มันเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 15.00 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เสียงปืนสองนัดมอบความตายให้แก่ทหารชั้นสัญญาบัตรผู้หนึ่งและแม่ยาย จากความขัดแย้งเรื่องการซื้อขายบ้าน ก่อนผู้ก่อเหตุจะบุกไปที่ค่ายสุรธรรมพิทักษ์เพื่อขโมยปืน ลูกกระสุน และรถฮัมวี่ มุ่งหน้าสู่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช เพื่อกราดยิงผู้บริสุทธิ์ จับผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เป็นตัวประกัน และสุดท้ายถูกวิสามัญฯ โดยเจ้าหน้าที่ในเช้าวันถัดมา สิ้นสุดฝันร้ายต่อเนื่อง 17 ชั่วโมง

ผ่านไป 1 เดือน ฝุ่นที่ตลบเริ่มจางลงบ้างแล้ว แม้ยังมีสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วอย่างไม่ทันตั้งตัว คล้ายปัญหามาราธอนไม่ให้สังคมไทยได้พักหายใจไตร่ตรอง เราพูดคุยกับ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงบทเรียนที่ประชาชนและภาครัฐควรร่วมกันถอดผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ ประเด็นที่ซ่อนและพัวพันอยู่กับเหตุการณ์อย่างแยกไม่ออก ข้อเสนอถึงสถาบันที่ดูจะมีบทบาทในสังคมอย่างกองทัพ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ของประชาชน ตลอดจนประเด็นอย่างการวิสามัญฆาตกรรมที่เราไม่ควรเมินเฉย และขาดการติดตาม

เหตุการณ์กราดยิงโคราช เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถ้ามองในมุมอาชญาวิทยา เราสามารถทำความเข้าใจผู้ก่อเหตุได้อย่างไรบ้าง 

ทฤษฎีที่สามารถเอามาใช้อธิบายเหตุการณ์นี้ได้อาจจะเป็น ‘ทฤษฎีความกดดัน’ ตัวผู้ก่อเหตุถูกกระทำอาจด้วยเรื่องเงิน แล้วไม่สามารถร้องเรียนได้ตามปกติ เพราะว่าระบบโครงสร้างแบบผู้บังคับบัญชาถูกเสมอของกองทัพ ทำให้เขาต้องหาวิธีระบายแรงกดดันออก ลักษณะแบบนี้มันสามารถบอกได้ว่าพฤติกรรมแบบนี้เกิดจากการระบายความแค้น ความกดดันที่ตัวเองได้รับมาให้กับคนอื่น

อีกทฤษฎีหนึ่งเป็น ‘ทฤษฎีข้อแก้ตัว’ คนที่คิดค้นทฤษฎีนี้เขาวินิจฉัยว่า เวลาคนเราทำผิดมักจะมีข้อแก้ตัวให้ตัวเองสามารถทำผิดได้ มันมีข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือว่า บางทีคนทำผิดเขาจะมองว่าที่เขาทำแบบนี้เพราะว่าคนอื่นผิด หรือสังคมผิด ถ้าเกิดคนไหนก็ตามที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเขา เชื่อเถอะว่าต้องทำแบบเขา พูดง่ายๆ คือ เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำไป มันไม่ใช่ความผิดของเขาทั้งหมด แต่เป็นเพราะสังคมมันผิด วัฒนธรรมคนมันไม่ดี โครงสร้างกองทัพมันไม่เวิร์ก ถ้าใครมาอยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็คงต้องทำเหมือนตัวเอง

แต่หลายคนอาจจะเถียงว่าถ้าคุณทำกับคู่กรณีของคุณก็เป็นอีกเรื่อง

บางคนมองว่ามันเป็นปัญหาส่วนตัวของผู้ก่อเหตุที่ไม่สามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกตัวเองได้ แต่บางคนก็บอกว่านี่มันไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว มันเป็นปัญหาระดับโครงสร้างของกองทัพ ทำให้เขาถูกกดขี่

แต่ส่วนตัวรู้สึกว่ากรณีนี้เป็นปัญหาที่เราจะคิดแยกจากกันไม่ได้ มันเป็นทั้งปัญหาส่วนตัวของผู้ก่อเหตุเอง ซึ่งตรงนี้เขาต้องถูกตำหนิ แต่ขณะเดียวกันมันก็โยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างของกองทัพด้วย เพราะฉะนั้นเวลาแก้ปัญหาเราต้องมองว่ามันมีจุดเชื่อมโยงกันจะไปตัดมิติใดมิติหนึ่งออกไม่ได้

กรณีนี้เป็นปัญหาที่เราจะคิดแยกจากกันไม่ได้ มันเป็นทั้งปัญหาส่วนตัวของผู้ก่อเหตุเอง ซึ่งตรงนี้เขาต้องถูกตำหนิ แต่ขณะเดียวกันมันก็โยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างของกองทัพด้วย เพราะฉะนั้นเวลาแก้ปัญหาเราต้องมองว่ามันมีจุดเชื่อมโยงกันจะไปตัดมิติใดมิติหนึ่งออกไม่ได้

จากการที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายในเหตุการณ์ดังกล่าว จริงๆ แล้วตามกฎหมายไทยมีเกณฑ์ในการวิสามัญฯ อย่างไรบ้าง

การวิสามัญฆาตกรรมหมายถึง การฆาตกรรม การทำให้ตายแบบตั้งใจ เพราะฉะนั้นมันต้องมีลักษณะของเหตุการณ์มาก่อนว่าผู้ก่อเหตุมีลักษณะที่เป็นภัยอันตรายต่อประชาชนทั่วไป และตัวผู้ปฏิบัติหน้าที่เอง หรือผู้ก่อเหตุไม่ได้มีทีท่าจะยอมมอบตัว หรือวางอาวุธ ซึ่งทำให้ต้องใช้มาตรการยุติการกระทำของเขา นี่คือลักษณะหลัก

ดังนั้น การวิสามัญฯ ผูกติดอยู่กับลักษณะในภาษากฎหมายว่า ‘ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย’ คือถ้าจะวิสามัญฯ ต้องดูก่อนว่าคุณจะป้องกันเหตุนั้นเพื่อให้เหตุมันยุติหรือสงบลง

ถ้าถามว่า การวิสามัญฯ มีเกณฑ์อย่างไรบ้าง ควรจะใช้มาตรการไหน เช่น ยิงไปที่ขา เพื่อยุติพอหรือเปล่า มันก็ต้องดูประกอบกันในสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งเขาจะดูด้วยว่า เช่น กระทำไปพอสมควรแก่เหตุหรือเปล่า หรือทำไปเกินกว่าเหตุ อันนี้จะมีหลักทฤษฎีคือ ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เงื่อนไขของมันคือ

  1. มีภัยอันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้น

  2. ภัยอันตรายมีลักษณะใกล้จะถึง หมายถึงภัยกำลังจะเกิดหรือเกิดแล้วแต่ยังไม่ยุติ

  3. ลักษณะที่เจ้าหน้าที่ทำไปเพื่อป้องกันเหตุนั้น หรือทำให้เหตุนั้นยุติ

  4. สมควรแก่เหตุ

ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นจะขึ้นศาลและไม่ถูกตัดสินว่าผิดคือ ต้องพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งทฤษฎีที่กฎหมายไทยเราใช้รองรับคือ ‘ทฤษฎีสัดส่วน’ ศาลจะชั่งน้ำหนักว่าผู้ก่อภัยอันตรายมีความอันตรายขนาดไหน เช่น มีอาวุธสงคราม หรือสถานที่ก่อเหตุ เทียบกันระหว่างสิ่งที่ผู้ก่อเหตุทำกับที่เจ้าหน้าที่ทำว่าได้สัดส่วนเหมาะสมกันไหม แล้วตกลงเจ้าพนักงานต้องรับผิดชอบในความตายของผู้ที่ถูกวิสามัญฯ หรือเปล่า

อีกทฤษฎีหนึ่งที่ใช้กันคือ ‘ทฤษฎีวิถีทางน้อยที่สุด’ คือไม่มีทางอื่น หรือถ้าใช้ทางอื่นอาจจะส่งผลกระทบมากกว่า เช่น ผู้ก่อเหตุจับเด็กผู้หญิง 5 ขวบเป็นตัวประกัน โดยเอามีดที่คมมากจี้อยู่ที่คอเด็กตลอดเวลา ถึงแม้การใช้ปืนยิงอาจจะไม่ได้สัดส่วนตามทฤษฎี แต่ถ้าเลือกวิถีอื่นอย่างการเข้าชาร์จอาจจะทำให้ตัวประกันมีอันตรายมากกว่า กรณีแบบนี้มันก็เข้าหลักการว่าถึงดูการกระทำแล้วไม่ค่อยได้สัดส่วน แต่ในสถานการณ์แบบนั้น มันสามารถใช้วิธีนี้ได้เท่านั้น

สมมุติว่าวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่ไปทำให้ผู้บริสุทธิ์ที่เป็นตัวประกันอยู่เสียชีวิต เรามองกรณีนี้ได้อย่างไรบ้าง

ถ้าวิถีกระสุนนั้นมาจากตัวเจ้าหน้าที่จริง อันนี้ต้องวินิจฉัยกันว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความตายของผู้บริสุทธิ์หรือเปล่า ในทางกฎหมายมันจะหลักการที่เรียกว่า ‘การกระทำโดยพลาด’ คือเจ้าหน้าที่ A ตั้งใจจะทำต่อนาย B ที่เป็นผู้ก่อเหตุ เขาก็เล็งปืนไปที่นาย B เนี่ยแหละ แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทำให้กระสุนมันพลาดไปโดนคนที่อยู่ใกล้ๆ เสียชีวิต ซึ่งหลักกฎหมายก็บอกไว้ว่า คุณต้องรับผิดชอบต่อคนที่คุณทำพลาดไปด้วย ฐานเจตนากระทำความผิด นี่คือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบเบื้องต้น

คุณอาจจะอ้างป้องกันกับกรณีวิสามัญฯ ผู้ก่อเหตุได้ แต่ปัญหาคือ คุณสามารถอ้างป้องกันกับคนที่โดนลูกหลงได้หรือเปล่า เรื่องนี้ในทางตำราไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่ในทางหลักการมีความเห็นแย้งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่ากรณีแบบนี้เรียกว่า ‘เจตนาโอน’ และตามหลักการกระทำผิด ถ้าโอนแล้วก็ต้องโอนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจตนาฆ่าหรือเจตนาป้องกัน

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้คุณสามารถอ้าง ‘ป้องกัน’ กับตัวประกันที่เสียชีวิตได้ พออ้างป้องกัน ศาลรับฟัง คุณก็ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นการยกเว้นความผิดให้เนื่องจากป้องกันโดยชอบ

อีกฝ่ายหนึ่ง เขาบอกว่าถ้าจะอ้างเจตนาป้องกัน ต้องอ้างกับ ‘ผู้ก่อภัย’ เท่านั้น คุณจะอ้างเจตนาป้องกันกับผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะมันจะเป็นการไม่ยุติธรรมกับคนที่บริสุทธิ์แต่ถูกลูกหลง ซึ่งถ้าอ้างไม่ได้ก็ต้องรับผิดไปในฐาน ‘ฆ่าคนตายโดยเจตนา’ แต่ท้ายที่สุด ศาลจะลดโทษให้ด้วยสาเหตุใดก็เป็นเรื่องที่ต้องสู้กันในชั้นศาลต่อไป

บอกไม่ได้ว่าในปัจจุบันแนวศาลคิดอย่างไร แต่ว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่งที่มีแนวโน้มเห็นไปด้วยกับฝ่ายแรกว่า เจ้าหน้าที่สามารถอ้างป้องกันได้

บางคนไปคิดว่าวิสามัญฆาตกรรมแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ต้องขึ้นศาล แต่อันที่จริงการวิสามัญฆาตกรรมแม้กับผู้ก่อเหตุเอง โดยหลักการก็ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ มีการไต่สวนสาเหตุการตาย และเอาขึ้นศาลเพื่อพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ผู้วิสามัญต้องรับผิดกับการกระทำหรือเปล่า เราต้องตั้งหลักตรงนี้ไว้ก่อน ว่าอย่างไรก็ต้องขึ้นศาลเพราะการฆ่าคนตายเป็นอาญาแผ่นดิน

การวิสามัญฆาตกรรมแม้กับผู้ก่อเหตุเอง โดยหลักการก็ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ มีการไต่สวนสาเหตุการตาย และเอาขึ้นศาลเพื่อพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ผู้วิสามัญต้องรับผิดกับการกระทำหรือเปล่า เราต้องตั้งหลักตรงนี้ไว้ก่อน ว่าอย่างไรก็ต้องขึ้นศาลเพราะการฆ่าคนตายเป็นอาญาแผ่นดิน

โดยปกติแล้ว ภายหลังเหตุการณ์วิสามัญของเจ้าหน้าที่ ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

ในแง่ของการขึ้นศาล โดยปกติแล้วมันเป็นการตายแบบผิดธรรมชาติ มันเป็นการถูกฆาตกรรม แต่คนที่ฆาตกรรมเป็นเจ้าพนักงาน

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตอนท้ายของมาตรา 143 บอกเลยว่า บุคคลที่เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่เรียกว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรม เป็นการตายผิดธรรมชาติ เบื้องต้นต้องมีการชันสูตร พลิกศพ เพื่อพิจารณาว่าใครเป็นคนทำให้ตาย ตายเพราะเหตุใด สาเหตุการตายคืออะไร สถานที่การตายคือที่ใด และใครเป็นผู้ตาย

สมมติในกรณีการฆาตกรรมปกติ นาย ก ฆ่านาย ข แน่นอนว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติ ต้องมีการชันสูตรตามกฎหมายระบุ โดยคนที่จะเข้ามาชันสูตรจะมีสองฝ่ายคือ พนักงานสอบสวนกับแพทย์

แต่ในกรณีวิสามัญฆาตกรรมจะต้องมีเพิ่มอีกสองฝ่ายคือ พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) แพทย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับเทียบเท่านายอำเภอ และอัยการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

หลังจากชันสูตรพลิกศพในระดับเจ้าหน้าที่เสร็จ อัยการมีหน้าที่ต้อง ‘สรุปสำนวนการชันสูตร’ ส่งต่อให้ศาลในท้องที่ เพื่อให้ศาลไต่สวนการตาย ทั้งนี้ การไต่สวนการตายโดยศาลยังไม่ใช่การวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ผิดหรือเปล่า เป็นเพียงการไต่สวนว่าสาเหตุการตายคืออะไร เจ้าหน้าที่ทำจริงไหม เป็นเพราะอะไร เพื่อให้มี ‘ความโปร่งใส’ และป้องกันการใช้อำนาจหรืออิทธิพลที่มิชอบ

ทั้งนี้ การชันสูตรพลิกศพกับการทำสำนวนสอบสวนก็เป็นคนละกระบวนการ ถ้ากรณีฆาตกรรมปกติ นาย ก ฆ่านาย ข คนที่เข้าไปทำสำนวนสอบสวนคือพนักงานสอบสวนที่เป็นตำรวจเท่านั้น แต่กรณีการวิสามัญฆาตกรรมจะเป็นการสอบสวนร่วมกันของเจ้าพนักงานสอบสวนที่เป็นตำรวจ และอัยการ

ในกระบวนการ ‘สั่งฟ้อง’ ก็จะมีความพิเศษขึ้นมาอีก ถ้าเป็นคดีทั่วไปคนที่จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคือ อัยการในท้องที่ แต่เนื่องจากกรณีวิสามัญฆาตกรรมมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความไม่เท่าเทียมระหว่างสถานภาพของคนตายกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ดังนั้น ตามกฎหมายจึงระบุให้ คนที่มีอำนาจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องมีคนเดียวก็คือ ‘อัยการสูงสุด’

ในขั้นพิจารณาคดีแน่นอนว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการก็ต้องขึ้นศาลในฐานะจำเลย และอาจจะอ้างป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าศาลเห็นชอบว่าป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามเกณฑ์ ทำพอสมควรแก่เหตุ ศาลก็จะยกฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ทำการวิสามัญฯ แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องวิสามัญฯ สามารถทำอย่างอื่นได้ในสถานการณ์แบบนั้น แน่นอนว่าก็ต้องถือว่ามีความผิด ส่วนจะมีเหตุยกเว้นโทษ ลดโทษก็ต้องเป็นเรื่องของการสืบในชั้นพิจารณาคดีต่อไป นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการวิสามัญฆาตกรรม

มีคนถามเหมือนกันว่า มันเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไหมที่ต้อง แถลงต่อสาธารณะ เพื่อที่จะอธิบายเหตุการณ์ทั้งหมด คำตอบก็คือ ในทางกฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้ มันไม่มีข้อกำหนดว่าเจ้าหน้าที่ต้องมาอธิบายเรื่องราวให้ประชาชนฟัง เพราะว่าถ้าอัยการสั่งฟ้องก็ต้องไปอธิบายให้ศาลฟังอยู่แล้วในกระบวนการพิจารณา

ดังนั้น การอธิบายกับสาธารณะน่าจะเป็นเรื่องนโยบายของฝ่ายผู้ปฏิบัติการว่า ถ้าเหตุการณ์นั้นมันสำคัญมาก อยู่ในความสนใจของประชาชนก็ควรที่จะให้มีการแถลงเพื่อให้ข้อเท็จจริง แต่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องออกมาแถลงต่อสาธารณชน

การไต่สวนการตายโดยศาลยังไม่ใช่การวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ผิดหรือเปล่า เป็นเพียงการไต่สวนว่าสาเหตุการตายคืออะไร เจ้าหน้าที่ทำจริงไหม เป็นเพราะอะไร เพื่อให้มี ‘ความโปร่งใส’ และป้องกันการใช้อำนาจหรืออิทธิพลที่มิชอบ

มองระบบการชันสูตรพลิกศพของไทยว่ามีความโปร่งใสและมาตรฐานแค่ไหน 

ส่วนตัวมองว่าระบบถูกออกแบบไว้ค่อนข้างโปร่งใส คือจากเหตุฆาตกรรมปกติมีสองฝ่าย แต่กรณีวิสามัญเพิ่มเป็นสี่ฝ่ายชั้นหนึ่งแล้ว ยังมีศาลเข้ามาในชั้นไต่สวนอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ในชั้นการไต่สวนโดยศาล ญาติของผู้เสียชีวิตสามารถเข้าฟัง และสามารถถามคำถามต่อเจ้าพนักงานที่เป็นคนปฏิบัติหน้าที่ได้ พูดง่ายๆ เปิดโอกาสให้ฝั่งผู้เสียหายได้ซักถาม เพื่อให้ศาลสรุปสำนวนเบื้องต้น ซึ่งตรงนี้คิดว่ามันสร้างความมั่นใจให้กับตัวผู้ได้รับผลกระทบ หรือญาติของผู้เสียชีวิตได้เหมือนกัน

ทำไมสังคมไทยถึงไม่ค่อยมีการพูดกันต่อถึงขั้นตอนภายหลังการวิสามัญฆาตกรรมเท่าไร

อาจจะเป็นเพราะว่าสังคมรู้สึกว่าคนที่ถูกวิสามัญเป็นคนที่ผิดอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องสนใจกระบวนการภายหลัง ยิ่งกรณีกราดยิงที่โคราช ทุกคนบอกว่าผู้ก่อเหตุควรถูกตำรวจวิสามัญตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว พอวิสามัญแล้วเราก็รู้สึกว่ามันเหมาะสม เลยไม่ได้เรียกร้องต่อว่าตำรวจใช้กำลังโดยชอบหรือเปล่า ใช้ตามกระบวนการที่ถูกต้องหรือเปล่า และหลังจากนี้ เจ้าพนักงานต้องไปขึ้นศาลหรือเปล่า ต้องมีการตรวจสอบอย่างไร

แต่ในบางกรณีสังคมก็เกิดความสงสัยว่าการที่ตำรวจวิสามัญฯ ถูกต้องหรือเปล่าก็จะมีกระแสเรียกร้อง อย่างเช่น กรณีนายชัยภูมิ ป่าแส หรือกรณีที่ผู้ถูกวิสามัญฯ ยังเป็นเยาวชน

ส่วนตัวเลยมองว่าน่าจะเป็นแล้วแต่กรณีไป ถ้ากรณีไหนที่ประชาชนเห็นว่าผู้ก่อเหตุสมควรถูกวิสามัญ เราก็จะไม่ค่อยถามถึงกระบวนการภายหลังว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ถ้ากรณีไหนที่รู้สึกว่า มันใช่หรือ ตัวผู้ก่อเหตุร้ายแรงขนาดนั้นเลยหรือ สังคมก็จะเริ่มมีเสียง ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นความไม่คงเส้นคงวาของสังคมอยู่เหมือนกัน เราควรจะถามถึงทุกกรณีว่าเหตุนี้ควรถึงขั้นที่ต้องวิสามัญฯ แล้วหรือยัง ต้องถามและติดตามกระบวนการว่าเป็นอย่างไรต่อ

เราควรจะถามถึงทุกกรณีว่าเหตุนี้ควรถึงขั้นที่ต้องวิสามัญฯ แล้วหรือยัง ต้องถามและติดตามกระบวนการว่าเป็นอย่างไรต่อ

ในกรณีกราดยิงที่โคราช สมมติว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่ได้วิสามัญฯ คนร้าย ทางภาครัฐจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไปบ้าง ? 

หากเป็นประชาชนทั่วไปก่อเหตุก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาคดีทั่วไป ซึ่งกรณีนี้น่าจะมีความผิดหลายฐาน ทั้งฆ่าคนตายโดยเจตนา ฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และอาจจะมีเรื่องของการฆ่าเจ้าพนักงานด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาว่าผิดจริงและไม่มีเหตุยกเว้นหรือลดโทษอะไรได้อีก โทษสูงสุดน่าจะเป็นการประหารชีวิต

ในกรณีนี้ ผู้ก่อเหตุจะต้องขึ้นศาลทหาร เพราะว่าในขณะที่เขาทำเขาอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลทหาร ซึ่งศาลทหารก็จะใช้ประมวลกฎหมายอาญาปกติ เพียงแต่ว่าในกระบวนการพิจารณา องค์คณะก็จะแตกต่างไปจากศาลพลเรือนทั่วไป

แน่นอนว่าการขึ้นศาลทหารก็จะค่อนข้างเป็นระบบปิด ทั้งคนที่สอบสวน อัยการ องค์คณะก็จะเป็นตุลาการศาลทหารทั้งนั้น โดยมีผู้บังคับบัญชานั่งร่วมเป็นองค์คณะ เขาก็พิจารณาไปในแวดวง แน่นอนทหารก็ต้องบอกว่าเขาจำเป็นต้องทำแบบนี้เพราะต้องการพิจารณาคดีและลงโทษให้เร็วที่สุด แต่หลายๆ คนก็เรียกร้องว่าไม่ควรขึ้นศาลทหาร แต่ตามกฎหมายก็ต้องขึ้นอยู่ดี ซึ่งตรงนี้จะเป็นประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่มากว่า สรุปแล้ว

ในกรณีนี้ ถึงแม้เขาจะปล้นปืนจากคลังอาวุธและฆ่าทหารเวรที่ดูแลอาวุธอยู่ แต่เมื่อมีการนำปืนออกไปและยิงผู้อื่นทำให้ควรจะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา แต่ปรากฏว่าตามพระธรรมนูญศาลทหาร กำหนดให้ขึ้นศาลทหารทุกกรณี และจะไม่ต้องขึ้นศาลทหารก็ต่อเมื่อไปทำร่วมกับคนอื่นที่เป็นพลเรือน หรือว่ามีพลเรือนเข้ามาเกี่ยวพันในการทำผิดครั้งนั้น คำถามคือศาลทหารควรมีขอบเขตอำนาจกับคดีแบบนี้หรือเปล่า

ที่ผ่านมา คนที่จะอยู่ในอำนาจของศาลทหารก็จะเป็นทหาร นักเรียนทหาร ถ้าเป็นพลเรือนก็ต้องเป็นพลเรือนที่ทำงานให้กองทัพ เช่น ฝ่ายธุรการ มันจะมีบุคคลที่ระบุไว้แล้วว่าอยู่ภายใต้ศาลทหาร พลเรือนปกติไม่ต้องขึ้นศาลทหาร เพิ่งจะมาขึ้นช่วงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้นเอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความผิดปกติตรงไหนของสังคมอีกหรือเปล่า

ส่วนตัวมองว่าปัญหาประการหนึ่งของสังคมไทยคือ เวลาเราเห็นเหตุการณ์ผิดปกติ เรามักจะไม่ค่อยให้ความสนใจอย่างเพียงพอ อย่างรถฮัมวี่ (ผู้ก่อเหตุขโมยมาจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์) วิ่งอยู่บนถนน คนก็ไม่ค่อยสนใจ เพราะคิดว่าทหารก็คงออกมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเรามองว่ามันเป็นปัญหาในภาพรวมของสังคมว่าทำไมคุณไม่ตื่นตระหนก ในต่างประเทศการที่รถฮัมวี่วิ่งอยู่บนถนน มันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด

ประการที่สอง กองทัพมีปัญหาอย่างมากในระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ทุกคนคงเห็นเหมือนกันว่ากองทัพมีปัญหาในเรื่องของระบบการจัดการดูแลอาวุธ ส่วนตัวมองว่าตรงนี้ต้องปฏิรูปด่วนเลย กองทัพและกระทรวงกลาโหมจะปัดความรับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้ ทำไมคนที่เป็นทหารและวันหนึ่งเกิดภาวะอันตรายขึ้นมาถึงสามารถหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อไปก่อเหตุได้ง่ายขนาดนี้ ตรงนี้คือความอันตรายและความไม่มั่นคงต่อประชาชน

อย่างในเยอรมนี คลังเก็บอาวุธของกองทัพเขาจะเข้าไปอยู่กลางป่า และตัวอาวุธกับลูกกระสุนก็จะอยู่กันคนละที่ ถามว่าทำไมต้องไปตั้งอยู่กลางป่า เพราะการที่ใครเข้ามาในป่าแสดงว่าต้องมีเจตนาอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคลังอาวุธ และถ้าคุณไม่มีอำนาจหน้าที่ก็จะโดนสกัดไม่ให้เข้าตั้งแต่ชายป่าแล้ว

นอกจากนี้ กองทัพเยอรมันยังใช้วิธี ‘จ้างหน่วยรักษาความปลอดภัย’ เพื่อมารับผิดชอบดูแลคลังอาวุธของกองทัพ พูดง่ายๆ ว่า เขาไม่ต้องการเอาใครที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้มีอำนาจไปคุมคลังอาวุธ เพราะวันดีคืนดีเกิดผู้มีอำนาจหรือผู้บังคับบัญชาคิดไม่ดี เข้ามาสถานที่นี้และสั่งให้เปิดคลังอาวุธ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น เยอรมนีเลยตัดปัญหาโดยการจ้างหน่วยรักษาความปลอดภัยแยกต่างหาก ใครจะมาอ้างว่ายศสูงขนาดไหนเพื่อเข้าถึงคลังอาวุธก็ไม่เกี่ยวเพราะการดูแลคลังอาวุธคือหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่ง

กองทัพเยอรมันเขาป้องกันหลายชั้นมากเพราะมันสำคัญ กองทัพไทยควรจะไปดูแบบคนอื่นเขาบ้างว่าระบบความปลอดภัยของเขาเป็นอย่างไร

กองทัพเยอรมันมีความเป็นทหารอาชีพ นอกจากนี้ เขายังมีทหารตามเวลาด้วย สมมติว่า กำลังพลมีมากเกินไป ทหารกลุ่มนี้สามารถปลดประจำการไปทำอาชีพอื่นได้ มหาวิทยาลัยทหารของเขาก็จะเรียนร่วมกับพลเรือน ไม่ได้เรียนเฉพาะความรู้ทหารเท่านั้น พูดง่ายๆ ถ้าเรียนจบแล้วสามารถตัดสินใจได้อีกว่าจะประจำการต่อ หรือหันไปทำอาชีพอื่น

มันต้องปฏิรูปตั้งแต่ตรงนี้ กองทัพมันต้องปฏิรูปให้เป็นทหารอาชีพ และต้องเป็นกองทัพที่ทันสมัย ต้องมีหลายอย่างประกอบกัน

แต่ตลอดกว่า 10 ปีมานี้ คุณพยายามกดทับความคิดเห็น โดยอ้างความมั่นคงอยู่ตลอด ครั้งนี้มันเป็นปัญหาของคุณโดยตรง ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตมันเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคง และต่อไปก็อาจเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ถ้าให้ลองประเมินวุฒิภาวะของสังคมไทยจากเหตุการณ์ดังกล่าว มองว่าเป็นอย่างไรบ้าง 

ส่วนตัวไม่แปลกใจที่ช่วงแรกฝุ่นจะตลบ ด่ากันไปด่ากันมา โทษคนนั้นโทษคนนี้เยอะแยะไปหมด มันเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคมภายหลังเกิดเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ

แต่ภายหลังที่เหตุการณ์สิ้นสุด มองว่าสังคมไทยเองก็มีวุฒิภาวะมากขึ้น เราเริ่มถกเถียงกันด้วยเหตุผลมากขึ้น กระทั่งบางคนถึงขนาดเห็นใจผู้กระทำผิด บางคนถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า เขาทำแบบนี้เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดดัน ถูกโกงเงิน ถูกนั่นถูกนี่มาก่อน ซึ่งถ้าย้อนกลับไปตอนเราเป็นนักศึกษา ภายหลังเหตุการณ์ร้ายแรงแบบนี้ เขาจะไม่ค่อยสนใจว่าผู้ก่อเหตุทำไปเพราะอะไร มันก็จะเป็นแนวไอ้นี่มันโหด มันเหี้ยม สมควรตาย

เราจึงรู้สึกว่าในปัจจุบัน สังคมเริ่มมีพัฒนาการและถามหาเหตุผลมากขึ้นว่า ‘ทำไมเขาถึงตัดสินใจทำความรุนแรงขนาดนี้’ และที่สำคัญมีการถามต่อไปว่า ‘กองทัพต้องรับผิดชอบไหม’ ทั้งเรื่องของการปล่อยให้อาวุธร้ายแรงถูกปล้นไป หรือเรื่องธุรกิจภายในกองทัพที่มีการเอาเปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา แบบนี้ต้องมีการปฏิรูปกองทัพหรือเปล่า ตรงนี้มันคือวุฒิภาวะที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์สิ้นสุดลง

และอีกอย่างที่เห็นคือ ‘มีการเรียกร้องกับสื่อเยอะขึ้น’ ในยุคก่อนสื่อจะไม่ค่อยถูกตั้งคำถามเวลาทำอะไร แต่ในยุคสมัยนี้ คนก็จะเริ่มถามว่าสื่อทำถูกต้องหรือเปล่า ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการไลฟ์สด ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนคนจะยิ่งชอบถ้าสื่อเอาภาพมาให้เยอะ แต่ครั้งนี้เริ่มมีการเบรคกันว่า เฮ้ย! สื่อทำแบบนี้ไม่ถูก นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน

มันมีคำถามเยอะแยะขึ้นมากมายจากสังคม คำถามที่ไม่เคยถูกถามในอดีต และมันสะท้อนถึงวุฒิภาวะของสังคมที่พัฒนาขึ้นในระดับหนึ่ง

มองว่าสังคมควรเรียนรู้และปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง ภายหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ 

แน่นอนเรื่องหนึ่งที่เขาเรียกร้องกันเยอะ ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งปฏิรูปกองทัพนี่คงหลายอย่างทั้งเรื่อง ความปลอดภัยของอาวุธ ระบบโครงสร้างอำนาจระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ธุรกิจแอบแฝงในกองทัพ

มันเป็นปัญหามานานแล้ว และมันเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง เพราะบางทีคุณทำกับทหารชั้นผู้น้อยในลักษณะที่ไม่ใช่ทหาร เอาเขาไปรับใช้ ให้เลี้ยงไก่ ซักผ้า ล้างจาน ซึ่งอาจทำให้เขารู้สึกว่าศักดิ์ศรีของเขาลดน้อยลง เขาตั้งใจมาทำแบบหนึ่งทำไมถูกใช้อีกแบบหนึ่ง มันก็ทำให้เกิดความกดดัน และในอนาคตคนที่ถูกทำแบบนี้อาจลุกขึ้นมาก็ได้

การรับมือกับสถานการณ์ของภาครัฐก็ควรจะเร็วกว่านี้ อาจเป็นเรื่องของการขาดแคลนประสบการณ์ แต่มันก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัว ภาครัฐควรจะมีการซ้อมและเตรียมรับสถานการณ์ เพราะหากมันเกิดแล้วจะเป็นกรณีร้ายแรงมากๆ และสร้างความเสียหายให้กับผู้คนมหาศาล

ภาคประชาชนเองก็ไม่มีประสบการณ์ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงรุนแรงขนาดนี้ อย่างในฝรั่งเศส หลังเหตุการณ์ก่อการร้ายในโรงละคอน มีการออกมาทำคู่มือ ทำแอปพลิเคชันเตือนภัย โดยแอพจะเตือนตลอดเวลาด้วยเสียงเงียบๆ ว่าคนร้ายอยู่ตรงไหนแล้ว และให้หลบไปช่องทางไหน

อันนี้คือประเทศเขาเกิดบ่อยกว่าเราเลยมีวิธีการรับมือในมิติต่างๆ แต่เหตุการณ์แบบนี้เกิดครั้งแรกก็อาจจะติดขัดหลายๆ อย่าง ทั้งการตอบสนองของประชาชนและของเจ้าหน้าที่ แต่ประเด็นคือเราต้องไม่ปล่อยผ่านครั้งนี้ไป เพราะมันเป็นครั้งแรกและอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เราควรร่วมถอดบทเรียน และคิดว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกควรจะเป็นอย่างไรต่อไป

ถ้าแบบนี้ถึงจะพูดได้ว่า สังคมมีพัฒนาการ ถ้าสังคมยังย่ำอยู่กับที่ ครั้งหน้ายิง 20 ศพก็เป็นแบบนี้ อันนี้เราเริ่มต้องตั้งคำถามกับสังคมแล้วว่าทำไมไม่มีพัฒนาการ

คาดการณ์ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ให้เห็นถี่ขึ้นไหม

ถ้าประเทศไทยยังอยู่ในสภาพนี้ ไม่ว่าการเมือง ระบบเศรษฐกิจ เสรีภาพในการแสดงออก โครงสร้างทางอำนาจ หรือพื้นที่ในการเรียกร้องความยุติธรรม โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เยอะขึ้นอยู่แล้ว คนเรามันรู้สึกว่า ถ้าแสดงออกในทางที่ถูกไม่ได้ แสดงออกตามกระบวนการที่ควรจะเป็นไม่ได้ เรียกร้องความยุติธรรมไม่ได้ ขณะที่ปัญหาอื่นก็รุมล้อม ทำมาหากินไม่ได้ แถมยังถูกโกงเงินอีก สุดท้ายคนจำนวนหนึ่งอาจจะหันมาแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรง

คุณอาจจะบอก เฮ้ย! เขาเลียนแบบกัน แต่เขาอาจจะเลียนแบบมาจากภาพความรุนแรงที่ภาครัฐเคยใช้ก็ได้นะ ใครจะรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ที่การเมืองมันดำเนินมาถึงขนาดนี้ ส่วนตัวว่ามีโอกาสที่ในอนาคตคนจะหาทางออกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประเทศไทยก่อนหน้านี้

Tags: , , , ,