ย ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราไปเรียนโฟโตช็อปแล้วหัดทำเอง พยายามเปลี่ยนตัวเองไปเป็นทุกอย่างในตำแหน่งที่ขาด มารู้ทีหลังว่ามันไม่ใช่ การบริหารมั่วแล้วเอาตัวเองไปอุดในสิ่งที่ไม่มี มันไม่ถูก เพราะมันทำให้บริษัทขาด CEO ที่จะมามองทิศทางว่าเราจะโตยังไง กลยุทธ์จะเป็นยังไง สร้างอีโคซิสเท็มยังไง สุดท้ายเงินที่ได้มาก็หมด”

ก่อนที่จะถอดใจ สุพิชญาขอยืมเงินอีกก้อนมาจากคุณพ่อที่เป็นข้าราชการเกษียณ เพื่อต่อชีวิตบริษัทไปอีก 6 เดือน หากไปต่อไม่ไหวก็จะเลิก

“โจทย์ก็คือใน 6 เดือนนั้น เราจะใช้ KPI ตัวไหนที่จะทำให้เราระดมทุนมาได้ คราวนี้โฟกัสไปเลยหนึ่งฟีเจอร์ ทำให้มันดี ให้เห็นสตอรี่ที่จะนำไปสู่การระดมทุนอีกรอบได้ การระดมทุนเพิ่มเป็นเรื่องปกติของสตาร์ตอัป คุณเป็นเหมือนเครื่องบินที่จะต้องบินขึ้นไปให้ถึงไมล์สโตนหนึ่ง ก่อนที่น้ำมันจะหมด เสร็จแล้วคุณก็ต้องระดมทุนอีกก้อนหนึ่ง เพื่อจะบินให้ได้สูงขึ้นไปอีก แบ่งเป็น 4 ซีรีส์  Series A, B, C, D บินขึ้นไปแต่ละระดับ ก็จะเจอ KPI ต่างกัน ตอนแรกเราเน้น growth ก่อน แต่พอ Series B ขึ้นไป คุณจะต้องเริ่มมีกำไรแล้ว หรืออาจจะขายบริษัท เข้า IPO ฯลฯ เงินที่ระดมเข้ามาเป็นช่วงๆ มีไว้เพื่อเร่งการเติบโต ร่นระยะเวลาโตธุรกิจ 10 ปี ให้เหลือ 5 ปีด้วยเทคโนโลยี

“หลังจากที่เรารู้แล้วว่าคนที่จะมาใช้แอปฯ จะต้องใส่ใจการเงินและไม่ขี้เกียจจดบันทึก เราก็เลยตั้งเป้าว่าภายใน 6 เดือนนั้น จะต้องเชื่อมต่อแอปฯ เข้ากับออนไลน์แบงก์กิ้งให้ได้ ปรากฏว่าใช้เวลาแค่ 4 เดือนก็ทำได้ ระดมทุนได้ทัน ได้เงินอีกก้อนมาบริหารธุรกิจต่อ”

eFounder โครงการเปลี่ยนชีวิต

ฟินเทคเล็กๆ นี้เป็นที่หมายตาของ VC จนได้เงินทุนก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และขยายตลาดไปสู่มาเลเซียด้วยการร่วมมือกับ MayBank ในชื่อ Mavin กระทั่งในปี​ 2018 สุพิชญาได้รับเลือกให้เข้าโครงการ eFounder Fellowship ของ UNCTAD และอาลีบาบา ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่และเรียนรู้เกี่ยวกับอีโคซิสเท็มของบริษัทยักษ์ใหญ่นี้เป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของจีนที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผ่านการชมมหกรรมวันที่ 11.11 ที่อาลีบาบาทำให้เป็นวันใช้จ่ายระดบชาติ และฟังผู้บริหารของแต่ละฝ่าย เช่น Alimama, Alibaba, Ant Financial, Cainiao ฯลฯ เล่าการทำงานในองค์กรของตัวเองที่นำไปสู่ความสำเร็จในภาพใหญ่

“ข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือช่วงตอบคำตอบ เขาไม่ปิดอะไรเลย และด้วยความที่บรรดาคนที่ไป เป็นระดับผู้ก่อตั้งหรือซีอีโอของบริษัทที่ไปถึง series B ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้นคำถามจะโหดและลึกมาก ก็เหมือนเราได้เรียนรู้จากคำถามและการตอบคำถามไปด้วยในเวลาเดียวกัน ได้เรียนรู้ว่าตลาดแต่ละประเทศเป็นยังไง และการไปดูตลาดที่จีนซึ่งมีความคล้ายเราตรงที่แรกๆ เขาก็กลัวอีคอมเมิร์ส ก็เหมือนได้ไปดูอนาคตว่าอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ ตลาดในไทยจะเป็นยังไง เราจะต้องอยู่ในโพสิชันไหนถึงจะอยู่รอด”

“สิ่งหนึ่งที่กั๊กได้เรียนรู้จากอาลีบาบาก็คือ จริงๆ แล้ว บริษัทเราไม่เคยมี vision เลย ซึ่ง vision สำคัญมากๆ แจ็ก หม่า เคยระดมทุนมาทำอีคอมเมิร์ส แรกๆ เขาก็เบิร์นเงินด้วยการจ้างคนจากซิลิคอน แวลลีย์ หรือจากไอวีลีก จนเงินกำลังจะหมดใน 4 เดือนสุดท้าย ผู้ร่วมก่อตั้งต้องมานั่งประชุมทีมกันในห้อง ใช้เวลาไป 2-3 วัน เพื่อหา vision, mission และ core value หาแค่สามอย่างนี้ ซึ่งผู้บริหารบางคนในตอนนั้นมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา แต่สุดท้าย ทุกคนที่อยู่ในนั้นพูดตรงกันเลยว่า ถ้าวันนั้นเขาไม่นิยามสามอย่างนี้ให้ชัด จะไม่มีอาลีบาบาวันนี้ เพราะว่ามันทำให้รู้ว่าทางไหนที่ควรโฟกัส และทางไหนคือ key metrics ของเขา และเขาอยู่เพื่ออะไร

“อย่างอาลีบาบา เขาสร้างอีโคซิสเท็ม เขาเริ่มจากอีคอมเมิร์ซ และรู้ว่าปัญหาคือคนไม่เชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ เพราะกลัวโดนโกงเงิน เขาก็ต้องทำอาลีเพย์ขึ้นมาเป็นตัวกลางเพื่อให้คนซื้อคนขายสบายใจ คนมาใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ข้อมูลที่ได้ก็มากขึ้น เขาก็ได้รู้อีกว่าปัญหาของอีคอมเมิร์ซคือโลจิสติกส์ ก็เลยทำไชเนี่ยวเพื่อตอบโจทย์อีโคซิสเท็มที่จะทำให้ธุรกิจของเขาโต กลายเป็นว่า เขามีทั้งอีคอมเมิร์ซ ฟินเทค และโลจิสติกส์ ที่ล้วนส่งเสริมธุรกิจแม่ของเขาให้เติบโต รายได้เกินครึ่งของอาลีบาบา มาจาก Alimama ซึ่งเป็นเหมือน Google Adwords ของกูเกิล เป็นแพลตฟอร์มแอดที่ช่วยทำทั้งแบรนดิ้ง โลจิสติกส์ มาร์เกตติง ทำครบทั้งแพลตฟอร์ม แปลว่าจริงๆ แล้ว ภาพสุดท้ายคือเขาคงอยากจะยึดคอมเมิร์ซทั้งหมด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของทั่วโลก”

เมื่อได้รู้ว่านิยาม ‘วิสัยทัศน์’ นั้นสำคัญกับความสำเร็จของอาลีบาบา มากกว่าเป็นแค่ถ้อยคำสวยหรูที่เอาไว้ใส่ในแบนเนอร์โฆษณา สุพิชญาก็กลับมาทบทวนเส้นทางของ Piggipo

“เราเคยคิดว่าการเป็นสตาร์ตอัป เริ่มคิดจากเพนพอยท์มันพอ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะมองให้มันเป็นธุรกิจดีๆ มันไม่พอ อาลีบาบาถึงบอกว่า สำคัญที่สุดคือมองให้เห็นว่า 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง รองลงมาคือมีตัวตนอยู่เพื่ออะไร และสุดท้ายคือกลยุทธ์ ทุกอย่างมันจะชัด ว่าทางที่เราจะไปเป็นแบบไหน จะอยู่รอดได้อย่างไรในอีโคซิสเท็มนั้น

“หลังจากที่เราไปอาลีบาบา จากที่เรามี …อย่าเรียกว่า vision เลย เรียกว่าสโลแกน เปลี่ยนตัวเองเลยว่า จริงๆ แล้วเราอยากทำธุรกิจนี้เพราะแพชชันอะไร ได้ออกมาเป็น vision หนึ่งประโยคที่ทำให้ทิศทางธุรกิจชัดขึ้นเยอะ คือ everyone’s personal finance advisor เรามีความเชื่อว่า ทุกคนใช้เงิน ถ้าทุกคนได้จัดการเงิน มันจะดีกับชีวิตเขา ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ตาม เราอยากทำให้เขาจัดการเงินได้ง่ายเหมือนกับที่เขาใช้เงิน จากนี้จะได้เห็นเลยว่า Piggipo จะไม่ใช่แค่แอปจัดการเฉพาะบัตรเครดิตอีกต่อไป เพราะบัตรเครดิตเป็นแค่รายจ่ายก้อนเดียวในชีวิตคนเรา”

สุพิชญาเสริมด้วยว่า อาลีบาบาไม่ใช่แค่มีวิสัยทัศน์ แต่เพราะกล้าฝันระดับโลกตั้งแต่เริ่มต้น

“อาลีบาบามี mission ที่อยากเป็นบริษัทที่อยู่ไป 102 ปี คนไทยเราในฐานะสตาร์ตอัป มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่คิดถึง 20 ปีข้างหน้าบ้าง อย่างมากเราก็คิดถึง 5-10 ปี แต่อาลีบาบาคิดไปเลยเป็นร้อยปี แล้วคนที่ฝันว่าจะอยู่ไป 102 ปี เขาจะไม่มองแค่ 5 ปี 10 ปี แต่จะมองว่าอะไรจะเป็น next ของเทคโนโลยี แล้วก็พร้อมที่จะลงทุนตรงนั้นเพื่อจะไปเป็นหมายเลขหนึ่งในจุดนั้น”

แต่วิสัยทัศน์จะแน่วแน่แค่ไหน ถ้าคนข้างในไม่ขับเคลื่อนไปด้วยกันก็คงยาก ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สุพิชญาประทับใจ

“จากที่เราไปเยี่ยมชมออฟฟิศ เราสัมผัสได้ว่าพนักงานของเขาไม่ได้ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ทั้งๆ ที่มีพนักงาน 60,000-70,000 คน ซึ่งที่เราเคยเห็นที่อื่นมา องค์กรขนาดนี้จะทำงานช้ามาก

“วิธีที่เขาบริหาร คือแบ่งคนเป็น 4 กลุ่มในกราฟ แกน Y เป็นประสิทธิภาพในการทำงาน (perfomance) แกน X คือการให้ความสำคัญกับคุณค่าหลักขององค์กร (core value) เขานำสิ่งนี้มาประเมินด้วย หมายความว่า ปกติแล้ว เราจะประเมินว่าได้โบนัสเท่าไร จะขึ้นเงินเดือนเท่าไร ก็ดูที่ผลงานเป็นหลัก แต่เขาให้ความสำคัญกับคุณค่าหลักของธุรกิจ พอๆ กับผลงาน อย่างเช่นหนึ่งใน core value ของเขาคือพนักงานข้างในจะต้องช่วยเหลือกันระหว่างแผนก ทำให้เมื่อฝ่ายที่ทำโครงการ eFounder ไปเชิญผู้บริหารระดับ C level แต่ละหน่วยมา เขายินดีที่จะมาแชร์มาช่วย เพราะมันเป็น core value ที่อาลีบาบาตั้งไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินตัวพนักงาน

“เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่ทำงานเก่งด้วยและ ‘อิน’ กับวัฒนธรรมและคุณค่าองค์กร คนกลุ่มนี้จะเป็น Star ได้เลื่อนตำแหน่งเร็วมาก ส่วนคนกลุ่มที่ 2 คือ ‘อิน’ นะ แต่ทักษะอาจจะยังไม่เก่งมาก กลุ่มนี้เป็น Rabbit คนกลุ่มนี้เขาก็ยังเก็บไว้ ให้เวลา 1 ปีพัฒนาตัวเอง ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องออก

“ในขณะที่กลุ่มซ้ายบนของกราฟ ที่เราเรียกว่า ‘มือปืนรับจ้าง’ คือเก่ง แต่ไม่ภักดีกับองค์กร ถ้าเป็นเรา เราก็จะมองว่ามีไว้ก็น่าจะดี เพียงแค่เขาเปลี่ยนงานบ่อย แต่อาลีบาบาบอกว่า เขาไม่เก็บกลุ่มนี้ไว้เลย เขาเชือดทิ้งให้เห็นเลยว่าไม่เอา เพราะเขาบอกว่าในระยะยาว คนที่เก่งแต่ไม่อินกับคุณค่าองค์กร มันทำให้กลุ่มที่เป็น Star กับ Rabbit เสีย และทำให้วัฒนธรรมทั้งบริษัทเสีย ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็น Dog คือประสิทธิภาพก็ไม่ได้ ไม่เชื่อในคุณค่าของบริษัท เขาก็ไม่รับ”

“ทุกๆ ปี เขาจะเลย์ออฟ 10% ของคนที่ประสิทธิภาพต่ำที่สุด เพราะมันทำให้ทุกคนแข่งกันแบบอิงกลุ่ม แต่กับประเทศไทยอาจจะหาคนกันเหนื่อยหน่อย เพราะคนของเราไม่เยอะเหมือนเขา และการเลย์ออฟก็อาจจะไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา

“เมื่อก่อนเคยคิดว่าถ้าบริษัทตัวเองโตถึงจุดที่มีสัก 100 คน วัฒนธรรมคงจะเป็นสไตล์นี้ไม่ได้ เป็นกันเองไม่ได้ แต่พอไปอาลีบาบา เราพบว่า ถ้า 70,000 คน เขายังรักษาได้ ทำไม 100 คนนี้จะรักษาไม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น”

สู่การลุกขึ้นยืนในครั้งที่ 101

จากวันนี้ เมื่อนิยามวิสัยทัศน์ของ Piggipo ไม่ใช่แค่การจัดการบัตรเครดิตอีกต่อไป แต่มุ่งสู่การเป็นผู้ช่วยจัดการการใช้เงินของใครก็ได้ หลายโจทย์ก็ยังรอทดสอบสุพิชญา ว่าสิ่งที่เธอคิดว่ารู้แล้วในวันนี้ จะแฝงความไม่รู้อีกมากน้อยแค่ไหน

ตลาดบัตรเครดิตเติบโตขึ้น แต่เติบโตไม่มากเพราะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จำกัดไว้ แต่ที่โตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสองปีที่ผ่านมาคือ e-wallet กับ e-payment จะเห็นเลยว่ามูลค่าที่รัฐบาลส่งเสริม PromptPay, QR payment ทำให้ปริมาณการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดสูงขึ้นแบบพุ่งพรวด ถ้าเขาไม่กำหนดเพดานในทางลบ เช่น ภาษี ประเทศไทยก็น่าจะมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดได้คล้ายๆ จีน”

ทำไมนักลงทุนถึงได้สนใจ Piggipo เมื่อตัวแอปฯ ไม่ได้เน้นสร้างรายได้จากการซื้อหรือสมัครสมาชิกใดๆ

“ส่วนหนึ่งเขาอาจจะมองเห็นพฤติกรรมการใช้จ่าย หากมีมากพอและถ้าเราเป็นมีเดีย เราก็จะเป็นมีเดียที่ปรับเปลี่ยนให้ตรงตามพฤติกรรมการใช้จ่ายได้ เฟซบุ๊กอาจจะบอกได้ว่า คนคนนี้ดูเพจร้านอาหารญี่ปุ่น แต่เราจะรู้ว่า คนคนนี้กินร้านอาหารญี่ปุ่นเดือนละกี่บาท และเขาคงมองว่า data จะเป็นสิ่งที่ทำเงินมหาศาลได้ในอนาคต แต่เราก็ทำงานบนจุดยืนที่บอกกับนักลงทุนและผู้ใช้ทุกคนว่า เราจะไม่ขายข้อมูลส่วนบุคคล หากเป็นภาพรวมและอยากลงแอดที่ยิงผ่านแพลตฟอร์มของเราและเป็นสิ่งที่ดีกับผู้ใช้ของเรา เราก็โอเค นี่คือสิ่งที่นักลงทุนทุกคนเข้าใจ”

มาวันนี้ เมื่อเข้าใจตัวเองระดับหนึ่งแล้วว่าการเป็นสตาร์ตอัปที่แท้จริงอาจไม่ใช่สไตล์เธอร้อยเปอร์เซ็นต์ สุพิชญาบอกว่า ไม่ว่าจะเลือกริเริ่มธุรกิจขึ้นมาแบบสตาร์ตอัปหรือเอสเอ็มอี ก็ไม่ได้มีอะไรที่เท่กว่าอะไร

“จริงๆ สตาร์ตอัปมันไม่ได้เท่ แต่ก็เป็น real business แบบหนึ่งที่มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจต่างกับคนที่เป็นผู้ประกอบการทั่วไป เพราะฉะนั้น เมื่อชีวิตมีเป้าหมายต่างไป การดำเนินธุรกิจ ไอเดีย ชีวิต ก็ต่างกัน ไม่ใช่ว่าอะไรไม่ดี เป็นเอสเอ็มอีก็มีเงินหลายร้อยล้านได้ ถ้าเราชัดเจนในตัวเองว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ในแง่ความเสี่ยงและทัศนคติ

“คติส่วนตัวของกั๊ก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าบริษัทชื่อ never situp มาจากคติว่า never give up เรารู้ว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่งอะไร แต่น่าจะประสบความสำเร็จได้สักวัน ถ้าเราไม่ยอมแพ้ แต่ไม่ยอมแพ้อย่างเดียวมันคงไม่พอ ต้องบวกอีกอย่างด้วยคือ ต้องรู้ว่าที่เราพลาด พลาดเพราะอะไร ที่เราล้ม 100 ครั้ง ครั้งที่ 101 อาจประสบความสำเร็จก็ได้ เพราะปิดจุดผิดไปได้แล้ว 100 จุด จะเก่งขึ้นให้ได้ในทุกๆ วัน”

แล้วจะมีวันไหนไหม ที่เป็นไมล์สโตนบอกว่า Piggipo เดินทางมาสู่เส้นชัยแห่งความสำเร็จแล้ว

“อืม…. (นิ่งคิด) เราก็ยังสงสัยว่ามันจะมีวันไหนไหมที่เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จจริงๆ ถ้าไม่ใช่วันที่เราเข้า IPO หรือขายบริษัท เราก็ยังรู้สึกว่าเราโง่และมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ แต่เป้าหมายที่เล็กลงมาใน 3 ปีนี้ ก็ฝันว่าจะมีผู้ใช้หลายล้านในไทยได้ แต่ถึงวันนั้น เราก็คงจะกลับมาบอกว่า วันนี้เรายังไม่รู้อะไรอีกหลายอย่างอยู่ดี (หัวเราะ)”

Fact Box

  • eFounders Fellowship Program คือโครงการที่ อังค์ถัด ร่วมกับ อาลีบาบา บิซิเนส สคูล มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการพัฒนาทางดิจิทัลในแอฟริกาและเอเชีย และสนับสนุนผู้ร่วมหลักสูตร eFounders ในประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นผู้นำเศรษฐกิจใหม่
  • ความร่วมมือดังกล่าวริเริ่มมาจากแนวคิดของ ดร.มากีซา คีทูยี เลขาธิการอังค์ถัด และแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษประจำอังค์ถัดด้านผู้ประกอบการรุ่นใหม่และธุรกิจขนาดเล็ก
  • ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ https://agi.alibaba.com/efounders-fellowship
Tags: , ,